×

ใช้ ‘สมาร์ตการ์ด’ แทน ‘ใบสุทธิ’ หวังจัดระเบียบสงฆ์-พระปลอม รัฐมาถูกทางหรือไม่?

14.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 mins read
  • อีก 3 เดือนนับจากนี้ นโยบายจัดทำบัตรสมาร์ตการ์ดสำหรับพระสงฆ์น่าจะเป็นรูปธรรมออกมาให้สาธารณชนได้รับรู้
  • หลายฝ่ายมองเจตนาดีของรัฐที่ต้องการให้มีระบบที่ตรวจสอบพระได้อย่างละเอียดรอบคอบมากขึ้นกว่าการใช้ใบสุทธิ แต่ก็มีความกังวลในขั้นปฏิบัติ และ กังวลต่อพื้นที่จับตามอนิเตอร์ของรัฐในอนาคต

     “คาดว่าภายใน 3 เดือนจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น” คือควาบคืบหน้าล่าสุดกรณีทำบัตรสมาร์ตการ์ดพระสงฆ์แทนใบสุทธิจาก ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ภายหลังการประชุมหารือกับมหาเถรสมาคม (มส.)

     ขณะเดียวกันออมสินยืนยันว่า จะไม่มีการยกเลิกใบสุทธิ หรือบัตรประจำตัวพระเดิมแต่อย่างใด

     ที่ผ่านมา หากไม่นับเรื่องบัตรสมาร์ตการ์ดพระ ก็ยังมีอภิมหาบัตรที่ผ่านหูผ่านตาคนที่ติดตามข่าวอย่าง บัตรคนจน หรือบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กระทั่งมาถึงบัตรประจำตัวพระสงฆ์ ที่กำลังเป็นประเด็นในวงการพุทธศาสนาตอนนี้

 

หวังรวบพระสงฆ์ 298,580 รูปเข้าระบบ

     4 กรกฎาคม 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการติดตามการดำเนินงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 49/2559 เรื่องมาตรการอุปถัมถ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย ด้วยการให้ทำบัตรประจำตัวพระรูปแบบใหม่ หรือ ‘บัตรสมาร์ตการ์ดพระสงฆ์’ แทนใบสุทธิที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งจะสามารถบันทึกข้อมูลประวัติของพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบพระสงฆ์ที่อาจมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมามีข่าวในทำนองนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหนังสือสุทธิก็ถูกปลอมแปลงได้ง่าย

     แนวทางหนึ่งที่รัฐบาลเตรียมนำมาใช้คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้สำหรับการจัดทำข้อมูลและเก็บประวัติพระสงฆ์ด้วยการทำบัตรดังกล่าว ซึ่งแนวคิดเบื้องต้นหน้าตาจะคล้ายๆ กับบัตรประจำตัวประชาชนที่ฆราวาสใช้กันอยู่ทั่วไป และจะมี IC Chip หรือหน่วยความจำที่บันทึกข้อมูลสำคัญของพระสงฆ์แต่ละรูป

 

     บัตรสมาร์ตการ์ดพระจะบันทึกข้อมูลสำคัญๆ ของพระสงฆ์แต่ละรูปคือ

     – ประวัติส่วนตัว (สถานะเดิม)

     – เริ่มบวชเมื่อใด (วันที่อุปสมบท)

     – วัดที่จำพรรษา

     – ข้อมูลการสอบเปรียญธรรม

     – การเลื่อนสมณศักดิ์

     – ประวัติอาชญากรรม

     – เคยสึก หรือกลับมาบวชอีกหรือไม่

 

     ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้สามารถตรวจสอบประวัติพระรูปนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากใบสุทธิที่ใช้ปัจจุบันนี้เป็นบัตรกระดาษ ไม่สามารถบันทึกข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน โดยเบื้องต้นจะนำมาใช้กับพระชั้นผู้ใหญ่และพระที่บวชมากกว่า 1 ปี

     จากรายงานข้อมูลพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา ประจําปี 2559 ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพระสงฆ์ทั้งมหานิกายและธรรมยุต จำนวน 298,580 รูป ซึ่งทั้งหมดในอนาคตจะต้องเข้าสู่ระบบนี้ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงมหาดไทย เป็นแม่งานหลัก

การจะไปยกเลิกหนังสือสุทธินั้น ไม่เห็นด้วยเลยอย่างยิ่ง ต้องใช้ควบคู่กันไป แถมต้องไปปรับปรุงหนังสือสุทธิให้ดีกว่านี้ด้วย เพราะกระดาษบางมาก เสียหายได้ง่าย

Photo: PORNCHAI/AFP

แนะใช้สมาร์ตการ์ดคู่กับหนังสือสุทธิ

     ในเรื่องดังกล่าว แม้ฝ่ายรัฐจะเข้ามาเป็นผู้จัดการ โดยผ่านการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมหาเถรสมาคมแล้วก็ตาม ในส่วนของพระชั้นผู้ใหญ่ อย่าง พระเทพปฏิภาณวาที หรือเจ้าคุณพิพิธ วัดสุทัศนเทพวราราม แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ต่อ THE STANDARD ว่า การทำบัตรสมาร์ตการ์ดของพระนั้น รัฐคงมีเจตนาดีที่จะเข้ามาจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อวงการพุทธศาสนา แต่ขณะเดียวกัน ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ต้องได้รับการอธิบาย

     “ปัญหาคือพระที่บวชในช่วงสั้นๆ จะจัดการอย่างไร ให้ใช้หนังสือสุทธิไปก่อนใช่ไหม แล้วรายละเอียดที่ว่าบวช 1 ปีแล้วค่อยมีสมาร์ตการ์ด แสดงว่าก่อนหน้านั้นต้องมีมาตรการเข้ามาดูแลพระด้วย แล้วจะทำอย่างไร”

     นอกจากรายละเอียดการตรวจสอบพระที่เป็นข้อกังวลในอนาคตแล้ว เจ้าคุณพิพิธ ยังกังวลว่า บัตรสมาร์ตการ์ดนั้นจะถูกนำไปตรวจสอบอย่างไร ต้องเชิญพระไปยังสถานที่ที่หน่วยราชการมีเครื่องอ่านบัตรใช่หรือไม่ หรือว่าจะมีเครื่องอ่านบัตรให้กับพระในสายปกครอง

     “แต่ที่อาตมาคิดว่าน่าจะไปด้วยกันได้คือ การใช้บัตรสมาร์ตการ์ดควบคู่ไปกับหนังสือสุทธิ หรืออาจจะขอแนะนำเพิ่มเติมเหมือนการใช้ระบบตรวจลงตราวีซ่า คือไปเพิ่มหน้าในหนังสือสุทธิที่มันมีหน้าน้อยมาก แล้วเวลาพระบวช หรือย้ายวัด ก็ใช้วิธีเปลี่ยนแปลงประทับตราเอา เหมือนระบบวีซ่า”

     ส่วนความกังวลเรื่องคดีความว่าไปทำผิดร้ายแรง มีประวัติอาชญากรรม แล้วจะมาบวชนั้น เจ้าคุณพิพิธมองว่าก็เป็นเรื่องดีที่มีการตรวจสอบ แต่พุทธศาสนาก็พร้อมบวชให้ได้สำหรับผู้ที่กลับตัวกลับใจ

     “บัตรประชาชนพระก็ทำได้อยู่แล้ว ทำไมไม่เอาไปเพิ่มรายละเอียดในบัตรประชาชนแทนที่จะมาทำใหม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ส่วนการจะไปยกเลิกหนังสือสุทธินั้น ไม่เห็นด้วยเลยอย่างยิ่ง ต้องใช้ควบคู่กันไป แถมต้องไปปรับปรุงหนังสือสุทธิให้ดีกว่านี้ด้วย เพราะกระดาษบางมาก เสียหายได้ง่าย

รัฐก็เข้ามามอนิเตอร์ มาควบคุมนั่นแหละ แล้วปัญหาพระปลอมที่เข้ามาหาประโยชน์ก็มีเยอะมาก

Photo: MADAREE TOHLALA/AFP

พระต้องปรับตัวตามโลก รัฐหวังมอนิเตอร์ แต่ต้องน่าไว้ใจ

     “ถ้าจะมองก็คือ รัฐก็เข้ามามอนิเตอร์ มาควบคุมนั่นแหละ แล้วปัญหาพระปลอมที่เข้ามาหาประโยชน์ก็มีเยอะมาก และหากสามารถพัฒนาไปถึงขั้นมีแอปฯ ได้ ใส่หมายเลขประจำตัวพระ แล้วข้อมูลขึ้นมาเลยก็จะดีมาก ขณะเดียวกันพระก็อยู่ในโลกสมัยใหม่ ก็ต้องปรับตัวตามโลกในบางเรื่องมากขึ้น”

     คือความคิดเห็นจาก รศ. ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ อาจารย์ประจำโครงการปริญญาโท สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อถูกถามเกี่ยวกับห้วงเวลาและบริบทสังคมไทยที่มักเกิดคำถามเรื่องความ ‘ไว้วางใจ’ ในเรื่องแบบนี้อยู่มาก

     ขณะเดียวกันมีผู้สงสัยไม่น้อยไปกว่ากันว่า นอกเหนือจากความพยายามในการจัดระเบียบพระสงฆ์ด้วยวิธีการนี้ เพื่อให้มีความรอบคอบ รัดกุม หวังป้องกัน ‘มารศาสนา’ เข้ามาหาประโยชน์ในคราบผ้าเหลือง จะมีนัยยะอื่นด้วยหรือไม่

     รศ. ดนัย มองเห็นข้อดีของเรื่องนี้เช่นกันว่า การทำบัตรสมาร์ตการ์ดจะช่วยให้ระบบการตรวจสอบคนที่เข้ามาบวชได้ดีมากขึ้น และเคยเสนอในงานวิจัยเมื่อหลายปีมาแล้ว

     เมื่อถามถึงนัยยะการควบคุมหรือจัดระเบียบจากรัฐ รศ. ดนัย มองว่าเป็นเรื่องปกติมากในสังคมทั่วไป โดยเฉพาะสังคมบ้านเราที่จะต้องมีการเข้ามาควบคุม หากมองว่าพระคือประชาชนของรัฐ ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายรัฐจะต้องเข้ามาดำเนินการแบบนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะลำพังใบสุทธิซึ่งเป็นบัตรกระดาษก็ไม่สามารถระบุข้อมูลหรือรายละเอียดได้มากเท่าบัตรสมาร์ตการ์ด

     ด้าน พล.ท. ดร. พงศกร รอดชมภู อดีตนายทหารและอดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มองในมิติความมั่นคงว่า เรื่องนี้จะไม่มีปัญหาต่อคำถามเรื่องความ ‘ไว้วางใจ’ หากโครงการลักษณะนี้เกิดขึ้นในบรรยากาศบ้านเมืองประชาธิปไตย พูดง่ายๆ ก็คือคนรู้สึกไว้ใจรัฐมากกว่า ขณะที่มองว่าตัวโครงการนี้โดยเนื้อหาถือว่าเป็นเรื่องดีมาก

     ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ยืนยันว่า  บัตรสมาร์ตการ์ดของพระจะสามารถรวบรวมข้อมูลต่างๆ ได้ดีกว่าใบสุทธิอย่างแน่นอน เช่น ข้อมูลการสอบเปรียญธรรม หรือกรณีสึกแล้วมาบวชใหม่ รวมถึงการหมดจากความเป็นพระในกรณีอื่นด้วย

 

จับตาช่องทางคอร์รัปชัน บทเรียนการจัดทำสมาร์ตการ์ดในอดีต

     ข้อมูลจากหนังสือ เมนูคอร์รัปชันและการแสวงหาผลประโยชน์ เมื่อปี 2557 ที่เรียบเรียงจากโครงการ ‘คู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชันและการแสวงหาผลประโยชน์’ โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า รัฐบาลดำเนินโครงการบัตรประชาชนสมาร์ตการ์ดโดยไม่มีการเตรียมความพร้อมเรื่องระบบข้อมูล จากเดิมที่มุ่งหวังจะใช้บัตรประชาชนสมาร์ตการ์ดเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อมูลระบบทะเบียนราษฎร์ ข้อมูลระบบประกันสุขภาพ ข้อมูลระบบประกันสังคม ฯลฯ แต่จากความไม่พร้อมดังกล่าว ทำให้ข้อมูลอื่นๆ นอกจากข้อมูลระบบทะเบียนราษฎร์ไม่ได้ถูกบรรจุลงในบัตร ส่งผลให้บัตรประชาชนสมาร์ตการ์ดไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น ซึ่งแทบไม่ต่างจากบัตรประชาชนแถบแม่เหล็กแบบเดิมที่มีราคาเพียงใบละประมาณ 15 บาท รวมถึงเรื่องการกำหนดเงื่อนไขการประมูลไว้สูง โดยมิใช่เงื่อนไขด้านเทคนิค ทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลมีน้อยราย ขาดการแข่งขันอย่างทั่วถึง

     ตัวอย่างเช่น ในช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการบัตรประชาชนสมาร์ตการ์ดทั้ง 3 รุ่น ระหว่างปี 2547-2552 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต้องจัดซื้อบัตรแถบแม่เหล็กเพื่อใช้ทำบัตรประชาชนอย่างน้อย 21 ล้านใบ คิดเป็นงบประมาณกว่า 320 ล้านบาท

     สำหรับโครงการอภิมหาบัตรต่างๆ น่าจะเป็นความท้าทายของรัฐบาลในการจัดการไม่ให้ซ้ำรอยเดิม นับต่อจากนี้อีก 3 เดือน คงจะได้เห็นหน้าตาที่รัฐมนตรีบอกว่าจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น

     จากนั้นคงต้องมาตรวจสอบ ตั้งคำถามกันอีกที ตามนโยบายการใช้นวัตกรรมของรัฐที่จะนำประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0

ตัวอย่างใบสุทธิ

 

อ้างอิง:

FYI
  • ใบสุทธิ หมายถึงเอกสารที่แสดงความบริสุทธิ์ของภิกษุสามเณรว่าเป็นภิกษุสามเณรที่ถูกต้องตามพระวินัย เหมือนบัตรประจำตัวประชาชน หากมีลักษณะเล่มขนาดเล็กสำหรับพกติดตัวได้ ในภาษาหนังสือเรียกว่า หนังสือสุทธิ หรือสุทธิบัตร
  • ใบสุทธิจะระบุรายละเอียด เช่น ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิด นามบิดามารดา วันเดือนปีที่บวช สังกัดที่อยู่ การย้ายสังกัด การเปลี่ยนแปลงชื่อ
  • พระอุปัชฌาย์เป็นผู้ออกหนังสือสุทธิให้ มีพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะอำเภอขึ้นไปลงลายมือชื่อและประทับตราประจำตำแหน่งรับรอง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising