เมื่อพูดถึงการเรียกร้องสิทธิของ LGBT หลายคนอาจจะนึกถึงธงสีรุ้งและงาน Gay Pride ที่ในระยะหลังมานี้จัดขึ้นในหลายที่ทั่วโลก
แล้วประเทศไทยล่ะ?
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการจัดงาน The bar has LGBT: after Orlando massacre we stand till stonewall riot ที่ร้าน The Bar Has No Name สามเสนซอย 1 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับเกย์ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บาร์
เหตุการณ์แรกคือ โศกนาฏกรรมกราดยิงไนต์คลับเกย์แห่งหนึ่งในออร์แลนโด เมื่อปี 2016 และอีกเหตุการณ์คือ เหตุจลาจลเพื่อเรียกร้องสิทธิเกย์ที่บาร์สโตนวอลล์ บาร์เกย์แห่งหนึ่งในนิวยอร์กเมื่อปี 1969
ถึงแม้งานที่จัดขึ้นในบาร์เล็กๆ แห่งนี้จะไม่มีการเดินขบวนพาเหรดไปตามท้องถนน แต่ทางผู้จัดงานบอกกับเราว่า นี่เป็นการจัดงาน Pride ครั้งแรกของเมืองไทย
ก่อนจะเข้าไปในร้านเราสังเกตเห็นธงสีรุ้งหลายผืนโบกสะบัดอยู่หน้าร้าน เมื่อก้าวเข้าไปภายในเรามองเห็นผู้คนมากหน้าหลายตา ทั้งชาว LGBT และผู้คนที่สนับสนุน ทุกคนกระตือรือร้นไปกับการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราว และดื่มคราฟต์เบียร์สูตรพิเศษที่ทางร้านเตรียมไว้ให้
เราได้พูดคุยกับ จักรพล ผลละออ ผู้ร่วมจัดงาน ถึงเป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้ และสถานการณ์ LGBT ในปัจจุบัน เพื่อหาคำตอบว่าไทยแลนด์เป็นแดนสวรรค์ของ LGBT จริงหรือ
ความรุนแรงต่อ LGBT ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลก
จักรพลบอกเราว่าสาเหตุที่จัดงานนี้ขึ้นเพราะต้องการรำลึกถึงการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่ม LGBT ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์กราดยิงในผับเกย์ที่ออร์แลนโด การเฆี่ยนตีเกย์ต่อหน้าสาธารณชนในอินโดนีเซีย หรือการใช้ความรุนแรงปราบปรามเกย์ในเชชเนีย
“เราต้องการจะสื่อสารว่าถึงแม้เราจะผ่านความโหดร้ายพวกนี้มา แต่สุดท้ายแล้วเราเชื่อว่า Stonewall Riots (จลาจลสโตนวอลล์) หรือว่าแสงสว่างจะต้องมาถึง เหมือนที่เหตุการณ์ Stonewall Riots เกิดขึ้นก็เกิดจากการถูกกดขี่ ได้รับความไม่เป็นธรรม มีการเลือกปฏิบัติ จนสุดท้ายเกิดการ uprising ขึ้นมาที่สโตนวอลล์ แล้วก็นำมาสู่การเรียกร้องสิทธิเกย์”
ประเทศไทยคือสวรรค์ของ LGBT?
“เราอาจจะมีการเปิดพื้นที่ให้ LGBT สามารถมีหน้าที่การงานที่ดี แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็มีอะไรบางอย่างที่กดทับคนกลุ่มนี้อยู่อีก เช่น เกย์หรือทรานส์เจนเดอร์สามารถเป็นครูได้ แต่คุณห้ามแต่งหญิง คุณอยู่ในมหาวิทยาลัยไทยคุณแต่งหญิงได้ แต่พอถึงงานรับปริญญาคุณห้ามแต่ง
“หากมองในเชิงวัฒนธรรม แม้สื่อจะเปิดพื้นที่ให้เกย์แล้ว แต่ก็ยังจับกลุ่มคนเหล่านี้ไปทำเป็นตัวตลก มองในมุมเรื่องสิทธิ ประเทศไทยเองยังไม่มี พ.ร.บ. คู่ชีวิต ส่วนกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศที่มีนั้นก็เกิดการตั้งคำถามว่ามีเนื้อหาที่เป็นสากลไหม
“ทำให้เราไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเมืองไทยนั้นเป็นสวรรค์ของกลุ่ม LGBT”
‘สื่อ’ กับภาพเกย์ที่แบนราบไร้มิติ
จักรพลกล่าวว่า ‘สื่อ’ เป็นสิ่งสำคัญที่สร้างภาพจำให้กับกลุ่ม LGBT อย่างเช่น แม้ประเทศไทยจะมีซีรีส์เกี่ยวกับเกย์เยอะมาก แต่การนำเสนอกลับเป็นไปในทิศทางเดียว
“เขานำเสนอเกย์ที่เป็นชนชั้นกลาง เกย์ที่เป็นวัยรุ่น คนที่เป็นเกย์ต้องเป็นคนหน้าตาดี ผิวขาว การศึกษาดี ฐานะร่ำรวย ถึงจะมีพื้นที่แต่เรากลับไม่มีซีรีส์ ละคร หรือหนังที่เล่าถึงชีวิตความเป็นจริงของเกย์ที่เป็นกรรมกร เกย์ที่ไม่ได้อยู่ในเมือง เกย์ที่ไม่ได้เป็นคนรวย
“เราเห็นแต่ภาพที่ว่าเกย์แบบเป็นบล็อก 1 2 3 4 ที่สังคมจะยอมรับ แล้วสื่อเหล่านี้ได้สร้างกรอบความคิดให้คน และเมื่อเราไปเจอเกย์ที่ผิดแผกไปจากกรอบนี้คนก็จะบอกว่าไม่น่าเกิดมาเป็นเกย์เลย”
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือนอกจากเราจะใช้มายด์เซตดังกล่าวในการเหยียดกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศออกไปแล้ว เรายังใช้มายด์เซตนั้นไปตัดสินคนประเภทอื่นด้วย
“ปิงปองใน ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ จะต้องเป็นคนตลก ทีนี้มันมีเรื่องตลกอยู่อย่างหนึ่งคือ โอ๊ต ปราโมทย์ ซึ่งเป็นคนตลกและเป็นคนอ้วน กลายเป็นว่ามีคนคิดว่าโอ๊ต ปราโมทย์ เป็นเกย์ เพราะบุคลิกด้านหนึ่งของเขาดันไปตรงกับบล็อกที่สื่อเซตขึ้นมาให้เรา
“ทำให้เรามองอะไรแบบราบเรียบมากเกินไป”
“เป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนดี” ประโยคง่ายๆ แต่แฝงไปด้วยความรุนแรง
จักรพลคิดว่าเกย์ที่เติบโตมาในสังคมไทยที่หล่อหลอมพวกเขาด้วยวาทกรรม “เป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนดี” คือวาทกรรมที่กดทับเกย์ว่าการมีอยู่ของพวกเขาเป็นบาป ทำให้เกย์และคนในสังคมรู้สึกว่าพวกเขาต้องล้างบาปของตนเองด้วยการปฏิบัติตามมาตรฐานทางศีลธรรม
“ทุกวันนี้คนในสังคมคาดหวังว่าคนที่เป็นเกย์จะต้องเป็นคนดี มีศีลธรรม นอกเหนือจากมีหน้าที่การงานที่ดี ฐานะดี หน้าตาดี กลายเป็นถึงขั้นคาดหวังว่าเกย์จะต้องเป็นคนที่มีมาตรฐานศีลธรรมสูงรองลงมาจากแม่ชี ซึ่งมันตลกมากในการมาคาดหวังกับเกย์
“กูเป็นเกย์ กูเป็น LGBT เฉยๆ กูไม่ได้จะบวชพระ”
‘กฎหมาย’ เครื่องการันตีความเท่าเทียม
เมื่อถามถึงปัญหาของเกย์ที่ต้องการได้รับการแก้ไข จักรพลบอกว่า ตนไม่สามารถกล่าวแทนทุกคนได้ เพราะแต่ละคนในแต่ละพื้นที่ก็มีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน แต่สำหรับตัวเขามองว่ากฎหมายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
“อาจพูดได้ว่าต้องการกฎหมายและการผลักดันจากภาครัฐ การรับรองความเท่าเทียมทางเพศ การออกกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติ”
ในงานมีการร่วมจุดเทียนและยืนไว้อาลัยเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีตัวแทนผู้จัดงานอ่านแถลงการณ์กลุ่ม LGBT
บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างคึกคักและสนุกสนาน แววตาทุกคนเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและความหวัง เราสัมผัสได้ถึงบรรยากาศเป็นกันเอง
ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม แต่เมื่อก้าวเข้าไปในร้านแล้วทุกคนต่างก็เท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
ภาพประกอบ: AeA oranun
Photo: นภัสสร เจริญการ