วันนี้ (1 กรกฎาคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย, น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย, อันวาร์ สาและ ส.ส. จังหวัดปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ และ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส. จังหวัดศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย
รับยื่นหนังสือจาก นนทเดช บูรณะสิทธิพร ผู้แทนสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย เพื่อทวงถามและหาทางออกมาตรการผ่อนปรนและมาตรการเยียวยาให้กับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด
นนทเดชกล่าวว่า จากประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 19 โดยกำหนดให้มีการปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ และพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการและการตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ โดยคำสั่งดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงทั้งหมด ซึ่งไม่ได้มีแต่เพียงเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการ แต่รวมไปถึงลูกจ้างทุกประเภท ทั้งที่เข้าระบบประกันสังคม และกลุ่มอาชีพอิสระที่รับค่าจ้างรายวัน เช่น นักดนตรี พนักงานเสิร์ฟ บาร์เทนเดอร์ พนักงานเชียร์สินค้า ซึ่งที่ผ่านมายังมีผู้ได้รับผลกระทบและไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาของภาครัฐ
ขณะที่ทางสมาพันธ์ได้มีข้อเสนอแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงใน 8 ประเด็น เช่น
- ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม
- ขอให้มีคำสั่งปลดล็อก เพื่อให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการ โดยต้องกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการอนุญาตให้กลับมาประกอบกิจการและอาชีพได้อีกครั้ง
- ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้
- จัดสรรวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบการธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด
ด้านพิธากล่าวว่า ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงตามได้รับความเดือดร้อนจากประกาศของ ศบค. และมาตรการป้องกันโควิดของรัฐบาลตลอดกว่า 400 วันที่ผ่านมา พวกเขาเป็นกลุ่มที่ต้องกลั้นหายใจนานกว่าคนอื่น เป็นอาชีพที่ปิดคนแรกและเปิดเป็นคนสุดท้าย ต่างได้รับผลกระทบอย่างเป็นวงกว้าง เป็นสายอาชีพอิสระโดยไม่ได้อยู่ในระบบเส้นสายเหมือนอาชีพอื่น ดังนั้นรัฐบาลควรให้ความสนใจพวกเขา โดยการรับยื่นหนังสือในวันนี้เป็น 1 ใน 3 หน้าที่ของ ส.ส. ที่จะต้องเป็นกระบอกเสียงให้พี่น้องประชาชนที่กำลังลำบาก การแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับภาวะใหม่ๆ ของประเทศ และการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลว่าได้หลงลืมประชาชนด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม โดยรัฐบาลมีเวลามากมายที่จะเลือกในการตรวจแบบปูพรม โดยไม่ใช่การปิดแบบเหมารวมเช่นนี้
ขณะที่ผู้แทนพรรคการเมืองที่เข้ารับยื่นหนังสือต่างกล่าวในทิศทางเดียวกันว่า จะรับเรื่องดังกล่าวพร้อมส่งต่อให้รัฐบาลดำเนินการ พร้อมติดตามตรวจสอบ และเร่งรัดให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ และติดตามการใช้เงินกู้ 5 แสนล้านบาทว่ามีการเยียวยากลุ่มธุรกิจกลางคืนหรือไม่ อีกทั้งนำข้อเรียกร้องนี้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาต่อไปในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย
สำหรับสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย มาจากการรวมตัวกันของ 7 ชมรม ได้แก่ ชมรมผู้ประกอบการผับบาร์รายย่อย, ชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย, ชมรมดีเจและโปรโมเตอร์กรุงเทพฯ, ชมรมคราฟต์เบียร์, ชมรมผู้ทำคอนเสิร์ตและอีเวนต์, ชมรมผู้สนับสนุนดนตรีโดยคนแฟชั่น และชมรมบาร์เทนเดอร์และค็อกเทลบาร์ ปัจจุบันผู้เข้าร่วมแล้วมากกว่า 20,000 คน