×

‘ทางเชื่อมแยกปทุมวัน’ ตามไปดูแลนด์มาร์กใหม่สยาม ที่ยังไม่มีชื่อทางการ

08.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • กลุ่มพันธมิตรพลังสยาม (Siam Synergy) รวมตัวกันปรับปรุงทางเชื่อมแยกปทุมวัน เพื่ออำนวยความสะดวกเนื่องจากของเดิมคับแคบ ทุ่มงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท และจะส่งมอบให้กทม. ดูแลต่อไป ย้ำว่านี่คือการคืนกำไรแก่สังคม
  • ชูการก่อสร้าง ด้วยแนวคิดการออกแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) เพื่อคนทุกกลุ่มรวมถึงผู้สูงอายุและบุคคลทุพพลภาพ
  • ขณะที่ทางเชื่อมแยกปทุมวัน มีแรงบันดาลใจจากชื่อสี่แยกปทุมวัน สะท้อนออกมาเป็นงานศิลป์ Abstract รูปใบบัวลอยอยู่กลางสระน้ำ ผอ. หอศิลปวัฒนธรรมแห่ง กรุงเทพมหานคร มองว่าเป็นผลดีต่อพื้นที่สร้างสรรค์งานศิลป์ในอนาคต
  • ลานลอยฟ้าแห่งนี้ ยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ

     เปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับ ‘ทางเชื่อมเดินลอยฟ้าแยกปทุมวัน’ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างเป็นเวลายาวนานกว่าปีครึ่ง ตอนนี้พร้อมให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ใช้งาน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางสัญจรไปมา โดยเชื่อมระหว่างอาคารใหญ่ 4 ด้าน คือ หอศิลปวัฒนธรรมแห่ง กรุงเทพมหานคร, ศูนย์การค้า เอ็มบีเค เซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่  และสยามสแควร์ ฝั่งโรงหนังสกาล่า เพื่อให้สามารถเดินจากบีทีเอสสยาม และสนามกีฬาแห่งชาติ ไปยังอาคารต่างๆ ได้สะดวกขึ้น

     THE STANDARD ลงพื้นที่ไปสำรวจทุกซอกมุม ว่าแลนด์มาร์กแห่งใหม่นี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ตอบโจทย์มากกว่าเป็นแค่ทางเดินหรือไม่ ได้ข้อมูลแล้วอย่าลืมแวะไปช้อป แชะ และคอมเมนต์แลนด์มาร์กแห่งใหม่นี้กัน

 

นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ขณะสัญจรใช้พื้นที่ลานลอยฟ้า

 

เพราะของเดิมคับแคบ แทบไม่พอสัญจร จึงเป็นที่มาของโครงการ

     เอ่ยชื่อว่าไป ‘สยาม’ ใครๆ ก็รู้ได้ในทันที่ว่า ย่านนี้ถือเป็นย่านที่เป็นหัวใจสำคัญของกรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจความเจริญทางด้านเศรษฐกิจการค้า การศึกษา ศิลปะ นวัตกรรม ที่ได้รับความนิยมจากคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเสมอมา

     สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วย วัยทีน วัยทอล์ก แห่กันมาอวดแฟชั่นตามสมัยนิยมกันคึกคัก ว่ากันว่าอยากรู้ว่าเทรนด์ไหน อะไรกำลังมา ต้องแวะมาเดินเตาะแตะที่นี่ แล้วจะรู้ว่าตัวเอง พลาดหรือขาดสีสันอะไรไปบ้าง นี่ยังไม่นับรวมจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทวีคูณเป็นดอกเห็ด

 

 

     ปัจจุบันก็ยังมีจำนวนผู้คนสัญจรไปมาในพื้นที่ย่านสยามแห่งนี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก กลุ่มพันธมิตรพลังสยาม จับมือกับกรุงเทพมหานคร และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ทำการศึกษาพบว่า สะพานลอยคนเดินบริเวณเหนือสี่แยกปทุมวัน ซึ่งเดิมเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ศูนย์การค้า เอ็มบีเค เซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่  และสยามสแควร์นั้น มีสภาพเก่าและคับแคบ ไม่สามารถรองรับการขยายตัวของปริมาณคนเดินเท้าในอนาคตที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 4.9% ต่อปี และอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 9.83% ต่อปีอีกทั้งสภาพเดิมไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุหรือผู้พิการสามารถสัญจรบนทางเชื่อมได้ทั่วถึงตลอดสี่แยก

     กลุ่มพันธมิตรพลังสยาม (Siam Synergy) พร้อมด้วยผู้ประกอบการในย่านสยาม ได้รวมตัวกันเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ จับมือหาทางพัฒนาทางเชื่อมแยกปทุมวันแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ หวังอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่สัญจรไปมาภายในย่านนี้

 

บริเวณลานตรงกลาง ที่การออกแบบให้เป็นวงกลม และมองลงไปจะเห็นรถวิ่งไปมา

 

แรงบันดาลใจจากชื่อแยก สู่ ‘อารยสถาปัตย์’ คืนกำไรสังคม

     สำหรับการออกแบบ การก่อสร้างทางเชื่อมแยกปทุมวันนี้ หัวใจสำคัญที่น่าสนใจคือ เป็นการออกแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) โดยกลุ่มพลังพันธมิตรสยาม มุ่งหวังเพื่อเป็นการคืนกำไรให้สังคม

 

ลิฟต์ให้บริการสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ

 

     การก่อสร้างครั้งนี้ ได้ทำการปรับปรุงทางเชื่อมแยกปทุมวันทั้งหมดตั้งแต่ปี 2559 ด้วยงบประมาณของเอกชน ซึ่งมีการใช้งบประมาณจำนวน 300 ล้านบาท โดยการร่วมทุนกันจากเอกชน และหลังจากนี้ กรุงเทพมหานคร จะรับมอบพื้นที่ และเป็นผู้ดูแลแลนด์มาร์กแห่งใหม่นี้ต่อไป

 

ที่มาของทางเชื่อม มาจากชื่อแยกปทุมวัน ที่มีใบบัวลอยกลางสระให้ร่มเงา

 

     ขณะที่ความตั้งใจในการสร้างสรรค์พื้นที่นั้น เน้นความสวยงาม และให้เกิดความเหมาะสมที่จะรองรับคนทุกกลุ่ม รวมถึงผู้สูงอายุและผู้ทุพพลภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และทางเชื่อมแยกปทุมวันแห่งนี้มีแรงบันดาลใจมาจากชื่อสี่แยกปทุมวัน จึงมีใบบัวเป็นร่มเงาให้คนเดินได้โดยรอบ

     ทั้งนี้ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมมือจัดพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นย่านแห่งศิลปะ (art district) เพื่อเป็นศูนย์รวมสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินไทย และต่างประเทศ จัดแสดงงานศิลปะกลางแจ้ง

 

 

     โดยได้รวบรวมศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อดังของไทยซึ่งมีชื่อเสียงในต่างประเทศ ทั้งแนวกราฟิตี้ อิลลัสเตรชัน ดรอว์อิ้ง และเพนต์ติ้ง รวมทั้งสิ้น 13 ศิลปิน ประกอบด้วย P7 หรือ พีระพงศ์ ลิ้มธรรมรงค์, รักกิจ ควรหาเวช, เมธี น้อยจินดา, ยุรี เกนสาคู, จักรกฤษณ์ อนันตกุล, TRK, Pruch Sintunava, Peap Tarr &Lisa Mam, Mauy, JECK, Floyd, และชาญณรงค์ ขลุกเอียด มาร่วมสร้างสีสันให้กับอินสตอลเลชันอาร์ตบนใบบัว ซึ่งเป็นการรวมตัวของศิลปินสตรีทอาร์ตชั้นนำของไทยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง

 

ฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนต่อทางเชื่อมแห่งนี้

     THE STANDARD ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับตัวแทนกลุ่มพันธมิตพลังสยาม ได้ข้อมูลที่มาที่ไป และเหตุผลของการก่อสร้างแล้ว คราวนี้ลองไปฟังเสียงของประชาชนที่มาใช้บริการพื้นที่ตรงนี้ดูบ้างว่าคิดอย่างไร

 

 

     นางสาวภรดา พลายงาม เธอเป็นนักศึกษาที่มาใช้บริการพื้นที่นี้เป็นครั้งแรก วันนี้เธอมากับเพื่อนอีกคน แบกกล้อง พร้อมของที่ช้อปมาพอประมาณ แล้วยิงชัตเตอร์รัวๆ เก็บภาพตามมุมต่างๆ บอกกับเราว่า รู้สึกแปลกตา และเป็นความแปลกใหม่มากๆ มีความสะดวกในการสัญจรไปมามากกว่าเดิม และรู้สึกเป็นพื้นที่ที่น่าเดินมากขึ้น เพราะสามารถเดินชมได้โดยรอบ แถมมีงานศิลปะให้ชมอีกด้วย

 

 

     ขณะที่ นักศึกษาอีกคนคือ นางสาวหทัยพันธ์ จันใด บอกกับเราว่า รู้สึกว่าร่มรื่นมากขึ้น น่ามาถ่ายภาพ แต่ขณะเดียวกันก็อยากให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวมากกว่านี้ อยากได้ต้นไม้ของจริง เธอบอกว่าเธอเห็นมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง ก็ไม่รู้ว่าจะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน แต่พอเห็นแล้วก็คิดว่า น่าจะเป็นแลนด์มาร์กที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้ใช้เวลากับพื้นที่นี้มากขึ้น ก่อนที่จะเดินไปช้อปปิ้งต่อ

 

 

     ส่วนสองสามีภรรยาชาวต่างชาติ ที่ยินดีคุยกับเรา แต่ขอสงวนชื่อและภาพถ่ายบอกว่า มากรุงเทพฯ หลายครั้งแล้ว รวมทั้งสยาม แต่มารอบนี้ก็เพิ่งมาเจอ Sky Walk แห่งนี้ ถือว่าสวยงามและแปลกใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่วงกลมตรงกลาง ที่มีลักษณะเป็นโถงให้มองลงไปข้างล่าง เห็นรถวิ่งไปมา ก็แปลกตาดี พูดแล้วทั้งคู่ก็ชวนกันไปถ่ายภาพเก็บบรรยากาศต่อ

 

ติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อสอดส่องความปลอดภัย

 

     นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยชี้แจงกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า การก่อสร้างทางเชื่อมไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ภาคธุรกิจ และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารระบบขนส่งมวลชนแล้ว ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเพื่อให้สามารถเดินทางได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องลงมาด้านล่าง คาดว่าจะรองรับประชาชนกว่า 10,000 คนต่อวัน

     “ยืนยันว่าการก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานที่ความสูง 5.50 เมตร รถสามารถวิ่งผ่านได้ จึงอยากให้มองถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก”

 

 

เสียงจาก ‘หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ’ หนึ่งในอาคารที่ได้รับประโยชน์

     คุณลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ทางเชื่อมแห่งนี้ จะช่วยให้หอศิลป์ฯ ได้รับอานิสงส์ในทางกายภาพคือ หากไปยืนอยู่ที่ลาน จะเห็นตัวอาคารเด่นชัดขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งจะทำให้ผู้คนที่สัญจรไปมารู้และเห็นว่ามีพื้นที่เกี่ยวกับการจัดแสดงงานศิลปะอยู่ตรงนี้ รูปธรรมต่อจากนี้น่าจะช่วยให้มีการเพิ่มจำนวนของคนที่จะมาเข้าชมหอศิลป์ ประมาณ 5-10% โดยจะช่วยให้คนที่ไม่รู้จักได้เข้ามาลองสำรวจสถานที่แห่งนี้

     ขณะเดียวกัน หอศิลป์ฯ ก็จะมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับงานศิลปะในอนาคต ซึ่งพื้นที่ลานตรงนี้น่าจะช่วยให้ผู้คนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงานได้อย่างสะดวกสบายขึ้น และมองว่าจะเป็นพื้นที่รวบรวมความคิดสร้างสรรค์ด้านศิลปะ และกำลังอยู่ระหว่างการหารือว่าจะมีโครงการอะไรในอนาคต และสามารถทำกิจกรรมอะไรได้บ้างที่ไม่ขัดต่อกฎระเบียบ และกติกาของการใช้พื้นที่ หวังว่าจะเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ เป็นสีสันชีวิตบางอย่าง ที่สะท้อนภาพความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ และบริเวณโดยรอบ ตั้งแต่เป็นสระในอดีตจนพัฒนาเป็นพื้นที่ธุรกิจในปัจจุบัน

 

 

     “เราไม่กังวลหากลานตรงนี้ จะถูกใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะคิดว่าก็คงเปิดพื้นที่อยู่แล้ว ที่ผ่านมาก็เจออะไรมาเยอะ แต่อย่างไรก็ตามการจะใช้พื้นที่ตรงไหนก็มีกติกาอยู่แล้ว พื้นฐานคือต้องไม่ไปกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้อื่น ต้องคำนึงถึงส่วนรวมด้วย”

 

 

‘ทางเชื่อมแยกปทุมวัน’ ที่ยังไม่มีชื่อเป็นทางการ

     มหานครทั่วโลก ล้วนแล้วแต่มีลานลอยฟ้าในย่านสำคัญ เพื่อการสัญจรที่ปลอดภัยและสะดวกสบายของประชาชนเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลัก รวมทั้งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ สร้างแรงบันดาลใจ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เช่น The High Line (นิวยอร์ก), Seoul Skygarden (กรุงโซล), Promenade Plantée (ปารีส)

     ขณะที่การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน หรือการนำเสนอข้อมูลของกลุ่มพันธมิตรพลังสยามเอง ต่างก็เรียกลานลอยฟ้านี้ว่า ทางเชื่อมแยกปทุมวัน แต่เอาเข้าจริง นั่นไม่ใช่ชื่อเรียกอย่างเป็นทงการ

     กลุ่มพันธมิตรพลังสยาม ได้มีการประกาศผ่านสื่อหลายสำนักก่อนหน้านี้มาแล้วว่า อยากจะเชิญชวนให้ประชาชนผู้สนใจมาร่วมประกวดตั้งชื่อ ‘ทางเชื่อมแยกปทุมวัน’ แห่งใหม่นี้ โดยมีเงินรางวัลให้รวมแล้วเกือบหนึ่งแสนบาท ติดตามรายละเอียดและกติกาการประกวดตั้งชื่อได้ที่ www.siam-synergy.com ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 4 กันยายน 2560 ประกาศผลวันที่ 14 กันยายน 2560 และเผยแพร่ผลงานพร้อมชื่อเจ้าของผลงานที่ได้รับรางวัลทางเว็บไซต์ดังกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising