×

วุ่นทุกเวที! เกิดอะไรขึ้นกับประชาพิจารณ์บัตรทอง จะเดินหน้าหรือควรถอย

22.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ภาพรวมประชาพิจารณ์บัตรทอง 4 เวทีเปิด 1 เวทีเสวนา บรรยากาศเต็มไปด้วยความวุ่นวาย แต่ได้ความเห็นประชาชนมากกว่า 1,600 ความคิดเห็น ผู้จัดเวทีพึงพอใจ แต่กลุ่มคัดค้านยืนยันว่าไม่มีความเป็นธรรม
  • นายแพทย์สุธีร์ รัตนะมงคลกุล ระบุความวุ่นวายที่เกิดมองได้ 2 มุม ผู้จัดเวทีอาจมองว่ามีพื้นที่ให้คุยแต่ไม่มาคุยเอง แต่ผู้คัดค้านอาจมองว่าการคัดค้านนอกเวทีเป็นการใช้อำนาจในการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย
  • ผู้จัดเวทีประชาพิจารณ์เผย ถึงจะมีคนคัดค้าน แต่ก็เป็นเพียงบางส่วน เพราะเสียงของประชาชน 1,600 เสียงก็มีความหมายไม่แพ้กัน ยืนยันว่าเวทีที่จัดมีความชอบธรรมเพียงพอแล้ว
  • ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชี้แจง 4 ประเด็นเห็นร่วม 5 ประเด็นเห็นต่าง และ 7 ประเด็นแก้แล้วดีขึ้น พร้อมคาดหวังจะได้เห็นกระบวนการที่ทำให้ความเห็นต่างกลายเป็นความเห็นร่วมโดยไม่รวบรัดตัดตอน

     ส่อล่ม! ภาคประชาชนไม่พอใจเวทีแก้กฎหมายบัตรทอง

     จับตาป่วน เวทีประชาพิจารณ์บัตรทอง

     เวที พ.ร.บ. บัตรทองป่วน! ยังเริ่มถกไม่ได้

     สุดวุ่น ‘บัตรทอง’ ภาคประชาชนต้าน

     ไร้ข้อสรุป… ‘บัตรทอง’

 

     นี่คือตัวอย่างพาดหัวข่าวที่เกิดขึ้นในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ…. หรือกฎหมายบัตรทอง เวทีแรกที่สงขลา ไล่เรียงมาจนถึงเวทีที่เชียงใหม่ ขอนแก่น และกรุงเทพฯ ก่อนจะปิดท้ายด้วยเวทีเสวนา ‘แก้กฎหมายบัตรทอง ประชาชนได้อะไร’ ที่ผ่านไปเมื่อวานนี้

     4 เวทีเปิด และอีก 1 เวทีปิด เรียกว่าไม่มีเวทีไหนที่ไม่มีความวุ่นวาย บางเวทีมีการวอลก์เอาต์กลางคัน บางเวทีถึงขั้นเกือบถูกล้ม และบางเวทีบรรยากาศภายในห้องจัดประชาพิจารณ์เป็นไปอย่างโหรงเหรง

     เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการรับฟังความเห็นที่ รศ. วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า “ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นกฎหมายฉบับไหนเปิดเวทีกว้างขนาดนี้” (อ้างอิง:  www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000063332)

     เปิดกว้างจริงหรือไม่ กระบวนการที่ผ่านมามีความเป็นธรรมพอที่จะเดินหน้าต่อไปหรือเปล่า THE STANDARD พยายามรวบรวมข้อสรุปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้คุณเป็นผู้ตัดสิน

ชาวบ้านเขาให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง คือ โง่ จน เจ็บ

หมายถึงการศึกษาของลูก อาชีพรายได้ และความเจ็บป่วย

นี่คือ 3 อย่างที่เขาต้องพยายามรักษามันไว้

ถ้าคุณมาทำให้องค์ประกอบใดมันเสียหายไป ใครเขาจะยอมได้

 

ผู้จัดเวทีพอใจ ได้รับ 1,600 ความเห็นที่หลากหลาย

     สำหรับภาพรวมของการเปิดเวทีรับฟังความเห็น 4 ภาค และเวทีปิด 1 ครั้ง นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณากฎหมายบัตรทอง เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่าที่ผ่านมาได้มีการเปิดช่องทาง และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อนำไปปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยได้ออกแบบกระบวนการรับฟังในรูปแบบที่หลากหลายผ่านทางออนไลน์ เวทีรับฟังความเห็น 4 ครั้ง โดยได้รับความคิดเห็นจากประชาชนจำนวนมาก

     แบ่งเป็นช่องทางออนไลน์ประมาณ 850 ความคิดเห็น และผ่านเวทีประชาพิจารณ์ 750 ความคิดเห็น รวมแล้วกว่า 1,600 ความคิดเห็น ซึ่งส่วนตัวพอใจมากกับความเห็นที่ได้รับอย่างหลากหลาย นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เติมเต็มความคิดเห็นทั้ง 1,600 ความเห็น ที่ได้รับในเวทีเสวนาปิดที่จัดขึ้นเมื่อวานนี้ด้วย

     “งานของผม เป้าหมายของผม คือได้เปิดโอกาส เปิดช่องทางให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ผมก็ได้บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว ส่วนความเห็นที่ได้มาผมก็ต้องรวบรวมและประมวลความเห็นเหล่านั้นอย่างรอบคอบ รอบด้าน ผมก็ได้ส่วนนี้มาแล้ว ถือว่าจบหน้าที่ของผม และบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้”

คุณให้คุณค่ากับเสียงที่เห็นต่างจริงหรือเปล่า ถ้าคุณให้ค่ากับมัน

คุณก็ต้องให้เวลา ซึ่งมันไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยในเวทีที่จัดขึ้นแน่นอน

 

วอล์กเอาต์เท่ากับไม่ชอบธรรม?

     ตัดภาพกลับไปที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่ถือเป็นแกนนำในการคัดค้านกระบวนการรับฟังความเห็นในทุกๆ เวทีกลับมองตรงกันข้ามว่า เวทีที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่มีความชอบธรรมที่เพียงพอ โดย นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เปิดเผยว่า

     “ในมุมมองของคนรักหลักประกันสุขภาพ เราพยายามจะไปแสดงความคิดเห็นว่าเราไม่เห็นด้วยกับกระบวนการรับฟังความเห็นตั้งแต่แรก ตั้งแต่ขั้นตอนการแก้กฎหมาย การกำหนดวิธีการรับฟังความเห็นที่ให้ลงทะเบียนออนไลน์ก่อนเข้าร่วม และจัดเวทีในแต่ละภาคที่ไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึง ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงมีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพไปอธิบายว่าไม่เห็นด้วยยังไง แล้ววอล์กเอาต์ออกจากห้อง หรือขอให้เขายุติเวที ทั้งที่สงขลา ขอนแก่น และเชียงใหม่ ส่วนเวทีที่กรุงเทพฯ เป็นเวทีที่เราไม่เข้าร่วมสังฆกรรมเลย พยายามเรียกร้องอยู่ข้างนอก และบอกเขาว่ากระบวนการทั้งหมดไม่ถูกต้อง”

     เมื่อถามว่าทำไมถึงเลือกวิธีการวอล์กเอาต์ หรือพยายามจะทำให้เวทียุติ นิมิตร์อธิบายว่า วิธีการส่งเสียงของประชาชนมีหลายวิธี ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามพูดคุยและให้ข้อมูลไปแล้วในกระบวนการแก้ไข โดยมีตัวแทน 2 คนจากทางกลุ่มเข้าไปเป็นคณะกรรมการแก้ไขร่างฯ แต่กลับพบว่าไม่ได้รับการรับฟังเท่าที่ควร ส่วนกระบวนการรับฟังที่เกิดขึ้นส่วนตัวมองว่าเป็นการจำกัดประชาชนมากจนเกินไป ถ้าเข้าร่วมก็เท่ากับว่าทางกลุ่มกำลังให้ความชอบธรรมกับกระบวนการที่เกิดขึ้น

     “การเข้าไปร่วมก็เท่ากับเป็นการไปแสตมป์ให้กระบวนการนี้มีความชอบทำ ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นการรับฟังอย่างจำกัด ถ้ามันไม่ได้เรื่องเราก็ต้องไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง เลยต้องเลือกวิธีที่ดูเหมือนจะรุนแรง แต่ไม่ได้มีความรุนแรง เพียงแต่เป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเท่านั้นเอง”

 

 

     ด้าน นายแพทย์สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะที่มีโอกาสเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นที่กรุงเทพฯ ระบุว่า บรรยากาศในการรับฟังความเห็นที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นเวทีที่ให้คนมาถกเถียง หรือดีเบตกันต่อ ไม่มีประเด็นที่ชัดเจนที่จะหาข้อยุติร่วมกัน

     “เหมือนมีคนพยายามจะชู้ตลูกแล้วอีกฝ่ายก็เตรียมตบทันที พอประเด็นไม่ชัดเจนแล้วเปิดเวทีแบบนี้ เสียงที่ได้จึงมีความแตกต่างกันมาก เหมือนต่างฝ่ายต่างพยายามจะเอาชนะกันโดยไม่มีพื้นที่ตรงกลางสำหรับการพูดคุย”

     ส่วนความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในทุกเวที นายแพทย์สุธีร์เปิดเผยว่า เรื่องนี้มองได้ 2 มุม

     “ถ้ามองในฝั่งของคนจัดประชาพิจารณ์ก็อาจจะมองว่าพวกคุณเป็นเด็กดื้อ มีพื้นที่ให้คุย ก็ไม่มาคุย แล้วอย่างนี้จะไม่เรียกว่าให้พื้นที่ได้ยังไง แต่ถ้ามองอีกฝั่งก็อาจจะเห็นว่าผู้จัดมีธงในใจอยู่แล้ว ต่อให้พูดไปแต่พอไปถึงกระบวนการแก้ไขก็มีตัวแทนแค่ 2 คน เพราะฉะนั้นก็ไม่มีประโยชน์ที่จะเสียน้ำลายพูดในเวทีนี้ ส่วนเวลาที่ให้คนละ 3 นาที ก็มีความรวบรัดตัดความ กว่าชาวบ้านจะเรียบเรียงความคิดได้ก็เลย 3 นาทีไปแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทุกคนรู้ว่ามันเป็นพิธีกรรม และการเข้าร่วมก็เหมือนกับไปแสตมป์ให้กระบวนการนี้มันผ่านไปได้ เขาก็เลยไม่อยากทำให้พิธีกรรมนี้มันมีความเรียบร้อยไป

     “อำนาจชาวบ้านมีแค่ตัวเขาที่จะไปนั่งอยู่ตรงนั้นหรือไม่ไปตรงนั้น นี่คืออำนาจที่เขามี เขาก็ต้องใช้อำนาจนี้แหละในการแสดงออก”

     ด้านนายแพทย์พลเดชยืนยันว่า กระบวนการรับฟังความเห็นที่เกิดขึ้นมีความชอบธรรมอย่างแน่นอน เพราะกลุ่มคนที่คัดค้านก็มีจำนวนหนึ่ง แต่เสียงของประชาชนอีก 1,600 เสียง ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

     “กฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับคน 48 ล้านคน ประชาชนมีหลายกลุ่ม กลุ่มที่ประท้วงก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีความกระตือรือร้น มีการจัดตั้ง เตรียมการมาเป็นอย่างดี และมีความเข้มแข็ง แต่ประชาชนอื่นๆ เขาไม่ได้มีการจัดตั้งแบบนี้ แต่เขาก็มีสิทธิมีเสียงของเขา เราก็ต้องเคารพในส่วนนั้นด้วย เพราะฉะนั้นจะไปบอกว่าการต่อต้านของคนกลุ่มนี้จะหมายความว่าคนทั้งประเทศไม่เอาด้วย ไม่ชอบธรรม จะสรุปอย่างนั้นไม่ได้ มันเป็นการสรุปที่ง่ายเกินไป

      “ก็ต้องยอมรับว่ามีคนกลุ่มหนึ่งแหละครับที่ต่อต้าน อยากจะล้มกระบวนการ อันนี้ไม่ว่ากัน แต่ประชาชนส่วนอื่นๆ เขาไม่ได้คิดอย่างนั้นไปทั้งหมด สื่อมวลชนเองก็ต้องให้ความเป็นธรรมตรงนี้ด้วย ไม่ใช่ว่าใครเสียงดังก็จะเอนไปตามนั้น”      

 

 

บรรยากาศเหมือนภาวะสงคราม

     สำหรับบรรยากาศในเวทีแสดงความเห็นต่อกฎหมายบัตรทอง นิมิตร์มองว่าเหมือนภาวะสงคราม เพราะเต็มไปด้วยทหารและตำรวจกระจายกำลังอยู่ทั่วบริเวณ และสั่งห้ามประชาชนไม่ให้ชูแผ่นป้าย ไม่ให้แสดงความคิดเห็น ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม

     “บรรยากาศแบบนี้มันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลกลัวความเห็นต่าง หรือไม่มีวิธีการที่จะทำให้ความเห็นต่างนำไปสู่ความเห็นร่วม แต่ใช้วิธีปิดกั้นว่าคุณต้องเข้ามาอยู่ในกระบวนการของเราเท่านั้น ตามกติกาที่วางไว้เท่านั้น ถ้าไม่เข้ามาร่วมตามที่กำหนด เท่ากับเป็นคนเลว คือมีความพยายามจะสร้างภาพแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งเรามองว่าถ้าไม่เห็นด้วยกับกระบวนการ เราก็ต้องมีสิทธิที่จะพูดหรือแสดงออกในเรื่องนี้”

     ด้านนายแพทย์สุธีร์ระบุว่า บรรยากาศภายในห้องรับฟังความเห็นที่เวทีกรุงเทพฯ เป็นไปอย่างโหรงเหรง เพราะมีเพียงข้าราชการระดับสูงนั่งอยู่ด้านหน้า ชาวบ้านนั่งอยู่ด้านหลัง ส่วนตรงกลางเป็นพื้นที่โล่งที่ไม่มีใครนั่ง และมีประชาชนบางกลุ่มปักหลักคัดค้านอยู่หน้าห้องรับฟังความเห็น

     ส่วนนายแพทย์พลเดชมองว่าเป็น การวอล์กเอาต์ ความพยายามจะล้มเวทีรับฟังความเห็นเป็น ‘สีสัน’ และถือเป็นเรื่องดีที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง ส่วนตัวในฐานะผู้ควบคุมเวทีถือว่ายอมรับได้ ไม่ได้ต่อต้าน หรือตำหนิกลุ่มคัดค้านในเรื่องดังกล่าว เพราะถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้

 

 

เดินหน้าต่อหรือควรถอย?

     ด้านความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพหลังร่างกฎหมายบัตรทองผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นครบถ้วนแล้ว ล่าสุดทางกลุ่มได้ออกหนังสือชี้แจงถึง 4 ประเด็นเห็นร่วม 5 ประเด็นเห็นต่าง และ 7 ประเด็นสำคัญแก้แล้วดีขึ้น โดยสรุปประเด็นที่ทางกลุ่มเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว พร้อมเสนอประเด็นเพิ่มเติมที่จะทำให้กฎหมายนี้เป็นที่ยอมรับของทางกลุ่มมากขึ้น นอกจากนี้นิมิตร์ยังคาดหวังว่าจะได้เห็นกระบวนการที่ทำให้เกิดความเห็นร่วม ซึ่งต้องเป็นกระบวนการที่ไม่รวบรัด ให้เวลาถกเถียงกันอย่างเต็มที่ และมีการศึกษาข้อมูลกันอย่างรอบด้าน

