×

กรณีศึกษาของข่าว ‘เปรี้ยว’ เหตุใดผู้ต้องหาถึงกลายเป็นเน็ตไอดอล?

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ประเด็นข่าวของเปรี้ยวถูกนำเสนอออกมาในหลายแง่มุม ทั้งด้านอาชญากร คดีฆ่าหั่นศพและการนำเสนอเปรี้ยวออกมาในด้านบันเทิง ตลกโปกฮา ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมพอสมควร
  • อธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง ตั้งข้อสังเกตว่าการที่สื่อเกาะกระแสนำเสนอข่าวเปรี้ยวออกมามากมายอาจจะเป็นเพราะผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้หญิงที่หน้าตาดี อย่างไรก็ตาม สื่อก็ควรนำจะเสนอข่าวที่มีสาระ มีความลึกและรอบด้านมากกว่าแค่การเล่นประเด็นของผู้ต้องหาคดีอาชญากรรมคนหนึ่ง

     นาทีนี้คงไม่มีข่าวใดแย่งพื้นที่สื่อไปได้มากกว่าข่าวการจับกุมตัว ‘เปรี้ยว’ หรือนางสาวปรียานุช โนนวังชัย ผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรม แอ๋ม-วริศรา กลิ่นจุ้ย อีกแล้ว

     เพราะหลังจากที่ข่าวการจับกุมตัวของปรียานุชพร้อมผู้ต้องหาอีก 2 คน เอิร์น-กวิตา ราชดา และแจ้-อภิวันท์ สัตยบัณฑิต ถูกเผยแพร่ออกไปเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นคือการนำเสนอข่าวของปรียานุชในหลายแง่มุมอย่างต่อเนื่อง

     ทั้งการไลฟ์ถ่ายทอดสดการจับกุมตัว การเผยแพร่ภาพถ่าย ณ โรงพักในอิริยาบถต่างๆ ทั้งนั่ง นอน กินอาหาร ไม่เว้นแม้แต่ภาพการบำรุงผิวหน้า! หรือหนักสุดถึงขั้นเลยเถิดคือการนำข้าวของเครื่องใช้ของเธออย่างถุงนอนหลากสีมาต่อยอดทำการตลาดขายของจนกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงความเหมาะสมอยู่พอสมควร

     ฝ่ายหนึ่งอาจจะไม่ยินดียินร้ายสักเท่าไรที่คนในสังคมบางส่วนให้พื้นที่กับข่าวเชิงบวกของ ‘ผู้ต้องหา’ มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีนี้ที่เป็นถึงผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์ แต่กลับถูกนำเสนอเรื่องราวในหลากประเด็น (รวมถึงด้านบันเทิง เช่น รูปถ่ายมาสก์หน้าขาว ถุงนอนหลากสี เป็นต้น) โดยเกรงว่าจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อสังคม และสร้างความสะเทือนใจให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต

     ขณะที่อีกฝ่ายอาจจะมองว่าเป็นการรับเนื้อหาที่ต่างออกไปจากเดิมหรือเเชร์ประเด็นที่เกาะกระแสสังคมมากกว่า

     จนนำไปสู่การตั้งคำถามที่ว่า ทำไมข่าวอาชญากรรมชิ้นหนึ่งถึงมีประเด็นแตกย่อยออกมาจนกลายเป็นที่ถกเถียงได้ถึงเพียงนี้?

 

จากผู้ต้องหาสู่เน็ตไอดอล?

     ในแง่หนึ่งเราอาจจะมองได้ว่าการที่ประเด็นของเปรี้ยว ปรียานุช อยู่ในความสนใจของคนในสังคมเป็นพิเศษ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีองค์ประกอบของคุณค่าความเป็นข่าวอยู่พอสมควร ทั้งลักษณะของการก่อคดีอาชญากรรมที่โหดร้าย, มีผู้ต้องหาเป็นหญิงสาวหน้าตาดี, กรณีการหลบหนีลอยนวลข้ามประเทศที่ยาวนาน ซ้ำร้ายยังมีประเด็นเรื่องยาเสพติดและผู้มีอิทธิพลในท้องที่เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่กลายๆ

     แต่ในมุมมองของคนทำงานสื่อที่อยู่ในวงการมายาวนานจะคิดเช่นไร? เราติดต่อไปยัง อธึกกิต แสวงสุข หรือคอลัมนิสต์อิสระ เจ้าของนามปากกา ‘ใบตองแห้ง’ เพื่อสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อกรณีดังกล่าว

     อธึกกิตบอกว่า “ผมดูภาพรวมมันก็ไม่ใช่การเชิดชูนะ แต่มันคงเป็นการพลิกมุมเล่าเรื่องของผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมว่าเขามีนิสัยเป็นอย่างไร สวย หุ่นดี ซึ่งผมก็ไม่ได้สนใจติดตามข่าวเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นเหมือนกัน ตอนแรกก็เข้าใจว่าเขาเป็นผู้ต้องหาคดีฆ่าหั่นศพ ซึ่งก็ถือว่าเป็นคดีที่โหดร้ายพอสมควร แต่ก็ไม่น่าจะมีคนสนใจได้ขนาดนี้ เพราะไม่ได้เป็นลูกของคนมีอิทธิพล หรือลูกคนใหญ่คนโต กลายเป็นว่าสิ่งที่ทำให้สังคมสนใจมากเป็นเพราะผู้ต้องหามีรูปลักษณ์ที่สวยอย่างนั้นหรือ

     “ซึ่งผมก็ไม่ได้มองว่าสังคมจะยกย่องเขานะ เป็นแค่การฮือฮากันมากกว่า สื่อกระแสหลักเองก็รับลูกเล่นข่าวกันหมดจนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตลกว่า ข่าวนี้กลายเป็นพาดหัวใหญ่ติดต่อกันได้ถึง 4-5 วัน เลยอาจจะล้อได้ว่าเมื่อลุงตู่ปิดปากสื่อ สื่อก็เลยไปติดตามข่าวของเปรี้ยวแทน (หัวเราะ) จนกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่โตกว่าประเด็นการเมือง สังคม ปัญหาชีวิต สำหรับผู้ถูกกล่าวหาคดีฆ่าหั่นศพที่หลบหนีไปอยู่เมียนมา ผมมองว่ามันไม่น่าจะเป็นประเด็นใหญ่โตที่เล่นติดต่อกันหลายวันได้ขนาดนี้ ช่วงหลังๆ เราจะได้เห็นข่าวแนวนี้ที่อาจจะไม่ได้มีสาระมากปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ มันอาจจะสะท้อนให้เห็นว่ากระแสความสนใจของคนในสังคมส่วนหนึ่งถูกปิดกั้นจากประเด็นการเมือง หรือเพราะไม่มีพื้นที่วิจารณ์หรือด่านักการเมืองก็ไม่รู้ (หัวเราะ) เลยต้องไปเล่นกับกระแสโซเชียลแทน”

 

เสพสื่ออย่างไรในยุคที่โซเชียลมีเดียชี้นำประเด็น

     เมื่อสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในสังคมมากถึงเพียงนี้ อธึกกิตจึงมองว่าสื่อต่างหากที่ควรจะเป็นผู้ชี้นำประเด็นและผลิตข่าวที่มีสาระ ไม่ใช่กระแสโซเชียลมีเดีย

