คดีสลายม็อบกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เดินทางมาถึงวันชี้ชะตา เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดีดำที่ อม. ๒/๒๕๕๘ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ, พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และพล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในการออกคำสั่งสลายม็อบพันธมิตรฯ ซึ่งศาลนัดฟังคำพิพากษาเช้าวันอังคารที่ 2 สิงหาคมนี้ เวลา 9.30 น. โดยข้อกล่าวหาดังกล่าวระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ถูกกล่าวหาในคดีสลายม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 7 ตุลาคม 2551
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
- นายกรัฐมนตรีคนที่ 26
- น้องเขยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ
- รองนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น
- อดีตผู้บัญชาการทหารบก
- อดีตคนสนิทพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ หรืออดีตลูกป๋าเปรม
พล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว
- ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในเวลานั้น
พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
- ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในเวลานั้น
- น้องชายของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รัฐบาล คสช.
ย้อนที่มาชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2551
วิกฤตการเมืองไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาวนเวียนเกี่ยวข้องกับการต่อสู้โค่นล้ม ‘ทักษิณ ชินวัตร’ รวมถึงทายาททางการเมือง
โดยหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลสนับสนุน ‘นายสมัคร สุนทรเวช’ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางกระแสนอมินี ‘ทักษิณ’ และข้อกังขาเรื่องการพยายามช่วยเหลืออดีตนายกฯ ให้หลุดคดีและกลับประเทศ
กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเพิ่งประสบความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณตัดสินใจกลับมาชุมนุมอีกครั้ง โดยนัดชุมนุมใหญ่ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 จนการชุมนุมยกระดับขึ้นเรื่อยๆ มีการบุกยึดสถานที่สำคัญของประเทศ ทั้งสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ รวมไปถึงทำเนียบรัฐบาล ในที่สุดนายสมัครต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ เหตุเพราะรับจัดรายการโทรทัศน์
กระทั่ง 17 กันยายน 2551 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย เป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีที่บันทึกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไว้มากมาย
ตำนานนายกฯ ที่ไม่เคยเหยียบทำเนียบรัฐบาล
นายสมชาย วงสวัสดิ์ อาจเป็นนายกรัฐมนตรีไม่กี่คนในโลกที่ไม่มีโอกาสฉลองกับตำแหน่ง อันเนื่องมาจากสถานการณ์การเมืองในเวลานั้นยังตึงเครียด กลุ่มพันธมิตรฯ ยังคงปักหลักชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายสมชาย และยึดทำเนียบรัฐบาลไว้อย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลนายสมชายต้องอาศัยท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นทำเนียบชั่วคราว จนวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชนในข้อหาโกงการเลือกตั้งปี 2550 และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน จำนวน 37 คน เป็นเวลา 5 ปี ทำให้นายสมชาย ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังขึ้นดำรงตำแหน่งได้เพียง 75 วัน เป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาอันสั้นที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากพล.อ. สุจินดา คราประยูร (47 วัน) และนายทวี บุณยเกตุ (17 วัน)
ย้อนเหตุการณ์ 7 ตุลา 2551
กลุ่มพันธมิตรฯ ปักหลักชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม เพื่อขัดขวางไม่ให้รัฐบาลนายสมชายแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งถือเป็นพิธีทางการเมืองที่สำคัญในการเริ่มต้นเป็นรัฐบาลอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนายสมชายตัดสินใจสั่งสลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางให้คณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาเข้าไปประชุมรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายให้ได้
ด้านบรรยากาศในห้องประชุมสภาเวลานั้นก็วุ่นวายไม่แพ้กัน เมื่อองค์ประชุมไม่ครบจนประธานต้องสั่งพักการประชุมเพื่อรอสมาชิก
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็คว่ำบาตรการแถลงนโยบายครั้งนั้น ด้านผู้ชุมนุมมีการตัดไฟ ทำให้สมาชิกรัฐสภาหลายคนตื่นตระหนก จะออกจากพื้นที่ก็ไม่ได้ ส่วนนายสมชายได้อ่านแถลงนโยบายอย่างรีบๆ และขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกจากรัฐสภาไป
ช่วงเย็นวันเดียวกัน เกิดระเบิดรถยนต์หน้าพรรคชาติไทย ทำให้พ.ต.ท. เมธี ชาติมนตรี หรือ สารวัตรจ๊าบ หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ เสียชีวิต ส่วนการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมทำให้ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ เสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกรวม 381 ราย โดยหลายรายบาดเจ็บสาหัส ขณะที่เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 11 นาย
เหตุการณ์ดังกล่าวถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงความเหมาะสมในการใช้อาวุธเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมว่าถูกต้องตามหลักสากลมากน้อยเพียงใด โดยพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ
วลีดังการเมืองไทย ‘ม็อบมีเส้น’
กลุ่มพันธมิตรฯ ในเวลานั้นถือเป็นกลุ่มที่มีพลังอย่างมาก เพราะไม่เพียงสามารถเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลทักษิณได้เท่านั้น แต่ยังสามารถโค่นล้มรัฐบาลที่ถูกมองว่าเป็นนอมินีของนายทักษิณได้ถึงสองคน คือรัฐบาลนายสมัครและนายสมชาย
อย่างไรก็ตามวลี ‘ม็อบมีเส้น’ มาจากพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระหว่างตอบกระทู้ถามสด ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 ว่า “ทุกคนทราบดีว่าพันธมิตรฯ ชุมนุมมา 6 เดือน และใช้เสรีภาพอย่างผิดกฎหมาย ทุกคนก็ทราบดีว่าม็อบนี้เป็นม็อบมีเส้น เพราะหากเป็นม็อบธรรมดา เรื่องจบไปนานแล้ว” โดยคำว่า ‘ม็อบมีเส้น’ ถูกสื่อมวลชนประจำรัฐสภาโหวตให้เป็นวาทะแห่งปี 2551
2 สิงหาคมนี้ ศาลนัดชี้ชะตา
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสมชายได้แถลงปิดคดีด้วยวาจาตอนหนึ่งว่า ตนไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามที่ถูกกล่าวหา และไม่เคยคิดร้ายหรือเลือกปฏิบัติ
เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม ในช่วงเกิดสถานการณ์ ตนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และไม่ได้สั่งการใดๆ ทั้งสิ้น และหลังแถลงนโยบายเสร็จได้เดินไปกองบัญชาการกองทัพไทย ตนทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และรับราชการมาหลายปี เป็นทั้งตุลาการ ฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ ไม่เคยมุ่งร้ายต่อฝ่ายใด มีแต่ทำงานด้วยความประนีประนอม ซึ่งเกิดเหตุการณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ต้องดูแลประชาชนทุกคน ไม่คิดทำร้ายคนไทยด้วยกัน
วันที่ 2 สิงหาคมนี้ ถือเป็นวันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ย่อมส่งผลต่อทิศทางการเมืองไทยต่อจากนี้แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผลการตัดสินของศาลออกมาในทางลบแก่จำเลยก็จะถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะจะเป็นครั้งแรกที่ผู้นำระดับนายกรัฐมนตรีและผู้นำระดับสูงถูกลงโทษจากการสลายการชุมนุม และจะเป็นมาตรฐานใหม่ในการตัดสินคดีในลักษณะเดียวกัน
13 ตุลาคม 2551 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์
14 ตุลาคม 2551 ผู้แทนพระองค์นำเพลิงพระราชทานไปในพิธีพระราชทานเพลิงศพของ พ.ต.ท. เมธี ชาติมนตรี หรือสารวัตรจ๊าบ โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี
16 ตุลาคม 2551 พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา นำผู้บัญชาการเหล่าทัพออกอากาศทางโทรทัศน์ช่อง 3 เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น