พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คุณสมบัติที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนต่อไปควรมีคือ คนที่ต้องมองไปข้างหน้า มองแบบเดิมๆ ไม่ได้ เนื่องจากโลกวันนี้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว ต้องมีความคิดต้องสมัยใหม่ สนับสนุนนโยบายภาครัฐ รวมถึงมีความรอบรู้ทั้งด้านการเงินและเศรษฐกิจ
“(ผู้ว่าฯ ธปท. คนต่อไป) ต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด มีความคิดเห็นเป็นของตัวเองได้ แต่ต้องสนับสนุนนโยบายภาครัฐ กฎหมายบอกแบบนั้นอยู่แล้ว” พิชัยกล่าว ขณะที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. คนปัจจุบัน เตรียมครบวาระ 5 ปีในเดือนกันยายนนี้
ทั้งนี้ ตามกฎหมายแล้ว คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าฯ ธปท. ต้องเสนอชื่อให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายใน 90 วัน ก่อนผู้ว่าฯ ธปท. คนปัจจุบันจะหมดวาระ โดยผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท. จำเป็นต้องสมัครเข้ามาเอง ไม่ได้มาจากการเสนอชื่อ
เปิดคุณสมบัติผู้ว่าฯ ธปท.
ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ระบุว่า ผู้ว่าฯ ธปท. ต้องมีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคาร ต้องมีสัญชาติไทย และไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
- มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเสนอชื่อเพื่อทรงแต่งตั้ง
- เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
- เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
- เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง
- เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
- เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งเนื่องจากมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ
- เป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคลซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ ธปท.
โดยผู้ว่าฯ ธปท. มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี นับแต่วันที่ทรงแต่งตั้งและอาจได้รับแต่งตั้งได้อีกไม่เกิน 1 วาระ