- กำลังมีเรื่องร้องเรียนและเป็นที่ทุกข์ใจของประชาชนในพื้นที่ กทม. จากการเข้ารับบริการในหน่วยปฐมภูมิของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร (สปสช.กทม.) ที่เป็นผู้ดูแลหลัก
- ปมเดือดร้อนของประชาชนคือ เมื่อปรับรูปแบบการให้บริการแล้ว ทำให้ประชาชนมีปัญหาการรักษา การส่งต่อผู้ป่วยที่ยุ่งยาก และคลินิกหลายแห่งปิดตัว ไม่สามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่แบบเดิม ถูกปฏิเสธขอใบส่งตัว ถูกปฏิเสธสิทธิ ถูกเรียกเก็บค่ารักษา และให้ย้ายหน่วยบริการ
- ต้นเหตุคือ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นมา สปสช. ได้ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการให้บริการในเขต กทม. จากเดิมระบบเก่าที่เรียกกันว่า โมเดล 5 ที่ผู้ป่วยไปรับบริการในหน่วยปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ จากนั้นหน่วยงานต่างๆ มาเบิกเงินจาก สปสช. เอง
- การให้บริการผู้ป่วยนอก (บัตรทอง) ถูกปรับจากการจ่ายตามรายการรักษามาเป็นเหมาจ่ายรายหัว กำหนดให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับบริการในหน่วยปฐมภูมิต้นสังกัดก่อน ซึ่งจะให้การรักษาและเป็นผู้พิจารณาส่งต่อเอง
- ระบบเดิมทุกหน่วยปฐมภูมิจะพยายามพัฒนาศักยภาพการรักษาและรักษาเต็มประสิทธิภาพ เพราะสามารถนำรายการต่างๆ ที่ใช้ไปเบิก สปสช. ได้ รวมถึงการส่งตัวก็ง่าย เพราะระบบให้ทุกหน่วยไปเบิกเงินจาก สปสช. เอง
- เมื่อถึงจุดหนึ่ง สปสช. ยอมรับว่ามีปัญหาค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ บวกกับประชากรไทยสูงอายุมากขึ้น มีความเจ็บป่วยตามวัยสูงขึ้น จนเกิดการประท้วงของคลินิกต่างๆ เนื่องจาก สปสช. จ่ายเงินไม่ครบ
- เมื่อเปลี่ยนระบบใหม่ แรงจูงใจในการรักษาของหน่วยปฐมภูมิลดลง เนื่องจากรักษาเท่าไรก็ได้รับค่าตอบแทนเท่าเดิม ยิ่งรักษามากก็อาจถึงขั้นขาดทุน ระบบจึงไม่จูงใจให้หน่วยปฐมภูมิพัฒนาการรักษา หรือรักษาเต็มศักยภาพ หรือจัดหายาใหม่ๆ เข้ามาบริการที่หน่วยปฐมภูมิ
- เมื่อระบบใหม่เป็นแบบที่เกิดขึ้น จึงเป็นเหตุให้มีปัญหาตามมา หน่วยปฐมภูมิ (บางแห่ง) ที่รักษาคนไข้ดี ให้ยาเหมาะสม ส่งตัวตามข้อบ่งชี้ อยู่ยากและมีแนวโน้มจะขาดทุน
- การส่งต่อเมื่อเปลี่ยนรูปแบบบริการ คลินิกชุมชนอบอุ่น (ปฐมภูมิ) จะรับผิดชอบเรื่องการตามจ่ายกรณีส่งต่อผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้าไปรับใบส่งตัวที่คลินิกชุมชนอบอุ่นทุกครั้ง
- คลินิกชุมชนอบอุ่นจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะส่งต่อหรือไม่ เนื่องจากบางแห่งมีแพทย์เฉพาะทางที่อาจให้การรักษาเองได้
- ผ่านมาแล้ว 11 วันสำหรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ปรากฏว่ามีประชาชนร้องเรียน THE STANDARD ถึงปัญหาการให้บริการที่สับสนและสร้างความไม่สะดวกให้กับผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการ
- ผู้ใช้บริการรายหนึ่งระบุว่า กรณีของลูกตน เมื่อต้องปฏิบัติตามรูปแบบใหม่ วิธีไปขอใบส่งตัวครั้งแรกหลังระบบใหม่ มีดังนี้
- ไปคลินิกปฐมภูมิ แจ้งว่ารักษาอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เกินความสามารถของคลินิก คลินิกจึงส่งตัวไปโรงพยาบาลรับส่งต่อ
- ลูกลาโรงเรียน พาไปโรงพยาบาลรับส่งต่อ เกินความสามารถของโรงพยาบาล ซึ่งจะออกใบชมพูให้ส่งตัวไปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ โดยใบชมพูนั้นมีอายุ 6 เดือน
- กลับไปคลินิกปฐมภูมิเพื่อออกใบส่งตัวไปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ใบส่งตัวมีอายุ 1 เดือน
- ลูกลาโรงเรียน ไปพบหมอที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ตามนัด
- หมอนัดทุก 4 เดือน ก่อนไปหาตามนัดครั้งถัดไป
- กลับไปคลินิกปฐมภูมิเพื่อออกใบส่งตัวไปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ โดยใช้ใบชมพูเดิมได้เพราะยังไม่หมดอายุ ได้ใบส่งตัวอายุ 1 เดือน
- ลูกลาโรงเรียน ไปพบหมอที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ตามนัด
- หมอนัด 4 เดือนถัดมา ต้องวนแบบครั้งแรกใหม่ ลูกต้องลาโรงเรียน 2 ครั้ง
หมายเหตุ: แบบเดิมคลินิกต้องการใบชมพูแค่ครั้งแรกครั้งเดียว หลังจากนั้นแม้ใบชมพูจากโรงพยาบาลส่งต่อจะหมดอายุ คลินิกก็ออกใบส่งตัวอายุ 6 เดือนให้ ตอนนี้คลินิกเดิมปิดกิจการแล้ว
- ขณะเดียวกันยังมีเสียงสะท้อนอื่นๆ อีกว่า “ลูกป่วยโรคไต ไปขอใบส่งตัวจากคลินิกเดิมที่เคยขอ เขาแจ้งว่าออกจากระบบบัตรทองแล้ว แต่ไม่แจ้งเหตุผลว่าออกเพราะอะไร เราได้แต่กลับบ้านมาแบบงงๆ จนมาผ่านคลินิกที่ขึ้นป้าย เข้าไปถามถึงรู้สาเหตุที่หลายคลินิกออกจากระบบบัตรทอง เพราะรัฐไม่มีเงินจ่ายเขา”
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่เรียกร้องให้กลับมาใช้ระบบเดิมที่รักษาได้ทุกหน่วยปฐมภูมิและการส่งต่อสามารถไปได้ทุกที่ในเขตเดียวกัน ไม่มีความยุ่งยากที่จะต้องกลับไปรับใบส่งตัวทุกครั้ง ซึ่งเสียเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงเป็นภาระในการจัดการ บางคนต้องไปรับการรักษาในหน่วยปฐมภูมิไกลบ้าน เนื่องจากคลินิกเดิมปิดให้บริการ แถมยังให้ไปรักษาที่คลินิกที่ไม่รู้จักหรือเข้ารับการรักษามาก่อน
- หลังปรับรูปแบบเหมาจ่าย มีประชาชนร้องเรียนจำนวนมาก สปสช. ได้ประชุมวอร์รูมแก้ปัญหาเบื้องต้นดังนี้
- กรณีผู้ป่วยมีนัดของโรงพยาบาลแต่ไม่มีใบส่งตัวของคลินิกต้นสังกัด ขอให้โรงพยาบาลให้บริการและเบิกค่ารักษาจากกองทุน OP-AE (กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน), OP Anywhere หรือ CA Anywhere (โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้) เช่นเดียวกับกรณีผู้ป่วยที่มีนัดของโรงพยาบาลและมีใบส่งตัวจากหน่วยบริการอื่น
- กรณีผู้ป่วยที่ไม่มีใบนัด หากเป็นกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ ขอให้โรงพยาบาลให้การดูแลรักษาโดยไม่ชักช้า ไม่ต้องมีใบส่งตัว โดยเบิกจ่ายจากกองทุน OP-AE แต่หากไม่ใช่กรณีฉุกเฉินทางการแพทย์ แต่โรงพยาบาลเห็นว่าไม่ควรรอ ก็ให้บริการได้เช่นกัน ให้เบิกจ่ายจากกองทุน OP-AE, OP Anywhere หรือ CA Anywhere หรือกองทุนที่เกี่ยวข้อง
- กรณีที่คลินิกมีใบส่งตัว ให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายค่ารักษาจากคลินิกตาม FS หากเกินจากเพดานการจ่ายที่กำหนดของคลินิก ก็ให้เบิกจ่ายจาก สปสช.
- กรณีส่งต่อผู้ป่วยนอก (กองทุน OP Refer) รวมถึงกรณีที่เกินศักยภาพบริการของโรงพยาบาล และมีความจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรับบริการที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพให้บริการได้ ก็ให้เบิกจาก สปสช. ในกองทุน OP Refer เช่นกัน แต่ต้องแจ้งให้คลินิกรับทราบ แต่หากต้องรักษาต่อเนื่องก็ให้คลินิกพิจารณาส่งตัว โดยออกหนังสือส่งตัวอย่างน้อย 90 วัน
- สปสช. แถลงขออภัยประชาชนสิทธิบัตรทองใน กทม. กรณีความไม่สะดวกในการรับบริการที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระบบ
- อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาการแก้ไขปัญหานี้ของ สปสช. ต่อไปว่าจะคลี่คลายความทุกข์และความเดือดร้อนอันเกิดจากการเปลี่ยนผ่านระบบนี้อย่างไร