วันนี้ (9 มิถุนายน) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘ขอถามบ้าง 9 เดือนรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา’
ได้สำรวจระหว่างวันที่ 4-5 มิถุนายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในรอบ 9 เดือน
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในรอบ 9 เดือน พบว่า
– ร้อยละ 34.35 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ เพราะการบริหารจัดการในเรื่องต่างๆ มีความล่าช้า และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากเดิม
– ร้อยละ 31.69 ระบุว่า ไม่พอใจเลย เพราะไม่มีความก้าวหน้าในการทำงานและไม่สามารถทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้
– ร้อยละ 25.19 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ เพราะมีความพยายามผลักดันนโยบายต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และเห็นผลงานที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา
– ร้อยละ 7.40 ระบุว่า พอใจมาก เพราะมีความตั้งใจในการทำงาน ช่วยเหลือประชาชน ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น
– ร้อยละ 1.37 ระบุว่า ไม่ตอบ / ไม่สนใจ
ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ พบว่า
– ร้อยละ 35.95 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น ผลงานยังไม่ชัดเจน และแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
– ร้อยละ 35.04 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะการทำงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้และแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด
– ร้อยละ 22.14 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น เพราะมีประสบการณ์ในการทำงาน มีทักษะด้านการบริหาร สามารถทำให้ประเทศพัฒนาขึ้นได้
– ร้อยละ 5.42 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก เพราะรัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา มีการบริหารที่ดี สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้
– ร้อยละ 1.45 ระบุว่า ไม่ตอบ / ไม่สนใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ภายในระยะเวลา 2 เดือน พบว่า
– ร้อยละ 43.44 ระบุว่า นายกฯ เศรษฐา ยังคงอยู่ในตำแหน่งเหมือนเดิม
– ร้อยละ 15.65 ระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังคงเหมือนเดิม
– ร้อยละ 15.50 ระบุว่า จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี
– ร้อยละ 10.92 ระบุว่า จะมีการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่
– ร้อยละ 10.46 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงมาจากพรรคเพื่อไทย
– ร้อยละ 6.56 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะมาจากพรรคฝ่ายค้าน
– ร้อยละ 6.11 ระบุว่า จะมีการสลับขั้วทางการเมืองและเปลี่ยนรัฐบาล
– ร้อยละ 4.58 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะมาจากพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน
– ร้อยละ 3.21 ระบุว่า สส. ฝ่ายรัฐบาล จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น
– ร้อยละ 3.05 ระบุว่า จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจะลดลง
– ร้อยละ 2.60 ระบุว่า จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น และ สส. ฝ่ายรัฐบาล จะมีจำนวนลดลง ในสัดส่วนที่เท่ากัน
– ร้อยละ 12.67 ระบุว่า ไม่ตอบ / ไม่สนใจ