×

นักวิชาการชี้เจตนา กสทช. ไม่ชัดเจน-ล้าหลัง เชื่อเฟซบุ๊ก-ยูทูบไม่มีวันยอมลงทะเบียน OTT

30.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • กสทช. ขีดเส้นตายให้เฟซบุ๊ก ยูทูบ เข้ามาเจรจา และแจ้งเป็นผู้ให้บริการ OTT ภายใน 22 กรกฎาคม 2560 นี้
  • นักวิชาการสื่อไม่เชื่อว่าเฟซบุ๊กและยูทูบจะยอม และชี้ว่าบทบาท-เจตนากสทช.ไม่ชัดเจน พร้อมมองว่าสิ่งที่ กสทช. ทำนั้นสวนทางกับนโยบาย Thailand 4.0 ถือเป็นการย้อนยุคอย่างแท้จริง
  • ผู้ให้บริการ OTT ท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า คนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ไม่ใช่เฟซบุ๊กหรือยูทูบ แต่คือเอเจนซีโฆษณา เพราะถูกตัดตัวกลางไป
  • THE STANDARD ติดต่อไปที่ กสทช. ได้คำตอบกลับมาว่า เรื่องนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดดูแลเต็มที่ เป็นหลายหน่วยงานช่วยกันดูแลเรื่องนี้

     จากที่ พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top (OTT) ได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางการโฆษณาผ่านผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ และการเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT สำหรับเอเจนซีโฆษณาไปเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา (อ่านต่อ โหด! กสทช. สั่งเอเจนซีระงับโฆษณา Facebook-YouTube หากสองเจ้านี้ไม่มาลงทะเบียนก่อน 22 ก.ค.)

     ประเด็นนี้เป็นที่พูดถึงในสังคมออนไลน์อย่างมาก หลากหลายคำวิจารณ์เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความพยายามควบคุมสื่อ การงดซื้อโฆษณา รวมไปถึงแพลตฟอร์มระดับโลกอย่างเฟซบุ๊กจะยอมทำตาม กสทช. แน่หรือ แล้วถ้าไม่ทำจริงๆ กสทช. จะทำอะไร แต่ยังไม่มีใครบอกอะไรได้ ต้องดูหลังเส้นตายวันที่ 22 กรกฎาคม 2560 เท่านั้นว่า กสทช. จะดำเนินมาตรการใดและอย่างไรกับเฟซบุ๊กและยูทูบ

     ล่าสุดวันที่ 29 มิถุนายน เจฟฟ์ เพน กรรมการผู้จัดการ AIC สมาคมส่งเสริมความเข้าใจและแก้ปัญหานโยบายการใช้งานอินเทอร์เน็ตในเอเชียแปซิฟิก (ประกอบไปด้วยสมาชิกอย่าง Facebook, Google, LinkedIn, Apple, Twitter รวมถึง Yahoo, Line และ Rakuten) ได้ออกมาแถลงการณ์เชิงไม่เห็นด้วยต่อนโยบายการลงโฆษณาบน OTT ของทาง กสทช. โดยย้ำว่า นโยบายดังกล่าวของ กสทช. อาจส่งผลกระทบให้ประเทศไทยถอยหลังเข้าคลอง (อ่านต่อทำให้ประเทศถอยหลัง’ ตัวแทน Facebook-YouTube โต้กลับกสทช.! ไม่เห็นด้วยกับข้อบังคับ OTT)

     ปัญหาของ กสทช. คืออะไร ใครกันแน่ที่เดือดร้อนหากมาตรการนี้ถูกใช้จริง ประเทศไทยได้ประโยชน์จริงหรือไม่ กระบวนการเช่นนี้จะขัดกับเศรษฐกิจดิจิทัล และนโยบาย Thailand 4.0 หรือเปล่า

     นี่คือคำถามใหญ่ที่ต้องช่วยกันหาคำตอบ

 

นักวิชาการไม่เชื่อยักษ์ใหญ่จะยอม ชี้บทบาท-เจตนา กสทช. ไม่ชัดเจน

     ต่อกรณีข้างต้น THE STANDARD ได้สอบถามความคิดเห็นจาก ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นักวิชาการด้านสื่อ ถึงประเด็น กสทช. เรียกผู้ให้บริการ OTT ลงทะเบียนรับใบอนุญาต OTT

     ดร. มานะ กล่าวว่า “กสทช. อยากเข้ามาดูเรื่องคอนเทนต์ออนไลน์ที่เดี๋ยวนี้ผนวกทีวีกับออนไลน์เข้าด้วยกันแล้ว ส่วนตัวมองว่ามีปัญหา เช่น การตีความว่าอำนาจของ กสทช. มีถึงออนไลน์หรือไม่ ไม่ชัดเจนเลย ซึ่งอาจจะมีปัญหาต่อไปในเชิงการบังคับใช้ต่างๆ และยังมองว่าการเข้ามาบังคับใช้ก็ได้แค่คอนเทนต์ที่ผลิตโดยผู้ผลิตในไทยเท่านั้น และแพลตฟอร์มไทย

