วันนี้ (27 สิงหาคม) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ความขัดแย้งทางการเมืองสลายหรือยัง? ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มต่างๆ ของประชาชน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 87.63 ระบุว่า ไม่เคยไปร่วมชุมนุมใดๆ กับกลุ่มทางการเมืองเหล่านี้, รองลงมาร้อยละ 4.35 ระบุว่า เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช. หรือ กลุ่มเสื้อแดง), ร้อยละ 3.13 ระบุว่า เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม. หรือ กลุ่มเสื้อเหลือง), ร้อยละ 3.05 ระบุว่า เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และร้อยละ 2.82 ระบุว่า เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มสามนิ้ว (กลุ่มเสื้อส้ม)
ด้านกลุ่มทางการเมืองที่ประชาชนมองว่าตนเองอยู่ในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 69.47 ระบุว่า ไม่อยู่ในกลุ่มทางการเมืองใดๆ, รองลงมาร้อยละ 19.85 ระบุว่า กลุ่มสามนิ้ว (กลุ่มเสื้อส้ม), ร้อยละ 6.64 ระบุว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช. หรือ กลุ่มเสื้อแดง), ร้อยละ 2.59 ระบุว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม. หรือ กลุ่มเสื้อเหลือง) และร้อยละ 1.45 ระบุว่า กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)
ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดตั้งรัฐบาลพิเศษสลายขั้วของพรรคเพื่อไทย โดยมี เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี จะทำให้มีการสลายความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง และ กปปส. พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 36.72 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย, รองลงมาร้อยละ 20.61 ระบุว่า เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 20.53 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย, ร้อยละ 19.85 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย และร้อยละ 2.29 ระบุว่า ไม่ทราบ ไม่ตอบ หรือไม่สนใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการกลับประเทศไทยของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะทำให้มีการสลายความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง และ กปปส. พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 30.76 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย, รองลงมาร้อยละ 27.02 ระบุว่า เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 22.29 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 18.25 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 1.68 ระบุว่า ไม่ทราบ ไม่ตอบ หรือไม่สนใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทางการเมืองในอนาคต พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 39.39 ระบุว่า กลุ่มเสื้อส้มกับทุกกลุ่ม (เสื้อเหลือง เสื้อแดง และ กปปส.), รองลงมาร้อยละ 24.89 ระบุว่า ไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มอีกต่อไป, ร้อยละ 16.56 ระบุว่า กลุ่มเสื้อแดงกับกลุ่มเสื้อส้ม, ร้อยละ 6.72 ระบุว่า กลุ่มเสื้อเหลืองกับกลุ่มเสื้อแดง, ร้อยละ 2.44 ระบุว่า กลุ่มเสื้อแดงกับกลุ่ม กปปส., ร้อยละ 2.29 ระบุว่า กลุ่มเสื้อเหลืองกับกลุ่มเสื้อส้ม, ร้อยละ 1.45 ระบุว่า กลุ่ม กปปส. กับกลุ่มเสื้อส้ม, ร้อยละ 0.53 ระบุว่า กลุ่มเสื้อเหลืองกับกลุ่ม กปปส. และร้อยละ 10.53 ระบุว่า ไม่ทราบ ไม่ตอบ หรือไม่สนใจ
อ้างอิง: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)