     “ผมมองว่าทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์ควรจะนำเสนอเรื่องที่มีสาระมากกว่านี้ ไม่ใช่แห่ไปตามเรื่องเปรี้ยวกัน ปัญหาของสื่อในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคือมักจะเล่นประเด็นจากโซเชียลมีเดียเป็นหลัก จนสุดท้ายกลายเป็นสื่อที่ไม่ได้ทำข่าว แต่เอาข่าวมาจากโซเชียลเลย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง สื่อควรจะมีความรอบด้านในแง่การทำข่าวสืบสวนสอบสวน มีเบื้องหลังปูมข่าว และมีสาระให้คนอ่านมากกว่านี้”
     ขณะที่ ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นต่อเรื่องที่เกิดขึ้นว่า “ในมุมนี้ผมมองว่าสื่อสามารถนำเสนอเรื่องนี้ได้ (การนำเสนอเรื่องของเปรี้ยว) ซึ่งผมอาจจะบอกไม่ได้ว่ามันถูกหรือผิด ขณะที่ฝั่งคนเสพสื่อเอง เรื่องพวกนี้ส่วนหนึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐาน ประสบการณ์ และสังคมของแต่ละบุคคล ซึ่งการจะไปแนะนำว่าเสพสื่ออะไรดีไม่ดีคงทำไม่ได้หรอก แต่วิธีการเสพสื่อที่ดีที่สุดก็คือดูที่ข้อเท็จจริงแล้วค่อยๆ พินิจพิเคราะห์”

     ในขณะเดียวกัน เมื่อลองสำรวจเทรนด์การใช้คำค้นหาบนเว็บไซต์กูเกิลเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมายังพบว่า ข่าวของเปรี้ยวมียอดการค้นหาเป็นลำดับต้นๆ ในหมวด 5 อันดับสูงสุดถึง 4 ข่าว

     ด้าน ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นักวิชาการด้านสื่อสังคม และคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้โพสต์สเตตัสแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า

     “ทำไมข่าว ‘เปรี้ยว’ สื่อถึงให้ความสนใจกันทุกแพลตฟอร์ม คำตอบตรงตัวที่สุดคือ เพราะประชาชนสนใจนั่นเอง อันมีนัยแฝงว่ามันจะนำมาซึ่งรายได้ของสปอนเซอร์ เออ… แล้วทำไมประชาชนถึงสนใจคดีนี้มากกว่าคดีอื่นๆ
     “ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคดีนี้มีความโหดเหี้ยม ฆ่าหั่นศพ อีกทั้งยังเป็นการกระทำของหญิงสาวหน้าตาดี ซึ่งดูย้อนแย้งกับการกระทำ แถมการหลบหนียังข้ามไปประเทศเพื่อนบ้าน มีเรื่องขบวนการค้ายาเสพติดเป็นกระแสข่าวมาพัวพันด้วย ยิ่งทำให้ผู้เสพข่าวนี้เหมือนดูละครซีรีส์ เดาตอนจบไม่ออกว่าจะจับได้หรือไม่
     “ไม่แปลกใจครับ พอสาวเปรี้ยวกับเพื่อนมามอบตัวมันจึงเหมือนดูละครตอนจบ หลังจากนี้คนเสพข่าวคงตามดูแบบชมเบื้องหลังละครดังแล้วล่ะครับ เหอะๆ บทเรียนจากเรื่องนี้ หลายคนมุ่งเป้าว่าสื่อทำไมนำเสนอแต่คดีนี้ ไม่เปิดพื้นที่ให้ข่าวน่าสนใจอื่นๆ เลย ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องครับ
     “แต่ขณะเดียวกัน คนเสพสื่อก็ต้องหันมาทบทวนพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของเราเองเช่นกัน ถ้าไม่อยากให้สื่อหรือเฟซบุ๊กเพจต่างๆ นำเสนอข่าวทำนองนี้ นอกจากวิจารณ์แล้ว ต้องงดบริโภคด้วยครับ”

     ซึ่งการสรุปว่าสื่อให้พื้นที่ข่าวกับกรณีของเปรี้ยวมากจนเกินไป และกล่าวโทษการทำหน้าที่ของสื่อแต่เพียงลำพังอาจทำได้ลำบาก เพราะถ้าประชาชนไม่สนใจ สื่อก็คงไม่นำเสนอ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดของคนเสพสื่ออย่างเราคือการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนและมีสติก่อนที่จะเลือกเชื่อ แชร์ และตัดสิน

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising