×

ก่อนศรัทธาจะจางหาย ทำไมวัดควรเปิดเผยบัญชีรายรับ-รายจ่าย?

21.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • แม้จะมีมติของมหาเถรสมาคมที่กำหนดให้ทุกวัดทำการส่งรายงานทรัพย์สินให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติปีละ 1 ครั้ง แต่ รศ. ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ กลับมองว่ามาตรการนี้ยังไม่เพียงพอ เพราะวัดควรเปิดเผยบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบแทนการหวังพึ่งภาครัฐฝ่ายเดียว
  • ปัญหาความไม่โปร่งใสของวัดหลายๆ แห่งกลายเป็นที่มาของข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีความไม่ชอบมาพากล ฉ้อโกง หรือถึงขั้นเกิดเหตุฆาตกรรม สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งศรัทธา แต่ขาดปัญญา และศาสนากำลังตกอยู่ภายใต้อำนาจทุนนิยม
  • นอกจากเรื่องความโปร่งใสแล้ว การเปิดเผยบัญชีรายรับ-รายจ่ายวัดยังช่วยให้การกระจายทรัพยากรระหว่างวัดทั่วประเทศเป็นไปอย่างทั่วถึง และศาสนิกชนจะได้รับรู้ข้อมูลว่าวัดไหนมีเหลือเฟือ และวัดไหนที่กำลังขาดแคลน

     จำได้ไหมว่าครั้งสุดท้ายที่คุณหย่อนเงินลงตู้บริจาคเพื่อทำบุญให้กับวัดคือเมื่อไร และคำถามที่สำคัญไปกว่านั้นคือ คุณรู้ไหมว่าตอนนี้เงินเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน

     เชื่อว่าคำตอบของพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ในวันนี้คือ ‘ไม่รู้’ เพราะทันทีที่เงินถูกหย่อนลงตู้รับบริจาค หรือแม้แต่นาทีที่เรายื่นซองทำบุญให้กับวัด เงินเหล่านั้นก็จะหายไปในแดนสนธยาที่ยากจะตรวจสอบได้ว่าวัดเอาไปทำอะไรบ้าง

     ในความคิดของ รศ. ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ อาจารย์ประจำโครงการปริญญาโท สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความลึกลับของเงินบริจาคเหล่านี้ได้นำไปสู่ปัญหาหลายๆ อย่างที่มากไปกว่าแค่เรื่องธรรมาภิบาลของวัด เพราะไล่ตั้งแต่ความอื้อฉาวของวัดพระธรรมกาย คดีฆ่าโบกปูนสามเณรที่ภาคใต้ หรือข่าวล่าสุดที่มีการร่วมกันทุจริตเงินอุดหนุนวัด ล้วนมีที่มาจากประเด็นเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ขาดความโปร่งใส และปัญหาเหล่านี้น่าจะหมดไปหากมีการผลักดันให้วัดทุกวัดเปิดบัญชีรายรับ-รายจ่าย

     ก่อนที่จะเกิดวิกฤตศรัทธาในพระพุทธศาสนาระลอกใหม่ THE STANDARD ชวน รศ. ดนัย มาวิเคราะห์ในประเด็นนี้อย่างจริงจัง เพื่อหาคำตอบว่าทำไมวัดทุกวัดจึงควรเปิดเผยบัญชี และเรื่องนี้จะส่งผลอย่างไรกับวงการพระพุทธศาสนาไทย

วัดควรจะเป็นตัวอย่างขององค์กรที่โปร่งใสให้กับสังคม แต่ปัญหาก็คือท่านอาจจะไม่อยากเปิดเผยกัน จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่

 

เพิ่มความโปร่งใส ดึงชุมชนให้มีส่วนร่วมกับวัด

     ตามมติของมหาเถรสมาคม ปี 2558 กำหนดไว้ว่าให้วัดทุกวัดทำการส่งรายงานบัญชีทรัพย์สินปีละ 1 ครั้ง โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กำหนดไว้ให้เป็นบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างง่าย ซึ่งผลการรายงานบัญชีทรัพย์สินวัดประจำปี 2559 จาก 40,000 วัด มีวัดที่ส่งรายงานมาแล้ว 39,000 วัด (อ้างอิง: www.posttoday.com/analysis/report/499309)

     แต่ถึงอย่างนั้น รศ. ดนัย กลับมองว่าที่ผ่านมามาตรการนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพที่เพียงพอ เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยทำวิจัยเรื่อง ‘พระสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัว’ พบว่าการเข้าถึงบัญชีรายรับ-รายจ่ายของแต่ละวัดทำได้ยาก เนื่องจากขั้นตอนการขอข้อมูลมีความซับซ้อน และทาง พศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่คอยรับข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้มีระบบการตรวจสอบที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นการเปิดเผยบัญชีให้สาธารณชนรับรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเท่ากับเป็นการดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใสของวัดแทนที่จะรอให้เป็นหน้าที่ของ พศ. เพียงฝ่ายเดียว

     “ปัจจุบันมีวัดเกือบ 40,000 วัด แล้วพูดตรงๆ ว่าเราจะคาดหวังกับ พศ. มากคงไม่ได้ เพราะในหลายกรณีที่ผ่านมา พศ. ก็เหมือนไม่ค่อยได้ทำอะไร ใส่เกียร์ว่าง หรืออุ้มคนผิดเสียเยอะ ทีนี้ถ้ามีชาวบ้านเข้าไปตรวจสอบ ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ก็น่าจะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สุดท้ายวัดก็ต้องอยู่ได้ด้วยชุมชน ไม่ได้อยู่ได้ด้วยรัฐ

     “นโยบายที่ผมพยายามนำเสนอมันไม่ได้ยากเลย วัดก็แค่ติดบัญชีรายรับ-รายจ่ายไว้ที่บอร์ดประจำวัด หรือถ้าวัดมีเว็บไซต์ หรือเฟซบุ๊ก ก็สามารถประกาศให้สาธารณชนรับทราบเพื่อแสดงความเป็นธรรมาภิบาล เพราะวัดควรจะเป็นตัวอย่างขององค์กรที่โปร่งใสให้กับสังคม แต่ปัญหาก็คือท่านอาจจะไม่อยากเปิดเผยกัน จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่”

ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ เรื่องของพระไม่ควรเข้าไปยุ่ง กลัวบาปกรรม ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ทำให้ไม่มีใครกล้าเข้าไปตรวจสอบ หรือไม่กล้าแม้แต่จะวิพากษ์วิจารณ์

วัดในยุคทุนนิยม แต่ระบบการตรวจสอบตามไม่ทัน

     รศ. ดนัย ยังวิเคราะห์ให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ในอดีตอาจจะมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นน้อย เนื่องจากพระและวัดในอดีตส่วนใหญ่มีจริยธรรมและจรรยาบรรณ ทำให้ไม่ได้มีปัญหามากเท่าปัจจุบัน แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไปเป็นยุคทุนนิยมที่ค่อนข้างรุนแรง ระบบการตรวจสอบกลับไม่ได้ถูกพัฒนาตามไปด้วย ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรภายในวัดจนนำไปสู่ข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     “ข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าวัดเองก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของทุนนิยมเหมือนกัน โดยไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปจัดการได้ เพราะจารีตของสังคมแบบไทยๆ ก็มักจะคิดกันว่าชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ เรื่องของพระไม่ควรเข้าไปยุ่ง กลัวบาปกรรม ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ทำให้ไม่มีใครกล้าเข้าไปตรวจสอบ หรือไม่กล้าแม้แต่จะวิพากษ์วิจารณ์

     “สะท้อนได้เหมือนกันว่าสังคมไทยพุทธเป็นสังคมแห่งศรัทธา แต่ขาดปัญญา เพราะคำว่า พุทธะ แท้จริงแปลว่า ผู้ตื่นรู้ แต่ความรู้แบบนี้ไม่เกิดขึ้น เพราะคนมองว่าไม่เป็นไร วัดอยากทำอะไรก็ทำไป ถ้าเจอพระดีก็ดีไป แต่ถ้าพระท่านไม่ดี เราก็จะเห็นปัญหาอย่างที่เกิดขึ้นนี่แหละ ซึ่งนำไปสู่ความไม่ชอบมาพากล หรือการฆาตกรรมร้ายแรง หรือฉ้อโกงกันในหลายๆ กรณี”

     นอกจากจำเป็นต้องเปิดเผยบัญชีรายรับ-รายจ่ายของวัดแล้ว รศ. ดนัย ยังเสนอว่าควรมีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการวัดให้มีการคานอำนาจระหว่างพระ ชุมชน และหน่วยงานราชการ ซึ่งจะทำให้การทุจริตเป็นไปได้ยากขึ้น

ทุกวันนี้ทำบุญกันดะเลย ทำบุญกระเบื้องมาไม่รู้กี่ปีแล้ว ก็ยังชวนซื้อกระเบื้องเหมือนเดิม ซึ่งจริงๆ อาจจะเกิดจากการที่วัดมีค่าน้ำค่าไฟไม่พอก็ได้ ถึงต้องอ้างเรื่องกระเบื้องมาเป็นตัวล่อ

ทำบุญกระเบื้อง แต่เงินไปไหน?

     ถ้าใครเข้าวัดบ่อยๆ จะสังเกตเห็นได้ว่าแต่ละวัดต่างมีวิธีเชิญชวนญาติโยมให้ควักเงินร่วมทำบุญแตกต่างกันออกไป บางวัดใช้ตู้รับบริจาค บางวัดขายถังสังฆทาน หรือบางวัดก็ชักชวนให้พุทธศาสนิกชนทำบุญซื้อกระเบื้องเพื่อช่วยบำรุงอาคารสถานที่ต่างๆ ภายในวัด

     แต่ไม่มีใครรู้ได้เลยว่าสุดท้ายเงินเหล่านี้ที่ญาติโยมตั้งใจบริจาคด้วยจิตศรัทธาถูกนำไปใช้ทำอะไรกันแน่

     “ชาวบ้านเวลาเขาทำบุญไป การจะทำให้เขาได้ประโยชน์สูงสุดจากการทำบุญก็คือการได้รู้ว่าเงินบริจาคของเขาได้เอาไปทำประโยชน์อะไรบ้าง แต่ถ้าชาวบ้านทำบุญแล้วก็จบ โดยที่เขาไม่มีโอกาสรู้เลยว่าเงินก้อนนั้นช่วยอะไรวัดได้บ้าง การทำกุศลของเขาก็อาจจะยังไม่สมบูรณ์ในมุมมองของพุทธศาสนา หรือถ้าวัดขาดแคลนอะไร การเปิดเผยรายรับ-รายจ่ายก็จะทำให้ชาวบ้านทำบุญได้อย่างตรงจุด แต่ทุกวันนี้ทำบุญกันดะเลย ทำบุญกระเบื้องมาไม่รู้กี่ปีแล้ว ก็ยังชวนซื้อกระเบื้องเหมือนเดิม ซึ่งจริงๆ อาจจะเกิดจากการที่วัดมีค่าน้ำค่าไฟไม่พอก็ได้ ถึงต้องอ้างเรื่องกระเบื้องมาเป็นตัวล่อ เพราะฉะนั้นการทำบุญในลักษณะนี้มันก็ไม่ถูกวัตถุประสงค์ วัดเองก็บริหารงบการเงินได้ลำบาก

     “ถ้ามองในแง่ลบก็เหมือนกับว่าเราอยากเข้าไปตรวจสอบ แต่ในแง่บวกคือชาวพุทธจะได้ทำบุญให้ตรงจุดมากขึ้น เหมือนเวลาเราอยากจะช่วยเหลือใครแล้วเรายังไม่รู้เลยว่าเขาลำบากเรื่องอะไร ต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง เราจะไปช่วยเขาได้อย่างไร”

     นอกจากนี้การเปิดเผยรายรับ-รายจ่ายของแต่ละวัดยังจะช่วยให้การกระจายทรัพยากรของวัดทั่วทั้งประเทศเป็นไปอย่างทั่วถึง ไม่กระจุกความเจริญเฉพาะวัดชื่อดังเท่านั้น

     “ภาพที่เราเห็นในวัดพุทธส่วนใหญ่ก็จะกลายเป็นว่าวัดกำลังขาดแคลนอยู่ตลอดเวลา ชวนทำบุญกันตลอดเวลา ซึ่งวัดที่ขาดแคลนจริงๆ ก็มีอยู่เยอะ เพราะในงานวิจัยหลายชิ้นก็เปรียบเทียบตัวเลขให้เห็นว่าวัดที่รวยจริงๆ มีไม่เยอะมากเมื่อเทียบกับวัดที่ขาดแคลน แต่ผมก็คิดต่อยอดไปว่าถ้ามีระบบการบริหารจัดการการเงินที่ดี มีการแบ่งปันจากวัดที่รวยไปสู่วัดที่ขาดแคลน ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง แต่ตราบใดที่เรายังไม่รู้แม้กระทั่งรายรับ-รายจ่าย มันก็ไม่มีตัวเลขมามอนิเตอร์ที่จะทำให้รู้ว่าวัดไหนมีทรัพยากรเหลือเฟือและควรแบ่งปัน หรือวัดไหนขาดแคลนจริงๆ

     “ถ้าไม่มีข้อมูลตรงนี้วัดก็จะเหมือนกับแดนสนธยา ทำบุญไปแล้วก็ไม่รู้ว่าเงินไปอยู่ไหน ตรวจสอบอะไรไม่ได้ มืดมนอนธการ และสุดท้ายก็จะส่งผลต่อแรงศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาในระยะยาวด้วย”