     “เราไม่เคยบอกว่าเขาต้องเห็นด้วยกับเราเท่านั้น แต่ในเมื่อเห็นต่างก็ต้องหากระบวนการมาทำให้เกิดความเห็นร่วม มันมีวิธีการที่เคยทำกันมา เช่น พอคุยกันหลายๆ ฝ่ายแล้วความเห็นมันต่างกันมาก ก็หยิบประเด็นเหล่านั้นมาจัดวงพูดคุยเฉพาะ เปิดห้องเจรจากันหลายๆ รอบ สุดท้ายก็กลายเป็นข้อยุติที่ทุกฝ่ายรับได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณให้คุณค่ากับเสียงที่เห็นต่างจริงหรือเปล่า ถ้าคุณให้ค่ากับมัน คุณก็ต้องให้เวลา ซึ่งมันไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยในเวทีที่จัดขึ้นแน่นอน

 

 

     ด้านนายแพทย์สุธีร์เสนอว่า รัฐบาลควรยอมถอยหลังในเรื่องนี้ ก่อนจะเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น เพื่อลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

     “ผมว่าต้องถอยแล้วล่ะ ตอนนี้สมัชชาคนจนก็เริ่มขยับแล้วนะ ขืนเดินต่อไปรัฐบาลจะอยู่ยาก เพราะชาวบ้านเขาให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง คือ โง่ จน เจ็บ หมายถึงการศึกษาของลูก อาชีพรายได้ และความเจ็บป่วย นี่คือ 3 อย่างที่เขาต้องพยายามรักษามันไว้ ถ้าคุณมาทำให้องค์ประกอบใดมันเสียหายไป ใครเขาจะยอมได้

     “ขณะที่รัฐบาลก็ต้องการความสงบ อย่าออกมาประท้วง แล้วมันจะเป็นยังไงต่อไป ผมว่าต้องถอย แล้วมาคุยกันว่ากระบวนการที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันควรจะเป็นยังไง ยังไม่ต้องคุยกันเรื่องเนื้อหานะ แต่คุยเรื่องกระบวนการให้จบก่อน เพราะ พ.ร.บ. นี้ร่างกันมานาน แล้วคุณจะมาแก้ภายในไม่ถึง 2 เดือน จะรวบรัดให้เสร็จในพรุ่งนี้ มะรืนนี้ มันไม่เกินไปเหรอ”

     ทั้งนี้หลายเสียงจากฟากฝั่งรัฐบาลยืนยันว่าอย่างไรก็จะต้องเดินหน้าในเรื่องนี้ต่อแน่นอน ถึงตอนนี้คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าคอยจับตาดูว่าร่างแก้ไขที่กำลังจะออกมานั้นเป็นไปในทิศทางไหน รับฟังเสียงสะท้อนมากน้อยเพียงใด แต่เมื่อเริ่มต้นยัง ‘ส่อเค้าวุ่น’ ขนาดนี้ ใครจะรับประกันได้ว่าเมื่อกฎหมายใหม่ออกมาจะไม่วุ่นวายไปมากกว่านี้ อย่างที่นายแพทย์สุธีร์ทิ้งท้ายว่า

     “การรับรู้ของชาวบ้านก็เหมือนคลื่นที่จะกระทบฝั่ง ซึ่งต้องใช้เวลากว่าที่ยอดคลื่นจะมาถึงตัวเขา ความโกลาหลจะเกิดขึ้นก็วันที่เขาต้องไปโรงพยาบาลแล้วจ่ายเงินนี่แหละ แล้วตอนนั้นมันจะวุ่นวายขนาดไหน”

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

Photo: กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ/Facebook

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising