ก่อนเปิดฤดูกาลของกีฬาอาชีพในโลกใบนี้ จะมีคำหนึ่งที่แฟนๆ คุ้นหูกันพอสมควร นั่นคือเทรนนิ่งแคมป์
ฟุตบอลอังกฤษ ฟุตบอลสเปน หรือจะเป็น NBA แม้แต่จักรยานก็ยังต้องมีเทรนนิ่งแคมป์เพื่อเรียกสภาพความฟิตของร่างกายผู้เล่น NFL ก็เช่นเดียวกัน เทรนนิ่งแคมป์มีมาตั้งแต่ก่อตั้งลีก และถือเป็นส่วนสำคัญด้วย
ทั้งบรรดาสตาฟฟ์โค้ชและลูกทีมต่างใช้แคมป์เพื่อปรับตัวทั้งกับสมาชิกใหม่หรือระบบการเล่นใหม่
พวก Rookie หรือผู้เล่นไม่มีประสบการณ์ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาแบบนี้มากทีเดียว เพราะมันคือโอกาสให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพออกมา ขณะที่ตัวเก๋าๆ ก็จะใช้มันเพื่อขัดสนิมที่เกาะตลอดเวลาหลายเดือน เรียกความกระฉับกระเฉงให้กลับมาก่อนเจอศึกหนักซึ่งรออยู่ข้างหน้า
เทรนนิ่งแคมป์ของ NFL มีหลายแง่มุม น่าสนใจ
แง่มุมแรกที่ผมอยากเขียนถึงแคมป์ NFL ก็คือเรื่องความโหด ไม่ต้องสงสัยว่านับจากช่วงยุค 20 มาจนปัจจุบัน เทรนนิ่งแคมป์ NFL เกิดการเปลี่ยนแปลง และมีวิวัฒนาการอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงยุค 60 หรือ 70 อดีตผู้เล่นจำนวนมากบอกว่า เทรนนิ่งแคมป์ขณะนั้นคือ 8 สัปดาห์ โหดสุดในชีวิตพวกเขา
จอห์น แมดเดน ซึ่งหลายคนคงนึกว่าเป็นชื่อของเกม NFL ในอดีตเขาคือเฮดโค้ชขาโหดของ Oakland Raiders มักพาลูกทีมเข้าแคมป์ที่เมืองซานตา โรซา, แคลิฟอร์เนีย ซึ่งย่านนั้นในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม อากาศช่วงเที่ยงร้อนระอุแตะ 40 องศาเซลเซียส
ดอน ชูลา ก็คือตำนานเฮดโค้ช เคยคุม Baltimore Colts เมื่อปลายยุค 50 เขาไม่ยอมให้ลูกทีมดื่มน้ำหรือแม้แต่เคี้ยวน้ำแข็ง ถ้าเห็นคนไหนทำแบบนั้น อารมณ์ของเขาจะระเบิดโวยวายขึ้นมาทันที
ชูลาสั่งทุกคนให้ซ้อมไม่มีหยุดตลอดสัปดาห์ และซ้อมจนกว่าจะเดินไม่ไหว ทั้งๆ ที่สมัยนั้นผู้เล่นไม่ได้มีค่าจ้างมากมาย และสัญญาก็ไม่ได้การันตีเป็นเงินก้อนโตเหมือนเช่นปัจจุบัน
กระทั่งเมื่อ 18 ปีก่อน เคยเกิดข่าวใหญ่ระดับชาติจาก คอรีย์ สตริงเกอร์ Offensive Tackle Minnesota Vikings เสียชีวิต เพราะอาการฮีตสโตรกระหว่างซ้อม ด้วยวัยแค่ 27 ปี
ช่วงนั้นสตริงเกอร์ซึ่งตัวใหญ่มาก สูง 193 เซนติเมตร หนัก 152 กิโลกรัม กำลังดังเพราะเพิ่งติดทีมรวมดารา หรือโพรโบว์ล และแข่งอาชีพซีซันที่ 7 เขาเคยโอดครวญว่าหมดแรงตั้งแต่ช่วงเช้าจนโดนหามออกมา
ธรรมชาติของ NFL ไม่มีที่ยืนให้กับคนที่อ่อนแอ เขาพักซ้อมแค่ตอนบ่าย พอถึงรุ่งขึ้น ซึ่งผู้เล่นต้องซ้อมหนัก สวมเครื่องป้องกันเต็มอัตรา สตริงเกอร์ก็ลงมาใหม่ ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวราว 42 องศาเซลเซียส และความชื้นสูงมาก
สตริงเกอร์อาเจียนออกมาสามหน เดินเป๋ไปนั่งหน้าเครื่องพ่นความเย็น เขาบอกกับสตาฟฟ์ว่าหน้ามืด ไม่มีแรง และเริ่มหายใจถี่
แม้จะรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงก็สายเกินแก้ เขาหมดสติและเสียชีวิตเวลา 01.50 น. ทิ้งลูกน้อยวัยแค่ 3 ขวบเอาไว้ข้างหลัง
สตริงเกอร์เป็นคนแรกที่เสียชีวิตเพราะอาการฮีตสโตรกหรือลมแดด มันเป็นอาการที่อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อยล้า อ่อนเพลีย หน้ามืด ปวดศีรษะ เป็นลม บางรายอาจมีอาการทางสมอง อาทิ หมดสติ พูดจาสับสน ชัก
นี่คือเรื่องที่ช็อก NFL ซึ่งภูมิใจว่าตัวเองมีทีมแพทย์เก่งกาจมากที่สุดกว่าลีกกีฬาใดๆ ในโลก ทำให้ พอล ทาเกลียบู คอมมิสชันเนอร์ขณะนั้นสั่งการโดยด่วนให้ทุกทีมหาทางแก้ไข โดยเฉพาะคำถามว่า ผู้เล่นได้ดื่มน้ำเพียงพอไหม ทัศนคติซ้อมไปดื่มน้ำไป คือพวกที่เปราะบางต้องมีการเปลี่ยนแปลง
บางทีผู้เล่นก็เจอการซ้อมโหดตั้งแต่เปิดแคมป์ ซึ่งในสหรัฐอเมริกาคือหน้าร้อนพอดี
ภายหลังเริ่มมีการแก้ไข ปรับเวลาซ้อมให้เช้าขึ้นกับตอนเย็น เพื่อเลี่ยงสภาพอากาศ และมีช่วงเบรกดื่มน้ำสม่ำเสมอ
เทรนเนอร์บางทีมถึงกับขอให้ผู้เล่นสังเกตสีปัสสาวะตัวเอง เพราะมันสามารถวัดระดับน้ำในร่างกายได้
นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้การเข้าเทรนนิ่งแคมป์สไตล์โอลด์สคูล หรือรูปแบบเก่าเป็นเพียงความทรงจำ
ปี 2011 การซ้อมหนักแบบวันละ 2 รอบ เช้า, บ่าย ก็ถูกยกเลิกไป แต่ละทีมโดนจำกัดวันที่ผู้เล่นต้องซ้อมแบบสวมเครื่องป้องกันเต็มตัว
วันแรกเมื่อเปิดแคมป์ แต่ละทีมได้รับอนุญาตให้ทำเพียงตรวจร่างกายผู้เล่น นั่งประชุมกัน ไม่มีกิจกรรมบนสนาม เว้นแต่อาจวิ่งยืดเส้นยืดสาย
วันที่ 2 กับ 3 ลีกให้อิสระเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ผู้เล่นยังจำกัดเพียงแค่ขาสั้น หมวกกันน็อก ไม่มีเครื่องป้องกัน ซ้อมโดยไม่มีการชนใส่กัน เน้นด้านเทคนิคส่วนตัวของแต่ละตำแหน่งมากกว่า
กระทั่งวันที่ 4 ไปจนจบแคมป์ แต่ละทีมจึงค่อยซ้อมกันอย่างปกติ แต่ด้วยกรอบเวลาว่าห้ามสวมเครื่องป้องกันซ้อมเกิน 3 ชั่วโมง ต้องมีเบรก 3 ชั่วโมง รวมเวลาซ้อมแต่ละวันเพียง 4 ชั่วโมง
เท่านั้นไม่พอ ทุกทีมต้องให้ผู้เล่นพัก 1 วันต่อสัปดาห์อีก
บางคนมองว่าการปรับเปลี่ยนช่วงหลัง ภายใต้ข้อตกลงเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ทำให้ เกมไม่รุนแรงเข้มข้นเหมือนเก่า แต่ก็มีบางคนมองต่างมุม เพราะเชื่อว่ามันทำให้ผู้เล่นมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
ต่อมาก็เป็นเรื่องของธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งทุกปีหลายทีมจะเก็บตัวที่คอลเลจเล็กๆ ทำให้ผู้เล่นต้องแชร์ห้องนอนกัน สร้างบรรยากาศครอบครัว
การสร้างบรรยากาศ เราก็จะเห็นภาพพวกรุ่นพี่อำใส่ Rookie ระหว่างเทรนนิ่งแคมป์ บ่อยครั้งด้วย
เมื่อปี 2000 แม้แต่ ทอม เบรดี ควอเตอร์แบ็กผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลในสมัยยังละอ่อนก็เคยโดน ดรูว์ เบลดโซ ควอเตอร์แบ็กรุ่นพี่ที่ New England Patriots แกล้ง ทั้งเอาเครื่องป้องกันไปไว้ในรถ ซ่อนกุญแจไว้ หรือแสบกว่านั้นก็เอากากเพชรหรือกลิตเตอร์วางเอาไว้ในที่ปรับอากาศรถของเบรดี พอเขาสตาร์ทเครื่องก็เป็นเรื่องทันที
10 ปีต่อมา ทิม ทีโบว์ ควอเตอร์แบ็กขวัญใจมหาชน เมื่อเข้าไปอยู่กับ Denver Broncos เขาขึ้นชื่อเรื่องความเคร่งครัดในคริสต์ศาสนา จึงโดนจับโกนหัวตรงกลางทิ้งแต่ด้านข้างเอาไว้เหมือนพระ ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่ว่าอะไร ยังคงลงซ้อมด้วยผมทรงนั้น พร้อมบอกว่ามันทำให้ทุกคนหัวเราะได้ แล้วยังสร้างความกลมเกลียวด้วย
ปีเดียวกันก็มีพวกรุ่นน้องเปรี้ยวใส่รุ่นพี่เหมือนกัน เดซ ไบรอันท์ ปีกนอก Cowboys ไม่ยอมช่วยแบกเครื่องป้องกันของ รอย วิลเลียมส์ ปีกรุ่นพี่ หลังจากซ้อมเสร็จ โดยบอกว่าเขาไม่ได้โดนจ้างให้มาทำอะไรแบบนี้
วิลเลียมส์อาจกำลังอยู่ในขาลง ขณะที่ไบรอันท์โดนดราฟต์เพื่อเขามาชิงตำแหน่ง ประเด็นของสองคนนี้จึงโดนสื่อขยายความกันสนุกมือ
เหตุการณ์ชกต่อยในแคมป์ก็เป็นเรื่องปกติ ปีไหนไม่มีข่าวแบบนี้ถือว่าแปลก
ปี 2008 สตีฟ สมิธ ปีกนอกความเร็วจัดเคยปะทะตัวคุมปีกเพื่อนร่วมทีม Carolina Panthers แบบไม่กล้วว่าเตี้ยกว่า 3 นิ้ว และเบากว่าราว 8 กิโลกรัม เขาซัดจนลูคัส จมูกหัก ตาเขียว
สมิธขึ้นชื่อเรื่องอารมณ์ร้อน เพราะจริงจังอย่างมาก เคยโดนแบนเพราะต่อย แอนโธนี ไบรท์ เพื่อนร่วมทีม ขณะนั่งดูฟิล์มด้วยกันเมื่อปี 2002 มาแล้วด้วย
จอห์น บอลด์วิน กับ โธมัส โจนส์ สองผู้เล่น Kansas City ก็เคยต่อยกัน จนทำให้บอลด์วินบาดเจ็บข้อมือร้าว ต้องพักตลอด 5 เกมแรกของซีซัน
ความเข้มข้นดังกล่าวอาจเป็นที่ถูกใจแฟนๆ ซึ่งโหยหาฟุตบอลมาหลายเดือน พวกเขาแห่กันเข้าดูทีมที่รักซ้อม ทั้งส่งเสียงเฮเวลาใครฟอร์มสวยๆ หรือโห่ใส่ใครก็ตามซึ่งซ้อมพลาด
นั่นคือส่วนผสมซึ่งทำให้ NFL กลายเป็นลีกยอดนิยมของประเทศในทุกวันนี้
