ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีพิธีการถวายราชสักการะและถวายสัตย์ปฏิญาณตน บริเวณสนามพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบกันมาในการรับน้องใหม่
ถ้าคุณติดตามเฟซบุ๊กของ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาฯ @Netiwit Ntw จะพบว่า นอกจากสายฝนที่โปรยปราย พิธีปีนี้ยังมีความวุ่นวายเกิดขึ้น
‘…รองอธิการบดีซึ่งสัญญากันไว้ก่อนแล้วว่า ถ้าฝนตกจะให้เด็กโค้งคำนับแล้วจบ เพราะเด็กจะเปียก จะเป็นไข้ได้ แต่กลายเป็นว่าให้หมอบกราบถวายบังคมเหมือนเดิม
พอฝนเริ่มตกหนักก็ไม่รู้สึก กลับแจกที่กันฝน ในขณะที่พวกครูอาจารย์มีร่มเตรียมมา
‘สำหรับสภานิสิตและอบจ. (องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) นั้นไม่มีร่มให้ เปียกโชก
‘ผมทนไม่ได้ ผมกับเพื่อนๆ ซึ่งมีหลายเหตุผลจึงเดินออกมา แต่ก็มีการทำร้ายร่างกายโดยอาจารย์ท่านหนึ่งกับเพื่อนเราอีกด้วย…’
ภาพอาจารย์เดินเข้าไปล็อกคอนักศึกษาชายคือหนึ่งในภาพประกอบโพสต์ดังกล่าว
ทั้งนี้ พิธีถวายสัตย์ฯ เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันยาวนานของสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ที่สืบทอดกันมา
ปัจจุบันพิธีถวายสัตย์ฯ เริ่มมีการตั้งคำถามจากนิสิตรุ่นใหม่ที่เรียกร้องให้ทบทวนพิธีนี้และเปิดพื้นที่ให้นิสิตมีทางเลือกในการถวายความเคารพในรูปแบบอื่นนอกจากการถวายบังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนติวิทย์ ในฐานะประธานสภานิสิตจุฬาฯ ที่ดูเหมือนจะส่งเสียงตั้งข้อสงสัยต่อประเด็นนี้ดังกว่าใครเพื่อน
‘…พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเห็นว่าสยามประเทศจะเจริญงอกงามได้นั้น จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันสมัย ไม่แพ้กับชาติตะวันตก
‘ทรงเห็นว่าของเก่าบางอย่างนั้นที่ทำมา บัดนี้สมควรเลิกได้แล้ว มนุษย์ไม่สมควรจะกดขี่กันและกัน กิริยาท่าทางนั้นสำคัญ ควรจะให้ไม่เกิดการดูเหลื่อมล้ำขึ้น เหมือนลักษณะสังคมทาสดั้งเดิม ดังทรงพระมหากรุณาธิคุณในการยกเลิกทาสและธรรมเนียมแบบทาส
‘แม้ต่อหน้าพระพักตร์ พระองค์ก็ต้องการให้พวกเราแสดงความเคารพอย่างเป็นมนุษย์เสมอภาค ทรงประกาศพระบรมราชโองการยกเลิกธรรมเนียมหมอบคลานถวายบังคมในราชกิจจานุเบกษา
‘ซึ่งนับว่าเป็นกฎหมาย…’