เมื่อวานนี้ (11 ก.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร มูลค่า 1.79 แสนล้านบาท
รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายลงทุน 100% ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี มีแผนเปิดให้บริการครั้งแรก พ.ศ. 2564
กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า
มูลค่างาน 75% ของโครงการคือ การก่อสร้างและงานโยธา ว่าจ้างผู้รับเหมาคนไทย และวัสดุภายในประเทศ
ส่วนอีก 25% ของโครงการคือ การวางระบบไฟฟ้า-อาณัติสัญญาณ การพัฒนาบุคลากร ว่าจ้างจีน
โดย ครม. ได้กำชับเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับไทย
เชื่อม 3 เส้นทาง ไทย-ลาว-จีน
โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะเชื่อมต่อถึงจีน รวมระยะทาง 1,800 กิโลเมตร มีทั้งหมด 3 เส้นทางใน 3 ประเทศ คือ เส้นทางในสปป.ลาว 440 กิโลเมตร เส้นทางในจีน 777 กิโลเมตร และเส้นทางในประเทศไทย 647 กิโลเมตร
โดยเส้นทางในประเทศไทย มีแผนพัฒนาให้เกาะเส้นทางรถไฟเดิมให้มากที่สุด แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่
- กรุงเทพฯ-นครราชสีมา
- นครราชสีมา-หนองคาย
- แก่งคอย-มาบตาพุด
ซึ่งจะมีการเวนคืนพื้นที่ประมาณ 2,815 ไร่ รวม 6 สถานีคือ บางซื่อ, ดอนเมือง, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี, ปากช่อง และนครราชสีมา
โดยมีศูนย์ควบคุมและศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ที่อำเภอเชียงรากน้อย
สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจผ่านเส้นทางสายไหม ลุ่มน้ำโขง และจังหวัดเศรษฐกิจ
กอบศักดิ์ ชี้ให้เห็นว่า เส้นทาง 1,800 กิโลเมตรนี้จะเชื่อมเข้าโครงข่ายการคมนาคมสายไหมหรือ ‘One Belt, One Road’ ในส่วน Silk Road Economic Belt ของจีนที่เชื่อมยุโรป-เอเชีย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นทางรถไฟระยะทางรวม 53,700 กิโลเมตร โดยขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ยังเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และพื้นที่พัฒนาทางเศรษฐกิจในประเทศ ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา และในอนาคตจะต่อไปถึงขอนแก่น หนองคาย รวมถึงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเปิดโอกาสทำการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวให้กับประชาชน
เปิดให้บริการครั้งแรก ปี 2564 เริ่มต้น 80 บาท
การให้บริการครั้งแรกในปี 2564 จะมีรถ 6 ขบวน วิ่งให้บริการ 11 เที่ยวต่อวัน ทุก 90 นาที ด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บรรจุผู้โดยสารได้ 600 คนต่อขบวน ใช้เวลา 1.17 ชั่วโมง คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการราว 5,300 คนต่อวัน
และในปี 2594 หรืออีก 34 ปีข้างหน้า จะมีผู้โดยสารขั้นต่ำ 26,800 คนต่อวัน จะมีรถ 26 ขบวน วิ่งให้บริการทุก 35 นาที
ค่าโดยสารเบื้องต้น 80+1.80 บาทต่อกิโลเมตร
เช่น กรุงเทพฯ-สระบุรี จะคิด 278 บาท, กรุงเทพฯ-ปากช่อง 393 บาท, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 535 บาท
อ้างอิง:
- IQ สำนักข่าวอินโฟเควสท์