×

รู้แล้วว่าทำไมน้องหมาถึงน่ารักกับมนุษย์! คำตอบคือ ‘ความเป็นมิตร’ ที่ฝังลึกในพันธุกรรม

22.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • สุนัขมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ลักษณะคล้ายกลุ่มอาการวิลเลียมส์ (Williams – Beuren Syndrome) ที่ปรากฏในมนุษย์
  • การเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรมที่เชื่อมโยงต่อพฤติกรรมไฮเปอร์ของสุนัข มีส่วนสำคัญที่ทำให้เจ้าสี่ขาเชื่องต่างไปจากหมาป่าด้วย

     เวลาที่เจ้าของอย่างเราๆ เดินทางถึงบ้าน สุนัขที่รอคอยการกลับมาก็มักจะพุ่งเข้ามาหาพร้อมส่ายหาง แสดงถึงความดีใจ จนบางทีอาจพานสงสัยว่า ทำไมเจ้าสี่ขาเหล่านี้ถึงเป็นมิตรและดูใส่ใจเราเสียเหลือเกิน

     บทความบนวารสาร Science Advances เพิ่งไขปริศนานี้ โดยชี้ว่า พฤติกรรมสุดน่ารักของน้องหมาเป็นสิ่งที่ฝังลึกถึงระดับพันธุกรรม

     งานวิจัยระบุถึงสาเหตุถึงความเป็นมิตรนี้ว่า สุนัขกลุ่มตัวอย่างมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่มีลักษณะคล้ายกลุ่มอาการวิลเลียมส์ (Williams – Beuren Syndrome) ที่ปรากฏในมนุษย์ด้วย

 

 

     ผู้มีอาการวิลเลียมส์มักแสดงพฤติกรรมอยู่นิ่งไม่ค่อยได้ หรือที่เราเรียกกันเล่นๆ ว่าไฮปอร์ ซ้ำยังมีความเป็นมิตรต่อผู้อื่นมากเป็นพิเศษ ชอบเข้าสังคม มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ชอบมองตาคนอื่นเป็นเวลานานๆ นอกจากนี้ มักแสดงอาการวิตกกังวล และอาจมีความบกพร่องทางสติปัญญาด้วย

     นักวิจัยได้นำเอาสุนัขแสนเชื่อง 18 ตัวมาร่วมทดสอบกับหมาป่าสีเงิน 10 ตัว เพื่อศึกษาวิธีการเข้าสังคมกับมนุษย์ และวิธีการแก้ปัญหาด้วยการคาบกล่องออกเพื่อแลกกับไส้กรอก

     หมาป่าส่วนใหญ่สามารถแก้ปัญหาจนได้ไส้กรอกไปกินเล่นอย่างง่ายดายโดยไม่แยแสต่อสายตาคนที่อยู่ข้างเคียง ขณะที่สหายสี่ขาของเรามักจะหันมาจ้องนักวิจัยที่อยู่ใกล้ๆ แทน

     กระบวนการวิจัยยังรวมถึงการนำตัวอย่างเลือดมาตรวจสอบลักษณะทางพันธุกรรมที่มีผลต่อบุคลิกของเจ้าหมาด้วย

     คณะวิจัยพบว่า สัตว์ชนิดนี้มีการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรมที่เชื่อมโยงต่อพฤติกรรมไฮเปอร์ดังที่ผู้มีอาการวิลเลียมส์แสดงออก โดยการเปลี่ยนแปลงที่ยีน GTF2I และ GTF2IRD1 ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สุนัขเชื่องต่างไปจากหมาป่า

     หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยอย่างบริดเจตต์ วอนโฮลด์ต (Bridgett vonHoldt) นักพันธุศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน (Princeton University) กล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นการค้นพบการกลายพันธ์ุที่ควบคุมการเข้าสังคม แต่ก็ยังมียีนอีกมากมายที่อาจส่งผลต่อมารยาทของสุนัข พร้อมแสดงความคิดเห็นอีกว่า ยีนไม่ใช่ตัวกำหนดพฤติกรรมสุนัขได้ทั้งหมด เพราะการเลี้ยงดูสุนัขเองก็มีความสำคัญด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X