×

เมื่อ ‘เวเปอร์ฟลาย’ ได้ไปต่อ แต่เครื่องหมายคำถามในวงการวิ่งยังไม่หายไป

30.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS. READ
  • มีการถกเถียงอย่างมากว่าโลกควรจะยอมรับรองเท้าไนกี้ เวเปอร์ฟลาย ในฐานะเทคโนโลยีที่จะทำให้วงการก้าวไปข้างหน้า หรือควรจะปฏิเสธมัน
  • World Athletics เตรียมจะออกประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะไม่มีการสั่งห้ามใช้รองเท้ารุ่นนี้ลงทำการแข่งขันแต่อย่างใด แต่จะมีการออกมาตรการระยะสั้นเพื่อควบคุมสถานการณ์แทน

อนาคตของ ‘เวเปอร์ฟลาย’ รองเท้าเจ้าปัญหาในโลกของนักวิ่งดูเหมือนจะคลี่คลายลงเล็กน้อยเมื่อผลิตภัณฑ์สุดเทพจะไม่ถูกสั่งห้ามใช้แข่งขัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าวงการนักวิ่งจะมีคำตอบที่ดีพอสำหรับเรื่องนี้

 

รองเท้าตระกูลเวเปอร์ฟลายจากไนกี้กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา หลังจากที่ทางด้านองค์กรกรีฑาโลก (World Athletics) พิจารณาที่จะสั่งห้ามไม่ให้มีการใส่รองเท้ารุ่นนี้ลงทำการแข่งขัน เนื่องจากมองว่าเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าของรองเท้ารุ่นนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ มีการได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน

 

โดยมีรายงานว่าในปี 2019 ที่ผ่านมามีนักวิ่งที่ใส่รองเท้าตระกูลเวเปอร์ฟลาย ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2016 สามารถขึ้นโพเดียมได้ถึง 31 จาก 36 อันดับในรายการมาราธอนระดับเมเจอร์ 6 รายการ ขณะที่ในปี 2018 เอเลียด คิปโชเก เองก็คว้าแชมป์มาราธอนที่เบอร์ลินโดยทำเวลา 2 ชั่วโมง 1 นาที 39 วินาที และเมื่อเดือนตุลาคมปีกลาย นักวิ่งหญิง บริจิด คอสเก ก็ทำลายสถิติโลกของ พอลล่า แรดคลิฟฟ์ ด้วยรองเท้าเวอร์ชัน Next% ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 14 นาที 4 วินาที

 

เรื่องนี้ทำให้มีการร้องเรียนอย่างมากว่านักกีฬาของไนกี้ที่สวมใส่รองเท้ารุ่นนี้ได้เปรียบคู่แข่ง ซึ่งเหตุผลสำคัญคือการที่พื้นรองเท้านั้นมีความหนาเป็นพิเศษ และมีการสอดแผ่นคาร์บอนเข้าไปในระหว่างชั้นพื้นรองเท้า ซึ่งช่วยเสริมสมรรถภาพในการวิ่งได้อย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่มีผู้ผลิตรองเท้ายี่ห้ออื่นพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีเท่าหรือดีกว่าได้ในเวลานี้

 

มีการศึกษาว่ารองเท้าตระกูลนี้สามารถช่วยให้นักวิ่งสามารถวิ่งได้ดีขึ้นได้ถึง 4-5% ซึ่งสำหรับนักกีฬาในระดับ Elite หรือระดับสูงสุดของโลกสามารถทำเวลาได้ดีขึ้น 60-90 วินาทีในระยะทางวิ่ง 26.2 ไมล์ หรืออาจจะมากกว่านั้นสำหรับนักกีฬาในระดับทั่วไป

 

 

และนั่นนำไปสู่การถกเถียงว่าโลกนักวิ่งควรจะยอมรับรองเท้ารุ่นนี้ในฐานะเทคโนโลยีที่จะทำให้วงการก้าวไปข้างหน้า หรือควรจะปฏิเสธมันเสีย เพราะสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการแข่งขันคือการแข่งขันที่บริสุทธิ์ยุติธรรม

 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดดูเหมือนสถานการณ์จะคลี่คลายลงบ้าง เมื่อทางด้านองค์กรกรีฑาโลกเตรียมออกประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะไม่มีการสั่งห้ามใช้รองเท้ารุ่นนี้ลงทำการแข่งขันแต่อย่างใด แต่จะมีการออกมาตรการระยะสั้นเพื่อควบคุมสถานการณ์

 

มาตรการดังกล่าวคือการที่ระหว่างนี้ไปจนถึงจบการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวจะห้ามไม่ให้มีการออกรองเท้ารุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีที่ใหม่กว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้จะมีการตั้งโครงการวิจัยอย่างจริงจังเพื่อตรวจสอบว่ารองเท้าเวเปอร์ฟลายนั้นทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบจากรองเท้าของแบรนด์คู่แข่งแค่ไหนในการแข่งขันระดับ Elite ของโลก

 

สุดท้ายคือการที่จะมีการออกกฎสำหรับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รองเท้ารุ่นใหม่ๆ โดยผู้ผลิตทุกรายจะต้องส่งรองเท้ารุ่นตัวอย่างให้ทำการตรวจสอบก่อนว่าจะอนุญาตให้ใช้ในการแข่งขันหรือไม่

 

เพียงแต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ยากสำหรับหน่วยงานที่จะทำการตรวจสอบ ซึ่งต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังและต้องได้รับความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตด้วย

 

สิ่งที่ชัดเจนสิ่งเดียวในเวลานี้คือรองเท้าเวเปอร์ฟลายจะไม่ถูกแบนจากการแข่งขัน

 

เพียงแต่มันได้นำโลกของนักวิ่งไปสู่ดินแดนที่ไม่เคยไปถึงมาก่อน กับคำถามที่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้วเราควรจะก้าวไปต่อหรือจะหยุดรอกันอยู่ที่ตรงนี้

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

FYI
  • สถานะของรองเท้ารุ่นพิเศษใส่ไข่อย่างไนกี้ อัลฟาฟลาย (Nike Alphafly) ที่คิปโชเกใส่และสร้างตำนาน ‘sub-two’ ได้เมื่อเดือนตุลาคม ยังไม่แน่ชัดว่าผิดหรือไม่ผิด เพราะไม่ได้ใส่ในรายการอย่างเป็นทางการ
  • แต่แม้อัลฟาฟลายจะถูกแบนก็ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับรองเท้าที่จะมีการจำหน่ายในร้านค้าสำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งสามารถซื้อมาเพื่อใช้ได้ตามปกติ
  • World Athletics ก็คือ IAAF หรือสหพันธ์กรีฑานานาชาติ ที่มีการปฏิรูปองค์กรใหม่นั่นเอง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X