‘ความยั่งยืน’ กลายเป็นคำที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทิศทางของสังคมที่กำลังจะดำเนินไปในอนาคตที่มีความท้าทายอยู่รอบด้าน
สิ่งหนึ่งที่ได้สะท้อนภาพความสำคัญของ ‘ความยั่งยืน’ คือ ‘แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)’ ที่ได้กำหนดให้ความยั่งยืนเป็นแกนหลักสำหรับการพัฒนาประเทศไทยในด้านต่างๆ
หัวใจหลักของแผนดังกล่าวคือการใช้ ‘หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ โดยสืบสาน รักษา ต่อยอดการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างมีเหตุผล ความพอประมาณ ภูมิคุ้มกันบนฐานของความรู้ คุณธรรม และความเพียร
โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับสถานการณ์และเงื่อนไข ระดับประเทศและระดับโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ และศักยภาพของทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ
โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความสมดุลในมิติต่างๆ ทั้งความสมดุลระหว่างการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ความสามารถในการพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง ความสมดุลของการกระจายโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนและพื้นที่ และความสมดุลทางธรรมชาติ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
รวมถึงการบริหารจัดการองคาพยพต่างๆ ของประเทศให้พร้อมรับกับความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ เริ่มต้นได้ที่ ‘ตัวเรา’ ด้วยตัวเรามีฐานะเป็น ‘พลเมืองโลก’ ที่ต้องร่วมสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
วันนี้เราจึงได้พูดคุยกับตัวแทนมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตป้ายแดง จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ในฐานะ ‘คนของสังคม’ ทำงานเพื่อสังคม ที่จะมาสะท้อนการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและเริ่มต้นได้ที่ ‘ตัวเรา’
จักรพงษ์ ชินกระโทก
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน)
เริ่มต้นด้วยมหาบัณฑิต จากคณะการจัดการการท่องเที่ยว ในฐานะคนทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดหลักสำหรับเศรษฐกิจของประเทศ มองว่า ความยั่งยืนเริ่มต้นที่ตัวเรา เพราะในปัจจุบันการทำธุรกิจหรือการดำเนินชีวิตไม่ใช่รูปแบบของธุรกิจที่พิเศษเพื่อใคร หรือใครมีความสุขแค่คนเดียว เราควรจะได้ใช้ชีวิตที่เป็นการส่งเสริม ร่วมกันเกิดและเติบโต เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน
นอกจากนี้ยังได้นำความรู้จากการเรียนต่อที่นิด้ามาต่อยอดในการทำงาน เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา การได้เข้ามาอัปเดต พัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ในฝั่งของวิชาการ ผนวกกับประสบการณ์การทำงาน ทำให้การบริหารจัดการองค์ความรู้ในองค์กรดีขึ้นมาก
“ส่วนตัวพยายามที่จะผลักดันการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และให้เกิดความสมดุลทั้ง 3 ส่วน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การอนุรักษ์รักษาทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยการทำงานร่วมกับภาคชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริง ให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน”
ผศ. ดร.อาทิตยา ทรัพย์สินวิวัฒน์
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการเพื่อสังคม วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)
ดุษฎีบัณฑิตด้านสื่อและนวัตกรรม จากคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ ได้สะท้อนมุมมองของการเป็น ‘พลเมืองโลก’ ต้องช่วยกันพัฒนาในส่วนต่างๆ ให้โลกใบนี้ยังสามารถอยู่ได้ คนรุ่นหลังสามารถดำเนินชีวิตต่อได้ โดยเริ่มต้นที่ตัวเรา และการซัพพอร์ตจากการมีระบบการจัดการของภาครัฐและภาคเอกชนที่ดี ช่วยเหลือและร่วมมือกัน เพื่อให้การพัฒนาโลกใบนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าวันหนึ่งอาจมีองค์กรใดหายไป ใครหายไป แต่ก็ยังคงมีพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นหลังสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้
ในการทำงานบริการวิชาการเพื่อสังคม คำถามสำคัญที่จะถามชุมชนคือ ‘ชุมชนมีความต้องการอะไร’ หลังจากนั้นจึงหยิบยกองค์ความรู้ขององค์กรเรา ตลอดจนองค์ความรู้จากการเรียนต่อกับนิด้า จากคณาจารย์ของนิด้า นำไปปรับใช้และพัฒนาต่อในชุมชนและระดับประเทศ
“ความรู้ดังกล่าวถูกนำมาใช้กับการพัฒนาสินค้า การท่องเที่ยว หรือการพัฒนาชุมชน และเมื่อวันหนึ่งที่เราถอนตัวออกจากชุมชนแล้ว ชุมชนจะต้องเดินหน้าและอยู่ต่อได้”
ณชนก ฤทธิ์มนตรี
เจ้าหน้าที่โครงการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์
มหาบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ มองถึงสถานการณ์โลกในปัจจุบันว่า โลกของเราอยู่ใน ‘สภาวะโลกรวน’ สังเกตได้จากสภาพอากาศเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศที่ย่ำแย่ลง
ด้วยเหตุนี้การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นและสำเร็จได้ภายใน 1-2 วัน เราต้องทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และเป็นรูปธรรม หากเราละเลยผลกระทบอาจย้อนกลับมาที่ตัวเรา
ณชนกมองว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนแบบง่ายๆ เริ่มต้นที่ตัวเรา เช่น การจัดการขยะในบ้านของเราเอง หรือการพกกระบอกน้ำ ขวดน้ำส่วนตัว เป็นการช่วยลดขยะพลาสติก จุดเริ่มต้นเล็กๆ จากตัวเรา จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้
“นอกจากนี้ในการทำงานร่วมกับชุมชนของเรา เราไม่ได้นำแค่องค์ความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ แต่เรานำความรู้และประสบการณ์ของคนอื่นๆ ในชั้นเรียนที่มีความหลากหลายมาแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ทำให้เรามองเห็นมุมมองการทำงาน การพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ได้มากขึ้น”
พัสกร ยาชูชีพ
กรรมการผู้จัดการบริษัท บริษัท ธุรกิจเหล็กดี จำกัด
มหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ เล่าในมุมมองผู้บริหารว่า ต้องเริ่มต้นที่การ ‘พัฒนาคน’ สร้างศักยภาพของคน สร้างความเชื่อมั่น เพราะถ้าเชื่อมั่นในตัวเอง และรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จ
“เราในฐานะผู้บริหารองค์กร ก็ต้องทำงานบนหลักคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ และสร้างเสริมให้พนักงานในองค์กรกล้าแสดงออก เพราะในการทำงานไม่ว่าคุณจะอยู่ในระดับบนหรือระดับล่าง จะต้องฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน”
พัสกรมองการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากร 3 สิ่งนี้ต้องถูกพัฒนาควบคู่กันไป หากเศรษฐกิจยั่งยืน แต่สังคมย่ำแย่ การพัฒนาก็ไปด้วยกันไม่ได้ ดังนั้นจะต้องเดินไปพร้อมกัน ช่วยกันพัฒนาในระยะยาว และประสบความสำเร็จไปด้วยกัน
“นิด้าเป็นสถาบันการศึกษาที่ทำให้เรามองเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาคน เพราะนิด้าเปรียบเสมือน ‘ดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ’ ไม่ว่าจะเมล็ดพันธุ์อะไรมาปลูกก็เจริญงอกงาม เติบโตขึ้นเป็นต้นไม้ใหญ่ที่สร้างประโยชน์ให้สังคมและประเทศ”
ดร.วันทนา บัวบาน
นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับชำนาญการพิเศษ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง
ดุษฎีบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ มองว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน ‘ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ คำนึงผลกระทบต่อคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นหลัง
ในฐานะที่ทำงานในภาครัฐ ดร.วันทนาได้เล่าให้ฟังว่า การทำงานของภาครัฐเองในปัจจุบัน ก็จะเน้นโครงการที่ลงทุนพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ได้คิดแค่การพัฒนาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาว
การขับเคลื่อนดังกล่าวได้เกิดขึ้นผ่านการคิดเครื่องมือทางการเงินอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า ‘Sustainability Bond’ มาสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศ ทำให้ประเทศมีการพัฒนาที่ยั่งยืนได้
“ถ้าเราพัฒนาด้านใดด้านหนึ่งให้เติบโต แม้ว่าประเทศของเราจะพัฒนา ทันสมัยมากขึ้น เศรษฐกิจเติบโตก้าวหน้า แต่เราไม่พัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม วันข้างหน้าก็จะเกิดปัญหาความเสื่อมโทรม กลายเป็นการพัฒนาที่ไม่สมดุล เกิดเป็นปัญหาระยะยาว”
ดร.อรทัย ภูบุญลาภ กูนาซีลาน
ที่ปรึกษา (Counsellor) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา คาซัคสถาน
ดุษฎีบัณฑิต จากคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่นำประสบการณ์และทักษะที่ได้รับจากการเรียนปริญญาเอกที่นิด้า ไปปรับใช้ในการทำงานและพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก โดยมองว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน คือการพัฒนาที่ไปข้างหน้า มีความเจริญในการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และต้องมีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป ที่สำคัญคือต้องไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ถ้าเราไม่พัฒนาอย่างยั่งยืน โลกไม่มีทรัพยากร สิ่งแวดล้อมโดนทำลาย อากาศเปลี่ยนแปลง เกิดมลพิษ สารพิษในอาหาร ทุกอย่างของโลกนี้ก็จะจบลง
ในการเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปประจำการ ณ สถานเอกอัครราชทูต กรุงอัสตานา คาซัคสถาน เรามองหาจุดเชื่อมโยงการพัฒนา อย่างประเทศไทยเราจะเน้นเรื่องของ BCG Model ขณะที่คาซัคสถานก็ให้ความสนใจเรื่องของ Green Economy ทำให้สองสิ่งนี้สามารถนำมาเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลกได้
“เรานำ BCG Model มาผนวกกับสิ่งที่สังคมของคาซัคสถานมีอยู่เยอะ อย่าง ‘ยูเรเนียม’ และแร่ธาตุสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ โดยไม่ต้องใช้น้ำมัน เราก็ได้รับความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมชิ้นนี้จากภาคส่วนต่างๆ ของคณะผู้แทนไทย มาร่วมจับคู่ทางธุรกิจ อุตสาหกรรม ดูว่าจะทำอะไรด้วยกันได้บ้างเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป”
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราว ‘คนของสังคม’ ในการทำงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ทำให้เราได้เห็นว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา เปิดรับที่จะเข้าใจ ร่วมมือแก้ไขปัญหา และมาร่วมสร้างสังคมที่ยั่งยืน ไปกับ ‘NIDA’ WISDOM for Sustainable Development สร้างปัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ที่ www.nida.ac.th และ https://sdgs.nida.ac.th
อ้างอิง: