วันนี้ (8 มกราคม) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีความมุ่งมั่นในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกมิติ ซึ่งครอบคลุมถึงการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้นโยบายว่าประชาชนทุกกลุ่มต้องมีหลักประกันสุขภาพเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียม ต้องไม่ให้ภาระค่ารักษาพยาบาลจากความเจ็บป่วยสร้างปัญหาภาวะล้มละลายในครัวเรือนของประชาชน
ล่าสุด คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้เห็นชอบข้อเสนอการช่วยเหลือค่าบริการล้างไตด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไม่สมัครใจรับบริการล้างไตผ่านทางช่องท้อง โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป
ไตรศุลีกล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือค่าบริการดังกล่าว เกิดขึ้นจากที่อนุทินได้ลงพื้นที่หน่วยบริการสาธารณสุขหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ได้รับฟังปัญหาจากผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังที่แพทย์เลือกวิธีการล้างไตทางช่องท้องให้ แต่ตัวผู้ป่วยประสงค์ใช้วิธีล้างไตด้วยการฟอกเลือด จึงต้องแบกรับภาระค่าฟอกเลือดเองครั้งละ 1,500 บาท จึงได้ให้เลขาธิการ สปสช. พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ป่วยซึ่งถือบัตรทองมีสิทธิเลือกวิธีการรักษาและรัฐยังให้การสนับสนุน ซึ่ง สปสช. ศึกษาข้อมูลจากฐานผู้ป่วยไตวายเรื้อรังก็พบว่าทำได้
“การดำเนินการของปีนี้จะเริ่มได้ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป โดยใช้งบประมาณเหลือจ่ายของ สปสช. ส่วนปีต่อๆ ไปจะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีสนับสนุนที่เพียงพอต่อไป โดยท่านรองนายกรัฐมนตรีอนุทินได้ระบุว่า นี่คือการดำเนินการที่ยืนยันถึงแนวนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนทุกมิติ ในด้านการรักษาพยาบาลประชาชนต้องเข้าถึงอย่างเท่าเทียม” ไตรศุลีกล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลของ สปสช. ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังรักษาด้วยการล้างไตทางหน้าท้องอยู่ 32,892 ราย ด้วยวิธีฟอกเลือด 30,802 ราย ซึ่งในนี้เป็นกลุ่มที่แพทย์เลือกวิธีรักษาด้วยการฟอกเลือด 24,256 ราย และกลุ่มที่แพทย์เลือกวิธีล้างไตทางหน้าท้องให้แต่ผู้ป่วยไม่สมัครใจและเลือกจ่ายเงินเองเพื่อใช้วิธีรักษาด้วยการฟอกเลือด 6,546 ราย