×

สองผู้ท้าชิงประธานาธิบดีอินเดียมาจาก ‘จัณฑาล’ สะท้อนอะไร?

03.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การลงมติเลือกประธานาธิบดีอินเดียที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ คู่ท้าชิงตำแหน่งคือ ราม นาธ โกวินด์ จากพรรคภารติยะ ชันนะตะ และ มีรา กุมาร จากพรรคคองเกรสแห่งอินเดีย ล้วนเป็นบุคคลที่มาจากกลุ่มฑลิต (Dalit) หรือจัณฑาล
  • สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการเลือกตั้งประมุขแห่งอินเดียครั้งนี้คือ จัณฑาลอย่างนายโกวินด์และนางมีราต่างเป็นผู้สมัครชั้นดี สะท้อนว่ารัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่ง ดร. อัมเบดการ์ จัณฑาลผู้ร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศได้ปลูกหลักความเสมอภาคของมนุษย์เอาไว้อย่างยาวนาน

     ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย แม้จะเป็นเพียงตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตำแหน่งดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของสาธารณชนในฐานะประมุขของประเทศผู้ใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ผ่านการปฏิบัติงานของรัฐบาล รัฐสภา และศาลยุติธรรม หากคราใดบ้านเมืองเกิดวิกฤต ประธานาธิบดีสามารถเรียกคืนอำนาจสูงสุดดังกล่าวกลับมาได้ทุกเมื่อ

     นอกจากนี้ตำแหน่งประธานาธิบดียังถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียมของมนุษย์ ที่ผู้นำของอินเดียในอดีตได้ถกเถียงข้อดี-ข้อเสีย ประยุกต์และปรับเปลี่ยน จนนำมาสู่การวางโครงสร้างของประเทศในรูปแบบสาธารณรัฐภายหลังได้รับเอกราช

     และการเป็นสาธารณรัฐนี้เอง เปิดโอกาสให้อินเดียได้เลือกประมุขสูงสุดผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่เกิดภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ ย่อมมีสิทธิก้าวขึ้นมาเป็นพลเมืองหมายเลขหนี่งของรัฐได้อย่างทัดเทียมเสมอหน้า

     การได้มาซึ่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินเดียนั้นมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของประชาชน ผ่านการลงมติร่วมกันของผู้แทนราษฎร ทั้งในระดับชาติและระดับรัฐ อันประกอบไปด้วย สมาชิกรัฐสภาแห่งอินเดีย สมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐท้องถิ่น (29 รัฐ) สมาชิกสภานิติบัญญัติของเขตการปกครองพิเศษ และสมาชิกสภานิติบัญญัติของนครหลวงเดลี มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดยประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระในปี 2017 นี้ คือ ฯพณฯ ประนาบ มุขเคอร์จี (Pranab Mukherjee)

จัณฑาลอย่างนายโกวินด์และนางมีราต่างเป็นผู้สมัครชั้นดีที่มีทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ

ความสามารถและหน้าที่การงานที่เหมาะสม สะท้อนว่ารัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินเดีย

ซึ่ง ดร. อัมเบดการ์ จัณฑาลผู้ร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศได้ปลูกหลักความเสมอภาคของมนุษย์เอาไว้อย่างยาวนาน

 

     น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ในการลงมติเลือกประธานาธิบดีอินเดียที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม คู่ท้าชิงตำแหน่งดังกล่าวคือ ราม นาธ โกวินด์ (Ram Nath Kovind) จากพรรคภารติยะ ชันนะตะ (BJP) และ มีรา กุมาร (Meira Kumar) จากพรรคคองเกรสแห่งอินเดีย (Indian National Congress) ซึ่งทั้งสองล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มาจากกลุ่มฑลิต (Dalit) หรือจัณฑาล ซึ่งในอดีตถือเป็นชนชั้นล่างสุดในโครงสร้างทางสังคมของอินเดีย (อนึ่ง ผู้เขียนเลือกใช้คำว่าจัณฑาลเป็นส่วนใหญ่ในบทความนี้ในการสื่อถึงภูมิหลังของว่าที่ประธานาธิบดี เนื่องจากเป็นคำที่คนไทยรับรู้โดยทั่วไป และผู้เขียนขอใช้คำว่า ฑลิต (Dalit) ซึ่งแปลว่าผู้ถูกกดขี่หรือผู้ถูกละเมิด ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นคำที่นิยมใช้เรียกกลุ่มวรรณะดังกล่าวในปัจจุบัน)

     ในส่วนของพรรครัฐบาลอย่างพรรคภารติยะ ชันนะตะ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ได้เลือกนายราม นาธ โกวินด์ อดีตนักกฎหมาย อดีตเลขานุการนายกรัฐมนตรีอินเดีย อดีตประธานกรรมการธิการด้านวรรณะล้าหลังและชนเผ่าของพรรค อดีตสมาชิกรัฐสภา และอดีตผู้ว่าการรัฐพิหาร ให้ก้าวขึ้นมาเป็นประมุขของประเทศ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับคนยากจน วรรณะที่ถูกละเมิด และคนชายขอบในสังคมอินเดีย

     อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการเสนอชื่อดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากพรรคภารติยะ ชันนะตะ ถูกจับตามองว่าเป็นพรรคชาตินิยมฮินดูและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงนโยบายที่มีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มชนชั้นและวรรณะสูง รวมถึงกีดกันชนกลุ่มน้อยต่างศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่นานมานี้ ได้เลือกนักบวชโยคีให้ก้าวขึ้นมาเป็นมุขมนตรี (Chief Minister) แห่งรัฐอุตตรประเทศ กุมอำนาจบริหารในรัฐที่มีประชากรมากที่สุดในอินเดีย ซึ่งอาจทำให้ผู้ไม่เห็นด้วยหันไปสนับสนุนพรรคการเมืองอื่นแทน ด้วยเหตุนี้เพื่อดึงคะแนนเสียงจากวรรณะล่างกลับคืนมา การเสนอชื่อว่าที่ประธานาธิบดีที่มาจากจัณฑาล อาจช่วยให้พรรครัฐบาลได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น จึงไม่แปลกนักที่ชื่อโกวินด์จะปรากฏในฐานะผู้แทนของฝ่ายรัฐบาลในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในครั้งนี้

     ในขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านอย่างพรรคคองเกรสแห่งอินเดีย พรรคการเมืองเก่าแก่และเคยกุมชัยในการเลือกตั้งของอินเดียติดต่อกันอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ได้มีมติส่งนางมีรา กุมาร อดีตนักการทูต อดีตโฆษกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตสมาชิกโลกสภาหลายสมัย ลงสนามแข่งขันในครั้งนี้

     นอกจากความสามารถที่เป็นที่ยอมรับแล้ว เป็นที่ทราบกันว่าภูมิหลังของนางมีรา ในฐานะทายาทของบิดาซึ่งเป็นผู้นำฑลิต แต่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นรองนายกรัฐมนตรี และมารดาที่เป็นหนี่งในแนวหน้าของนักเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม ยังสอดคล้องกับมายาคติว่าด้วยความเป็นพรรคคองเกรส ที่มักจะหยิบยกมรดกทางประวัติศาสตร์ของตนในฐานะขบวนการทางสังคมที่ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องเอกราชให้แก่อินเดีย และขบวนการดังกล่าวก็ได้กลายมาเป็นพรรคการเมืองที่สำคัญจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้การที่พรรคคองเกรสจะส่งนางมีรา ผู้สมัคร ซึ่งเป็นทั้ง ‘สตรี’ และ ‘จัณฑาล’ นั้นอาจเป็นยุทธศาสตร์ในการนำ เพศ วรรณะ และการเป็นชายขอบในสังคมอินเดีย เพื่อเป็นจุดขายสำหรับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่นั่นเอง   

     อนึ่ง เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าจุดดึงดูดของทั้งสองคือ การเป็นผู้แทนของชนชั้นล่าง ซึ่งต่างฝ่ายต่างงัดผลงานและความสามารถออกมาประชัน

     ในขณะที่สื่อของฝั่งพรรครัฐบาลอย่างพรรคภารติยะ ชันนะตะ ได้สร้างภาพลักษณ์ของโกวินด์ในฐานะผู้ให้ความสำคัญต่อโครงสร้างชั้นพื้นฐานและการศึกษาสำหรับชนบท รวมถึงเน้นบทบาทของเขาในการเป็นกรรมาธิการของรัฐสภาในสาขาสวัสดิการของชนชั้นล่าง ความยุติธรรมทางสังคม และการส่งเสริมคุณภาพชีวิต

     แต่ผู้ท้าชิงจากพรรคคองเกรสอย่างนางมีรา ได้เสนอทัศนะอย่างน่าสนใจว่าให้ยุติเรื่องวรรณะ พร้อมทั้งเรียกร้องให้สังคมอินเดียก้าวไปข้างหน้าเสียที เธอกล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานาธิบดีมักมาจากชนชั้นสูง ซึ่งสาธารณชนต่างไม่พูดถึงวรรณะของพวกเขา แต่กลับถกเถียงว่าด้วยคุณสมบัติและความเหมาะสม แต่เหตุใดเมื่อฑลิตกลายเป็นผู้แข่งขัน สังคมกลับละเลยเรื่องความสามารถ โดยพูดถึงแต่ประเด็นเรื่องวรรณะแทน

     แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ใช้ประเด็นวรรณะเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง โดยชูว่าที่ประธานาธิบดีจากชุมชนฑลิต แต่วิธีการดังกล่าวอาจเป็นเพียงหลุมพรางทางการเมืองเพื่อนำไปสู่ชัยชนะเพียงเท่านั้น อีกทั้งคู่ท้าชิงทั้งสองมิใช่เรื่องแปลกใหม่ในประเทศแห่งนี้แต่อย่างใด เพราะในอดีตอินเดียก็เคยมีจัณฑาลอย่าง ฯพณฯ เค อาร์ นารายานัน (K R Narayanan, 1997-2002) เป็นประธานาธิบดีลำดับที่ 10 ของประเทศมาแล้ว

     อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการเลือกตั้งประมุขแห่งอินเดียในครั้งนี้ คือจัณฑาลอย่างนายโกวินด์และนางมีราต่างเป็นผู้สมัครชั้นดีที่มีทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ ความสามารถและหน้าที่การงานที่เหมาะสม สะท้อนว่ารัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินเดียซึ่ง ดร. อัมเบดการ์ จัณฑาลผู้ร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศได้ปลูกหลักความเสมอภาคของมนุษย์เอาไว้อย่างยาวนาน และระหว่างทางที่ผ่านมา กฎหมายดังกล่าวได้เอื้อให้จัณฑาล ชนเผ่าพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา และกลุ่มวรรณะล้าหลัง สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาและการทำงานผ่านนโยบายการจัดสรรโควต้า (Reservation Quota) แก่ทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้กับคนที่ด้อยโอกาส โดยเฉพาะในสังคมอินเดียที่ความเหลื่อมล้ำปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน

     กว่า 70 ปีภายหลังได้รับเอกราช และหนึ่งรัฐธรรมนูญที่ใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน บัดนี้ผลแห่งความยุติธรรมทางสังคมได้ออกดอกงอกเงยผ่านระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของฑลิต จัณฑาล และพลเมืองวรรณะล่าง แม้ดอกผลจะยังไม่เบ่งบานไปเสียทั้งหมด แต่ตราบใดที่กฎหมายยังคงเปิดพื้นที่ให้สร้างความทัดเทียม ความหวังและแสงสว่างแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ในอินเดียก็ยังคงมีอยู่  

     และที่สำคัญไม่ว่าผลการลงมติจะเป็นอย่างไรนั้น เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า 17 กรกฎาคมนี้ อินเดียจะมีจัณฑาลเป็นประธานาธิบดีอย่างแน่นอน

 

Photo: SAM PANTHAKY/AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X