ตอนนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เห็นแต่คำว่า NFT (Non-Fungible Tokens) ทุกหนแห่ง เหล่าเซเลบระดับโลกและภาคธุรกิจต่างๆ ในหลายอุตสาหกรรมก็เริ่มเข้ามาซื้อหา ใช้งาน NFT กันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เรียกได้ว่าถนนทุกสายตอนนี้มุ่งหน้าสู่ NFT เพื่อร่วมค้นหาความเป็นไปได้ต่างๆ ในโลกดิจิทัลโทเคนสุดฮอตแห่งนี้
แต่เราเคยสงสัยกันไหมว่า NFT เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? มันเกิดมาเพื่ออะไร? และเส้นทางของ NFT กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้มันผ่านอะไรมาบ้าง? ผมเชื่อว่าการย้อนดูประวัติศาสตร์และต้นกำเนิดของ NFT จะช่วยให้เราเข้าใจ ใช้งาน หรือซื้อขาย NFT ได้อย่าง ‘เฉียบคม’ และ ‘มั่นใจ’ มากยิ่งขึ้น
พร้อมแล้ว…ลุย!
-
NFT ชิ้นแรกกับบล็อกหมายเลข 174923
บนบล็อกหมายเลข 174923 เครือข่าย Namecoin (ซึ่งทำงานอยู่บน Bitcoin Blockchain อีกที) วันเวลา 2 พฤษภาคม 2014, 21.27.34 เป็นวินาทีแห่งประวัติศาสตร์ของสิ่งซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น NFT ชิ้นแรกของโลกถูกมินต์ขึ้นไปบนระบบ เรียกได้ว่าเกิดมาก่อน Ethereum ในปี 2015 เสียอีก (ปัจจุบัน Ethereum เป็นบล็อกเชนที่มีการซื้อขาย NFT สูงสุดของโลก) โดย NFT ชิ้นนี้เป็นผลงานศิลปะดิจิทัลแบบเคลื่อนไหวได้ที่ชื่อว่า ‘Quantum’ โดยศิลปินสายดิจิทัลจากนิวยอร์ก นาม Kevin McCoy
McCoy ได้มินต์ผลงาน Quantum เพื่อประกอบการนำเสนอ ที่เขาต้องไปพูดในวันรุ่งขึ้นที่งาน Seven on Seven ของ Rhizome ซึ่งเป็นเอเจนซี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะดิจิทัล ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ New Museum ใน New York
Seven on Seven เป็นงานประจำปีที่จะจับคู่คนสายศิลปะกับคนสายเทคโนโลยีทั้งหมด 7 คู่ เพื่อมาสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ซึ่ง McCoy ได้ร่วมงานกับ Anil Dash ผู้ประกอบการสายเทคที่สนใจบล็อกเชน ทั้งสองได้คิดแพลตฟอร์มออกมาอันหนึ่ง เรียกว่า Monegraph ย่อมาจาก Monetised Graphic เพื่อให้ศิลปินสายดิจิทัลสามารถนำผลงานของตัวเองเข้าไปในระบบบล็อกเชนได้
ผลงาน Quantum, 2014-2021 โดย Kevin McCoy | Image Courtesy to Sotheby’s
ในฐานะศิลปิน McCoy มองว่าแนวทางนี้จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของงานศิลปะในโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบค้นหาเจ้าของที่แท้จริงของงานดิจิทัลที่มักจะถูกก๊อบปี้ได้ง่าย รวมไปถึงการบันทึก Provenance หรือห่วงโซ่ความเป็นเจ้าของผลงานศิลปะ ในวงการศิลปะ การตรวจสอบความถูกต้องของ Provenance เป็นเรื่องที่ใช้ทรัพยากรและเวลาพอสมควร ซึ่งเมื่ออยู่ในบล็อกแล้ว เจ้าข้อมูลต่างๆ ของ Provenance จะสามารถเข้าถึงได้จากทุกคนและทุกเวลาแบบเรียลไทม์ ช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการซื้อขาย
ในทางฝั่งของ Dash ก็มองว่าการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนที่อยู่เบื้องหลัง Bitcoin ในเวลานั้นยังไม่มีอะไรน่าสนใจสักเท่าไรในเชิงสังคมและวัฒนธรรม
หลังการเปิดตัว Monegraph ในปี 2014 กระแส NFT ยังไม่ได้รับการตอบรับมากนัก เนื่องด้วยบล็อกเชนยังเป็นเรื่องใหม่มากในสังคมศิลปะ ประกอบกับการทำธุรกรรมบน Namecoin ซึ่งอยู่บน Bitcoin มีข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะความสามารถในการขยายตัว (Scalability) และความหลากหลายในการใช้งาน (ปัจจุบัน Monegraph เลยรองรับหลายเชนแล้ว รวมถึง Ethereum และ Polygon)
-
กำเนิดจักรวาล Ethereum
ต่อมามีโปรแกรมเมอร์อัจฉริยะท่านหนึ่งมองเห็นข้อจำกัดของ Bitcoin และคิดว่าควรจะมีบล็อกเชนแบบใหม่ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้หลากหลาย ด้วยพลังแห่ง Smart Contact ระบบสัญญาอัจฉริยะที่สามารถตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ ได้ด้วยการเขียนโค้ด ซึ่งทำให้บล็อกเชนไม่ถูกจำกัดอยู่แค่การใช้งานทางการเงินแต่เพียงเท่านั้น
โปรแกรมเมอร์ผู้นั้นคือ Vitalik Buterin หนึ่งในหัวหอกผู้ก่อตั้ง Ethereum Blockchain นั่นเอง
Vitalik Buterin หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum
Photo: John Phillips / Getty Images for TechCrunch
การกำเนิดจักรวาล Ethereum ในปี 2015 เป็นประหนึ่งโลกใบใหม่ที่มีระบบนิเวศรองรับการใช้งานสารพัดสิ่งในโลกบล็อกเชน ไม่ว่าจะเป็นเกม เพลง ศิลปะ หรือการเช็กความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ในโลกแห่งความจริงเมื่อมีการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้นักพัฒนา ภาคธุรกิจและกิจการต่างๆ ผุดโปรเจกต์ใหม่ๆ เพื่อทดลองทำลงบนบล็อกเชนมากขึ้นเช่นกัน
จนกระทั่งปี 2017 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่สำคัญมากของ NFT เพราะมีนักพัฒนา 4 คน ได้แก่ William Entriken, Dieter Shirley, Jacob Evans และ Nastassia Sachs เสนอให้กำหนดมาตรฐานการใช้งานที่เรียกว่า ERC-721 บน Ethereum ซึ่งสร้างโทเคนอันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งไม่สามารถทดแทนกันได้ และการออกมาตรฐานนี้เองที่เป็นจุดกำเนิดของคำว่า Non-Fungible Token หรือ NFT นั่นเอง
ในปีเดียวกันนี้ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอีก 2 วาระ คือ การสร้างผลงานศิลปะ NFT ระดับตำนานอย่าง Crypto Punk โดย Larva Lab ซึ่งโปรเจกต์นี้เองก็เป็นหนึ่งแรงบันดาลใจในการออกมาตรฐาน ERC-721 ด้วยเช่นกัน
ผลงาน Crypto Punk #5822, 2017 โดย Larva Labs ที่ล่าสุดขายไปในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา ด้วยราคา 8,000 ETH หรือราวๆ 775 ล้านบาท ณ ขณะนั้น
ส่วนอีกวาระคือการเปิดเกม NFT เพาะเลี้ยงแมวน้อย CryptoKitties โดย Dapper Labs ซึ่งหลังจากเกมเปิดตัวได้ไม่กี่เดือน เกิดปรากฏการณ์กองทัพแมวบุก ทำให้ Ethereum มี Transaction ต่อคิวรอการประมวลผลเพิ่มมากขึ้น 6 เท่า และการจราจรในเครือข่ายของ Ethereum เกิน 10% เต็มไปด้วยภาพแมวตาใส พานให้ Dapper Labs ดำริทำบล็อกเชนของตนเอง ซึ่งต่อมาเปิดตัวในนาม Flow ปี 2019
เมื่อมีคนเล่นเป็นจำนวนมาก ราคาแมวในเกมก็พุ่งสูงขึ้น ช่วงแมวบุกในปี 2017 นี้แหละที่เจ้า CryptoKitties มียอดขายรวมอยู่ที่ราวๆ 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 150 ล้านบาท โดยตัวที่ขายไปในราคาสูงสุดจัดกันไปในราคา 246.9255 ETH หรือประมาณ 3.8 ล้านบาทในเวลานั้น และจุดนี้เองที่ทำให้ NFT เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างและดึงดูดให้คนสนใจมาสร้างผลงานต่างๆ ในโลก NFT มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการก่อร่างสร้าง Marketplace ขายงาน NFT เจ้าดังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น OpenSea, SuperRare และ Nifty Gateway อีกทั้งยังมีการพัฒนา Metaverse ที่กำลังฮอตฮิตในปัจจุบันเช่นกัน อาทิ Sandbox, Somnium และ Decentraland ด้วย
ผลงาน CryptoKitties, 2018 โดย Dapper Labs ตัวนี้ชื่อว่าเจ้า Dragon ซึ่งเคยสร้างความลือลั่นในวันที่ 4 กันยายน 2018 ได้ซื้อขายกันไปที่ 600 ETH หรือราวๆ 5.5 ล้านบาท ณ ขณะนั้น คว้ารางวัลเจ้าเหมียวค่าตัวสูงสุดไปครอง | Image Courtesy to The Artist
-
ก้าวสู่โลกสากล
และแล้ว NFT ได้เข้าสู่ความ Mass อย่างสมบูรณ์แบบในปี 2021 เมื่อห้องประมูลดังอย่าง Christie’s เปิดประมูลผลงาน NFT เต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก และผลงาน EVERYDAYS: THE FIRST 5000 DAYS ของ Beeple หรือ Mike Winkelman ได้ปิดประมูลไปในวันที่ 11 มีนาคม 2021 ด้วยราคา 42,329.453 ETH หรือราวๆ 2,100 ล้านบาทในขณะนั้น
การประมูลครั้งนั้นได้กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของวงการศิลปะ เพราะมันทำให้ Beeple กลายเป็นศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ที่มีผลงานประมูลมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ ณ ขณะนั้น โดยจะเป็นรองแค่ภาพวาดสีอะคริลิก Portrait of an Artist (Pool with Two Figures) ของ David Hockney ซึ่งปิดไปที่ 90.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,823 ล้านบาท ในปี 2018 และประติมากรรมกระต่ายน้อย Rabbit ของ Jeff Koons ที่ปิดไปที่ 91.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,857 ล้านบาท ในปี 2019
ผลงานศิลปะมหากาฬ Digital Collage ระดับพันล้าน – EVERYDAYS: THE FIRST 5000 DAYS, 2021 โดย Beeple ซึ่งมินต์ออกมาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2021
มันเป็นอะไรที่กระตุกจิตและกระชากใจคนในวงการศิลปะพอสมควร เนื่องจากศิลปะดิจิทัลนั้นมักจะถูกมองว่าด้อยค่ากว่าศิลปะที่จับต้องได้ ซึ่งในงาน Seven on Seven เมื่อปี 2014 McCoy เองได้พูดถึงประเด็นความด้อยค่านี้ไว้เช่นกัน และการประมูลงาน NFT ของ Beeple ในครั้งนั้นได้สลายคำสาปดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว
จากงานประมูลของ Beeple ไม่กี่วันก็มีข่าวการขาย Tweet แรกของ Jack Dorsey ผู้ก่อตั้ง และ CEO (ณ ขณะนั้นของ Twitter) ในรูปแบบ NFT ด้วยราคาเกือบ 100 ล้านบาท ซึ่งทำให้คนหันมาสนใจเกี่ยวกับ NFT หนักหน่วงขึ้นไปอีก อีกทั้งห้องประมูลงานศิลปะเก่าแก่ชื่อดังทั้ง Philips, Sotheby’s และ Christie’s ก็ต่างแข่งกันประมูลงาน NFT กันอย่างอุตลุดมุดควัน
มาถึงจุดนี้ก็คงไม่ผิดที่จะบอกว่า…NFT แก Mass แล้วหวะ!
แต่ทว่าเวลาผ่านไปสามถึงสี่เดือน ราคาเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีช่วงนั้นเริ่มร่วงจากต้นปี เลยทำเอา NFT โดนหางเลข ถูกตั้งคำถามว่าจะมาเร็วไปเร็วหรือไม่ จะสามารถเติบโตหรือรุ่งริ่งอย่างคริปโตเคอร์เรนซีที่ร่วงอยู่ในตอนนั้นหรือเปล่า?
แต่แล้ววันที่ 28 ตุลาคม 2021 มนุษย์ที่ถือข้อมูลของสรรพสิ่งในมือมากที่สุดคนหนึ่งในโลกอย่าง Mark Zuckerberg ออกมาประกาศว่าจะเปลี่ยนทิศทางการทำธุรกิจจากโซเชียลเน็ตเวิร์กไปเป็น Metaverse และเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Facebook เป็น Meta เพียงเท่านี้โลกทั้งใบก็หันมามองคำว่า Metaverse เป็นตาเดียวกัน ซึ่งยิ่งผลักดันการใช้งานคริปโตเคอร์เรนซี และ NFT มากไปขึ้นไปอีกหนึ่งระดับ เพราะทั้งสองสิ่งอยู่ในระบบนิเวศที่เกี่ยวคล้องต้องกัน
ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพ พื้นที่และสินทรัพย์ต่างๆ ใน Metaverse เจ้าดังอย่าง Sandbox และ Decentraland ก็ใช้ NFT เป็นโทเคนเพื่อแสดงถึงสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของพื้นที่ในแต่ละ Unit (เรียกแบบบ้านๆ ว่า 1 ช่อง) ของโลกนั้นๆ และสามารถซื้อขายกันได้ด้วยคริปโตเคอร์เรนซี (จริงๆ ที่คนพูดกันว่าซื้อที่ที่เนื้อแท้คือซื้อความเป็นเจ้าของโทเคนกันนั่นเอง)
Zuckerberg ขณะกำลังอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงทิศทางและแบรนดิ้งของบริษัทจาก Facebook ไปเป็น Meta ในคลิปวิดีโอที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2021
จากวันนั้นมาถึงวันนี้ โลกได้เห็นกระแสของ NFT เริ่มจะเข้ามาผสมผสานกับชีวิตประจำวันในโลกออฟไลน์มากขึ้น ล่าสุด หนึ่งในสุดยอดการถ่ายทอดสดกีฬาของโลกที่มีคนดูเป็นร้อยล้านอย่าง Super Bowl ที่เพิ่งจัดไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังได้สะท้อนถึงการเชื่อมต่อเข้ากับโลก NFT, Metaverse และ Cryptocurrency ไว้อย่างน่าสนใจ
จากวันนี้ไป อนาคตของ NFT จะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นซึ่งเราต้องจับตากันต่อไป และพวกเราทุกคนจะได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญทางเทคโนโลยีในครั้งนี้อย่างแน่นอน
ภาพ: Courtesy of Brands
อ้างอิง:
- https://vimeo.com/96131398
- https://eips.ethereum.org/EIPS/eip-721
- www.bbc.com/news/technology-42237162
- www.sothebys.com/en/digital-catalogues/natively-digital-a-curated-nft-sale
- www.christies.com/features/Monumental-collage-by-Beeple-is-first-purely-digital-artwork-NFT-to-come-to-auction-11510-7.aspx
- https://about.fb.com/news/2021/10/founders-letter
- www.ledgerinsights.com/sothebys-sued-over-quantum-nft-auction
- https://thenextweb.com/news/most-expensive-cryptokitty
เพิ่มเติมจาก Quantum
เป็นที่น่าสนใจว่าผ่านไป 7 ปี ห้องประมูลชื่อดังระดับโลกอย่าง Sotheby’s ได้ขอนำผลงาน Quantum กลับมารีมินต์อีกครั้งบน Ethereum เพื่อประมูลในงาน Natively Digital: A Curated NFT Sale ซึ่งจัดไประหว่างวันที่ 3-10 มิถุนายน 2021 ที่ผ่านมา แน่นอนว่า Quantum เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของงานประมูลและเป็นการย้อนเยือน (Revisit) ทางประวัติศาสตร์ของวงการศิลปะ โดยปิดราคาไปที่ 1,472,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 48 ล้านบาท
แต่ล่าสุด เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา การประมูลผลงานนี้เกิดกรณีพิพาททางกฎหมายเนื่องจากว่ามีคนเข้าไปจดชื่อต่ออายุงาน NFT Quantum ใน Namecoin อันเดิมที่ถูกปล่อยทิ้งไว้จนหมดอายุ (ใน Namecoin ต้องต่ออายุทุก 200-250 วัน) จนทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย โดยเฉพาะคำถามสำคัญคือ ใครเป็นเจ้าของผลงาน Quantum กันแน่ และงานที่ Sotheby’s ไปรีมินต์มาสามารถเรียกว่าต้นแบบได้หรือไหม หรืองานทำซ้ำจากต้นฉบับดีหล่ะ? …นี่ก็เป็นอีกคำถามหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในโลก NFT เมื่อมีการรีมินต์ผลงานข้ามเครือข่ายบล็อกเชน