×

สปท. เสนอคุมโซเชียล! สแกนหน้า-นิ้ว ใช้บัตรปชช. ลงทะเบียนเฟซบุ๊ก สร้างเยาวชนเน็ตไอดอล

03.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 mins read
  • กมธ.ปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เสนอรายงาน ‘ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้โซเชียลมีเดีย’ ต่อที่ประชุมสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ มีมติเห็นชอบ 144 ต่อ 1 เสียง
  • ตามรายงานส่วนหนึ่งระบุถึงหลักการและเหตุผลที่จำเป็นต้องมีแผนการปฏิรูปว่า สื่อกระแสหลักใช้สื่อออนไลน์ในการแข่งขันกันนำเสนอข่าวมากขึ้นจนเกิดกระแสทางลบ ผู้ใช้งานขาดความรู้เท่าทันสื่อ และสื่อออนไลน์ถูกใช้เพื่อการเมือง จึงจำเป็นต้องปฏิรูปการใช้โซเชียลมีเดีย
  • มาตรการที่จะนำมาใช้ เช่น ให้ลงทะเบียนซิมมือถือด้วยใบหน้าและลายนิ้วมือ เสนอให้ใช้บัตรประชาชนลงทะเบียนเฟซบุ๊ก ตั้งศูนย์กลางเฝ้าระวังเนื้อหา หรือแม้แต่สร้างเยาวชน Net Idol ต้นแบบ

     ผ่านความเห็นชอบไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับรายงานเรื่อง ‘ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media)’ ที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชนได้เสนอต่อที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ในวันนี้ (3 กรกฎาคม) ด้วยคะแนนเสียง 144 ต่อ 1

     ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะทำการส่งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป

     แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น THE STANDARD ได้ทำการสำรวจข้อมูลจากรายงานดังกล่าว เพื่อสแกนดูว่ามีมาตรการอะไรบ้างที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้โซเชียลมีเดียในอนาคต และสิ่งที่ควรรู้ไว้ก่อนที่มาตรการนี้จะถูกบังคับใช้คืออะไร นี่คือ 10 ประเด็นที่ควรจับตามองอย่างใกล้ชิด

     1. เหตุที่ต้องปฏิรูป เพราะผู้ใช้ขาดความรู้เท่าทัน และสื่อออนไลน์ถูกนำไปใช้ทางการเมือง

     ตามรายงานส่วนหนึ่งระบุถึงหลักการและเหตุผลที่จำเป็นต้องมีแผนการปฏิรูปว่า

     สื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ให้ข้อมูลข่าวสารไปถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และการทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านสื่อออนไลน์มีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดด

     แต่ปัจจุบันกลับมีการใช้ที่ไม่เหมาะสม เพราะผู้ใช้สื่อขาดความรู้เท่าทันสื่อ ขาดความรู้และความเข้าใจในการใช้สิทธิเสรีภาพการสื่อสารบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม หรือขาดมาตรฐานจริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์

     สิ่งที่น่าวิตกในปัจจุบันก็คือ การที่สื่อกระแสหลักใช้สื่อออนไลน์มาแข่งขันในการนำเสนอข่าวเกินไปจนลืมนึกถึงการกำหนดวาระทางสังคม ทำให้เกิดกระแสสังคมในทางลบ เช่น กรณีที่เกิดเหตุ ‘ฆ่าหั่นศพ’ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมาก

     นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าวยังระบุถึงความกังวลในการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ โดยขาดการตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ สื่อโซเชียลถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อจนกลายเป็นคดีหลอกลวงฉ้อโกง รวมถึงมีการเผยแพร่ข้อมูลสื่อลามกอนาจารอย่างเปิดเผยและกว้างขวางอีกด้วย

     ปัญหาข้างต้นนี้ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะส่งผลกระทบในด้านอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะเมื่อสื่อออนไลน์ได้ถูกนำไปใช้ทางการเมือง มีการปล่อยข้อมูลข่าวสารในลักษณะเพื่อสร้างความวุ่นวาย เพื่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและการบริหารราชการของรัฐบาล หรือต่อสถาบันหลักของประเทศ

     ด้วยเหตุผลเหล่านี้เองที่ทำให้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการใช้โซเชียลมีเดีย โดยดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือระยะเร่งด่วนภายในปี 2560-2562 และระยะยาวที่จะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี

     2. เตรียมลงทะเบียนซิมเติมเงินด้วยลายนิ้วมือและใบหน้าทั่วประเทศ

     หนึ่งในมาตรการที่ สปท. เสนอในรายงานคือ ให้ กสทช. ใช้ลายนิ้วมือและใบหน้าควบคู่ไปกับการลงทะเบียนมือถือด้วยบัตรประชาชน จากเดิมที่จะเริ่มต้นบังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ภายในปี 2560 ควรปรับเปลี่ยนเป็นการบังคับใช้ทั่วประเทศ โดยเริ่มทุกจังหวัด ยกเว้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วค่อยมาบังคับในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

     ซึ่งในรายงานให้เหตุผลว่าเป็นผลทางจิตวิทยา เพราะประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรู้สึกว่าถูกตรวจสอบและกำกับสูงกว่าพื้นที่อื่น ทำให้เกิดแรงต่อต้านภาครัฐ และมาตรการนี้จะเป็นผลดีต่อการวางแผนการรักษาความปลอดภัยทุกพื้นที่ทั่วประเทศให้มีความเข้มข้นมากขึ้นด้วย

     ในทางปฏิบัติ สปท. เสนอให้ กสทช. ร่วมมือกับสำนักบริหารทะเบียนของกรมการปกครอง หรือควรออกหลักเกณฑ์ให้บริษัทโอเปอเรเตอร์หาวิธีจัดเก็บรูปภาพของผู้ลงทะเบียนซิมไว้เป็นหลักฐาน

     3. ตั้งศูนย์จัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์

     เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ในความครอบครองของโอเปอเรเตอร์ที่ต่างคนต่างเก็บ ต่างจากข้อมูลบัตรเครดิตที่มีหน่วยงานกลางในการเก็บข้อมูล

     ดังนั้น สปท. จึงเสนอให้ กสทช. จัดตั้งศูนย์กลางเพื่อการบริหารข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นของตนเอง ซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการมือถือต้องส่งข้อมูลให้กับศูนย์ดังกล่าวทุกครั้งที่มีการจดทะเบียนและยกเลิกการใช้งาน อีกทั้งยังต้องมีการจัดเก็บข้อมูลทางเทคนิค เช่น ข้อมูล IMEI และ IMSI ด้วย

     ที่สำคัญยังเสนอให้ปรับแก้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพื่อให้พนักงานสืบสวนสามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้ตลอดเวลาและจากทุกพื้นที่ โดยมีระบบในการควบคุม รักษาความปลอดภัยในการใช้งาน และตรวจสอบเพื่อไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางส่วนตัว

     4. จำกัดการลงทะเบียนการใช้งานที่เหมาะสม

     จากกรณีการกว้านซื้อซิมมือถือเติมเงินเพื่อนำมาสร้างยอดไลก์ในโซเชียลมีเดีย สปท. เสนอให้มีการจำกัดการลงทะเบียนใช้งานมือถือแบบเติมเงินตามจำนวนที่เหมาะสม

     โดยเสนอให้ กสทช. เป็นผู้กำหนดว่าจำนวนเท่าใดถึงจะเหมาะสม อีกทั้งยังชี้ให้เห็นความสำคัญของศูนกลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่จะสามารถควบคุมและตรวจสอบได้ว่าบุคคลใดลงทะเบียนซิมมือถือจำนวนเท่าใด พร้อมเสนอให้กำหนดโทษสำหรับบริษัทโอเปอเรเตอร์ ในกรณีที่มีการละเมิดกฎเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ค้ารายย่อยด้วย  

     5. เปิดข้อมูลพื้นฐานผู้ครอบครองมือถือ

     เพื่อผลทางจิตวิทยา และเป็นการป้องปรามมิให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์กล้ากระทำผิด หรือแสดงออกอย่างไม่เหมาะสม สปท. ยังเสนอในรายงานให้ กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์ในการเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานของผู้ใช้มือถือ ทั้งชื่อผู้ลงทะเบียนทุกประเภท และหมายเลขโทรศัพท์ พร้อมหลักฐานแสดงตัวตน

     ทั้งนี้ข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวควรต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ครอบครองด้วย  

     6. เร่งรัดเก็บภาษีกับผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศ

     อีกหนึ่งมาตรการที่จะนำมาใช้ปฏิรูปการใช้โซเชียลมีเดีย คือการเร่งรัดให้ใช้มาตรการทางภาษีกับผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ต่างประเทศ เพื่อใช้ควบคู่กับการเก็บภาษีผู้บริโภค (VAT) กับการใช้โฆษณา หรือการซื้อสินค้าผ่านสื่อออนไลน์

     โดยเสนอให้กรมสรรพากรเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ โดยให้ถือว่าการประกอบธุรกิจออนไลน์ในไทยของต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษี

     ในกรณีที่ไม่สามารถเก็บ VAT จากผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ได้ จะต้องดำเนินการเรียกเก็บจากผู้บริโภคโดยตรง และ กสทช. ต้องมีมาตรการบังคับใช้กับบริษัทโอเปอเรเตอร์ให้แสดงข้อมูลดังกล่าวด้วย  

     7. เสนอเฟซบุ๊กให้ใช้บัตรประชาชนลงทะเบียน

     แม้ปัจจุบันสื่อออนไลน์ต่างประเทศอย่างเฟซบุ๊กจะพยายามให้สมาชิกระบุตัวตนจริงในการใช้งานอยู่แล้ว แต่ สปท. มองว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ

     จึงเสนอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย และ กสทช. เจรจากับผู้ให้บริการสื่อออนไลน์เพื่อให้มีการลงทะเบียนการใช้งานโดยใช้ข้อมูลทางราชการ เช่น หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน

     ซึ่งนอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันแล้ว ยังเป็นการสร้างผลทางจิตวิทยาทำให้ผู้ไม่หวังดีไม่กล้าใช้สื่อออนไลน์ในการทำผิดกฎหมายด้วย  

     8. เตรียมตั้งศูนย์กลางเฝ้าระวังเนื้อหาออนไลน์

     จากศูนย์ประสานงานการปฏิบัติงานการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security Coordination Center – CSCC) ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และศูนเฝ้าระวังสื่อสังคมออนไลน์ ของกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท.

     สปท. เสนอให้ บก.ปอท. เป็นผู้ดำเนินการแทนเพื่อเป็นศูนย์กลางการเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ โดยเพิ่มบุคลากรจาก 170 อัตรา เป็น 300 อัตรา (เต็มอัตรา 700 ตำแหน่ง) และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการทำงาน เช่น เทคโนโลยีติดตามและตรวจสอบข้อความ รูปภาพ คลิปเสียงในสื่อออนไลน์ทุกประเภท โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและยูทูบ​, เทคโนโลยีด้านการรู้จำใบหน้า (Face Recognition) โดยเปรียบเทียบใบหน้าจากรูปภาพและวิดีโอในสื่อออนไลน์, เทคโนโลยี Web Crawler หรือ Data Analytics ด้านการตรวจจับถ้อยคำ ฯลฯ  

     9. สร้างต้นแบบเยาวชน Net Idol

     ในระยะยาว สปท. ยังมีแผนปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลด้วยมาตรการเสริมสร้างปลูกจิตสำนึกที่ดี มีจริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์ โดยหนึ่งในมาตรการที่ว่านี้ก็คือ ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการประกวดโครงการ มอบรางวัลระดับชาติให้กับหน่วยงาน องค์กร เครือข่าย กลุ่มบุคคล บุคคล เพื่อเป็นต้นแบบแก่สังคมในการนำสื่อสร้างสรรค์ไปใช้งาน

     เช่น ต้นแบบเยาวชน Net Idol, ต้นแบบเครือข่ายร่วมด้วยช่วยกันออนไลน์,  ต้นแบบเครือข่ายเฝ้าระวังการกระทำความผิดของภาครัฐและเอกชน

     นอกจากนี้ยังมีแผนให้สำนักงานพระพุทธศาสนา สำนักจุฬาราชมนตรี หรือองค์กรทางศาสนา จัดทำโครงการฝึกอบรมให้กับพระภิกษุ สามเณร เพื่อให้เป็นต้นแบบในการช่วยเผยแพร่การใช้สื่อออนไลน์ในทางที่เหมาะสมด้วย  

     10. จัดทำคู่มือการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์

     สปท. เสนอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกสทช. ร่วมกันจัดทำคู่มือเผยแพร่การใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อใช้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม และแจกจ่ายให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

     นอกจากนี้ยังเสนอให้ใช้มาตรการทางกฎหมายนอกเหนือจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เช่น กฎหมายปกป้องคุ้มครองกลุ่มเด็กและเยาวชน เหมือนกฎหมาย COPPA ของสหรัฐอเมริกา ฯลฯ

     ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการใช้สิทธิอภิปราย ซึ่งหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีบางมาตรการของรายงานฉบับนี้ที่ไปกระทบต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดย พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช กล่าวว่า การที่ กมธ.ฯ เสนอให้ประชาชนต้องสแกนลายนิ้วมือและใบหน้าในระหว่างการซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่เหมือนกับการทำหนังสือเดินทาง ส่วนตัวไม่แน่ใจว่ามีประเทศใดใช้แนวทางนี้อยู่บ้าง หากมีการนำมาตรการนี้มาใช้ทั่วประเทศจะเป็นการดำเนินการเกินสมควรหรือไม่ และจะขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่อย่างไร

     “ลำพังเพียงแค่มีบัตรประชาชนก็สามารถบอกอะไรได้ทุกอย่างแล้ว เช่นเดียวกับข้อเสนอที่มีการตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อดูว่าใครเป็นเจ้าของบ้าง คิดว่าเหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน เพราะผู้ให้บริการได้ให้ผู้ใช้ลงทะเบียนและมีการควบคุมผู้ใช้อยู่แล้ว” พลเอกเลิศรัตน์ให้ความเห็น

     ด้านนายกษิต ภิรมย์ กล่าวว่า การที่ไทยจะไปเจรจากับบริษัทกูเกิล หรือแอปเปิ้ล ต้องยอมรับว่าเป็นไปได้ลำบาก เพราะอำนาจต่อรองของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสายตาของพวกเขา

     “ผมอยากให้ทบทวนทั้งหมด เพราะผมอ่านเอกสารแล้ว ผมจับไม่ได้ว่าหัวใจของเรื่องจริงๆ นั้นจะแก้ปัญหาการใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างไร” นายกษิตอภิปรายในที่ประชุม

     คงต้องจับตามองกันต่อไปว่าบทสรุปของมาตรการเหล่านี้จะเป็นอย่างไร เสียงตอบรับต่อเรื่องนี้ของภาคประชาสังคมต่างๆ จะออกมาในทิศทางไหน และที่สำคัญคือจะสามารถแก้ปัญหาการใช้โซเชียลมีเดียในทางที่ผิดอย่างที่หวังไว้ได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ รายงานฉบับนี้น่าจะช่วยสะท้อนมุมมองของภาครัฐที่มีต่อเทคโนโลยียุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

 

FYI

สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ทาง edoc.parliament.go.th

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X