×

พุทธศาสนายังสำคัญสุด! ศรีลังกาย้ำ หลังคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญด้านศาสนา คลายปมขัดแย้งชาวสิงหล-ทมิฬ

14.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • “ศรีลังกากำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาสำคัญที่สุด และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปกป้องและทำนุบำรุงศาสนาพุทธ” คือข้อความส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 1977 ที่รัฐบาลศรีลังกาต้องการแก้ไข
  • ชาวทมิฬมองว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญข้างต้นมีส่วนทำให้เกิดความแตกแยกกับชาวทมิฬที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู
  • รัฐบาลศรีลังกาย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่กระทบต่อสถานะความสำคัญของศาสนาพุทธ หลังพระสงฆ์และชาวพุทธออกมาประท้วงต่อต้าน เนื่องจากกังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะลดความสำคัญของพุทธศาสนา
  • การประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนปรองดอง เพื่อลดความขัดแย้งกับชาวทมิฬ หลังศรีลังกาเผชิญกับสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับชาวทมิฬยาวนานถึง 16 ปี

     นายกรัฐมนตรีของศรีลังกาประกาศว่าความสำคัญของ ‘ศาสนาพุทธ’ จะยังคงถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศต่อไป หลังบรรดาพระสงฆ์ ชาวพุทธบางกลุ่ม และฝ่ายค้านออกมาประท้วงต่อต้านแนวทางแก้ไขบทรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ที่อาจลดความสำคัญของศาสนาพุทธ รวมถึงเตือนว่าหากรัฐบาลยังเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจเกิดการประท้วงขึ้นทั่วประเทศ

     “ผมตกลงกับประธานาธิบดีแล้วว่า เราจะยังคงบทรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธต่อไป”

 

 

ปมขัดแย้งชาวสิงหล-ทมิฬ กับการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

     เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลของศรีลังกาประกาศว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 1977 เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจการปกครองให้กระจายอำนาจไปยังเขตจังหวัดมากขึ้น รวมไปถึงพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยชาวทมิฬ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติที่เคยนำไปสู่สงครามนองเลือดยาวนานถึง 26 ปี และมีประชาชนมากกว่า 100,000 คนเสียชีวิต โดยในตอนนั้นชาวทมิฬต่อสู้เพื่อต้องการแยกดินแดนออกมาเป็นของตัวเอง

     ระหว่างที่ศรีลังกาเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ชาวทมิฬอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในศรีลังกามากขึ้น เพื่อเข้ามาเป็นแรงงาน ซึ่งชาวทมิฬที่พูดภาษาอังกฤษได้จึงได้รับโอกาสทางการศึกษาและการงานมากกว่าชาวสิงหล ความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬที่คุกรุ่นมาตั้งแต่ในอดีตเริ่มเห็นชัดหลังจากศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษ ที่ศรีลังกาเริ่มมีระบอบการเลือกตั้ง และชาวสิงหลซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ได้รับเลือกเข้าไปในสภาจำนวนมาก นับตั้งแต่ตอนนั้นตำแหน่งสำคัญๆ อย่างประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีจึงเป็นของชาวพุทธมาโดยตลอด และการรณรงค์หาเสียงส่วนใหญ่มักชูประเด็นเรื่องศาสนาพุทธและภาษาสิงหล ซึ่งสามารถกวาดคะแนนเสียงจากชาวสิงหลและพระภิกษุได้จำนวนมาก

     รัฐธรรมนูญฉบับปี 1977 คือรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ของศรีลังกา ตั้งแต่ศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษ โดยส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญระบุว่า “ศรีลังกากำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาสำคัญที่สุด และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปกป้องและทำนุบำรุงศาสนาพุทธ”

     ชาวทมิฬมองว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีส่วนทำให้เกิดความแตกแยกกับชาวทมิฬที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู

     นักวิชาการหลายคนมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจกับรัฐบาลมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ภาษาทมิฬเป็นหนึ่งในภาษาราชการคู่กับภาษาสิงหล ซึ่งเป็นภาษาของประชากรส่วนใหญ่ของศรีลังกาเพื่อพยายามลดความตึงเครียดระหว่างสองกลุ่ม

     การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังประธานาธิบดีไมตรีปาละ สิริเสนา (Maithripala Sirisena) ออกนโยบายปรองดองกับชาวทมิฬหลังสงครามกลางเมืองจบลง รวมถึงตั้งข้อหากับเจ้าหน้าที่รัฐว่าก่ออาชญากรรมต่อกลุ่มกบฏ Tamil Tiger ในช่วงระหว่างสงครามกลางเมือง

     ประธานาธิบดีสิริเสนาถูกมองว่าเป็นประธานาธิบดีหัวก้าวหน้า หลังจากประกาศว่าเขาจะปฏิรูปให้ระบอบประชาธิปไตยของศรีลังกาแข็งแกร่งมากขึ้น ด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ รวมไปถึงการเอาผิดต่อรัฐบาลหากพบว่ารัฐบาลกระทำผิด

 

 

ชาวพุทธ (บางกลุ่ม) ต่อต้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ

     สมาชิกพรรคฝ่ายค้านบางคน รวมถึงชาวพุทธบางกลุ่มต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลพยายามจะเอาใจชาติตะวันตกและลดความสำคัญของศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาของประชากรกว่า 21 ล้านคน หรือ 70% ของศรีลังกา

     รัฐบาลของประธานาธิบดีสิริเสนาเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมนานาชาติ และทำให้สหประชาชาติมีท่าทีที่อ่อนลงต่อศรีลังกา หลังจากก่อนหน้านี้สหประชาชาติต้องการเข้ามาสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลศรีลังการะหว่างสงครามกลางเมือง

     พระสงฆ์มากกว่า 75 คนออกมาเตือนรัฐบาลว่า หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะต้องเตรียมรับผลกระทบที่เกิดขึ้น

     เช่นเดียวกับพรรคฝ่ายค้านที่บอกว่า อาจเกิดการประท้วงขึ้นทั่วประเทศ หากรัฐบาลแก้ไขบทรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญของศาสนาพุทธ

 

Photo: Ishara S.KODIKARA

ที่มา:

  • AFP/Reuters
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising