×

กษัตริย์ซาอุฯ ทรงแต่งตั้งมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ ท่ามกลางความตึงเครียดในอาหรับ

21.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลลาซิซ อัล ซาอุด แห่งซาอุดีอาระเบีย มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ พระราชนัดดาพระชนมายุ 57 พรรษา ออกจากตำแหน่งมกุฎราชกุมาร และทรงแต่งตั้งให้เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน พระราชโอรสพระชนมายุ 31 พรรษา ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารแทน
  • มกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมควบคู่กับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามเดิม ขณะที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ จะทรงถูกถอดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วยเช่นกัน
  • การแต่งตั้งมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่เกิดขึ้นพร้อมกับที่ซาอุดีอาระเบียเพิ่งตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ และประกาศจะต่อสู้กับอิหร่าน โดยเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงมีบทบาททางทหารอย่างมากในภูมิภาค อย่างการเข้าไปสู้รบในเยเมน

     วันนี้ (21 มิถุนายน 2017) กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลลาซิซ อัล ซาอุด (King Salman bin Abdulaziz Al Saud) แห่งซาอุดีอาระเบีย มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ (Mohammed bin Nayef) พระราชนัดดาพระชนมายุ 57 พรรษา ออกจากตำแหน่งมกุฎราชกุมาร และทรงแต่งตั้งให้เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) พระราชโอรสพระชนมายุ 31 พรรษา ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารแทน ดังนั้นเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน จะเป็นพระราชวงศ์ลำดับถัดไปที่สามารถเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากกษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบีย

     การตัดสินพระราชหฤทัยครั้งนี้ของกษัตริย์ซาอุดีอาระเบียถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภูมิภาค เพราะซาอุดีอาระเบียคือมหาอำนาจในกลุ่มประเทศอาหรับและพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ความสัมพันธ์ในกลุ่มประเทศอาหรับเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งสงครามกลางเมือง และการตัดความสัมพันธ์รุนแรงกับกาตาร์ที่สะท้านไปทั้งภูมิภาค

     เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่พระชนมายุน้อยที่สุดในโลก และมีบทบาททางทหารอย่างมากในภูมิภาค การถอดมกุฎราชกุมารพระองค์เดิมและแต่งตั้งมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่จึงเป็นความเคลื่อนไหวของซาอุดีอาระเบียที่ต้องจับตามอง

 

Photo: JONATHAN ERNST/POOL/AFP

 

การถอดมกุฎราชกุมารพระองค์เดิม

     พระราชกฤษฎีกาโปรดเกล้าฯ ให้ถอดเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ มกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชนัดดาพระชนมายุ 57 ปี ของกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลลาซิซ อัล ซาอุด ออกจากตำแหน่ง และทรงแต่งตั้งให้พระราชโอรส หรือเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารแทน สื่อทางการของซาอุดีอาระเบียระบุว่า มกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติม ควบคู่กับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามเดิม ขณะที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ จะทรงถูกถอดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วยเช่นกัน พร้อมกับตำแหน่งมกุฎราชกุมาร

    แม้ว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ จะถูกถอดออกจากตำแหน่งมกุฏราชกุมาร แต่พระองค์ได้เสด็จออกเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ในฐานะมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ หลังจากประกาศพระราชกฤษฎีกาในครั้งนี้ โดยก่อนหน้านี้การเข้ามามีอำนาจผ่านการรับตำแหน่งสำคัญๆ ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ภายใต้การสนับสนุนของพระราชบิดา ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการปูทางให้เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เตรียมขึ้นครองราชบัลลังก์

     นอกจากนี้บทบาทของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ ยังลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งบทบาทการตัดสัมพันธ์กับกาตาร์ และการเดินทางไปพบประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่ไม่ใช่พระองค์ แต่เป็นเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ที่เดินทางไป สิ่งนี้จึงส่อเค้าลางว่าบทบาทของพระองค์ลดลงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยมีบทบาทของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ที่เด่นชัดขึ้นมาแทนที่

 

เจ้าชายในบรรดาเจ้าชาย

     ก่อนหน้านี้เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงเป็นเจ้าชายที่ไม่ถูกจับตามองมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะพระองค์เจริญพระชนม์ท่ามกลางพระเชษฐาต่างมารดาที่ทรงประสบความสำเร็จมากอย่างเช่น นักบินอวกาศ เจ้าชายที่จบด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงปิโตรเลียมฯ

     แต่เจ้าชายทรงเป็นที่รู้จักขึ้นมาหลังจากพระราชบิดาเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 2015 เพราะพระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ดูแลกิจการน้ำมันของรัฐ ทำให้พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจมากกว่าเจ้าชายพระองค์อื่นๆ ทั้งหมด เพราะโดยปกติแล้ว แม้บรรดาเจ้าชายของซาอุดีอาระเบียจะทรงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆ แต่ตำแหน่งสำคัญอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงปิโตรเลียมฯ และกระทรวงการคลังนั้นจะอยู่ในการดูแลของคนนอกราชวงศ์ แต่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงนำบริษัทน้ำมันออกจากความดูแลของกระทรวง และให้อยู่ภายใต้การดูแลของพระองค์แทน นอกจากนี้เจ้าชายยังทรงได้รับมอบหมายให้ดูแลบทบาทของคนในราชวงศ์เพื่อรักษาความเป็นเอกภาพ และทรงใช้อิทธิพลตรงนี้วางบทบาทการเป็นผู้นำในภูมิภาค โดยเฉพาะบทบาทด้านทหารอย่างการเข้าไปสู้รบในเยเมน

     ก่อนหน้านี้กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลลาซิซ อัล ซาอุด แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นมกุฎราชกุมารลำดับที่สอง ก้าวข้ามเจ้าชายหลายสิบพระองค์ที่มีอายุมากกว่า

     กลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ต่างชื่นชมในพระราชอุตสาหะของเจ้าชาย โดยคนรุ่นใหม่มองว่าพระองค์เปรียบเสมือนความหวังใหม่ของซาอุดีอาระเบีย ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามวิพากษ์วิจารณ์ว่า เจ้าชายยังทรงขาดประสบการณ์ ทรงหุนหันพลันแล่น และทรงกระหายอำนาจ โดยพระองค์ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสมาชิกราชวงศ์ด้วยกันว่า การลงทุนมหาศาลกับการสู้รบทางอากาศในเยเมนเพื่อเป็นผู้นำทางทหารในภูมิภาคนั้นคุ้มค่าหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่ซาอุดีอาระเบียกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ อีกทั้งยังถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนวิพากษวิจารณ์อย่างหนัก เพราะการเข้าไปแทรกแซงเยเมนครั้งนี้ได้สังหารประชาชนจำนวนมาก

     ขณะที่อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เคยกล่าวถึงเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ว่า “พระองค์ทรงทำให้พวกเราทึ่งด้วยความรู้และความเฉลียวฉลาดของพระองค์”

 

Photo: FAYEZ NURELDINE/AFP

 

การแต่งตั้งมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ที่มาพร้อมกับความขัดแย้งในภูมิภาค

     ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศมหาอำนาจและทรงอิทธิพลอย่างมากในภูมิภาค ดังที่เห็นมาแล้วจากการที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างตัดความสัมพันธ์กาตาร์อย่างรุนแรงตามซาอุดีอาระเบีย  ดังนั้นการปรับเปลี่ยนลำดับราชวงศ์จึงสำคัญมากกับความสัมพันธ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตั้งเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ที่มีบทบาทด้านทหารในภูมิภาคอย่างสำคัญให้เป็นมกุฎราชกุมาร

     ซาอุดีอาระเบียอยู่ในช่วงเวลาที่พยายามจะรักษาระเบียบทางการเมืองในภูมิภาคให้ดำเนินตามรอย อย่างเช่น ระบอบการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางการเงินกับผู้นำของอียิปต์และราชวงศ์จอร์แดน รวมถึงการค้ำจุนราชวงศ์นิกายซุนนีของบาห์เรน และสกัดกั้นอำนาจของอิหร่าน คู่ศัตรูในภูมิภาค โดยเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงประกาศในโทรทัศน์เมื่อเดือนพฤษภาคมว่า พระองค์จะต่อสู้กับอิหร่าน และกล่าวว่าอิหร่านต้องการควบคุมโลกอิสลาม

     ความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านยังเข้าไปมีอิทธิพลต่อประเทศอื่น เพราะทั้งสองประเทศต่างสนับสนุนคนละฝ่ายในสงครามเยเมนและซีเรีย จึงทำให้เกิดเป็นบรรยากาศสงครามตัวแทนในภูมิภาคที่ชัดเจน โดยซาอุดีอาระเบียมีพันธมิตรสำคัญคือสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ซาอุดีอาระเบียเพิ่งประกาศว่าจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการปราบก่อการร้ายในภูมิภาค ในระหว่างที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินทางมาเยือนซาอุดีอาระเบีย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

     การจัดลำดับการสืบทอดราชบัลลังก์ใหม่ในครั้งนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การสิ้นสุดตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ ในตำแหน่งมกุฎราชกุมาร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ยังเป็นอีกก้าวสำคัญของพี่ใหญ่ในภูมิภาคอย่างซาอุดีอาระเบียที่ต้องจับตามอง

 

อ้างอิง:

     – AFP/ Aljazeera / Reuters

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X