คงต้องยอมรับว่ากระแสข่าวแรงงานต่างด้าวที่ร้อนแรงในช่วง 2-3 วันหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทุกคนรู้ดีว่าแรงงานต่างด้าวมีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจไทยและธุรกิจต่างๆ อย่างมาก
ขณะที่ภาพแรงงานต่างด้าวที่ทยอยเดินทางกลับประเทศนับหมื่นคนตามสื่อต่างๆ กลับไม่ได้ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงแต่อย่างใด ไม่นับรวมผู้ประกอบการจำนวนมากที่ออกมาแสดงความกังวล เพราะเกรงจะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้
แรงงานต่างด้าวมีความสำคัญแค่ไหน นี่คือคำถามข้อใหญ่ที่สังคมกำลังสงสัย ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนคงอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเดินทางกลับประเทศทั้งหมด?
THE STANDARD ชวนนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานอันดับต้นๆ ของประเทศอย่าง รศ. ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือทีดีอาร์ไอ มาไขคำตอบในเรื่องนี้
แรงงานที่ทยอยกลับประเทศในเวลานี้ล้วนเป็น ‘แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย’
ซึ่งมีจำนวนประมาณ 800,000-1,000,000 คนเท่านั้น
แรงงานต่างด้าวสร้างเศรษฐกิจ 0.16 ของจีดีพี
ตามตัวเลขประมาณการของสภาพัฒน์ที่ถืออยู่ในมือ รศ. ดร. ยงยุทธ ฉายภาพกว้างให้เราเห็นว่าขณะนี้แรงงานไทยมีจำนวนทั้งหมดประมาณ 38.7 ล้านคน ขณะที่แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว และกัมพูชา) มีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 3.14 ล้านคน หรือคิดเป็น 8% ของแรงงานไทย ซึ่งจากตัวเลขนี้สะท้อนว่าแรงงานต่างด้าวมีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก
ชัดไปกว่านั้นยังมีการคาดการณ์ว่าแรงงานต่างด้าวจำนวนนี้สร้างให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.16% ของตัวเลขจีดีพีทั้งหมด ซึ่งเมื่อคำนวณออกมาเป็นจำนวนเงินก็น่าจะเกิน 1 แสนล้านบาท
แต่ถ้าโฟกัสแค่ปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้หลัง พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวประกาศใช้ จะเห็นว่าแรงงานที่ทยอยกลับประเทศในเวลานี้ล้วนเป็น ‘แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย’ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 800,000-1,000,000 คนเท่านั้น ดังนั้นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจหากแรงงานเหล่านี้เดินทางกลับประเทศทั้งหมดก็ไม่น่าจะมากมายเท่าที่หลายฝ่ายกังวล
“ส่วนที่ผิดกฎหมายยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับแรงงานที่ถูกกฎหมาย เพราะฉะนั้นตัวเลขจีดีพีอาจจะลดลงบ้าง แต่ไม่ถึงกับมากมาย เพราะ 0.16% ของจีดีพี หมายถึงแรงงานต่างด้าวทุกคน” รศ. ดร. ยงยุทธ อธิบายเพิ่มเติม
ชะลอบทลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวออกไปอีก 120 วัน
เพื่อเปิดโอกาสให้นายจ้างได้ปรับตัว อาจเป็นเวลาที่กระชั้นชิดจนเกินไป
กระชั้นชิดจนผู้ประกอบการ ‘ช็อก’ หลังประกาศใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว
สำหรับกระแสที่เกิดขึ้นเวลานี้ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอวิเคราะห์ว่าน่าจะเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายแบบกระชั้นชิด ทำให้ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานผิดกฎหมายอยู่เกิดอาการ ‘ช็อก’ ไปชั่วขณะ เนื่องจากกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายที่ผ่านมาพบว่า ผู้มีส่วนได้เสียหรือได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้เข้าไปมีส่วนร่วมน้อยมาก ประกอบกับตัวบทลงโทษที่มีความรุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการทำตัวไม่ถูก
“คนที่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในปัจจุบันกำลังตกอยู่ในภาวะที่ทำอะไรไม่ได้ เพราะถ้าจะเอาคนออกไปก็ต้องแจ้งต่อนายทะเบียน ซึ่งพอแจ้งก็จะมีความผิดอยู่ดี หรือทางเลือกอีกทางคือปล่อยให้แรงงานกลับบ้านไปเฉยๆ แล้วให้เขาถูกจับเอง ซึ่งถ้ามีการไล่เบี้ยกันจริงๆ โดยถามว่าใครเคยเป็นนายจ้างมาก่อน นายจ้างเดิมก็มีความผิดอยู่ดี ซึ่งตรงนี้อาจทำให้เกิดผลกระทบเยอะ ถ้าไม่มีมาตรการรองรับในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้”
ขณะที่รัฐบาลเตรียมออกคำสั่งตามมาตรา 44 ชะลอบทลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวออกไปอีก 120 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้นายจ้างได้ปรับตัว อาจเป็นเวลาที่กระชั้นชิดจนเกินไป ทางที่ดีควรขยายเวลาเพิ่มเป็น 6 เดือน แต่ไม่ควรนานกว่านั้น ซึ่งระหว่างนี้ไม่ควรมีการเอาผิดกับนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
“เรากำลังพูดถึงแรงงานต่างด้าวหลายแสนคนที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นก็ต้องใช้เวลาสักนิดในการระบายน้ำเสียออกไป เพื่อทำให้กลายเป็นน้ำดีแล้ววนกลับเข้ามาใหม่ แต่การจะทำอย่างนั้นได้ก่อนอื่นก็ต้องปกป้องนายจ้างเดิมก่อน โดยยกเว้นโทษให้เขาในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งถ้าไม่ทำก็จะเกิดความโกลาหลแน่นอน”
ถ้าเราทนอีกสักนิด ยอมบาดเจ็บสักเล็กน้อย ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ
ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้มีความสะดวกตามสมควร
และลดขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแรงงานให้มีความรวดเร็ว มันก็น่าจะส่งผลดีกว่าในระยะยาว
‘ต้องยอมเจ็บตัว’ เพื่ออนาคตที่ดีในระยะยาว
สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ รศ. ดร. ยงยุทธมองว่าเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดผลกระทบต่อบางธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการประมง การเกษตร ธุรกิจ SME ต่างๆ รวมถึงลูกจ้างในครัวเรือนที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ถึงขั้นอาจทำให้บางธุรกิจจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว หากธุรกิจนั้นมีสัดส่วนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมากกว่าถูกกฎหมาย
แต่ถึงอย่างนั้นก็มองว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนต้อง ‘ยอมเจ็บตัว’ เพื่อสถานการณ์ที่ดีขึ้นในระยะยาว
“ที่ผ่านมารัฐบาลให้การผ่อนผันและให้โอกาสนายจ้างมา 3-4 รอบแล้ว ด้วยการเปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติม ซึ่งเหมือนกับการให้อภัยโทษไปเรื่อยๆ และทุกครั้งที่มีการอภัยโทษ จำนวนแรงงานต่างด้าวก็จะเพิ่มขึ้นๆ มาตลอด ไม่มีลู่ทางที่จะทำให้ลดลงได้เลย ถึงตอนนี้มันน่าจะหมดสมัยแล้วกับการให้อภัยโทษ ประเทศเราจะได้ตั้งหลักเรื่องแรงงานกันใหม่สักที”
นอกเหนือจากเรื่องภาพลักษณ์ที่ต่างชาติมองว่าประเทศไทยเป็นแหล่งค้ามนุษย์ และมีกระบวนการหาประโยชน์ด้านแรงงานจากหน่วยงานของรัฐแล้ว การผลักดันแรงงานต่างด้าวแบบผิดกฎหมายกลับประเทศยังจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวด้านเทคโนโลยีในการผลิตที่หยุดชะงักมาเนิ่นนานด้วย
“ผู้ประกอบการไทยชะลอการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตแทนแรงงานคนมาประมาณ 20 ปีแล้ว เพราะผู้ประกอบการไม่เห็นความจำเป็นว่าทำไมถึงต้องปรับเปลี่ยน ในเมื่อแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมีต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่ตอนนี้เรากำลังจะเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ก็น่าจะถึงคราวที่จะต้องปรับเปลี่ยนเอาเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานที่ไม่จำเป็น ส่วนที่จำเป็นจริงๆ ก็สามารถใช้แรงงานไทยในการหมุนเวียนได้
“ผมคิดว่านายจ้างเองก็ไม่สบายใจหรอกที่จะต้องจ่ายใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับการใช้แรงงานต่างด้าวแบบผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นถ้าเราทนอีกสักนิด ยอมบาดเจ็บสักเล็กน้อย ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้มีความสะดวกตามสมควร และลดขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแรงงานให้มีความรวดเร็ว มันก็น่าจะส่งผลดีกว่าในระยะยาว”
สำหรับขั้นตอนหลังจากมีการผ่อนผัน รศ. ดร. ยงยุทธยังเสนอให้รัฐบาลประกาศมาตรการที่ชัดเจนในการขนส่งแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายกลับประเทศ ส่วนถ้าจะรับกลับเข้ามาใหม่ก็ต้องมีกระบวนการรับกลับมา พร้อมเสนอให้ทำ job matching จับคู่ระหว่างแรงงานที่เดินทางกลับมากับนายจ้างที่ต้องการใช้แรงงานต่างด้าว
ซึ่งส่วนตัวมองว่าหากมีกระบวนการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย ค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่เกิดขึ้นน่าจะมากกว่าการจ้างแรงงานไทย เพราะต้องใช้เงินประมาณ 20,000-30,000 บาท ในการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน 1 คน
“โดยรวมผมเห็นด้วยกับการใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ซึ่งจะเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. ก็ไม่สำคัญ ที่สำคัญคือเราจะบังคับใช้กฎหมายนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหนมากกว่า เพราะ 20 ปีที่ผ่านมามันพิสูจน์แล้วว่าเราบังคับใช้กฎหมายได้ไม่ดีเลย ไม่อย่างนั้นจำนวนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายคงไม่งอกเงยมาจนถึงตอนนี้”
ที่ต้องติดตามต่อจากนี้นอกจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยในระยะเปลี่ยนผ่านแล้ว ในระยะยาวยังต้องจับตาด้วยว่าการบังคับใช้กฎหมายจะมีความเข้มงวดและจริงจังแค่ไหน ไม่อย่างนั้น พ.ร.ก.ฉบับนี้ก็อาจจะไม่มีความหมายอะไร แม้ในตัวอักษรที่เขียนไว้จะเกิดจากเจตนาที่ดีก็ตาม
ภาพประกอบ: AeA oranun
Photo: TANG CHHINSOTHY/AFP