×

วิกฤตโควิดลามถึง Nike อาจไม่มี ‘รองเท้า’ ขาย หลังฐานการผลิตหลักในเวียดนามต้องหยุดชั่วคราว

21.07.2021
  • LOADING...
NIKE

ความตึงเครียดของวิกฤตโควิดระลอกใหม่ของเวียดนาม ส่งผลให้สายพานการผลิตรองเท้ากีฬา Nike กว่า 50% ที่ผลิตในเวียดนามอาจต้องหยุดชะงัก หลังซัพพลายเออร์หลักอย่าง Chang Shin Vietnam Co., Ltd. และ Pou Chen Corp. ผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่ของโลกทยอยหยุดการดำเนินงานเพื่อความปลอดภัย 

 

รายงานโดย Panjiva บริษัทข้อมูลซัพพลายเชนที่เป็นส่วนหนึ่งของ S&P Global Market Intelligence ชี้ให้เห็นว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เวียดนามมีสัดส่วนกว่า 49% ของการนำเข้าทั้งหมดในสหรัฐฯ สอดคล้องกับสัดส่วนสินค้าในเครือของ Nike ที่ผลิตจากเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภทรองเท้า ที่มีมากถึง 86% ของการขนส่งสินค้า 

 

“สุขภาพเเละความปลอดภัยของเพื่อนร่วมทีม ตลอดจนซัพพลายเออร์ ยังคงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก” โฆษก Nike เผยกับสำนักข่าว CNBC

 

“เรายังคงเดินหน้าดำเนินงานกับซัพพลายเออร์ต่อ เพื่อสนับสนุนความรับผิดชอบของพวกเขาที่มีต่อความเคลื่อนไหวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อันเป็นผลกระทบจากโควิด

 

“จากการที่เราเดินหน้าต่อในสถานการณ์แบบนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าซัพพลายเออร์จะให้ความสำคัญต่อเรื่องสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานมาเป็นอันดับแรก รวมถึงยังคงปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายและมาตรฐานแรงงานตามจรรยาบรรณของบริษัท (Nike Code of Conduct) ว่าด้วยเรื่อง ค่าเเรง สวัสดิการ และค่าชดเชย เราเชื่อมั่นในศักยภาพของ Nike ในการเดินหน้าต่อท่ามกลางความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ พร้อมกับดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้อย่างระมัดระวัง”

 

สถานการณ์ของซัพพลายเออร์ในครั้งนี้ทำให้ปัจจุบันมูลค่าหุ้นของ Nike หล่นลงไปประมาณ 1.3% ขณะที่ภาพรวมตั้งเเต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นมา 11.5% และมีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ 2.5 เเสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8.2 ล้านล้านบาท 

 

การหยุดชะงักของโรงงานผลิตในครั้งนี้ไม่ได้มีผลกระทบเเค่ต่อ Nike เท่านั้น แต่ยังลามไปถึงตลาดค้าปลีกอื่นๆ ที่เตรียมสต๊อกสินค้ารอต้อนรับฤดูกาลเปิดเทอม ‘Back to School’ ที่นับว่าเป็นช่วงเวลา ‘โกยเงิน’ ของเหล่าร้านค้าปลีกเลยก็ว่าได้ หลังตอนนี้ยอดการสั่งสินค้าเข้ามามากเเล้ว

 

นอกเหนือจากความขัดข้องของซัพพลายเออร์ในเดือนนี้ยังมีอีกหลายความน่าปวดหัวที่เชื่อมโยงกันในสายพานผลิตทั่วโลก ทั้งวิกฤตขาดเเคลนตู้คอนเทนเนอร์ ไปจนถึงท่าเรือสำหรับขนถ่ายสินค้าที่กระทบผู้นำเข้าและค้าปลีก ทำให้ระบบขนส่งล่าช้าประกอบกับภาระค่าใช้จ่ายทางโลจิสติกส์สูงขึ้น ซึ่งนั้นก็หมายถึงราคาสินค้าที่จะต้องปรับตัวสูงขึ้นตามมาด้วย

 

จิม เวเบอร์ ซีอีโอของ Brooks ผู้ผลิตรองเท้าวิ่งสัญชาติอเมริกา ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ในเดือนที่เเล้วว่า บริษัทต้องใช้เวลาขนส่งสินค้านานถึง 80 วัน เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่ใช้เวลาแค่ 40 วัน

 

“เเทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าว่าห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เป็นต้นเหตุให้อุตสาหกรรมนี้หยุดชะงัก”

 

ทางฝั่งของแบรนด์เสื้อผ้าใหญ่ๆ ที่มีฐานผลิตอยู่ต่างประเทศเองก็โดนผลกระทบไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น Levi Strauss หรือ H&M ที่มีฐานการผลิตใหญ่อยู่ในประเทศบังกลาเทศ ขณะเดียวกันเชนห้างสรรพสินค้าใหญ่อย่าง Nordstrom ประสบปัญหาสินค้าที่ล่าช้าท่ามกลางช่วงเวลาลดราคาสินค้าครั้งใหญ่ที่สุดแห่งปี

 

โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมา แมตต์ เฟรนด์CFO ของบริษัทออกมาบอกว่า บริษัทคาดการณ์ว่าผลกระทบจากความล่าช้าของซัพพลายเชนและต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงขึ้นจะยังคงลากยาวไปถึงปี 2022 ขณะที่ผู้บริโภคยังคงมีความต้องการในการซื้อสินค้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนทางกับกำลังผลิตที่เป็นอยู่ 

 

อย่างไรก็ดีนั่นหมายความว่าในเร็วๆ นี้ผู้บริโภคจะต้องเผชิญกับตัวเลือกสินค้าที่มีจำกัด หรือของบางชิ้นก็หมดสต๊อกไปเลย ไม่ว่าจะทั้งหน้าร้านหรือหน้าเว็บก็ตาม 

 

สำหรับปัญหาขาดเเคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีมาตั้งเเต่ปี 2020 ถูกยกระดับเป็นวิกฤตโลจิสติกส์ทั่วโลก ประเทศไทยก็ไม่เว้น โดยมีปัจจัยหลักคือการผลิตตู้สินค้าใหม่ที่ลดลง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นกราฟตัว V และปัญหาขาดแคลนแรงงานในท่าเรือ ทำให้การหมุนเวียนตู้สินค้าไม่เป็นไปตามต้องการ และมีตู้สินค้าตกค้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

ภาพ: Spencer Platt/Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X