     “ถ้าภายใน 22 กรกฎาคม 2560 นี้ แพลตฟอร์มของต่างประเทศยังไม่เข้ามาคุย ก็จะเกิดความลักลั่นของกฎหมายได้ หากบังคับใช้กฎหมายได้แค่กับคนไทย ปัญหาจะตกอยู่ที่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก-กลางที่ลงโฆษณากับยูทูบและเฟซบุ๊กไทย ดังนั้น ผมไม่แน่ใจว่าจะบังคับใช้ได้จริง ถ้าทำได้ก็บังคับได้แค่กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก-กลางดังกล่าว”

     ดร. มานะมองเจตนาของ กสทช. ว่า จริงๆ จุดประสงค์คือควบคุมคอนเทนต์ โดยเฉพาะด้านการเมือง ในส่วนของการเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร หรือการฆ่าตัวตายออนไลน์ตามที่อ้างมานั้น มีกฎหมายที่ควบคุมอยู่แล้วคือ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2540 มาตรา 14 และทางนักวิชาการหรือผู้สังเกตการณ์ด้านสื่อใหม่ (New media) เองก็ตั้งคำถามต่อประเด็นเสรีภาพของเนื้อหากันอยู่

     “เรื่องความยุติธรรมของการควบคุม ถ้าจะควบคุมได้แค่คอนเทนต์ไทย แล้วควบคุมคอนเทนต์ต่างประเทศไม่ได้ และหากควบคุมแพลตฟอร์มหรือคอนเทนต์ต่างประเทศไม่ได้ ก็ต้องระงับทั้งหมดไปเลยหรือ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าอยากให้ไทยเป็น Thailand 4.0 เหล่านี้เหมือนว่า กสทช. กำลังย้อนยุคอยู่”

     ดร. มานะ ยังตั้งข้อสังเกตถึงความจำเป็นของการเรียกลงทะเบียนผู้ให้บริการ OTT ดังกล่าวนี้ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่

     “ตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. มันคือการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุดิจิทัล ซึ่งขณะนี้กลับใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 76/2559 ให้ขยายระยะเวลาคืนคลื่นความถี่วิทยุราชการไปอีก 5 ปี ซึ่งสมควรจะจัดสรรคลื่นความถี่ให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 ก็ยังไร้ความคืบหน้า อันนี้ต่างหากที่เป็นหน้าที่โดยตรงของ กสทช. แต่กลับมาเล่นเรื่องออนไลน์

     “พูดให้ชัด ช่วงเวลานี้จนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม จึงเหมือน กสทช. กำลังขู่อยู่ ก็ลองดูกันต่อไป ถ้ากล้าทำจริง ก็ต้องถามต่อว่าสิ่งนี้มันสนองกับ Thailand 4.0 หรือไม่ อย่างไร แต่ส่วนตัวไม่เชื่อว่ายูทูบและเฟซบุ๊กจะยอมทำตาม” ดร. มานะ ทิ้งท้าย

 

ใครเดือดร้อนจาก ‘การไม่ลงทะเบียน OTT’ ที่สุด?

     THE STANDARD ได้ติดต่อไปยังแหล่งข่าวผู้เกี่ยวข้องถึงรายละเอียดเบื้องต้นในเรื่องนี้  แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์จะเอ่ยนาม เพราะเป็นผู้ให้บริการคนหนึ่งเช่นกันเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบจุดประสงค์ของประกาศ กสทช. ล่าสุดในเรื่องการลงทะเบียน OTT ว่าคืออะไร ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่า จะเป็นเรื่องการควบคุมเนื้อหาที่เกี่ยวกับความรุนแรง อนาจาร หรือลักษณะที่เป็นภัยต่อความมั่นคง หรือการเก็บภาษีจากแพลตฟอร์ม อย่างไรก็ตามทั้งสองประเด็นนี้ก็ไม่ได้ถูกยกมาเป็นเหตุผลแน่ชัด

     “ตอนนี้ปัญหาที่มองเห็นก็คือเขาอาจจะอยากควบคุมคอนเทนต์ล่อแหลม ก็บอกแพลตฟอร์มโดยตรงได้เลยว่าช่วยตัดเนื้อหาแบบนี้ออก ทางนั้นต้องยินดีอยู่แล้ว ใครๆ ก็อยากทำเรื่องที่ถูกต้อง หรือถ้าบอกว่าเป็นเรื่องรายได้ ต้องจ่ายเงินภาษีเพิ่ม ก็ไปตกลงกัน ไม่ใช่ปัญหา ตอนนี้ก็เลยงงๆ กันว่า กสทช. ต้องการทำอะไรกันแน่”

