13 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าวถึงการเสียชีวิตของหลิวเสี่ยวโป นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวจีน และเจ้าของรางวัลโนเบล ที่จากไปด้วยวัย 61 ปี จากอวัยวะภายในล้มเหลวระหว่างต่อสู้กับโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย
นั่นเท่ากับว่าโลกเพิ่งสูญเสียผู้รับรางวัลโนเบลสันติภาพคนที่ 2 ที่เสียชีวิตในคุกต่อจาก คาร์ล วอน ออสซิเอ็ตซกี (Carl von Ossietzky) ที่ลาโลกไปเมื่อ 79 ปีที่แล้ว
เพื่อรำลึกถึงการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของนักสู้เพื่อสันติภาพคนนี้ นี่คือเรื่องราวในชีวิตของเขาที่เราอยากให้คุณได้จดจำ
ความเกลียดชังสามารถกัดกร่อนสติปัญญาและความละอายต่อบาปของมนุษย์ได้
ชีวิตในเรือนจำที่ทำเพื่อคนอื่น
หลิวเสี่ยวโปมีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพในประเทศจีน โดยในปี 1989 เขายอมทิ้งตำแหน่งนักวิจัยอาคันตุกะในสหรัฐอเมริกา เพื่อกลับมาเข้าร่วมขบวนการนักศึกษาในการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
ในขณะนั้นนักเคลื่อนไหวรายนี้ได้เข้าเจรจาต่อกองทัพเพื่อเปิดทางให้กลุ่มผู้ประท้วงในจัตุรัสสามารถออกมาจากพื้นที่ได้อย่างปลอดภัยก่อนที่ทหารและรถถังจะเข้ามา พร้อมทั้งเกลี้ยกล่อมให้ฝ่ายนักศึกษายอมเลี่ยงออกมา เพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าด้วย
หลังการกวาดล้างในครั้งนั้น เขาถูกจำคุกนาน 21 เดือน ในขณะที่หนังสือซึ่งนับเป็นผลงานอันทรงคุณค่าของเขาในฐานะนักวิชาการยังถูกสั่งแบนในจีนด้วย
ในปี 1996 หลิวเสี่ยวโปถูกส่งไปเข้าค่ายแรงงานเป็นเวลา 3 ปี เหตุเพียงเพราะเขาร้องขอการอภัยโทษให้แก่นักโทษการเมืองรายอื่นๆ ที่ยังอยู่ในเรือนจำ
นอกจากนี้ หลิวเสี่ยวโปได้มีส่วนร่วมต่อกฎบัตร 08 ที่มีขึ้นเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และยุติการปิดกั้นเสรีภาพ ซึ่งส่งผลให้เขาต้องถูกจับกุมในปี 2008 ก่อนถูกไต่สวนคดีในปีต่อมา ฐานต้องสงสัยยั่วยุให้เกิดการบ่อนทำลายอำนาจรัฐ โดยได้รับโทษจำคุก 11 ปี
คนจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
ในการไต่สวน เขาได้เขียนถ้อยแถลงไว้แม้จะไม่ได้อ่านมันออกมา ความว่า “ความเกลียดชังสามารถกัดกร่อนสติปัญญาและความละอายต่อบาปของมนุษย์ได้ ความคิดอันเป็นอริย่อมเป็นพิษร้ายต่อจิตวิญญาณของชาติ และความเกลียดชังย่อมเติมเชื้อเพลิงต่อการมีชีวิตอันโหดร้ายและการตายอย่างทุรนทุราย ทำลายความอดทนอดกลั้นและมนุษยธรรมในสังคม และกีดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศสู่เสรีภาพและประชาธิปไตย”
เพียงหนึ่งปีให้หลังการถูกจำคุก หลิวเสี่ยวโปถูกรับเลือกให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ สำหรับความพยายามเชิงอหิงสาอันยาวนานเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในประเทศจีน แต่ด้วยการควบคุมตัว งานพิธีรับรางวัลจึงมีเพียงเก้าอี้ว่างเปล่า เพราะเขาไม่สามารถเดินทางไปรับรางวัลได้ด้วยตนเอง
หลิวเซียะ ภรรยาของเขากล่าวว่า สามีต้องการอุทิศรางวัลโนเบลให้แก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นองเลือด 4 มิถุนายน 1989 ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ขณะที่เธอต้องถูกทางการควบคุมตัวไว้ให้อยู่แต่ในบ้านมาจนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่สามีของเธอได้รับรางวัล อันมีส่วนทำให้เธอประสบภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง
“ใช้ชีวิตต่อไปให้ดีนะ” คำสั่งเสียสุดท้าย
เมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา ทางการจีนประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่า เจ้าของรางวัลโนเบลรายนี้กำลังป่วยโรคมะเร็งตับ และอนุญาตทัณฑ์บนให้เข้ารับการรักษาตัว แต่ปฏิเสธคำขอจากนายแพทย์ชาวอเมริกันและเยอรมันที่เห็นว่า เขาสามารถเดินทางเข้ารับการรักษาในต่างประเทศได้
จนช่วงบ่ายวานนี้ มีเพียงถ้อยแถลงจากนายแพทย์เจ้าของไข้ที่ระบุว่า หลิวเสี่ยวโปจากไปอย่างสงบท่ามกลางภรรยาและญาติที่อยู่ด้วยในวาระสุดท้าย พร้อมกับการกล่าวสั่งเสียต่อภรรยาของเขาสั้นๆ ว่า “ใช้ชีวิตต่อไปให้ดีนะ”
แรงบันดาลใจและความหมายที่ยังคงอยู่
หลังการเสียชีวิตของเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพคนแรกของจีน สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ ต่างพากันเรียกร้องให้รัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ปล่อยตัวหลิวเซียะ ภรรยาของเขาให้เป็นอิสระ และยังร้องขอให้เธอสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ หลังถูกทางการสั่งกักบริเวณให้อยู่แต่ภายในบ้านมาตั้งแต่ปี 2010
ท่ามกลางการรายงานข่าวทั่วโลก ทางการจีนไม่ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการถึงการเสียชีวิตของหลิวเสี่ยวโปแต่อย่างใด
ขณะที่สำนักข่าวซีซีทีวีของรัฐบาล แม้จะออกแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็ระบุว่า หลิวเสี่ยวโปถูกจำคุกฐานมีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมที่มีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาล
หลังหลิวเสี่ยวโปจากไป หลิวเซียะได้กล่าวถึงความพยายามของสามีตลอด 20 ปีที่ผ่านมาว่า
“แม้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ได้ แต่เขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมาย เขามีเพื่อนฝูงเยอะขึ้นเรื่อยๆ มีคนที่ตั้งเป้าหมายเดียวกันมากขึ้น และปราศจากความเกรงกลัวมากขึ้น
“ฉันเชื่อว่าความพยายามและความเสียสละของเขามีความหมาย”
Photo: AFP