×

Nike vs. adidas เจาะเบื้องหลังสงคราม ‘รองเท้าที่เร็วที่สุดในโลก’ ศึก 10 ปีที่ยังไม่มีแววจบ และกำลังเดิมพันด้วยเหรียญทองโอลิมปิก 2024!

09.08.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในปี 2014 หรือ 10 ปีมาแล้ว เมื่อ Nike มีโปรเจกต์ลับสุดยอดที่ชื่อว่า ‘Moonshot’ ซึ่งเป้าหมายของ Nike เองคือการทำให้มนุษย์สามารถวิ่งมาราธอนได้ภายในเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง 
  • ถึงจะต้องใช้เวลานานถึง 3 ปีกว่า แต่ในที่สุดยักษ์ใหญ่จากเยอรมนีก็เข็น adidas Adizero Adios Pro Evo 1 ออกมาสำเร็จ และสร้างปรากฏการณ์ได้ทันทีในการแข่งขันรายการเบอร์ลินมาราธอน (ซึ่งเป็นรายการที่มีปัจจัยเอื้อให้ทุบสถิติมากที่สุด) เมื่อ อัสเซฟา นักวิ่งสาวเอธิโอเปียที่ใส่รองเท้ารุ่นนี้ทุบสถิติโลกได้อย่างยิ่งใหญ่
  • เอเลียด คิปโชเก และ ทิกิสต์ อัสเซฟา คือสองตัวแทนของนักวิ่งที่สวมใส่รองเท้า Super Shoes ที่จะห้ำหั่นกันในการแข่งวิ่งมาราธอน โอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ซึ่งการแข่งจะมีขึ้นช่วงวันท้ายๆ ของการแข่งขัน

การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ‘ปารีส 2024’ นั้นไม่ได้มีเพียงแค่การแข่งขันที่เร่าร้อนของบรรดาสุดยอดนักกีฬาจากทั่วโลกที่ลงชิงชัยในสนามเท่านั้น แต่เรื่องของอุปกรณ์อย่าง ‘รองเท้าวิ่ง’ เองก็เป็นหนึ่งในไฮไลต์ที่น่าจับตามองไม่น้อยไปกว่ากัน 

 

หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่เรื่องของสีสันจากการออกแบบ แต่เป็นเทคโนโลยีในรองเท้าซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถช่วยตัดสินว่าใครจะชนะหรือแพ้ในการแข่งขันได้เลยทีเดียว

 

‘Super Shoes’ จากค่ายไหนจะเป็นเบอร์หนึ่งในมหานครแห่งความรัก และเบื้องหลังของการขับเคี่ยวอันเร้าใจที่ยืนยาวมากว่า 7 ปีในสงครามรองเท้าที่เร็วที่สุดในโลกนั้นเป็นอย่างไร

 

ทุกอย่างของโลกรองเท้าวิ่งเปลี่ยนไปในปี 2017

 

การเปิดตัวรองเท้าวิ่งที่สร้างจากนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของ Nike ด้วยการเสริมแผ่นคาร์บอนไว้ในพื้นรองเท้าชั้นกลาง ได้ก่อกำเนิดรองเท้าวิ่งสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับนักวิ่งและการแข่งขันได้อย่างมากมายมหาศาล โดยเฉพาะในกลุ่มนักวิ่งระยะไกล

 

‘Super Shoes’ ของ Nike พลิกโฉมวงการได้อย่างไร?

 

จากเดิมช่วงยุคก่อนปี 2017 มีนักวิ่งหญิงเพียงแค่ 19 คนที่เคยวิ่งได้ในเวลาที่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง 20 นาที ผ่านมาถึงปี 2023 มีจำนวนนักวิ่งที่ทำเวลาได้ต่ำกว่า 2:20 เพิ่มเป็น 26 คน ส่วนนักวิ่งชายที่เคยทำเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง 6 นาที มีแค่ 16 คนในปี 2017

 

หลังจากนั้นเป็นต้นมามีนักวิ่งที่ทำเวลาต่ำกว่า 2:06 เพิ่มเป็น 70 คน!

 

เรียกได้ว่านวัตกรรมของ Nike ฉีกหนีคู่แข่งไปไกล และทำให้เกิดเกมวิ่งไล่จับกันระหว่าง Nike กับแบรนด์คู่แข่งต่างๆ โดยเฉพาะศัตรูหมายเลขหนึ่งอย่าง adidas

 

มีอะไรในความลับที่ซ่อนอยู่ของรองเท้าขั้นเทพเหล่านี้บ้าง?

 

คืนพลังให้นักวิ่ง

 

ปี 2023 ที่ผ่านมาถือเป็นปีแห่งการทุบสถิติโลกของการแข่งขันวิ่งมาราธอน

 

ในรายการเบอร์ลินมาราธอน 2023 adidas ได้รับชัยชนะครั้งแรกที่รอคอยในสงคราม Super Shoes เมื่อ ทิกิสต์ อัสเซฟา (Tigist Assefa) ใช้รองเท้าวิ่งรุ่นใหม่ล่าสุด ‘adidas Adizero Adios Pro Evo 1’ ทำลายสถิติโลกวิ่งมาราธอนหญิงด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 11 นาที 53 วินาที 

 

 

สิ่งที่สุดยอดกว่าคืออัสเซฟาทำลายสถิติโลกเดิมได้มากกว่า 2 นาที ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับวงการนักวิ่ง

 

ส่วนประเภทชาย เคลวิน คิปตัม ทำให้โลกตะลึงด้วยการพิชิตรายการชิคาโกมาราธอน ด้วยเวลา 2:00:35 ทุบสถิติโลกเดิมได้ถึง 34 วินาที ด้วยรองเท้า Nike Alphafly 3 ทำให้ความหวังที่จะได้เห็นมนุษย์วิ่งมาราธอนในเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมงในการแข่งจริงลุกโชนขึ้นมา (แม้จะน่าเศร้าที่คิปตัมประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา)

 

รองเท้า Nike Alphafly 3 ที่เขาสวมใส่นั้นมีน้ำหนัก 215 กรัม เป็นรองเท้าที่ Nike ออกแบบมาสำหรับการวิ่งระยะไกลโดยเฉพาะ เพื่อเป็นผู้ช่วยเหล่านักวิ่งมาราธอนที่ต้องต่อสู้กับความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อและอาการบาดเจ็บเมื่อต้องวิ่งเป็นระยะทางไกลๆ

 

หัวใจของการออกแบบนั้นอยู่ที่คอนเซปต์ ‘คืนพลังให้นักวิ่ง’ โดยรองเท้านั้นจะดูดซับแรง Downward Force จากเท้าในจังหวะที่ย่ำลงพื้นก่อนจะสปริงตัวกลับ ซึ่งจะทำให้โมเมนตัมของนักวิ่งไปข้างหน้า โดยตั้งใจที่จะใช้สำหรับนักวิ่งทุกระดับ ตั้งแต่นักวิ่งสมัครเล่นไปจนถึงนักวิ่งอาชีพในระดับอีลีต

 

ความลับในรองเท้า

 

เพื่อหาคำตอบในความลับของ Super Shoes มีการใช้เครื่องมือ CT Scan เพื่อดูองค์ประกอบต่างๆ ภายในรองเท้า Nike Alphafly 3 ซึ่งขายหมดในเวลา 2 นาทีเมื่อเปิดจำหน่ายทั่วไปครั้งแรกในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

 

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดย่อมหนีไม่พ้นแผ่นคาร์บอน (Carbon Fibre Plate) ที่มีขนาดใหญ่และอยู่ในชั้นของพื้นรองเท้า ซึ่งไม่ได้เป็นแค่แผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าบางๆ แต่มีรูปทรงที่โค้งตามรูปของพื้นรองเท้าด้วย

 

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความโค้งของแผ่นคาร์บอนนี้มีความสำคัญมาก เพราะถ้าเป็นแผ่นรูปทรงสี่เหลี่ยมเฉยๆ แรงกดจะลงไปที่ปลายนิ้วเท้า ในขณะที่แผ่นรูปทรงโค้งแรงกดจะอยู่ที่อุ้งเท้า “ทำแบบนี้แล้วจะช่วยลดการตึงของกล้ามเนื้อน่องและช่วยให้นักวิ่งพุ่งไปข้างหน้าได้”

 

อย่างไรก็ดี Alphafly 3 ไม่ได้มีแค่แผ่นคาร์บอน แต่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีของ Nike อย่าง ‘Air Zoom’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ต่อยอดจาก ‘Air’ สุดยอดเทคโนโลยีในตำนานที่มีมาตั้งแต่ยุค 1980 โดยเป็นช่องอากาศขนาดใหญ่ส่วนล่างสุดของพื้นรองเท้า นอกจากนี้ยังมี ‘ZoomX’ ชั้นโฟมตรงพื้นรองเท้าชั้นกลางที่จะช่วยสปริงตัวของนักวิ่งขึ้นไป ไม่จมไปกับพื้น หรือพูดง่ายๆ คือตัวส่งพลังกลับคืนนั่นเอง

 

เพียงแต่กว่าจะได้สิ่งเหล่านี้มา Nike ในฐานะผู้บุกเบิกก็พยายามน่าดู

 

 

Moonshot วิ่งไปให้ถึงดวงจันทร์

 

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในปี 2014 หรือ 10 ปีมาแล้ว เมื่อ Nike มีโปรเจกต์ลับสุดยอดที่ชื่อว่า ‘Moonshot’ 

 

คำว่า Moonshot มีความหมายถึงการทำในสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ ซึ่งเป้าหมายของ Nike เองก็คือสิ่งที่เคยถูกมองว่าไม่มีวันเป็นไปได้ อย่างการทำให้มนุษย์สามารถวิ่งมาราธอนได้ภายในเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งจะเกินขีดจำกัดของเผ่าพันธุ์ไป

 

ในเวลานั้นการจะทำเรื่องที่ถูกมองว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นได้ มีการคำนวณแล้วว่าจะต้องทำให้นักวิ่งทำผลงานได้ดีกว่าสถิติโลกในเวลานั้น 2.5%

 

ตัวเลข 2.5% คือสิ่งที่ทีม Nike นำมาใช้เป็นเป้าหมายในการสร้างรองเท้าที่จะทำให้นักวิ่งใช้ประโยชน์จากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของรองเท้า ซึ่งตัวเลขอาจจะดูไม่มาก แต่ในเชิงของกีฬาแล้วมันสามารถสร้างความแตกต่างได้เป็นอย่างดี

 

การทดลองทางวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บของ Nike จึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่นั้น มีการทดสอบมากมายตั้งแต่พื้นรองเท้าที่มีความหนาแตกต่างกัน ไปจนถึงการทดลองนำแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้ 

 

ก่อนที่สุดท้ายพวกเขาจะสามารถทำได้ไกลกว่าเป้าหมายด้วยการลดการใช้พลังของนักวิ่งลงโดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4% ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อรุ่นรองเท้าที่วางจำหน่ายทั่วไปในเวลาต่อมาว่า Nike Zoom Vaporfly 4% ที่ออกขายในปี 2017 และกลายเป็นปรากฏการณ์สะเทือนโลกนักวิ่ง

 

ปี 2018 เอเลียด คิปโชเก นักวิ่งมาราธอนชื่อดังที่สุดของโลกทุบสถิติโลกลงได้ในการแข่งรายการเบอร์ลินมาราธอน ด้วยเวลา 2:01:39 ซึ่งดีกว่าสถิติเดิม 1 นาที 22 วินาทีเลยทีเดียว โดยที่ช่วง 15 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีใครทุบสถิติโลกได้เกินครั้งละ 29 วินาทีเลย