     ทั้งนี้หากมีการผลักดันให้ทุกวัดเปิดเผยบัญชีรายรับ-รายจ่ายจริง รศ. ดนัย เชื่อว่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีที่แสดงให้เห็นว่าแต่ละวัดมีความจริงใจมากน้อยแค่ไหน ส่วนเรื่องความถูกต้องของบัญชีคงต้องเป็นขั้นตอนต่อไปที่สาธารณชนควรเข้ามาร่วมกันตรวจสอบ

     “สุดท้ายถ้าวัดทำตัวเหมือนนักธุรกิจที่หลีกเลี่ยงภาษี ประกาศงบปลอม เราก็คงต้องเลิกหวังกับศาสนาแล้วล่ะ” รศ. ดนัย ทิ้งท้าย

เงินที่เข้ามามันไม่ใช่เงินของเจ้าอาวาส แต่เป็นเงินของวัด เพราะฉะนั้นมันควรจะมีที่มาที่ไปชัดเจน ถ้าไม่ชัดเจนก็จะเป็นปัญหา

วัดดาวดึงษาราม ตัวอย่างวัดต้นแบบเปิดเผยบัญชีรายรับ-รายจ่าย

     ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีมาตรการที่ผลักดันให้ทุกวัดเปิดเผยบัญชีรายรับ-รายจ่าย แต่ก็มีบางวัดที่นำร่องเรื่องนี้อย่างจริงจังจนเรียกเสียงชื่นชมจากพุทธศาสนิกชนได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งวัดดาวดึงษาราม เขตบางพลัด กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในต้นแบบที่ดีในเรื่องนี้

     พระสิริชัยโสภณ เจ้าอาวาสวัดดาวดึงษาราม เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า แนวคิดในการเปิดเผยบัญชีรายรับ-รายจ่าย มีที่มาจากความตั้งใจ 2 ข้อ ข้อแรกคือ ต้องการแจ้งให้พระภายในวัดได้รู้ว่ารายจ่ายของวัดมีเยอะขนาดไหน จะได้ช่วยกันประหยัดทรัพยากรภายในวัด และอีกข้อคือ เป็นการแสดงให้เห็นว่าวัดไม่มีลับลมคมใน ได้รับเงินมาเท่าไร จ่ายอะไรไปบ้าง ก็จะแจ้งให้ญาติโยมได้รับรู้

     “วัดเป็นนิติบุคคล และเจ้าอาวาสก็ถือว่าเป็นพนักงานคนหนึ่ง ทีนี้เงินที่เข้ามามันไม่ใช่เงินของเจ้าอาวาส แต่เป็นเงินของวัด เพราะฉะนั้นมันควรจะมีที่มาที่ไปชัดเจน ถ้าไม่ชัดเจนก็จะเป็นปัญหาได้ เพราะไม่รู้ว่าเงินมาจากไหน และใช้อะไรไปบ้าง ซึ่งญาติโยมที่เขาบริจาคเงินมาก็คงไม่สบายใจ”

     โดยโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรภายในวัดดาวดึงษารามจะมีเจ้าอาวาสเป็นผู้ควบคุม และมีพระภายในวัดเป็นผู้จัดทำบัญชีร่วมกับไวยาวัจกร ซึ่งเป็นตัวแทนของญาติโยม เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระไม่ได้ทำกันเองโดยพลการ

     ซึ่งพระสิริชัยโสภณระบุว่า การทำบัญชีในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน เพราะวัดดาวดึงษารามเป็นวัดเล็กๆ ถ้ามีเงินเข้ามาก็จะบันทึกไว้ทุกวัน และมีเจ้าหน้าที่ติดตามคอยจดบันทึกอยู่ตลอดเวลา

     ทั้งนี้ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้คัดเลือกให้วัดดาวดึงษารามเป็นวัดนำร่องในการจัดทำบัญชีรูปแบบใหม่ซึ่งสามารถควบคุมได้ง่ายขึ้น และลดข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา หากผลการดำเนินงานเป็นไปด้วยดี น่าจะมีการเสนอให้มหาเถรสมาคมได้รับทราบ และคงประกาศใช้เป็นมาตรการกับทุกวัดต่อไป

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

FYI

ขณะนี้ รศ. ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ ได้เปิดแคมเปญรณรงค์เรื่อง ‘ให้ทุกวัดเปิดเผยบัญชีรายรับ-รายจ่ายประจำปีแก่สาธารณชนเพื่อความโปร่งใส’ ในเว็บไซต์ change.org หากเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แวะไปร่วมลงชื่อได้ทาง www.change.org

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising