×

‘มาครง’ คะแนนตก ปมหั่นงบกองทัพ คนไม่ชอบท่าทีเผด็จการ

25.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • คะแนนความพึงพอใจต่อประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ร่วงลงถึง 10 เปอร์เซ็นต์เพียงข้ามเดือน
  • ฝ่ายกองทัพฝรั่งเศสแบกรับน้ำหนักมากที่สุดในการเฉือนงบถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินกว่า 850 ล้านยูโร (ประมาณ 33,097 ล้านบาท)
  • เหตุที่คนแสดงความไม่พอใจต่อมาครงมากขึ้น มาจากท่าทีแบบอำนาจนิยม และความพยายามควบคุมภาพลักษณ์ของตัวเองเป็นอย่างมาก

     หนังสือพิมพ์จีดีดีในฝรั่งเศสเผยว่า ผลสำรวจคะแนนความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อประธานาธิบดีคนใหม่ลดลงหลังเข้ารับตำแหน่งได้เพียงไม่กี่เดือน เนื่องมาจากช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเดินหน้าหั่นงบประมาณทหารจนทำให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดลาออก

     คะแนนความพึงพอใจต่อประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ร่วงลงถึง 10 เปอร์เซ็นต์เพียงข้ามเดือน หลังจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เขาครองใจผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ถึง 64 เปอร์เซ็นต์ โดยมีผู้เข้าร่วมการสำรวจในครั้งนี้ 1,947 คน ช่วงระหว่างวันที่ 17-22 กรกฎาคมที่ผ่านมา อันเป็นเวลาเดียวกันกับที่ฝ่ายกองทัพและประมุขฝรั่งเศสโต้แย้งปมงบประมาณกันอยู่

 

Photo: ETIENNE LAURENT/AFP

 

     การตัดงบประมาณถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเริ่มเบือนหน้าหนีประธานาธิบดีหนุ่มรายนี้มากขึ้น แต่เห็นจะไม่ใช่เพียงกรณีปัญหากับกองทัพเพียงอย่างเดียว เพราะงบที่หั่นออกยังรวมถึงเงินช่วยเหลือค่าที่พัก (Housing Benefits) ที่กระทบต่อนักเรียนราว 800,000 คนทั่วประเทศ และงบประมาณสิทธิสตรีอีกด้วย

     ประธานาธิบดีฝรั่งเศสวัย 39 ปี ตั้งใจจะตัดค่าใช้จ่ายสาธารณะเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจและโครงสร้าง รวมถึงการผ่อนปรนกฎหมายแรงงาน พร้อมทั้งฟื้นฟูระบบเงินบำนาญและผู้ว่างงาน

     ถึงอย่างนั้น ฝ่ายกองทัพฝรั่งเศสกลับต้องแบกรับน้ำหนักมากที่สุดในการเฉือนงบถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินกว่า 850 ล้านยูโร (ประมาณ 33,097 ล้านบาท) จนเหลือประมาณ 32,000 ล้านยูโร (1.24 ล้านล้านบาท) อันเป็นส่วนหนึ่งตามแผนของรัฐบาลที่ต้องการมีเงินสำรอง 60,000 ล้านยูโร (2.3 ล้านล้านบาท) สำหรับระยะเวลา 5 ปี และลดการขาดดุลในประเทศให้ต่ำกว่าที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ 3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีด้วย

     คำสั่งสวนทางกระแสงบประมาณกลาโหมที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พลเอก ปิแอร์ เดอ วิลลิเยร์ (Pierre de Villiers) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพฝรั่งเศสไม่พอใจ และตัดสินใจลาออก เพราะมองว่าการตัดงบครั้งนี้สวนทางกับความเป็นจริงของการใช้งานกองทัพ โดยกองทัพฝรั่งเศสถือเป็นกองทัพหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และที่ผ่านมามีการส่งกำลังพลเพื่อปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายในประเทศอย่างประเทศมาลีและอิรัก รวมถึงภารกิจปกป้องภัยภายในประเทศด้วย

     อย่างไรก็ตาม มาครงเคยให้คำมั่นไว้ว่า จะเพิ่มงบประมาณกลาโหมให้เป็น 2 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภายในปี 2025 หรือคิดเป็นงบประมาณ 50,000 ล้านยูโร (ประมาณ 1.94 ล้านล้านบาท) ตามแนวทางขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ด้วย

 

Photo: Anne-Christine/AFP

 

     เหตุที่คนแสดงความไม่พอใจต่อมาครงมากขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจระบุว่า มาจากท่าทีแบบอำนาจนิยม และความพยายามควบคุมภาพลักษณ์ของตัวเองเป็นอย่างมาก โดยที่ประธานาธิบดีหนุ่มออกสื่อและให้สัมภาษณ์น้อยครั้งมากในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ มีความกังวลถึงท่าทีของรัฐบาลที่ไม่แน่ชัดว่าการปฏิรูปภาษีและการยกเครื่องกฎหมายแรงงานจะเป็นไปในทิศทางใด

     การตัดงบประมาณกลาโหมในฝรั่งเศสมีแนวทางสวนกระแสความมั่นคงของโลกฝ่ายซ้ายที่เติบโตขึ้นอย่างมากจากภัยก่อการร้าย ในขณะที่หลายประเทศเพิ่มงบทางทหารขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     สำหรับประเทศไทย การลดงบประมาณครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 2553 หลังรัฐประหารปี 2549 ไปแล้ว 4 ปี ที่ลดงบลงราว 15,000 ล้านบาทจากปีก่อนหน้า นอกเหนือจากที่กล่าวถึง งบกระทรวงกลาโหมไม่เคยร่วงแม้แต่น้อย แต่กลับเพิ่มขึ้นเกือบ 2.59 เท่า

     งบประมาณปี 2561 เพิ่มให้กระทรวงกลาโหมอีก 8.8 พันล้านบาท นับเป็นกระทรวงที่ได้งบเพิ่มมากขึ้นอันดับที่ 5 และครองตำแหน่งงบประมาณมากที่สุด ไล่ตามหลังกระทรวงศึกษาธิการ งบกลาง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง

     ตามเหตุผลที่รัฐบาลระบุคือ ประเทศไทยเผชิญหน้ากับปัญหาความมั่นคงจากปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ และมีความจำเป็นในการเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ

     ในช่วงที่ผ่านมา กองทัพไทยบริหารงบประมาณชิ้นใหญ่เพื่อยกระดับยุทโธปกรณ์ทางการทหารในประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเรือดำน้ำ รถถัง เฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบิน

     ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหากรัฐบาลไทยตัดงบกองทัพลงบ้าง คะแนนนิยมจะลดลงเหมือนกับฝรั่งเศสหรือไม่

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising