ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อวงการสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ ในสภาวะที่ข่าวสารถาโถมสู่ผู้รับสารได้อย่างรวดเร็วหลากหลายช่องทาง ทำให้สื่อทั้งหลายต่างมองไปข้างหน้าเพื่อหาโอกาสต่อสู้เพื่อความอยู่รอดในการแข่งขันที่สูงขึ้นทุกวัน
แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การมองย้อนกลับไปสู่การทำงานในอดีต เพื่อค้นหาบทเรียนจากช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา ว่าสิ่งใดคือสิ่งที่สำคัญที่สุดแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป
THE STANDARD มีโอกาสได้พบกับหนึ่งในบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนกล้องมองย้อนอดีตในการทำงานของนักหนังสือพิมพ์ Corriere Della Sera ที่ถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์กีฬาอันดับต้นๆ ของประเทศอิตาลีในยุค 70
เขาคนนี้มีชื่อว่า นิโคลา ฟอร์ชินาโน อดีตนักหนังสือพิมพ์ที่ปัจจุบันใช้ชีวิตในวัย 76 ปีอยู่ในภูเก็ต ประเทศไทย
นั่งไทม์แมชชีนย้อนดูชีวิตการทำงานของนักหนังสือพิมพ์กีฬาในปี 1970 ที่อิตาลี
“คุณเห็นเครื่องพิมพ์ดีด Olivetti Lettera 22 ที่ตั้งอยู่ตรงนั้นไหม อันนี้แหละที่ผมต้องพกไปด้วยตลอดเวลา ไม่ว่าจะสนามฟุตบอลหรือบนถนน ในการแข่งขันจักรยาน Giro d’Italia อันโด่งดังของอิตาลี” นิโคลาเริ่มต้นเรื่องราวในอดีตด้วยการชี้ให้เห็นอุปกรณ์หนักหลายกิโลกรัมที่ยังสามารถทำหน้าที่ของมันได้ถึงทุกวันนี้
“ผมเป็นนักข่าวกีฬาฟุตบอล ในช่วงเวลานั้นทีมที่ยิ่งใหญ่ในอิตาลีมีเพียงอินเตอร์ มิลาน, เอซี มิลาน และยูเวนตุส แฟนบอลส่วนใหญ่ทั่วทั้งประเทศอิตาลีมักจะเชียร์อยู่เพียงสามทีมนี้”
(ขวา) Gianni Agnelli เจ้าของบริษัทรถยนต์ Fiat และอดีตเจ้าของสโมสรยูเวนตุส (กลาง) นิโคลา
“การเริ่มต้นเป็นนักข่าวในยุคนั้นเราต้องพกเครื่องพิมพ์ดีดไปทุกที่ การพิมพ์งานส่งหนังสือพิมพ์เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย ด้วยพื้นที่ที่จำกัด ในยุคสมัยนั้นต้องยอมรับว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุด สมมติพื้นที่ข่าวกีฬามี 1 หน้า ครึ่งหน้าจะเป็นข่าวฟุตบอล อีกครึ่งจะเป็นข่าวกีฬาชนิดอื่นๆ”
(ขวา) จานนี ริเวรา ตำนานเพลย์เมกเกอร์ของอิตาลีและมิลาน (ซ้าย) นิโคลา
นิโคลา “เขาเล่นให้กับมิลานและทีมชาติ เห็นไหมว่าตอนนั้นผมมีผมเยอะกว่านี้ (หัวเราะ)
“เมื่อเริ่มต้นทำงาน เราไม่มีสัญญาเป็นเวลานานถึง 3 ปี สมัยก่อนผมไม่เคยได้ไปเรียนในโรงเรียนที่สอนวารสารศาสตร์ ผมไม่เชื่อไอเดียของการไปเรียนเกี่ยวกับวารสารศาสตร์ เพราะอาชีพของเราต้องเรียนรู้ใหม่ทุกวัน แน่นอนเราก็มีกฎของเราสำหรับงานที่ดีและถูกต้อง แต่คุณต้องเรียนรู้ทุกวันจากการทำงาน”
“ผมเริ่มต้นจากฟุตบอลในอิตาลี เพราะตอนนั้นถ้าคุณทำข่าวกีฬาในอิตาลีคุณต้องทำข่าวฟุตบอลเป็นหลัก ส่วนในช่วงฤดูหนาวก็ทำข่าวสกี ตอนผมเริ่มทำงานเรามีแชมป์สกีชาวอิตาลีมากมาย
“ในช่วงกลางสัปดาห์เราจะมีข่าวกีฬาเพียง 2 หน้า ช่วงสุดสัปดาห์มี 10 หน้า ซึ่ง 8 จาก 10 หน้านั้นเป็นข่าวฟุตบอล อิตาเลียนฟุตบอลเป็นสิ่งที่สำคัญต่อคนอิตาลีมาก บทความแรกของผมถูกตีพิมพ์ในเดือนเมษายน ปี 1976 แต่ผมจำได้เพียงแค่ว่าเป็นการเขียนเกี่ยวกับฟุตบอล”
(ขวา) โรแบร์โต มันชินี อดีตนักเตะทีมชาติอิตาลี เมื่อปี 1987 (กลาง) นิโคลา (ซ้าย) โรแบร์โต วีเอรี อดีตนักเตะยูเวนตุส
“นี่เป็นภาพทีมชาติอิตาลี มันชินีเป็นนักเตะที่ยอดเยี่ยมมาก เขาเป็นแฟนตัวยงของผมด้วย (หัวเราะ)”
“ผมจำได้แต่ว่าหลังไปทำข่าวฟุตบอลที่สนามเกมแรก หลังจบเกมผมเข้าไปในห้องผู้สื่อข่าวเพื่อพิมพ์งาน และพบกับกองทัพนักข่าวที่ตีแป้นพิมพ์ดีดกันอย่างดุเดือด ผมไม่กล้าทำอะไร ต้องรอจนพวกเขาทำงานเสร็จค่อยเข้าไปนั่งพิมพ์
“Corriere Della Sera คือหนังสือพิมพ์ของอิตาลีจากมิลาน ตอนผมเริ่มต้นมีเพียงมิลาน, ยูเวนตุส, อินเตอร์ มิลาน ที่สลับกันคว้าแชมป์ นาโปลี, โรมา เพิ่งจะเริ่มต้นมาทีหลัง
“สมัยนั้นผมเดินทางด้วยเครื่องบิน รถยนต์ ทุกวันต้องทำงานด้วยเครื่องพิมพ์ดีด ส่วนในสำนักพิมพ์ผมมีอันที่ใหญ่กว่านี้ แต่สิ่งที่ยากสำหรับการพิมพ์ข่าวในตอนนั้นคือ คุณต้องมีสมาธิกับทุกตัวอักษร เพราะตอนที่เราได้รับมอบหมายงานมา เรามีพื้นที่จำกัด และเราต้องวางแผนทุกอย่างไว้ในหัวว่าเราจะใช้พื้นที่เท่าไรในการเขียนแต่ละครั้งแบบพอดีและไม่มีข้อผิดพลาด
“ลูกชายผมตอนนี้เขาทำงานเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์ ทุกวันนี้เขาขอยืมเครื่องพิมพ์ดีดผมทำงาน ผมถามเขาว่าทำไมไม่ใช้คอมพิวเตอร์ เขาตอบว่านี่เป็นสิ่งที่ยากกว่า แต่มีสมาธิมากกว่า เพราะเราไม่สามารถทำผิดได้
“ทุกครั้งที่เราพิมพ์ เราต้องคิดตลอดว่าจะเขียนอะไร ทุกตัวอักษรที่พิมพ์ลงไปไม่สามารถแก้ไขได้ ทุกวันนี้เรามีคอมพิวเตอร์ออกแบบเลย์เอาต์ให้เลย แต่สมัยก่อนไม่มี ถ้ามีพื้นที่เพียง 29 บรรทัด ก็ต้องเขียนให้ได้ 29 บรรทัดแบบเต็มๆ กรอบหนังสือพิมพ์ที่มีให้
“บางครั้งเราใช้เครื่องอัดเสียง และเราทำหน้าที่บรรยายเกมใส่เทป และส่งกลับไปที่สำนักพิมพ์ หรือบางครั้งเราก็โทรเล่าให้ฟัง เพื่อให้คนพิมพ์ออกมาเป็นตัวอักษรและตีพิมพ์อออกมาเป็นหนังสือพิมพ์
“เวลาเราไปต่างประเทศ ไม่มีการส่งภาพหรือเสียง เราก็ต้องใช้โทรศัพท์ทางไกล เวลาโทรก็ต้องต่อผ่านโอเปอเรเตอร์เพื่อต่อสายกลับไปสู่อิตาลี ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องรีบทำเพื่อให้ทันการตีพิมพ์ในช่วงเช้า และส่งออกไปตามสถานที่ต่างๆ”
(ขวา) ฟาบิโอ คาเปลโล สมัยเป็นนักเตะทีมชาติอิตาลี และมิลาน (ซ้าย) นิโคลา
“ผมจำได้ว่าคาเปลโลเป็นคนที่จิตใจแข็งแกร่งมากตอนเป็นนักเตะ สิ่งที่สำคัญสำหรับเขาคือความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อ”
“ในวันที่ฟุตบอลแข่งขันเป็นวันที่ทำงานง่าย เพราะผลการแข่งขันคือข่าววันนั้น เราก็มีเป้าหมายที่ต้องไป สมมติผมอยู่สำนักงานที่มิลาน มีเกมใหญ่ที่ยูเวนตุส ผมก็ขับรถออกไปตูรินตั้งแต่เช้า ประมาณ 2 ชั่วโมง มีแค่ผมกับเครื่องพิมพ์ดีด
“ไม่มีช่างภาพนิ่ง เพราะว่าตอนที่เราทำงานฟุตบอล เรามีภาพจากเอเจนซีภาพ ที่ทำหน้าที่ส่งภาพให้สำนักข่าวโดยตรง เราไม่มีช่างภาพ เพราะว่ามันไม่เหมือนทุกวันนี้ที่ส่งภาพผ่านโทรศัพท์มือถือได้เลย แต่สมัยก่อนเวลาถ่ายภาพเสร็จแล้วภาพมันก็ค้างอยู่ในกล้องนั่นแหละ เราเองส่งไปไม่ทันตีพิมพ์หรอก
“ตอนที่เกมจบเรามักจะลงไปคุยสัมภาษณ์นักเตะ โค้ช ถ้าเป็นเกมใหญ่ เกมสำคัญเราจะไปกันสามคน คนหนึ่งจะเขียนเกี่ยวกับรูปเกมอย่างเดียว ใครยิงตอนไหน ชนะเท่าไร คนที่สองไปคุยกับนักข่าวประจำทีม และคนที่สามไปสัมภาษณ์ผู้จัดการและนักเตะ
“ทั้งสามคนต่างคนต่างเขียนงานของตัวเอง ไม่เอามารวมกัน บรรณาธิการจะเป็นผู้กำหนดว่าข่าวอะไรจะได้ลงตอนไหน”
นิโคลาระหว่างการตามรายงานข่าวการแข่งขันจักรยาน Giro d’Italia
“ตอนที่ผมไปทำข่าวจักรยานเป็นสิ่งที่ยากมาก คือเราต้องนั่งทำงานตามติดการแข่งขันบนรถไปตลอดหลายวัน วันละหลายชั่วโมง เมื่อเราไปถึงเส้นชัยก็ต้องรีบวิ่งไปสัมภาษณ์ผู้ชนะ และวิ่งไปพิมพ์ข่าวในทันที
“Giro d’Italia ใช้เวลาแข่งขันทั้งหมด 26 วัน ลองคิดดูแล้วกันว่าต้องตามตลอดทัวร์นาเมนต์มันเป็นสิ่งที่ยากขนาดไหน ตื่นเช้ามาแต่ละวันเราต้องรีบไปคุยกับนักแข่งก่อนออกสตาร์ท กระโดดขึ้นรถตามไปตลอดทาง บางวันถ้าแข่งบนถนนใหญ่เราก็ขับตามหลังหรือด้านข้าง บางวันแข่งขึ้นเขาแบบแคบๆ เราก็ต้องขับขึ้นนำไปก่อน และในรถจะมีวิทยุการแข่งขันให้นักข่าวและทีมแข่งฟังเท่านั้น เราจะได้ยินแค่ว่า ตอนนี้คนนี้ขึ้นนำ ขณะที่คนนี้ตามมาติดๆ จะเป็นการบรรยายแบบนี้ให้เราตลอดทาง”
ประสบการณ์ทำข่าวการเมืองในยุคแห่งกระสุนของประเทศอิตาลี Anni di piombo ที่ต้องพกปืนติดตัว
มิลาน อิตาลี วันที่ 14 พฤษภาคม 1977 Giuseppe Memeo เล็งปืนไปที่ตำรวจระหว่างการประท้วง รูปถ่ายโดย Paolo Pedrizzetti ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของยุค Anni di piombo (Years of Lead) ยุคแห่งกระสุนในประเทศอิตาลี ช่วงระหว่างปลายยุค 60 ถึงปลาย 80
“ในการทำงานเรามี 2 หน้าที่ อย่างแรกคือออกไปทำข่าวในแต่ละวัน หรือนั่งอยู่ในออฟฟิศ เมื่อข่าวมาเราก็ทำหน้าที่พิสูจน์อักษรหรือตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ให้ไม่มีข้อผิดพลาด ถึงจะมีข้อผิดพลาดบ้างแต่ก็ไม่ยิ่งใหญ่มาก
“ในอิตาลีข่าวการเมืองนี่ห้ามผิดพลาด ถ้าผิดพลาดก็จะมีโทรศัพท์สายตรงหาผู้บริหารของสำนักพิมพ์
“ตอนที่ผมย้ายไปทำข่าวการเมือง ช่วงที่มีการก่อการร้ายในประเทศอิตาลี เราเรียกยุคนั้นว่า Anni di piombo (Years of Lead) ยุคแห่งกระสุนในประเทศอิตาลี ช่วงระหว่างปลายยุค 60 ถึงปลาย 80 และช่วงนั้นเองเพื่อนนักข่าวผมที่เป็นนักข่าวการเมืองใน Corriere Della Sera ก็ถูกฆ่าหลังจากเขียนบทวิจารณ์บางกลุ่ม
“หลังจากที่เพื่อนผมถูกฆ่า ผมจำได้ว่าผู้บริหารของสำนักพิมพ์โทรหาผมแล้วบอกว่า ให้พยายามเอาสติกเกอร์ Corriere Della Sera ที่ติดอยู่ข้างรถออก เพราะว่ามันอันตรายเกินไป
“ช่วงนั้นมีนักข่าวถูกฆ่าเยอะมาก ผมจำได้ว่าผู้อำนวยการข่าวในฟลอเรนซ์และตำรวจอนุญาตให้ผมพกพาปืน Revolver เป็นช่วงเวลา 3-4 ปี ผมต้องพกปืนไปทำงานด้วยตลอดเวลา
“หลังจากนั้นผมก็เปลี่ยนเป็น Smith and Watson เพราะ Revolver หนักมาก และตอนที่ผมพกไว้ในเสื้อโค้ต ถ้ามีคนถามว่าร้อนไหม อยากถอดเสื้อโค้ตไหม ผมก็ต้องปฏิเสธ เพราะพวกเขาจะเห็นว่าผมพกปืนมาทำงาน”
นักข่าว อาชีพที่ต้องอาศัยความรักและแพสชันในการทำงาน
“สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับนักข่าวคือคุณต้องรักมัน ตอนที่ผมเด็กๆ อายุ 12-13 ปี ผมคิดว่าโตขึ้นผมจะเป็นนักข่าว การเป็นนักข่าวคือสิ่งที่เราอยากค้นหาอะไรบางอย่างตลอดเวลา มันไม่ใช่ชีวิตที่ดี เพราะต้องทำงานตลอดเวลา ทั้งกลางดึกหรือทำงานเสาร์-อาทิตย์ โดยเฉพาะวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ทุกคนหยุดงาน ขณะที่นักข่าวต้องทำงาน
คุณต้องมีความรักกับอาชีพนี้มาก ผมเคยเห็นเด็กๆ ที่ทำงานนี้ดีมากๆ แต่ถ้าพวกเขาไม่มีความรักในอาชีพ เวลาผ่านไปพวกเขาก็จะรู้สึกเหนื่อย เพราะมันเป็นงานที่หนักมาก ถ้าไม่รักก็จะเป็นสิ่งที่ยากมากที่จะทำงานอย่างหนักทุกวัน ท่ามกลางครอบครัวที่เราแทบจะไม่มีเวลาให้
ตอนนี้ลูกชายผมโตแล้ว เป็นอาจารย์สอนปรัชญาอยู่ในมหาวิทยาลัย ตอนที่ผมอายุน้อยกว่านี้ ผมเคยชวนลูกชายตอนอายุ 18 ปีไปทำงานหนังสือพิมพ์ เพราะเขาเองก็อยากลองทำ
ผมก็บอกมาเลย แต่ลูกต้องมาทำเหมือนกับที่พ่อทำทุกอย่าง ไม่ใช่แค่มาวันละ 2-3 ชั่วโมงแล้วกลับบ้าน มาด้วยกันตั้งแต่เช้า และอยู่เขียนข่าวกับผมถึงดึกๆ หลังจากนั้น พอเขาอายุ 24 ปี เขาก็บอกเขาชอบเป็นนักข่าว
“ผมก็ชวนเขาออกไปกินข้าวเพื่อนั่งคุยถึงอนาคต และบอกเขาว่า จำได้ไหมว่าตอนเด็กๆ ผมไม่ได้เป็นพ่อที่ดีเลยนะ ตอนดึกๆ ไม่เคยอยู่บ้าน อยู่แต่ที่ทำงาน 12-14 ชั่วโมงเกือบทั้งวัน และไม่เคยได้ใช้เวลากับลูก ลูกจำได้ใช่ไหม และลูกอยากได้ชีวิตแบบนี้ไหม เขาตอบสั้นๆ ว่าไม่ แล้วสุดท้ายเขาก็กลายเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยไปแล้ว (หัวเราะ)
“ผมชอบการเป็นนักข่าว เพราะทุกเช้าผมจะเข้าออฟฟิศไปพบกับบรรณาธิการสายต่างๆ ทั้งกีฬา สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และถามกันว่าวันนี้มีข่าวอะไรบ้าง พอผ่านไปบ่าย 3 เราก็ประชุมข่าวกันอีก ข่าวสำคัญต่างๆ เราก็หาทางทำ ทั้งนัดสัมภาษณ์และออกไปทำ แล้วเราก็เปลี่ยนประเด็นกันเกือบทั้งวัน ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องที่วุ่นวาย แต่มันเป็นอะไรที่สนุกมาก”
ความน่าเชื่อถือ หัวใจของการทำข่าว
“นักข่าวที่ดีคือต้องอยากรู้อยากเห็น และต้องรู้ว่าอะไรคือข่าว เพราะบางครั้งข่าวที่นักการเมืองแถลงมาก็ไม่ใช่ข่าวเสมอไป คุณต้องเข้าใจว่าทำไมเขาถึงแถลงข่าวออกมาแบบนี้ หรือเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบคำแถลง เราต้องรู้ถึงความสำคัญของข่าว
“ถ้าเป็นนักข่าว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือห้ามผิดพลาด ถ้าเป็นข่าวสำคัญมากผมจะไปสัมภาษณ์เอง ผมจะโทรนัดสัมภาษณ์ทันที เราจะไม่หยุดกับข่าวที่เห็นตอนแรก แต่ต้องเข้าใจสิ่งที่อยู่รอบๆ ข่าวนั้นทั้งหมด
“เมื่อเราเขียนข่าวก็ห้ามมีข้อผิดพลาด นี่เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับนักข่าว คุณต้องมั่นใจในทุกข่าวที่เขียนว่าเป็นความจริงและเป็นสิ่งที่ถูกต้อง นักข่าวหลายคนเข้ามาส่งงานกับผม บอกว่ามั่นใจกับข่าวนี้ โทรสัมภาษณ์แล้ว เช็กข้อมูลแล้ว ผมก็จะถามอยู่ดีว่า คุณชัวร์แล้วนะ ชัวร์มากๆๆๆ แล้วนะ แล้วผมก็จะบอกเขาไปว่า ใช้เวลาอีก 1 ชั่วโมงกับข่าวนี้ โทรเช็กข้อมูลกับแหล่งข่าว รีเช็กกับต้นทางข่าวอีกทีแล้วค่อยลง
“นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่าคนที่ซื้อหนังสือพิมพ์เราต้องมีความเชื่อมั่นในหนังสือพิมพ์ของเรา ถ้าหนังสือพิมพ์เราผิดพลาด 2-3 ครั้ง เราก็หมดความน่าเชื่อถือ เรามีหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่นำเสนอข่าวที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับหนังสือพิมพ์คือ คนต้องเชื่อในหนังสือพิมพ์และในสิ่งที่คุณเขียน นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก”
การทำข่าวในยุคอินเทอร์เน็ต
“ทุกวันนี้ก็มีนักข่าวเก่งๆ มากมาย แต่ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์เขียนได้ดีกว่านี้ แน่นอนผมชอบอ่านข่าวที่เขียนได้ดีมากๆ แต่มาตอนนี้คุณภาพของข่าวตกลงไปมาก แน่นอนเรามีข่าวสารมากขึ้น และมีหลายอย่างที่เป็นข่าวมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เรามีแค่สำนักข่าวเท่านั้นที่ทำข่าว
“แต่สิ่งที่ผมไม่ชอบทุกวันนี้คือ นักข่าวเขียนข่าวหรือบทความจากสิ่งที่เขาหาได้จากอินเทอร์เน็ต แทนที่จะไปลงสนามและเห็นข่าวกับตาเองจริงๆ เพราะสมัยก่อนเกิดอะไรขึ้นนายผมก็จะบอกว่า นิโคลา แพ็กกระเป๋าไปเลย จะบินหรือขึ้นรถไฟ ขึ้นรถอย่างไรก็ต้องไปในพื้นที่จริงเพื่อให้ชัวร์
“ตอนนี้นักข่าวหลายๆ คนเขียนข่าวจากสิ่งที่หาเจอในอินเทอร์เน็ต แต่ผมว่าคุณต้องไปเห็นสถานที่จริง รวมถึงเวลาคุณสัมภาษณ์ใครก็ตาม มันแตกต่างกันมากระหว่างการสัมภาษณ์แบบเห็นหน้ากันกับการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เพราะตอนสัมภาษณ์ต่อหน้ากันผมจะเห็นทุกอารมณ์จากทุกคำพูด ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
“อีกอย่างที่ผมไม่ชอบเลยคือ เวลาเราส่งคำถามไปแล้วรอให้แหล่งข่าวพิมพ์คำตอบกลับมา
“ผมโชคดีที่ตอนผมทำงานเราไม่มีอินเทอร์เน็ต เราต้องไปเห็นด้วยตัวเองตลอด สำหรับผมเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แน่นอนอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่มันไม่ดีสำหรับการเป็นนักข่าวที่ดี เพราะคุณต้องไปเห็น
“สมมติถ้าคุณไปเห็นเหตุการณ์เอง แน่นอนงานเขียนคุณก็จะออกมาดีกว่า แต่ถ้าคุณไม่เห็นแล้วจะไปเขียนจากอะไร มันไม่มีอารมณ์ของเหตุการณ์สำหรับคนอ่านเลย
“ผมโชคดีเพราะว่าทุกวันหัวหน้าผมจะไล่ผมออกไปทำข่าวข้างนอก ตอนนี้นักข่าวหลายคนเพียงนั่งดูโทรทัศน์หรืออินเทอร์เน็ตแล้วก็เขียนข่าว คุณบอกผมสิว่า คุณเห็นหน้าผมแล้วเขียนจะดีกว่าคุณโทรมาสัมภาษณ์ผมไหมล่ะ
“อีกสิ่งสำคัญคือการทำงานร่วมกับทีมหรือหัวหน้าที่มีความเข้าใจในคนทำงาน สิ่งสำคัญที่หัวหน้าผมเคยสอน นอกจากการเป็นนักข่าวที่ดีแล้วคือการเป็นคนที่ดีด้วย คุณต้องทำงานร่วมกับทุกคนได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีความถูกต้องในการนำเสนอข่าวตลอดเวลา
“ถ้าต้องการเป็นนักข่าวที่ดี คือต้องมีความน่าเชื่อถือ ถ้าคุณสัมภาษณ์แชมป์โลก หรือ นักการเมือง พวกเขาต้องเชื่อว่าคุณจะไม่เปลี่ยนแปลงคำพูดของพวกเขาด้วย คนต้องเชื่อมั่นในตัวคุณ
“งานผมสมัยก่อนยากกว่า แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด และสื่อก็กำลังจะตาย ในอาเซียนผมก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น แต่ที่ยุโรปคนซื้อหนังสือพิมพ์น้อยลง และอ่านน้อยลงมาก
“ผิดกับตอนที่ผมเริ่มต้นกับ Corriere Della Sera ผมมีรายได้ที่ดีมาก ผมซื้อไฟแช็ก Dupont ให้กับพ่อของผม ผมซื้อรถแบบผ่อน 4 เดือน สมัยนี้ต้องรอ 4-5 ปีกว่าจะผ่อนหมด รายได้ของนักข่าวสมัยก่อนสูงมาก ตอนที่ผมอายุน้อยกว่านี้”
การแต่งตัวไปทำงานข่าว
“ตอนวัยรุ่นผมเคยเป็นคนที่กวนมาก ชอบแต่งตัวกวนๆ แล้วผมก็จะโดนเบรกจากหัวหน้าทุกครั้ง หัวหน้าจะถามว่าวันนี้ไปไหน ผมก็ตอบว่าไปสัมภาษณ์ หัวหน้าก็จะไล่กลับบ้านไปแต่งตัวให้เรียบร้อย ใส่เนกไท สวมแจ็กเก็ต แล้วค่อยออกไป
“ตอนผมเริ่มทำงาน ผมใส่ยีนขาดๆ เข้าไปออฟฟิศเพื่อเตรียมไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวคนสำคัญของเมืองที่ผมอยู่ ตอนที่มาถึงออฟฟิศกับผู้บริหาร เขาก็เรียกผมเข้าพบ เพื่อถามเรื่องประเด็นที่จะสัมภาษณ์ แต่พอเข้าไปถึง ผมกลับโดนถามเรื่องยีนส์ที่ใส่ ผมก็งงว่าปัญหาคืออะไร
“ผมก็สวนผู้บริหารไปว่า เพราะคุณแก่แล้วไง เขากลับตอบมาสั้นๆ ว่า กลับบ้านไป และพาผมเข้าไปในห้องของนักข่าว และตะโกนถามทุกคนว่าใครมีแจ็กเก็ต ใครมีเนกไท ใครมีกางเกงขายาว เอาให้นักข่าวคนนี้เดี๋ยวนี้เลย
“ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่าความสำคัญของการแต่งตัวคือ เมื่อใดก็ตามที่คุณออกไปสัมภาษณ์ คุณไปสัมภาษณ์ในฐานะตัวแทนหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่ตัวคุณคนเดียว
“สำหรับผมเป็นเรื่องสำคัญในการแต่งตัวไปคุยกับใครก็ตาม ซึ่งในมิลานเป็นเรื่องใหญ่มากที่คุณต้องแต่งตัวดีตลอดเวลา
“แต่มาถึงวันนี้ผมขอโทษที่แต่งตัวมาให้สัมภาษณ์แบบนี้ เพราะอากาศมันร้อนจริงๆ นะ (หัวเราะ)”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า