×

เงินติดล้อเดินหน้าแผนปรับโครงสร้างเป็นโฮลดิ้งส์ หวังช่วยลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพการเงิน พร้อมประกาศแผนขยายธุรกิจต่างประเทศ-ซื้อกิจการประกัน

08.09.2024
  • LOADING...

บมจ.เงินติดล้อ ลุยแผนปรับโครงสร้างบริษัทเป็น Holding Company ตั้งบริษัทใหม่ ‘ติดล้อ โฮลดิ้งส์’ ทำ Tender Offer หุ้น TIDLOR เสร็จปลายปีนี้ ปูทางขยายธุรกิจต่างประเทศ-ซื้อกิจการประกัน

 

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เงินติดล้อ หรือ TIDLOR กล่าวว่า หลังจากในช่วงเดือนเมษายนปีนี้ได้ประกาศแผนปรับโครงสร้างบริษัทไปเป็นบริษัทลงทุน (Holding Company) และในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM) เรื่องการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ โดยได้จัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดแห่งใหม่ คือ บริษัท ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ติดล้อ โฮลดิ้งส์

 

ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย บมจ.ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จะทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด (Tender Offer) ของ TIDLOR จากผู้ถือหุ้นเดิม โดยวิธีการแลกหุ้นที่อัตรา 1:1 และคาดว่าจะกระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/67 โดยจะนำหุ้นติดล้อ โฮลดิ้งส์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปลายปีนี้ และบริษัท Holding Company ใหม่นี้จะเริ่มทำธุรกิจอย่างเต็มที่ต้นปี 2568 เป็นต้นไป

 

โดยภายหลังการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการดังกล่าวนี้มีข้อดีหรือประโยชน์ ดังนี้

 

ข้อแรก บริษัทจะมีต้นทุนที่ลดลง เพราะปัจจุบัน TIDLOR ยังมีสถานะเป็นบริษัทต่างด้าวจากการที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นมีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้น จึงมีกฎหมายเฉพาะที่ควบคุมอัตราส่วนเงินกู้ต่อทุนจดทะเบียน (D/E Ratio) โดยกำหนดเพดานไว้ไม่ให้เกิน 7 เท่า ส่งผลให้หลังจากที่ TIDLOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2564 จึงจำเป็นต้องจ่ายปันผลเป็นหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทมาต่อเนื่องทุกปี เพิ่มเติมจากที่จ่ายปันผลเป็นเงินสดด้วย

 

อย่างไรก็ดี การจ่ายหุ้นปันผลไม่ได้สร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น แต่เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้กับบริษัท เนื่องจากตั้งแต่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทมีต้นทุนที่ปันผลเป็นหุ้นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 150 ล้านบาทต่อปี และหากในอนาคตบริษัทมีกำไรที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าใน 10 ปีข้างหน้า บริษัทมีโอกาสที่จะมีต้นทุนจากการจ่ายปันผลเป็นหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งมองว่าหากประหยัดต้นทุนดังกล่าวลงได้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้น เพราะบริษัทจะมีเงินเหลือเพื่อนำไปใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจได้ ซึ่งการปรับโครงสร้างของบริษัทไปเป็น Holding Company เสร็จจะช่วยแก้ปัญหานี้ ส่งผลให้บริษัทจะไม่ต้องจ่ายปันผลเป็นหุ้นและไม่มีต้นทุนส่วนนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2568 เป็นไป

 

ข้อสอง ช่วยลดความสับสนของนักลงทุนจากการจ่ายหุ้นปันผล รวมทั้งผู้ถือหุ้นของบริษัทปัจจุบัน อีกทั้งจะเพิ่มความยืดหยุ่นในการจ่ายเงินปันผลในรูปแบบเงินสด รวมถึงการลดความสับสนของนักลงทุนเกี่ยวกับราคาหุ้น (Dilution) และกำไรต่อหุ้น (EPS) ซึ่งถือเป็นการสร้างความมั่นใจในศักยภาพของบริษัทให้กับนักลงทุนได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาว

 

สำหรับแผนการลำดับถัดไป (แผน Step ที่ 2 หลังเป็น Holding Company) จะมีการแยกกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมกับกลุ่มธุรกิจใหม่ โดยจะโอนทรัพย์สินธุรกิจประกันที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาอยู่บริษัทใหม่ เพื่อดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยในรูปแบบ InsurTech Platform ในอนาคต โดยบริษัทจะโอนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยในรูปแบบ InsurTech Platform ได้แก่ แบรนด์อารีเกเตอร์ (Areegator) และเฮ้กู๊ดดี้ (heygoody)

 

ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจทั้งด้านสินเชื่อและนายหน้าประกัน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการหรือการร่วมลงทุนอีกด้วย โครงสร้างแบบ Holding Company จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มบริษัทในระยะยาว โดยจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยเพิ่มโอกาสขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการหรือการร่วมลงทุน

 

เปิดแผนขยายธุรกิจต่างประเทศ

 

สำหรับแผนการขยายธุรกิจในอนาคตหลังเป็น Holding Company มีนโยบายขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยมีโอกาสที่จะเห็นความชัดเจนภายใน 3-5 ปี รวมทั้งยังมีโอกาสที่จะสร้างความร่วมมือกับกลุ่ม MUFG ประเทศญี่ปุ่น และธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจอยู่ทั่วโลกในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ

 

อีกทั้งหลังจากที่ปรับเป็น Holding Company ส่งผลให้บริษัทมีศักยภาพทางการเงินเพิ่มขึ้น และมีโอกาสที่จะเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตในอนาคต โดยมีความสนใจจะซื้อใบอนุญาตบริษัทประกันวินาศภัยและบริษัทประกันชีวิตหากพบโอกาสที่เหมาะสม เนื่องจากสามารถต่อยอดธุรกิจปัจจุบันคือโบรกเกอร์ประกันภัย ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีพนักงานที่มีใบอนุญาตขายประกันวินาศภัยและประกันชีวิตอยู่แล้วกว่า 5,000 คน

 

สำหรับแนวโน้มการดำเนินธุรกิจของบริษัทเงินติดล้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ ในส่วนธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ เนื่องด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง บริษัทมีการปรับกลยุทธ์การขยายสินเชื่อใหม่ในปีนี้ โดยปรับลดอัตราการขยายตัวของสินเชื่อลงมาอยู่ในกรอบ 10-15% ลดลงจากที่ตั้งเป้าไว้เมื่อช่วงต้นปีที่ระดับ 10-20% โดยปิดสิ้นไตรมาส 2/67 มียอดสินเชื่อคงค้าง 1.03 แสนล้านบาท เติบโต 18% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

นอกจากนี้คุณภาพของบริษัทที่เป็นผู้ประกอบการ Non-Bank ยังอยู่ในระดับที่ดี โดยสามารถควบคุมหนี้เสีย (NPL) ไว้ได้ในระดับไม่เกิน 2% จากสิ้นไตรมาส 2/67 อยู่ที่ระดับ 1.86% ซึ่งต่ำกว่าอุตสาหกรรม โดยบริษัทจะควบคุมการอนุมัติสินเชื่อและจะตัดหนี้สูญ (Write-off) สำหรับลูกหนี้ที่อ่อนแอ ซึ่งต่ำกว่าภาพรวมเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ที่มี NPL อยู่ที่ระดับ 3-3.5%

 

สำหรับภาพรวมธุรกิจของบริษัทตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จนถึงปัจจุบัน ยังมีทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมียอดลูกหนี้ธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถคงค้างจากระดับประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็นมากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยยังคงมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีฐานลูกค้าสินเชื่อจากระดับ 5 แสนราย เพิ่มมาเป็นมากกว่า 1 ล้านราย

 

ขณะที่ธุรกิจประกันมีการขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีเบี้ยประกันอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านบาท ในปีนี้คาดว่าจะขึ้นเพิ่มมาเป็นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรของบริษัทมีทิศทางเติบโตขึ้นต่อเนื่องทุกปี แม้จะใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการขยายธุรกิจและการสร้างแบรนด์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X