     นอกเหนือจากนั้น แหล่งข่าวยังตั้งข้อสังเกตว่าคนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ คือ เอเจนซีโฆษณา ตามที่ประกาศไปว่าหากเฟซบุ๊กและยูทูบไม่มาลงทะเบียน เอเจนซีใดที่ลงโฆษณาในแพลตฟอร์มดังกล่าวจะถือว่าสนับสนุนผู้ให้บริการที่ไม่เข้าระบบกำกับดูแล และจะถือว่ามีความผิดด้วย ซึ่งผู้ที่ต้องการลงโฆษณาก็อาจจะลัดขั้นตอน ไม่ผ่านเอเจนซี และเลือกไปลงโฆษณากับ Content Provider ที่ลงทะเบียนแล้ว ที่มีสถานะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้เลย อย่างไรก็ตามก็จะมีความผิดปกติ หรือความงงๆ ของขั้นตอนดังกล่าวเช่นกันคือ ในกรณีที่เฟซบุ๊กและยูทูบไม่ไปลงทะเบียน OTT แล้วตัวเองจะยังใช้แพลตฟอร์มนี้ได้หรือไม่

     ในขณะเดียวกัน การทำธุรกิจสร้างรายได้จากแพลตฟอร์มเหล่านี้ เดิมทีก็เป็นไปเพื่อตัดตัวกลางอย่าง ‘เอเจนซี’ ออกไปอยู่แล้ว การออกกฎหมายบังคับใช้ครั้งนี้ก็อาจเรียกได้ว่า ‘เข้าทาง’ เฟซบุ๊กและยูทูบพอดี

     ในเรื่องของวงจรการลงโฆษณา แหล่งข่าวกล่าวว่า “นึกไม่ออกเลยว่ายูทูบกับเฟซบุ๊กจะเดือดร้อนอย่างไร อย่างเฟซบุ๊ก รายได้หลักก็คือการบูสต์โพสต์ (การจ่ายเงินให้กับเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มโอกาสให้มีคนเห็นโพสต์นั้นๆ มากขึ้น) ซึ่งจ่ายกันโดยตรงระหว่างคนลงโฆษณากับเฟซบุ๊ก โดยวิธีบูสต์โพสต์นี้ไม่เกี่ยวกับเอเจนซี ส่วนยูทูบเองก็เป็นการตกลงรายได้กับผู้ใช้ (ผู้ให้บริการด้านเนื้อหา – Content Provider) ก็ไม่ผ่านเอเจนซีเช่นกัน”

     ในกรณีที่เฟซบุ๊กและยูทูบไม่ไปลงทะเบียน ผู้เดือดร้อนจากการเรียกลงทะเบียน OTT จึงกลายเป็น เอเจนซี และ Content Provider รายเล็ก โดยเฉพาะรายหลัง หากเฟซบุ๊กและยูทูบเข้าข่ายว่าเป็น ‘แพลตฟอร์มเถื่อน’ แต่ตัว Content Provider ได้ลงทะเบียน OTT แล้วจะยังคงดำเนินธุรกิจ หรือเผยแพร่เนื้อหาอะไรของตนเองต่อไปได้หรือไม่

     ทั้งนี้ THE STANDARD ได้โทรติดต่อไปที่ กสทช. เพื่อถามรายละเอียดเบื้องต้นของประกาศลงทะเบียนผู้ให้บริการ OTT ก็ได้คำตอบกลับมาว่า เรื่องนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดดูแลเต็มที่ เป็นหลายหน่วยงานช่วยกันดูแลเรื่องนี้ เพียงแต่ตามอำนาจหน้าที่แล้ว กสทช. จะดูแลเรื่องการเผยแพร่ภาพและเสียงต่อสาธารณะ ซึ่งส่วนที่มีการเผยแพร่ภาพและเสียงต่อสาธารณะหมายความว่า ดูแลเฉพาะเนื้อหาที่ผู้ผลิตมีจุดประสงค์เผยแพร่ต่อสาธารณะเท่านั้น ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเนื้อหาที่มีผู้ผลิตตั้งค่าเป็นส่วนตัว อย่างเช่น การถ่ายทอดสด (Live) เฟซบุ๊กที่ตั้งค่าเป็นส่วนตัวหรือเฉพาะเพื่อน ไม่นับว่าเผยแพร่ต่อสาธารณะ

     โดยระหว่างนี้ผู้ประกอบการ และเอเจนซียังลงโฆษณา หรือเผยแพร่คอนเทนต์ต่างๆ ได้ตามปกติ ขณะนี้ กสทช. ไม่ได้ดำเนินการ เพียงรอให้ผู้ใช้บริการ OTT มาลงทะเบียน แต่หลังวันที่ 22 กรกฎาคม 2560 ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

     ประเด็นทิ้งท้ายในตอนนี้ จึงเป็นความเป็นไปได้ของการบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้ จุดประสงค์ของการลงทะเบียน และความพยายามที่จะควบคุมเนื้อหา ควบคุมแพลตฟอร์ม ทว่าผู้ได้เปรียบหรือเสียประโยชน์ที่แท้จริงจะเป็นใครกันแน่ คงต้องดูกันต่อไป

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

FYI

วันที่ 20 ธันวาคม 2559 คสช. ได้มีคำสั่งที่ 76/2559 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ให้ กสทช. ยืดเวลาคืนคลื่นวิทยุราชการอีก 5 ปี ตามที่สำนักข่าวมติชนรายงาน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising