วันนี้ (3 พฤศจิกายน) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘ ทนายความ จิตอาสาจริงๆ’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการมีอยู่จริงของ ทนายความ จิตอาสาที่ช่วยเหลือประชาชนด้วยใจ ไม่สนใจผลประโยชน์หรือการสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 52.44 ระบุว่า มีจริง แต่ไม่มากเท่าไร รองลงมาร้อยละ 26.56 ระบุว่า ไม่มั่นใจว่ามีจริง ร้อยละ 16.88 ระบุว่า ไม่มีจริง และร้อยละ 4.12 ระบุว่า มีจริง จำนวนมาก
ด้านบุคคลหรือหน่วยงานที่ประชาชนไว้ใจในการขอความช่วยเหลือหากไม่มั่นใจในความยุติธรรมจากคดีความที่ฟ้องร้องผู้อื่นหรือถูกผู้อื่นฟ้องร้อง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 42.06 ระบุว่า ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย รองลงมาร้อยละ 21.83 ระบุว่า ชมรม สมาคม มูลนิธิ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่เกี่ยวข้อง ร้อยละ 19.16 ระบุว่า สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด ร้อยละ 13.44 ระบุว่า ไม่ไว้ใจใครเลย
ร้อยละ 11.68 ระบุว่า ทนายอาสาจากสภาทนายความ ร้อยละ 11.37 ระบุว่า ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 ร้อยละ 9.01 ระบุว่า ทนายทั่วไป ร้อยละ 8.17 ระบุว่า ทนายอาสาจากเนติบัณฑิตยสภา ร้อยละ 6.87 ระบุว่า ทนายที่มีชื่อเสียง ร้อยละ 1.60 ระบุว่า นักการเมือง และร้อยละ 4.96 ระบุอื่นๆ ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความไว้วางใจของประชาชนต่อความช่วยเหลือที่จะได้รับจากการใช้บริการหรือขอคำปรึกษาจากทนายความ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 42.06 ระบุว่า ค่อนข้างไว้วางใจ รองลงมาร้อยละ 36.11 ระบุว่า ไม่ค่อยไว้วางใจ ร้อยละ 12.52 ระบุว่า ไม่ไว้วางใจเลย ร้อยละ 8.78 ระบุว่า ไว้วางใจมาก และร้อยละ 0.53 ระบุว่า ไม่ทราบ / ไม่ตอบ / ไม่สนใจ