 

คิปโชเก

 

ความสุดยอดของรองเท้า Super Shoes (ที่ได้รับการขนานนามจากสื่อ) ของ Nike ที่รันวงการแต่เพียงผู้เดียว กลายเป็นประเด็นร้อนในวงการ ว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีเอาเปรียบคนอื่นหรือไม่ ซึ่งทำให้องค์การกรีฑาโลก (World Athletics) ต้องหารือเป็นการเร่งด่วนในปี 2020 ก่อนที่จะออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อกำหนดกรอบไม่ให้เทคโนโลยีของ Nike ได้เปรียบคู่แข่งจนเหมือนโกง

 

กระต่ายกับเต่า

 

การถูกสกัดจุดของ Nike เป็นโอกาสที่แบรนด์อื่นๆ จะได้หายใจหายคอและมีเวลาในการสับฝีเท้าเร่งตาม

 

แบรนด์ที่ยอมแพ้ไม่ได้อย่างเด็ดขาดคือ adidas ที่พยายามอย่างยิ่งยวดในการจะพัฒนารองเท้า Super Shoes ของตัวเองเพื่อจะท้าชนกับรองเท้าของคู่แข่งจากสหรัฐอเมริกาให้ได้บ้าง

 

ถึงจะต้องใช้เวลานานถึง 3 ปีกว่า แต่ในที่สุดยักษ์ใหญ่จากเยอรมนีก็เข็น adidas Adizero Adios Pro Evo 1 ออกมาสำเร็จ และสร้างปรากฏการณ์ได้ทันทีในการแข่งขันรายการเบอร์ลินมาราธอน (ซึ่งเป็นรายการที่มีปัจจัยเอื้อให้ทุบสถิติมากที่สุด) เมื่อ อัสเซฟา นักวิ่งสาวเอธิโอเปียที่ใส่รองเท้ารุ่นนี้ทุบสถิติโลกได้อย่างยิ่งใหญ่

 

Adizero Adios Pro 1 เลยกลายเป็นรองเท้าที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพียงแต่รองเท้ารุ่นนี้สร้างบนแนวคิดที่แตกต่างจาก Super Shoes ของ Nike 

 

อย่างแรกคือมันถูกสร้างมาเพื่อใช้สำหรับการลงแข่งวิ่งมาราธอนได้เพียงแค่ ‘ครั้งเดียว’ 

 

อย่างที่สองคือมันมีราคาสูงถึง 500 ดอลลาร์สหรัฐ (17,000 บาท)

 

มันจึงไม่ใช่รองเท้าที่เหมาะสำหรับนักวิ่งทั่วไปมากเท่าไรนัก แม้ว่าทาง adidas จะพยายามชี้แจงว่ารองเท้าสำหรับ ‘มือโปร’ นั้นก็เหมือนอุปกรณ์ของนักแข่งในระดับสูงสุด เช่น จักรยานของนักแข่งตัวจริงจะมีราคาแพงกว่ารถยนต์เสียอีก

 

การที่รองเท้าเทพรุ่นนี้มีราคาแพงก็เพราะว่ารองเท้าทุกคู่เป็นงานแฮนด์เมด ต้องใช้ทักษะของคนที่ชำนาญในการตัดเย็บและประกอบส่วนต่างๆ รวมถึงแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์เข้าไป โดยที่ภายในมีการออกแบบที่แตกต่างจากรองเท้าวิ่งของ Nike อย่างมาก

 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือมันให้ผลลัพธ์ที่สุดยอดเหมือนกัน

 

ถึงรองเท้าจะมียอดขายที่ไม่ช่วยทำให้ตัวเลขดีนัก แต่ผลทางอ้อมถือว่าคุ้ม เพราะหมายถึงการประกาศศักดาว่า adidas ตามมาทัน (สักที) ในสงคราม Super Shoes ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ และมีผลทางใจต่อบรรดานักวิ่งขาแรงทั่วโลกที่รู้ทั้งรู้ว่ารองเท้านั้นพังง่ายแต่ก็อยากได้ลองสวมใส่ดูสักครั้งอยู่ดี

 

โดยที่เป้าหมายต่อไปคือการรีบใช้เทคโนโลยีที่ได้มาพัฒนารองเท้าสำหรับคนทั่วไป ซึ่งตอนนี้ก็พอมี Adizero Prime X รออยู่แล้ว

 

 

ปารีส 2024 และอนาคตของวงการวิ่ง

 

เอเลียด คิปโชเก และ ทิกิสต์ อัสเซฟา คือสองตัวแทนของนักวิ่งที่สวมใส่รองเท้า Super Shoes ที่จะห้ำหั่นกันในการแข่งวิ่งมาราธอน โอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ซึ่งการแข่งจะมีขึ้นช่วงวันท้ายๆ ของการแข่งขัน

 

แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่ 2 คนเท่านั้น แต่ยังมีสุดยอดนักวิ่งอีกหลายคนที่จะใส่รองเท้าซึ่งอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำที่หวังว่าจะมีส่วนช่วยในการช่วยให้คว้าชัยชนะในรายการแข่งขันครั้งนี้ได้

 

ไม่เพียงแค่จะถูกจับตาเรื่องฝีเท้า ตลอดการแข่งขันรองเท้าของพวกเขาก็จะถูกจับตาเช่นกัน ซึ่งถือเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด นอกจากนี้คนที่ได้เหรียญรางวัลไม่ว่าจะเหรียญทอง เหรียญเงิน หรือเหรียญทองแดง จะได้ขึ้นรับเหรียญในพิธีปิดการแข่งขัน

 

พิธีปิดการแข่งขันนั้นมีจำนวนผู้ชมในหลัก ‘พันล้านคน’ เลยทีเดียว ซึ่งจะเป็นจำนวนคนที่ได้เห็นว่านักวิ่งเหล่านี้สวมใส่รองเท้าอะไรอยู่

 

อย่างไรก็ดีไม่ได้มีเพียงแค่ Nike และ adidas เท่านั้นที่ต้องการจะรันวงการ คู่แข่งแบรนด์อื่นก็พยายามตามมาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ASICS, New Balance, PUMA, Saucony, Under Armour รวมถึงแบรนด์ที่มาแรงสุดๆ อย่าง On

 

ชัยชนะก็อยากได้ แต่ถ้าไม่ได้ชัยชนะได้ซีนจากการแข่งโอลิมปิกบ้างก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

 

โดยที่อนาคตนั้นการแข่งขันสร้างรองเท้าสุดยอด Super Shoes จะยิ่งทวีความดุเดือดมากขึ้นไปอีก พร้อมๆ กับกลยุทธ์ทางการตลาดของแบรนด์ต่างๆ ที่ไม่สามารถจะทำแค่รองเท้าขั้นเทพแต่ไม่ทำอะไรเพิ่มเติมได้ เพราะกลุ่มลูกค้าใหญ่ตัวจริงคือนักวิ่งคนธรรมดาๆ ทั่วไป

 

คนเหล่านี้ต่อให้ไม่ได้ใช้ Super Shoes แต่อย่างน้อยรองเท้าที่พัฒนาต่อจากเทคโนโลยีระดับสูงสุดก็น่าดึงดูดใจสำหรับพวกเขาแล้ว

 

ส่วนกลุ่ม Super Shoes นั้นจะต้องแข่งขันกันต่อไป ซึ่งก็น่าเห็นใจกรรมการอย่างองค์การกรีฑาโลกอยู่เหมือนกัน

 

ระหว่างการเปิดกว้างเพื่อการพัฒนากับการปิดกั้นเพื่อรักษาหัวใจของการแข่งขัน ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย และไม่มีแววว่าสงครามนี้จะจบลงได้ง่ายๆ เลย อย่างน้อยก็ไม่ใช่เร็วๆ นี้

 

ภาพ: Courtesy of  Nike และ adidas

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X