×

ประชากรไทยอาจเหลือ 47 ล้านคนในปี 2100 รายงานประชากรโลกจากสหประชาชาติ

19.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ปี 2017 โลกมีประชากรประมาณ 7.6 พันล้านคน โดยจำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 83 ล้านคนในทุกๆ หนึ่งปี แต่อัตราการเพิ่มจะค่อยๆ คงที่ และเริ่มลดลงช่วงก่อนปี 2100
  • พื้นที่ของประเทศที่มีรายได้น้อยอย่างแอฟริกามีอัตราการเกิดของประชากรเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงอย่างในยุโรปกำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ
  • ปี 2017 ญี่ปุ่นคือประเทศที่มีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมากที่สุดในโลก
  • คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีประชากรลดลงเหลือ 47 ล้านคนในปี 2100

     สหประชาชาติ เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับประชากรโลกฉบับปี 2017 พบว่า จำนวนประชากรโลกกลางปี 2017 มีประมาณ 7.6 พันล้านคน ซึ่งในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น 1 พันล้านคน โดยเฉลี่ยแล้วประชากรโลกเพิ่มขึ้น 83 ล้านคนทุกๆ หนึ่งปี

 

 

ประชากรอายุมากกว่า 60 ปี เพิ่มขึ้นในอัตราสูงที่สุด

     ในปี 2017 ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 13% ของประชากรทั้งโลก ประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี มีสัดส่วนคร่าวๆ ประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด หรือ 26% ขณะที่ 61% ของประชากรโลกหรือมากกว่าครึ่ง มีอายุระหว่าง 15-59 ปี

     ปัจจุบันประชากรโลกที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีประมาณ 962 ล้านคน และมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ย 3% ทุกปี

     สังคมผู้สูงอายุจะเกิดทั่วภูมิภาคของโลกในปี 2050 ทุกภูมิภาค ยกเว้นแอฟริกา จะมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด

 

สังคมผู้สูงอายุกำลังเกิดขึ้นในยุโรปและญี่ปุ่น

     ยุโรปคือภูมิภาคที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากที่สุด (25%) ขณะที่ญี่ปุ่นคือประเทศที่มีจำนวนประชากร 60 ปีขึ้นไปมากที่สุดในโลก (33%) รองลงมาคืออิตาลี (29%) ฟินแลนด์ บัลแกเรีย เยอรมนี โปแลนด์ (28%) โครเอเชีย (27%) เอสโตเนีย ฝรั่งเศส กรีซ ฮังการี มอลตา (26%) ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ (25%)

 

ประเทศรายได้สูงเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ ขณะที่ประชากรอายุน้อยกระจุกตัวอยู่ในประเทศยากจน

     รายงานฉบับล่าสุดสะท้อนโครงสร้างประชากรโลกว่า 47% ของประชากรอายุต่ำกว่า 25 ปี อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อย ขณะที่ 68% ของประชากรอายุมากกว่า 75 ปี อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้สูง

 

 

จำนวนประชากรเพศหญิงและเพศชายไม่ต่างกันมากนัก

     ในจำนวนประชากร 1,000 คน เป็นผู้ชาย 504 คน เป็นผู้หญิง 496 คน

 

เอเชียมีประชากรมากที่สุด แต่อัตราการเพิ่มของชาวแอฟริกันมากที่สุด

  • เอเชีย 4.5 พันล้านคน
  • แอฟริกา 1.3 พันล้านคน
  • ยุโรป 742 ล้านคน
  • ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 646 ล้านคน
  • อเมริกาเหนือและโอเชียเนีย 361 ล้านคน
  • โอเชียเนีย 41 ล้านคน

     แม้ภูมิภาคเอเชียจะมีประชากรมากที่สุด แต่คาดการณ์ว่าตั้งแต่ปี 2017-2050 อัตราการเพิ่มของจำนวนประชากรในภูมิภาคแอฟริกาจะมากที่สุดที่ 1.3 พันล้านคน รองลงมาคือชาวเอเชีย 750 ล้านคน ด้านยุโรปคือภูมิภาคเดียวที่มีประชากรลดลง

 

ประชากรโลกมีโอกาสลดลงก่อนปี 2100

     สหประชาชาติคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2017 ที่ประชากรโลกมี 7.6 พันล้านคน ปี 2030 คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นระหว่าง 8.4-8.7 พันล้านคน ปี 2050 เพิ่มขึ้น 9.4-10.2 พันล้านคน และปี 2100 เพิ่มขึ้น 9.6-13.2 พันล้านคน

     อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ 27% ว่าช่วงก่อนปี 2100 จำนวนประชากรโลกอาจจะเริ่มคงที่หรือลดลง

 

 

ปี 2024 จำนวนประชากรอินเดียอาจแซงหน้าจีน

     ปัจจุบันจีนคือประเทศที่มีประชากรมากที่สุด โดยมีประชากร 1.41 พันล้านคน และอินเดียคือประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสองที่ 1.34 พันล้านคน แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของชาวอินเดียที่มากกว่าชาวจีนจะทำให้อินเดียเริ่มมีประชากรเท่ากับหรือมากกว่าจีนในปี 2024 ที่ 1.44 พันล้านคน และหลังจากนั้นประชากรอินเดียจะพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 1.5 พันล้านคนในปี 2030 และ 1.66 พันล้านคนในปี 2050 ขณะที่จำนวนประชากรจีนจะคงที่ตั้งแต่ปี 2024 ถึงปี 2030 และจากนั้นจะเริ่มลดลง

 

ผู้หญิงแอฟริกันให้กำเนิดบุตรมากที่สุด

     แอฟริกาคือทวีปที่อัตราการเพิ่มของประชากรสูงที่สุดในปี 2015-2020

     โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงแอฟริกา 1 คน จะให้กำเนิดบุตร 4.43 คน

     ผู้หญิงแถบโอเชียเนีย 1 คน จะให้กำเนิดบุตร 2.43 คน

     ผู้หญิงในเอเชีย 1 คน จะให้กำเนิดบุตร 2.15 คน

     ผู้หญิงในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 1 คน จะให้กำเนิดบุตร 2.04 คน

     ผู้หญิงในอเมริกาเหนือ 1 คน จะให้กำเนิดบุตร 1.86 คน

     ขณะยุโรปให้กำเนิดบุตรน้อยที่สุด คือผู้หญิงยุโรป 1 คนจะให้กำเนิดบุตร 1.62 คน

 

 

แรงงานเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา ย้ายถิ่นไปยุโรปและอเมริกาเหนืออย่างต่อเนื่อง

     ในปี 2010-2015 ยุโรป อเมริกาเหนือและโอเชียเนียเป็นภูมิภาคปลายทางที่รับแรงงานอพยพต่างชาติมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี โดยอเมริกาเหนือคือภูมิภาคที่คนย้ายถิ่นฐานไปอาศัยมากที่สุดในโลกที่ 1.1 ล้านคน รองลงมาคือยุโรป 800,000 คน และโอเชียเนีย 200,000 คน

     ขณะที่คนจากภูมิภาคเอเชียย้ายออกจากถิ่นฐานตัวเองมากที่สุดถึง 1.1 ล้านคน รองลงมาคือแอฟริกาที่มีคนย้ายถิ่นฐานออก 7 แสนคน และลาตินอเมริกา 4 แสนคน

 

 

จำนวนประชากรไทยอาจลดลงในปี 2050

     ประเทศไทยเป็นประเทศที่จำนวนประชากรหญิงมากกว่าประชากรชายที่ประมาณ 1.7 ล้านคน โดยผู้หญิงไทย 1 คนให้กำเนิดบุตรเฉลี่ยแล้ว 1.46 คน ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าประชากรของไทยจะลดลงจากประมาณ 69 ล้านคน เหลือประมาณ 65 ล้านคนในปี 2050 และประมาณ 47 ล้านคนในปี 2100

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

ที่มา:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising