×

อเมริกันฟุตบอล NFL รวมใจคุกเข่าเพลงชาติต่อต้านทรัมป์

25.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ตำหนินักกีฬาอเมริกันฟุตบอลที่ไม่ยอมยืนตรงเคารพธงชาติ และเชื่อว่าเจ้าของทีมควรไล่นักกีฬาที่ไม่ยอมยืนเคารพธงชาติออกจากสนามและสั่งแบนไม่ให้ลงแข่งขัน
  • เมื่อคืนวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลเกือบทุกคนตัดสินใจคุกเข่าเพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการเหยียดสีผิว และ ต่อต้านคำพูดของทรัมป์
  • โรเบิร์ต คราฟต์ เจ้าของทีมนิวอิงแลนด์ แพทริออตส์ ออกแถลงการตำหนิ ทรัมป์ ทั้งเคยเป็นผู้สนับสนุนในช่วงเลือกตั้ง โดยยืนยันว่ากีฬาเป็นสิ่งที่ช่วยรวมใจคนในสหรัฐฯ และนักการเมืองควรเรียนรู้จากวงการกีฬา

     ดูเหมือนว่านอกจากการสร้างผลกระทบไปทั่วโลกและทุกภาคส่วนในสหรัฐฯ แล้ว ล่าสุด โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ได้ก้าวข้ามเส้นความอดทนของคนในวงการกีฬาครั้งใหญ่

 

 

     เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2560 ตามเวลาสหรัฐฯ ทรัมป์ได้ตำหนินักกีฬา อเมริกันฟุตบอลที่คุกเข่าและไม่ยอมยืนตรงเคารพธงชาติ พร้อมเรียกร้องให้แฟนๆกีฬาออกมาบอยคอตต์ทีมต่างๆ โดยไม่ไปชมการแข่งขันจนกว่าเจ้าของทีมต่างๆ จะไล่หรือแบนนักกีฬาที่ไม่เคารพธงชาติออกจากสนาม

     แต่หลังจากเสียงของทรัมป์ได้หลุดออกจากปากผ่านไมโครโฟนสู่ลำโพง อัพโหลดสู่โลกอินเทอร์เน็ตและไปถึงหูของคนในวงการกีฬา กระแสการต่อต้านคำพูดของทรัมป์จึงเริ่มต้นขึ้น โดย บรูซ แม็กซ์เวล นักกีฬาเบสบอลของทีมโอ๊คแลนด์ แอธเลติก กลายเป็นนักกีฬาในเมเจอร์ลีกเบสบอลคนแรกที่คุกเข่าในระหว่างที่ทีมร้องเพลงชาติก่อนเริ่มแข่งขัน

 

 

     แต่พลังของแรงต่อต้านไม่ได้หยุดแค่นั้น เนื่องจากเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย กีฬาอเมริกันฟุตบอลทุกทีม ได้ตัดสินใจคุกเข่าเคารพธงชาติกันเกือบทุกคน เพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และไม่เห็นด้วยกับคำพูดของทรัมป์ เนื่องจากทุกคนมองว่าเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม และขาดความเคารพในสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงขาดความเคารพต่อนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล อาชีพที่นักกีฬาหลายคนเป็นคนผิวสี

 

 

     นอกจากนี้ ทรัมป์ยังพบว่าตัวเองมีปัญหากับคนแทบทุกฝ่ายอีกครั้ง เมื่อเขาตัดสินใจยกเลิกพบทีมโกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส แชมป์ NBA สมัยล่าสุด เนื่องจาก สตีเฟน เคอร์รี การ์ดตัวสำคัญของทีมและนักกีฬาหลายคนแสดงจุดประสงค์ไม่อยากเข้าพบประธานาธิบดี เพราะไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของทรัมป์ที่มีต่อคนผิวสีในสหรัฐฯ

 

 

     หลังจากการประกาศยกเลิกไม่ให้ทีมโกลเด้น สเตทวอริเออร์เข้าพบแล้ว เลอบรอน เจมส์ ยอดนักบาสของคลีฟแลนด์ คาวาเลียส์ ทีมคู่กัดของโกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส หลายปีที่ผ่านมา ยังได้ออกมาสนับสนุนจุดยืนของเคอร์รี โดยได้โพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์ว่า “การได้เยือนทำเนียบขาวถือเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ จนกระทั่งทรัมป์ปรากฏตัว” แสดงให้เห็นว่าคนในวงการกีฬารวมใจกันเป็นหนึ่งเพื่อต่อต้านความคิดเห็นของทรัมป์ในครั้งนี้

 

โคลิน เคเปอร์นิก จุดเริ่มต้นของการคุกเข่า

 

Photo: The New Yoker

 

     ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้วก่อนการคุกเข่าทั้งหมดจะเกิดขึ้น ในระหว่างการถ่ายทอดสดการแข่งขันพรีซีซันในเดือนสิงหาคมปี 2016 โคลิน เคเปอร์นิก ได้ตัดสินใจคุกเข่าในระหว่างการร้องเพลงชาติ เนื่องจากเขาต้องการแสดงสัญลักษณ์ ประท้วงเรื่องการเหยียดสีผิว และการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับคนผิวสีในสหรัฐฯ

     “ผมจะไม่ยืนเพื่อแสดงความเคารพต่อธงชาติของประเทศที่กดขี่คนผิวดำและคนผิวสี สำหรับผมแล้วเรื่องนี้เป็นอะไรที่ใหญ่กว่าอเมริกันฟุตบอลมากและ คงจะเป็นอะไรที่เห็นแก่ตัวมาก ถ้าผมเลือกที่จะนิ่งเฉยกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะในขณะนี้มีผู้คนล้มตายบนถนนและคนที่เป็นฆาตกรได้รับเงินเดือนโดยไม่มีความผิดใดๆ”

     เหตุการณ์ครั้งนั้นแม้ว่าจะแบ่งกระแสสังคมออกเป็นสองฝ่าย ทั้งเห็นด้วยกับการที่เคเปอร์นิกตัดสินใจประท้วงด้วยการใช้พื้นที่ของตัวเองโดยสงบ เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการเหยียดสีผิว ซึ่งในขณะนั้นมีความร้อนแรงมาก และมีการชุมนุมประท้วงหลายจุด

     ในขณะเดียวกันก็มีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและมองว่าหากต้องการแสดงจุดยืนทางการเมือง ไม่ควรนำธงชาติหรือเพลงชาติ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะธงชาติเป็นสัญลักษณ์ของประเทศที่มีผู้คนยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อสร้างสหรัฐฯ ขึ้นมา

     แต่แม้ว่าจะมีนักกีฬาหลายคนเดินรอยตามเคเปอร์นิก และคุกเข่าในระหว่างเคารพธงชาติเพื่อจุดประสงค์เดียวกัน แต่ผลกระทบของการกระทำครั้งนั้นส่งผลให้เคเปอร์นิกกลายเป็นคนที่ถูกเกลียดมากที่สุดในประเทศ จากโพลสำรวจต่างๆ ในช่วงเวลานั้น รวมถึงผลกระทบนี้ยังทำให้เขาไม่สามารถเล่นให้กับทีมไหนได้ในศึกอเมริกันฟุตบอล เนื่องจากหลายคนกังวลว่า เขาจะแสดงสัญลักษณ์แบบนั้นอีก และจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของทีม

     จากสิ่งที่เขาได้เริ่มต้นขึ้นใครจะคิดว่าวันนี้กลายเป็นทุกทีมที่สานต่ออุดมการณ์ของเคเปอร์นิก

 

ประวัติศาสตร์กีฬาอเมริกันกับคนผิวสี

     ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ประสบปัญหาอย่างหนักกับการเหยียดสีผิว และแน่นอนว่าวงการกีฬาหนึ่งในอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศย่อมได้รับผลกระทบมาตลอด โดยหนึ่งในสัญลักษณ์ของการกดขี่ในวงการกีฬาคือ เจสซี โอเวนส์ ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกเมื่อปี 1936 ที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

 

 

     สมัยนั้นมีผู้คนต่อต้านไม่ให้เจสซีเข้าร่วมแข่งขัน เนื่องจากต้องการให้แสดงสัญลักษณ์ว่านักกีฬาผิวสีไม่เอาด้วยกับโอลิมปิกที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเหยียดสีผิวมากที่สุดประเทศหนึ่ง

     แต่เจสซีก็ตัดสินใจเดินทางไปและประสบความสำเร็จคว้าเหรียญทองโอลิมปิกกลับมาได้ทั้งหมด 4 เหรียญ แม้เรื่องราวของเขาจะกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการกีฬาโอลิมปิก แต่การกลับมาใช้ชีวิตในสหรัฐฯ​ เขายังคงต้องเดินเข้าหลังร้านอาหารเหมือนกับคนผิวสีคนอื่นๆ และต้องหาเงินด้วยการไปวิ่งแข่งกับม้าในการแสดงโชว์ต่างๆ

     “ผู้คนชอบบอกว่า เป็นอะไรที่น่าเสื่อมเสียสำหรับเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกที่ต้องมาวิ่งแข่งกับม้า แต่ผมจะทำอะไรได้ล่ะ ผมมีเหรียญทอง 4 เหรียญแต่ไม่สามารถกินมันได้ ที่ผ่านมาผมไม่มีโอกาสได้ออกทีวี ไม่มีผู้สนับสนุน ไม่มีโอกาสอะไรเลยสำหรับคนผิวดำ” เจสซีให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ในช่วงปี 1950

 

 

     เช่นเดียวกับเหตุการณ์จากคำบอกเล่าของ มูฮัมหมัด อาลี ยอดตำนานนักมวยชาวสหรัฐฯ ​ซึ่งเขาได้เล่าผ่านหนังสือ The Soul of a Butterfly หนังสืออัตชีวประวัติที่เขียนโดยตัวเขาเอง ถึงเหตุการณ์เมื่อปี 1960 หลังจากที่เขาสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศด้วยการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกปี 1960 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เขาได้สวมเหรียญทองเดินเล่นในบ้านเกิดของเขาด้วยความภาคภูมิใจว่าเขาคือฮีโร่ของประเทศ

     แต่เมื่อเขาเดินเข้าร้านอาหารหนึ่ง พร้อมกับเหรียญทองโอลิมปิกห้อยอยู่ที่คอของเขา พนักงานเสิร์ฟกลับบอกว่าขออภัยด้วยเราไม่เสิรฟ์อาหารให้คนผิวสี เสมือนกับว่าผลงานที่ผ่านมาไม่มีความหมายอะไรกับสังคมของเขาเลย เหตุการณ์นั้นทำให้อาลีเสียใจมาก และเขาได้ทิ้งท้ายย่อหน้านั้นไว้ว่า

     “สำหรับคนที่ถามผมว่าเหรียญทองโอลิมปิกปี 1960 ของผมอยู่ที่ไหน ผมแนะนำให้ไปหาที่ใต้แม่น้ำโอไฮโอ” เขาได้โยนมันทิ้งไป เพราะว่าความสำเร็จในวงการกีฬาของเขาไม่ได้มีความหมายอะไรเลยต่อปัญหาสังคมภายในประเทศ

     8 ปีต่อมา การเมืองได้ก้าวเข้ามาสู่วงการกีฬาสหรัฐฯ อีกครั้ง หลังจากที่มูฮัมหมัด อาลี ได้สร้างผลกระทบไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจไม่ไปร่วมสงครามเวียดนาม และการตัดสินใจเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม รวมถึงการเปลี่ยนชื่อจาก แคสเซียส เคลย์ เป็น มูฮัมหมัด อาลี

 

 

     แต่เมื่อนักวิ่ง 2 คน ทอมมี่ สมิธ และ จอห์น คาร์ลอส 2 นักวิ่งผิวสีในโอลิมปิกที่เม็กซิโกเมื่อปี 1968 ได้ทำการประท้วงเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำในระหว่างที่ขึ้นรับเหรียญด้วยการไม่ใส่รองเท้าขึ้นไปรับเหรียญพร้อมกับชูกำปั้นที่สวมถุงมือสีดำ ขณะที่เพลงชาติสหรัฐฯ บรรเลงอยู่ เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์สนับสนุนการประท้วงของผู้คนที่โดนกดขี่ในประเทศ รวมถึงเป็นการไว้อาลัยกับเหตุการณ์การลอบสังหารโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ภายในสหรัฐฯ

     ผลจากการกระทำครั้งนั้น ส่งผลให้ทั้ง 2 คนถูกแบนจากคณะกรรมการโอลิมปิกของสหรัฐฯ โดยให้เวลา 48 ชั่วโมงในการเดินทางออกจากเม็กซิโก และชีวิตนักกีฬาของทั้งคู่ก็จบลง พร้อมกับคำขู่ฆ่าจากคนในสหรัฐฯ หลายปีต่อจากนั้น เนื่องจากถูกมองว่าเป็นคนทรยศต่อประเทศ

     “เราเป็นนักกีฬา เราไม่ใช่นักการเมือง เราใช้โอกาสนี้เพื่อเป็นการแสดงให้ทั้งโลกเห็นถึงความยากลำบากของคนผิวดำในสหรัฐฯ” ทอมมี่ สมิธ ได้ให้สัมภาษณ์หลังจากกลับถึงสหรัฐฯ

     “ผมกินเหรียญทองไม่ได้ และเยาวชนที่เติบโตในย่านที่ผมอยู่ กินเหรียญทองไม่ได้ สิ่งเดียวที่เราขอคือสิทธิ์เท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ แต่จุดที่เราอยู่ตรงนี้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอยู่หลายขั้น และเมื่อไรก็ตามที่เราต้องการจะปีนขึ้นไป ทุกคนจะห้ามไม่ให้เราทำ” จอห์น คาร์ลอส ได้ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกัน

     ประวัติศาสตร์ของกีฬา การเมือง สังคมกับคนผิวสีในสหรัฐฯ ผ่านวิวัฒนาการที่ยาวนานและยากลำบาก โดยเฉพาะสำหรับคนผิวสี แต่มาถึงวันนี้ที่พลังของการเรียกร้องสิทธิ์ความเท่าเทียม สามารถก้าวขึ้นไปท้าทายอำนาจของผู้บริหารของประเทศ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของพลังที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่พลังของแรงบันดาลใจ หรือพลังของความรู้สึกตื่นเต้นที่กีฬาได้มอบให้กับเราทุกสัปดาห์ แต่มันคือพลังที่เกิดขึ้นจากการรวมใจของทุกคนเป็นหนึ่งเดียว และแสดงจุดยืนต่ออำนาจที่ต้องการคุกคามสิทธิ์เสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขา

 

กีฬากับการเมือง สิ่งที่ควรเดินคู่กันไปหรือไม่ควรยุ่งเกี่ยวกัน

     “ผู้นำเกาหลีเหนือได้ประกาศ…(คลิก)…โอ้โห ไม่น่าเชื่อครับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดขึ้นนำตั้งแต่นาทีแรก…” อาจะเป็นการกระทำของหลายๆ คนในทุกเย็นสุดสัปดาห์ที่ต้องการหนีจากความยุ่งวุ่นวาย และความเครียดในชีวิตเพื่อหันหน้าเขาสู่กีฬาที่มีทั้งความสนุก ดราม่า และแรงบันดาลใจที่เป็นเหมือนอีกหนึ่งพลังในการขับเคลื่อนชีวิตของพวกเรา

 

 

     แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอเมริกันเกมล่าสุดเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังที่แอบซ่อนอยู่ในวงการกีฬา เพราะจากประวัติศาสตร์ของกีฬาที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กีฬามีผลกระทบกับสังคมจากความกล้าหาญของนักกีฬา และจะเป็นการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมสำหรับพวกเขา ถ้าหากขจัดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เหล่านี้ออกไป และดึงกีฬาออกจากเรื่องการเมืองหรือสังคม

     เพราะที่ผ่านมา แม้จะมีนักกีฬาหลายคนเลือกที่จะปิดปากไม่พูดถึงการกระทำที่ไม่ยุติธรรม และอาจช่วยให้พวกเขามีรายได้ มีชื่อเสียง ถูกใจผู้สนับสนุน และ ผู้บริหารทีมหรือแม้กระทั่งผู้นำของสหรัฐฯ แต่ความกล้าหาญที่แท้จริงคือการยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้องแม้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องประสบปัญหาต่ออาชีพของตัวเองก็ตาม ซึ่งที่จริงแล้วพวกเขาไม่จำเป็นต้องขออนุญาต เมื่ออยากจะชูมือขึ้น หรือคุกเข่าลง หากต้องการที่จะแสดงสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง

     เช่นเดียวกับคำพูดจาก โรเบิร์ต คราฟต์ เจ้าของทีมนิวอิงแลนด์ แพทริออตส์ ผู้ที่เคยเป็นผู้สนับสนุนในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่สะท้อนแง่มุมคุณค่าของกีฬา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม นั่นคือในพื้นที่ของการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น 15 นาที 30 นาที หรือ 90 นาที ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น มีสิทธิ์เท่าเทียมกันภายใต้กฎระเบียบเดียวกัน มีเพียงความสามารถเท่านั้นที่จะทำให้คุณชนะคู่แข่งได้ ทำให้กีฬาเป็นพื้นที่ที่นำสิ่งที่ดีที่สุดของทุกคนเข้ามาอยู่ร่วมกัน

     “ผมภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับผู้คนที่มีส่วนในการสร้างสรรค์สังคมของเราให้ดีขึ้น ความทุ่มเทของพวกเขาทั้งในและนอกสนาม ช่วยนำพาผู้คนให้สามัคคีกัน และช่วยให้สังคมของเราแข็งแกร่งขึ้น

     “ในประเทศนี้ไม่มีอะไรที่สามารถรวมใจคนทั้งชาติได้นอกจากกีฬาอีกแล้ว และไม่มีอะไรที่ทำให้คนแตกแยกได้มากกว่าการเมือง

     “ผมคิดว่าผู้นำทางการเมืองของเราควรจะเรียนรู้จากความสามัคคี และ ความสำคัญของการทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน

     “นักกีฬาของเรา ฉลาด มีความคิด และให้ความสำคัญต่อสังคมในประเทศ ผมสนับสนุนสิทธิ์ในการแสดงจุดยืนแบบสงบของพวกเขา ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม และสร้างความตระหนักในรูปแบบที่พวกเขาคิดว่าจะมีผลกระทบมากที่สุด”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising