×

สุนทรภู่ อีกมุมในประวัติศาสตร์ที่คุณอาจไม่เคยรู้

26.06.2017
  • LOADING...

     ‘สุนทรภู่’ ได้รับยกย่องให้เป็นกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้รับรางวัลบุคคลสำคัญของโลกจากยูเนสโก

     เราศึกษาประวัติชีวิตของกวีเอกคนนี้มาตั้งแต่เริ่มเรียนประถมศึกษา จากทั้งตำราวิชาภาษาไทยและประวัติศาสตร์

     และเรามักเข้าใจกันว่า สุนทรภู่เกิดที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง หรือสุนทรภู่มีรายได้หลักจากอาชีพกวี

     ข้อเท็จจริงข้างต้นชวนให้สงสัยว่าประวัติชีวิตสุนทรภู่ที่เรารู้จากตำรา มีความจริงแท้ประการใด

     แน่นอนเมื่อพูดถึงคำว่า ‘ประวัติศาสตร์’ หรือชุดความคิดใดความคิดหนึ่งมักเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว และมีข้อโต้แย้ง

     ข้อมูลต่อไปนี้จะพาทุกคนไปพบกับ ‘ตัวตน’ อีกด้านของสุนทรภู่ผ่านหลักฐานและข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ที่เราอาจไม่รู้มาก่อน

 

สุนทรภู่เกิดที่ ‘วังหลัง’ ไม่ใช่ที่ระยอง

      หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘เมืองแกลง’ หรือปัจจุบันก็คืออำเภอหนึ่งใน จังหวัดระยอง เพราะได้รับการถ่ายทอดมาตลอดว่าเป็นบ้านเกิดของสุนทรภู่ เพราะปรากฎใน นิราศเมืองแกลง ว่าไปเยี่ยมพ่อที่อยู่ในเมืองนี้ จึงทำให้คิดว่านี่คงเป็นบ้านเกิด เพราะตามขนบที่คิดว่าชายเป็นใหญ่ นับญาติสายพ่อ ลูกก็น่าจะอยู่ที่บ้านพ่อ แต่ใน โคลงนิราศสุพรรณ ช่วง ‘บ้านเก่า เหย้าเรือนแพ’ กลับทำให้ตีความได้ว่าสุนทรภู่น่าจะเป็นคน ‘วังหลัง’

 

          วังหลัง ครั้งหนุ่มเหน้า      เจ้าเอย

     เคยอยู่ชูชื่นเชย                    ค่ำเช้า

     ยามนี้ที่เคยเลย                    ลืมพักตร์ พี่แฮ

     ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า             คลาดแคล้วแล้วหนอ

          เลี้ยวทางบางกอกน้อย     ลอยแล

     บ้านเก่าเหย้าเรือนแพ           พวกพ้อง

      เงียบเหงาเปล่าอกแด          ดูแปลก แรกเอย

     รำลึกนึกรักร้อง                   เรียกน้องในใจ

 

     ซึ่ง ‘วังหลัง’ ในที่นี้หมายถึง วังหลัง ศิริราช ที่วัยรุ่นในสมัยปัจจุบันชอบไปเดินเล่น กิน ชิม ช็อป ชิลล์ ถ้าคนสูงอายุหน่อยก็อาจจะคิดถึงโรงพยาบาลที่มีบุคลากรทางการแพทย์เก่งๆ จำนวนมาก

     ขณะเดียวกันหลายคนอาจไม่ทราบว่า พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานที่อยู่ในบริเวณโรงพยาบาลศิริราชก็มีการจัดแสดงนิทรรศการที่เผยแพร่ข้อมูลว่าสุนทรภู่เป็นคนวังหลังอีกด้วย

 

กวีเป็นความสามารถ แต่ไม่ถึงขั้นเป็นอาชีพ

     ที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะสุนทรภู่ไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพราะบริบทสภาพแวดล้อมของยุคนั้นที่ยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถเผยแพร่บทกวีให้กว้างขวาง

     อย่างที่เราเรียนมาตั้งแต่สมัยมัธยมว่า ‘กูเตนเบิร์กเป็นผู้บุกเบิกเครื่องพิมพ์’ (หรือโยฮัน กูเตนเบิร์ก นักประดิษฐ์แท่นพิมพ์ชาวเยอรมันที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกตะวันตก) แต่กว่าเทคโนโลยีจะเดินทางมาถึง และราคาถูกจนใครๆ ก็เอื้อมได้ ก็อีกหลายสิบปีให้หลัง (ในยุครัชกาลที่ 5) ด้วยเหตุนี้ผลงานของสุนทรภู่จึงไม่ได้เผยแพร่หรือเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และทำให้เขาไม่ได้เป็นกวีอาชีพ ในความหมายของการเขียนกวีขายเพื่อหารายได้เลี้ยงชีวิต

     แต่ถึงอย่างนั้นสุนทรภู่ก็มีอาชีพหลักที่เกี่ยวกับตัวหนังสือหรืออักษรต่างๆ นั่นคือ การเข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ราชสำนักในกรมพระอาลักษณ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ร่างหนังสือ (จดหมายและเอกสาร) ของราชการ

 

แบ็กแพ็กเกอร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

     นอกจากภาษาที่สละสลวย สวยงามแล้ว สุนทรภู่ยังเป็นนักเดินทางที่ออกไปผจญโลกนอกพระนครตัวยง ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นอันเนื่องมาจากหน้าที่การงานหรืออะไรก็แล้วแต่ หากสุนทรภู่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันอาจจะถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของแฟนเพจในเฟซบุ๊ก ไม่ก็เป็นบล็อกเกอร์ แต่เพราะการเกิดในสมัยนั้นที่บันเทิงคดียังใช้รูปแบบคำประพันธ์อย่างบทร้อยกรองในการสื่อสาร หรือพรรณนาสิ่งต่างๆ ผ่านนิราศ

     สุนทรภู่แต่งนิราศเป็นจำนวนมาก อาทิ นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท และอื่นๆ รวมทั้งหมด 9 เรื่อง และนี่ก็คือตัวอย่างกลอนและโคลงที่แสดงถึงการเล่าเรื่องในสถานที่ที่สุนทรภู่ได้เดินทางไป ตัวอย่างเช่น

 

นิราศภูเขาทอง

          ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์              มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต

     แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร              จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา

     ……………………..

          ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก      สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน

      ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป               แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน

 

นิราศพระบาท

          เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น        ระวังตนตีนมือระมัดมั่น

     เหมือนคบคนคำหวานรำคาญครัน       ถ้าพลั้งพลันเจ็บอกเหมือนตกตาล

          เห็นเทพีมีหนามลงราน้ำ                 เปรียบเหมือนคำคนพูดไม่อ่อนหวาน

     เห็นกิ่งกีดมีดพร้าเข้าราราน                 ถึงหนามกรานก็ไม่เหน็บเหมือนเจ็บทรวง

 

นิราศสุพรรณ

          แหลมคุ้งทุ่งเถื่อนไม้                        ไรราย

     ถึงย่านบ้านตเภาทลาย                        ทลุท้อง

     เดิมที่นี่เป็นชาย                                   ทเลหาด  ลาดแฮ

     เรือสัดพลัดมาต้อง                              ติดเข้าตเภาทลายฯ

 

     การถกเถียงถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับสุนทรภู่ในแง่มุมต่างๆ ได้หวนย้อนมาทุกครั้งในวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี แม้เราจะไม่รู้ว่าอะไรคือความจริงที่สุด เพราะเราไม่ได้มีไทม์แมชชีนเหมือนในเรื่องโดราเอมอน แต่การถกเถียงที่อยู่บนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ก็ได้ทำให้เราเห็นตัวตนหรือการตีความถึงสุนทรภู่ในรูปแบบหรือมิติอื่นๆ มากขึ้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X