แฟนๆ ของ Green Bay รักและนิยมทีมพวกเขาไม่เป็นสองรองใคร
เมื่อถึงเวลาซัมเมอร์ เด็กๆ หลายสิบคนจะนำเอาจักรยานของตัวเองมาจอดอยู่ใกล้ แลมโบฟิลด์ พร้อมตะโกนโหวกเหวกขอให้ผู้เล่นใครก็ได้เลือกปั่นจักรยานของพวกเขาไปยังสนามซ้อม Ray Nitschke
ภาพดังกล่าวเกิดขึ้นหลายทศวรรษ จนแทบกลายเป็นสัญลักษณ์การเปิดเทรนนิ่งแคมป์ NFL ไปโดยปริยาย
ผู้ปกครองหลายคนยอมหยุดงานเพื่อพยายามพาลูกพร้อมจักรยานคู่ใจมารอยังสเตเดียม เพราะอยากเห็นพวกเขาได้พบหน้าและพูดคุยกับผู้เล่น แทนที่จะต้องยืนมองอยู่ไกลๆ บนอัฒจันทร์
ไม่มีใครรู้ว่าธรรมเนียมนี้กับ Packers เริ่มต้นเมื่อไร
คลิฟฟ์ คริสเทิล ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ทีมบอกว่า หลักฐานที่มีย้อนหลังไปถึงปลายเดือนกรกฎาคม 1969 เป็นภาพรันนิ่งแบ็ก แทรวิส วิลเลียมส์ กำลังปั่นจักรยานกลับจากสนามซ้อม
“ผมได้รับฟีดแบ็กกลับมาจากแฟนๆ เยอะทีเดียว” คริสเทิลกล่าว มีคนหนึ่งเล่าว่า ยังจำเรื่องผู้เล่นปั่นจักรยานเด็กที่สตีเวนส์ พอยต์ (Wisconsin) สมัย Packers ไปซ้อมที่นั่นในช่วง 1954-1957
Packers จริงจังเพิ่มขึ้น มีการทำไบค์เลน เรียกว่าดรีมไดร์ฟ ด้วยการสนับสนุนจากสปอนเซอร์อย่าง American Family Insurance ด้วย
ประชาสัมพันธ์ทีมบอกว่า ผู้เล่นจะเริ่มออกมาปั่นจักรยานราว 07.30 น. ทุกเช้า ของ เทรนนิ่งแคมป์
แมตต์ เลอเฟลอร์ เข้ามาเป็นเฮดโค้ช Packers คนใหม่แทน ไมค์ แม็กคาร์ธีย์ ก็ยังคงรักษาธรรมเนียมดังกล่าวอย่างไม่ต้องสงสัย
เท่านั้นไม่พอ ระหว่างต้นเดือนซึ่งพวกเขาต้องเตรียมอุ่นเครื่องนัดแรกที่แลมโบฟิลด์ เจอ Houston Texas ซึ่งจะบินมาซ้อมร่วมกันล่วงหน้า
มาร์ก เมอร์ฟีย์ ประธาน Packers บอกว่า ทาง Texas ก็จะร่วมธรรมเนียมปั่นจักรยานเติมสีสันอีก 2 วัน
เจเจ วัตต์ ซูเปอร์สตาร์ฝั่ง Texas เป็นเด็ก Wisconsin และเคยเป็นแฟน Packers ฝันอยากมีส่วนร่วมกับธรรมเนียมนี้มาแต่เด็ก
น่าเสียดายที่เขาดันโตมาเป็นยักษ์สูงใหญ่ 6 ฟุต 5 (1.96 เมตร) หนัก 288 ปอนด์(131 กิโลกรัม) พอได้รับโอกาสปั่นจักรยานเด็ก นั่งแผละลงไปไม่ทันไรก็ทำเอาอานหักทันที แต่เขาตัดสินใจได้ไวเลยแบกมันขึ้นไหล่แทน
เท่านั้นไม่พอ วัตต์ยังแสดงความรับผิดชอบบอกว่าจะซื้อจักรยานคันใหม่ให้เด็กคนนั้น ซึ่งคงมีเรื่องราวเอาไว้คุยกับเพื่อนๆ อย่างตื่นเต้นแน่
“ทุกอย่างมันดูสุดยอด จนกระทั่งผมทำอานหัก นั่นแหละจักรยานที่ผมปั่น ไม่ได้ทำมาเพื่อคนหนัก 131 กิโลกรัม เราจะซื้อคันใหม่ให้เด็ก ผมขอโทษด้วย”
“ผมเดินผ่านเด็กไปไม่ได้จริงๆ” วัตต์ให้เหตุผลที่เลือกจักรยานของเด็กคนดังกล่าว “เขาสวมชุดแข่ง (อารอน) ร็อดเจอร์ส ก็จริง แต่ไม่เป็นไรเลย ผมนับถือและชอบความรักที่มีกับทีมตัวเอง บรรยากาศอบอุ่นและการต้อนรับที่ผมได้ตั้งแต่กลับมาที่นี่ เห็นบางคนใส่ชุดแข่งผมด้วย รู้สึกทึ่งมาก
“นี่คือหนึ่งในธรรมเนียมที่สุดคูลก็ว่าได้ ผมเองก็โตที่นี่ เลยรู้ว่ามันพิเศษแค่ไหน เมื่อได้คุยกับผู้เล่นของ Green Bay Packers เด็กๆ จะได้เจอผู้เล่นที่ชอบแล้วยังได้ถือหมวกกันน็อกพวกเขาด้วย
“ความทรงจำกับเด็กๆ พวกนี้จะอยู่ติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิต การที่ผมสามารถมีส่วนร่วมด้วยในฐานะผู้เล่นมันให้ความรู้สึกดีมาก”
ทีมอื่นอาจไม่มีธรรมเนียมปั่นจักรยานเหมือน Packers แต่แฟนๆ ก็ยังใกล้ชิดผู้เล่น ได้ด้วยช่วงแจกลายเซ็น ซึ่งทุกแคมป์จะจัดแบ่งเวลาให้ทุกวัน นี่คือหนึ่งในสาเหตุว่าทำไม NFL จึงหยั่งรากลึกลงไปและเป็นที่นิยมมหาศาล
แฟนเหล่านี้คือส่วนสำคัญให้ผู้เล่นได้ค่าจ้างมหาศาล ทำให้ลีกเติบโตต่อเนื่อง ถ้าพวกเขาไม่ดูเกมทางทีวี ไม่ซื้อสินค้าทีม หรือตีตั๋วเข้าดูเกม ลีกก็ไม่รอด
โซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์กับเฟซบุ๊กยังช่วยเติมมิติความนิยมให้เพิ่มขึ้น เพราะแฟนจะได้โอกาสให้ตามติดทีมรักอย่างเกาะติด ได้รับข้อมูลว่าแต่ละคนฟอร์มเป็นอย่างไรตั้งแต่เริ่มซ้อม
มันไม่เพียงเป็นประโยชน์กับแฟน แต่ยังมีบทบาทกับ แฟนตาซี ฟุตบอล ด้วยเจ้าของแต่ละทีมจะได้อัปเดตข้อมูลพวกม้ามืดเด็ดๆ เอาไว้เก็บใส่ทีมตัวเอง อย่างพวกปีกนอกมือสี่ ซึ่งหลายคนอาจมองข้ามไป
มีการสำรวจออกมาพบว่า ยอดคนที่เล่น แฟนตาซี ฟุตบอล ทุกปีมากมายราว 41 ล้านคน (ปีก่อน แฟนตาซี พรีเมียร์ลีก มีคนเล่นกันทั่วโลก 6.8 ล้าน) โดยอายุเฉลี่ยราว 34 โดย 80 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ชาย และ 78% มีการศึกษาระดับปริญญาด้วย
ช่วง 4-5 ปีหลังเว็บไซต์กีฬาต่างๆ ถึงกับต้องแยกส่วนแฟนตาซีเพื่อวิเคราะห์ วิจารณ์ ฟอร์มการเล่น อย่างช่วงนี้ก็จะแยกตำแหน่งว่าควรเลือกใครเข้าทีมคุณดี (แฟนตาซี NFL ต่างจาก แฟนตาซี พรีเมียร์ลีก ตรงที่แต่ละลีกที่คุณเล่นไม่สามารถใช้ผู้เล่นซ้ำกันได้ อย่างเช่นถ้าทีมคุณมี ทอม เบรดี แล้ว ทีมอื่นๆ ก็ต้องใช้ควอเตอร์แบ็กคนอื่น)
อ่านมาจนถึงตอนนี้พวกคุณคงมองภาพออกว่า สำหรับอเมริกันชน เพียงแค่คำว่า เทรนนิ่งแคมป์ NFL มันมีเรื่องราว มีประเด็นต่างๆ แตกออกมาอย่างหลากหลายมาก
นี่ผมยังไม่ได้ลงลึก ถึงข่าวคราวสำคัญของแต่ละทีม ซึ่งเป็นไฮไลต์ที่แฟนเองก็สนใจไม่แพ้กัน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า