×

พระราชประวัติของรัชกาลที่ ๑๐

27.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

14 Mins. Read
  • หนังสือ สี่เจ้าฟ้า ฉบับเรียบเรียงใหม่โดย ลาวัณย์ โชตามระ เล่าว่า สยามมกุฎราชกุมาร เป็นทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าเพียงพระองค์เดียวที่ไม่มี ‘ชื่อเล่น’ อาจเพราะเป็น ‘ทูลกระหม่อมชาย’ เพียงพระองค์เดียว คำว่า ‘ชาย’ จึงเป็นเสมือนชื่อที่ใช้แทนพระองค์
  • “ข้าพเจ้าไม่ใช่คนพูดเก่งนัก แต่ขอขอบใจที่ทุกคนมีไมตรีจิตในครั้งนี้ ขอบคุณ” สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงตรัสกับประชาชนชาวไทยที่มาเข้าเฝ้าฯ ณ โรงแรมวิลลาร์ด (Willard) เมื่อครั้งตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ไปประเทศสหรัฐอเมริกา
  • “…จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่างโดยเต็มกำลัง สติปัญญา ความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญ ความสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศชาติไทย จนตราบเท่าชีวิตและร่างกายจะหาไม่” คือพระดำรัสที่พระองค์ทรงปฏิญาณเมื่อครั้งทำพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ที่มีขึ้นหลังพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธยจาก ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ’ ให้ดำรงพระอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’Ž

เจ้าชายผู้ไม่มีชื่อเล่น

     สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร หรือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เวลา ๑๗.๔๕ น.

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เมื่อยังทรงพระเยาว์ ภาพจาก หนังสือประมวลภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (His Majesty’s Photographic Portfolio)

     บรรยากาศในพระราชวังวันนั้นเป็นอย่างไร คงยากที่ประชาชนจะรู้ ถ้าศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ซึ่งปฏิบัติหน้าที่พระอาจารย์ถวายการสอนภาษาไทยแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้บรรยายถึงนาทีอันเป็นมงคลฤกษ์ว่า

 

     ‘…วันนี้ ครึ้มฟ้าครึ้มฝนตั้งแต่เช้า ฝนไม่ได้ตกมานาน นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติเข้าประจำที่สักครู่ก็ประสูติพระราชกุมาร เวลา ๑๗ นาฬิกา กับ ๔๕ นาที ในนาทีเดียวกันนั้นเอง ฝนที่แล้งมาตลอดฤดูก็เริ่มโปรยปรายละอองลงมา ดูคล้ายๆ ฟ้าก็รู้เห็นเป็นใจกับการประสูติครั้งนี้…

     ‘…นายแพทย์ ที่ถวายการประสูติ …กล่าวออกมาด้วยเสียงอันตื่นเต้นกังวานว่า ผู้ชาย แทนที่จะว่า พระราชโอรส ฝนโปรยอยู่ตลอดเวลา แตรสังข์ดุริยางค์เริ่มประโคม ทหารบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีปืนใหญ่ทั้งบกและเรือยิงสะเทือนเลื่อนลั่น เสียงไชโยโห่ร้องก็ดังอยู่สนั่นหวั่นไหว

     ‘สมใจประชาชนแล้ว… ดวงใจทุกดวงมีความสุข…’

 

 

     ในหนังสือ สี่เจ้าฟ้า ฉบับเรียบเรียงใหม่โดย ลาวัณย์ โชตามระ เล่าว่า สยามมกุฎราชกุมาร เป็นทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าเพียงพระองค์เดียวที่ไม่มี ‘ชื่อเล่น’ เหมือนสมเด็จพระเชษฐภคินีหรือพระขนิษฐาอีก ๓ พระองค์ อาจเพราะเป็น ‘ทูลกระหม่อมชาย’ เพียงพระองค์เดียว

     คำว่า ‘ชาย’ จึงเป็นเสมือนชื่อที่ใช้แทนพระองค์

 

     

ดวงชะตาที่เป็นความลับ และพระนามที่มาจากรัชกาลที่ ๔ และ ๕

     หลังเจ้าชายประสูติได้ ๔ วัน (๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชหัตถเลขาถวายไปยังสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เพื่อขอให้ทรงขนานพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอที่ประสูติใหม่

 

     ภาพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ จากหนังสือ ‘พระโอวาท สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์’ ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เป็นที่ระลึกแห่งพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณในโอกาสพระราชทานเพลิง ณ พระเมรุในสุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๓

 

     ทูล สมเด็จพระสังฆราช

     ในฐานที่ทรงเป็นบูรพาจารย์ที่เคารพยิ่ง หม่อมฉันจึ่งใคร่ขอประทานพระกรุณาให้ทรงจัดผูกดวงชาตาลูกชายของหม่อมฉัน ซึ่งเกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ศกนี้ เวลา ๑๗ นาฬิกา ๔๕ นาที กับขอประทานหารือในอันจะขนานนามเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ลูกนั้นด้วย

หม่อมฉันได้ให้กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ มาเฝ้าเพื่อกราบทูลข้อความละเอียด หากมีพระประสงค์จะทรงทราบ

     ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

     ภูมิพลอดุลยเดช ปร.

 

     จากนั้นหนึ่งเดือนต่อมา สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้มีจดหมายตอบกลับ มีเนื้อความบางส่วนว่า

 

     …อาตมภาพได้รับทราบพระราชประสงค์แล้ว

     ดวงพระชาตานั้น ได้หารือตกลงกัน และอาตมภาพได้เขียนถวาย ส่วนพระนาม อาตมภาพได้คิดและเขียนถวายตามพระราชประสงค์ แลได้ถวายพร้อมกับหนังสือนี้แล้ว…

 

     ดวงพระชะตาที่สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้เขียนถวายนั้นเป็นเช่นไรยังคงเป็นความลับ มีเพียงพระนามที่ตั้งถวายตามดวงพระชะตาเท่านั้นที่เปิดเผย

 

 

     ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร’

     ซึ่งเป็นพระมงคลนามตามพระราชตระกูล โดยอัญเชิญพระนามฉายาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งปรากฏในขณะทรงพระผนวชว่า ‘วชิรญาณะ’Ž ผนวกกับ ‘อลงกรณ์’Ž จากพระนาม จุฬาลงกรณ์Ž ของรัชกาลที่ ๕ มีความหมายว่า ‘ทรงเครื่องเพชรนิลจินดา’ หรืออาจแปลว่า ‘อสุนีบาต’ (ฟ้าผ่า)

 

 

     บางคนอาจสงสัยว่าทำไมในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงทรงขอให้สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ‘ตั้งพระนาม’ ให้กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอที่ประสูติใหม่

     หนังสือ ‘พระโอวาท สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์’ ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสพระราชทานเพลิง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (พ.ศ. ๒๕๐๓) มีความตอนหนึ่งระบุไว้ว่า

     ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙ ในขณะนั้น–ผู้เขียน) เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงราชสมบัติก็ได้ทรงมีวิสสาสะ และรักใคร่นับถือในพระองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าอย่างยิ่ง จนถึงทรงพระราชดำริจะทรงผนวชให้ทันพระชนมายุกาลของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และทรงเจาะลงจะประทับอยู่ในสำนักของท่านนั้น’

 

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งทรงผนวช เฝ้าสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

ณ พระตำหนักบัญจบเบญจมา หลังจากทรงทำวัตรเช้า เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙

 

     หนังสือเล่มเดียวกันนี้มีความตอนหนึ่งกล่าวถึง ‘บุคลิกและนิสัย’ อันเป็นเสน่ห์ของสมเด็จพระสังฆราชฯ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นหนึ่งในเหตุให้ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ใช้คำว่า ในฐานที่ทรงเป็นบูรพาจารย์ที่เคารพยิ่ง ในพระราชหัตถเลขา เมื่อครั้งขอให้ทรงขนานพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอที่ประสูติใหม่

     ‘สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงมีพระนิสสัยโอบอ้อมอารีเห็นใจมนุษย์ไม่เลือกชั้นวรรณ มีพระกมลสันดานกอปรด้วยมานุษยธรรมอย่างกว้างขวาง แม้จะไม่เป็นผู้ที่ช่างทักทายปราศัยทั่วๆ ไป พระองค์ก็ทรงแผ่พระเมตตาการุญภาพ จนมหาชนที่ได้รู้จักพระองค์ท่านต่างพากันนิยมนับถือพระองค์ท่านอย่างสูงสุด…’

 

 

เจ้าชายผู้ชื่นชอบเครื่องบินและรถถัง

     พอพระชนมายุ ๔ พรรษา เจ้าชายน้อยได้ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๙๙ ณ โรงเรียนจิตรลดา ชั้นอนุบาล และทรงศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ก่อนจะเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

     หนังสือ สี่เจ้าฟ้า ฉบับเรียบเรียงใหม่โดย ลาวัณย์ โชตามระ ได้เล่าถึงเจ้าชายในช่วงวัยเยาว์ที่ศึกษาอยู่ในเมืองไทยว่า พระองค์เสด็จไปโรงเรียนตรงเวลาเสมอ เพราะจะตื่นบรรทมแต่เช้า ประมาณ ๗ นาฬิกา เช้าวันใดไม่ต้องทำการบ้าน เพราะทำเสร็จแล้วตั้งแต่ตอนเย็น ก็จะทรงมีเวลาเล่นได้นาน อาจจะทรงจักรยานรอบสระกลมใหญ่ หรือบางครั้งก็เสด็จไปแวะเยี่ยมกรมราชองครักษ์ และกองทหารรักษาการณ์ เพื่อทรงตรวจเรื่องการกินอยู่ แล้วก็เลยทรงเล่นหมากฮอสด้วย

     จนเวลาประมาณ ๘ นาฬิกา จึงเสด็จขึ้นเพื่อสรงน้ำ เสวย และเตรียมพระองค์เสด็จไปโรงเรียนจิตรลดา ที่เริ่มเรียนตั้งแต่ ๙ นาฬิกา หยุดพักกลางวัน และเริ่มเรียนในภาคบ่ายอีกครั้งจนถึงเวลา ๑๕.๕๕ นาฬิกา

     จากบันทึกในหนังสือระบุว่า ทูลกระหม่อมฟ้าชายมักจะทำวิชาคำนวณได้ดีกว่าวิชาอื่น ซึ่งมักได้คะแนนเต็มเสมอ ด้านภาษาดีพอสมควร และวิชาที่โปรดมากอีกอย่างคือวาดเขียนและปั้นรูป

 

 

     เมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้นก็ยิ่งมีพระอุปนิสัยสมกับเป็นผู้ชาย โปรดเล่นเครื่องยนต์กลไกต่างๆ อย่างเด็กผู้ชายทั้งหลาย เช่น รถยนต์ เครื่องบิน รถถัง เรือ และโปรดทอดพระเนตรหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวกับการช่าง การก่อสร้าง และมีพระนิสัยใฝ่รู้ เมื่อทรงสงสัยสิ่งใดก็จะทรงตั้งปัญหาถาม

     ด้วยความชื่นชอบเครื่องบินและรถถังในวัยเยาว์ จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อเติบใหญ่เข้าสู่วัยหนุ่ม ทูลกระหม่อมฟ้าชายจะทรงเลือกศึกษาต่อด้านการทหาร

 

 

นักการทหารผู้ตั้งปณิธานเพื่อชาติและประชาชน

     ทูลกระหม่อมฟ้าชายทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา ๔ ปีจนถึงชั้นระดับมัธยมศึกษา ก่อนจะบินไปเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์สคูล เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย จนถึงพ.ศ. ๒๕๑๔ แล้วเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน ที่หลักสูตรแบ่งออกเป็น ๒ ภาค ได้แก่ ภาควิชาการทหาร และการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี

     ซึ่งระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ทูลกระหม่อมฟ้าชายเจริญพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารŽ ตามโบราณขัตติยราชประเพณี

     หลังจบการศึกษาใน พ.ศ. ๒๕๑๙ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ๒ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๑

     ดูเหมือนเจ้าชายจะโปรดด้านการทหารเป็นพิเศษ หลังจากนั้นเป็นต้นมา พระองค์ทรงศึกษาต่อเพิ่มเติมในหลักสูตรด้านการบินหลายหลักสูตร ตั้งแต่การฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ทั่วไป แบบที่ติดอาวุธโจมตี และเครื่องบินปีกติดลำตัว เป็นต้น

 

 

     แม้บทบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในช่วงนั้นจะเด่นชัดด้านการทหารที่พระองค์ทรงให้ความสนพระทัย แต่อีกด้านหนึ่งพระองค์ก็ทรงยึดแนวทางการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงงานเพื่อประชาชน

     ดังเช่นที่พระองค์มีพระราชดำรัสให้คำมั่นไว้ในงานสโมสรสันนิบาต ซึ่งรัฐบาลจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ณ ทำเนียบรัฐบาลว่า

 

     “ข้าพเจ้าทราบตระหนักว่า ข้าพเจ้ามีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อประเทศชาติอย่างสูง และการปฏิบัติราชการแผ่นดินนั้น เป็นภาระสำคัญใหญ่ยิ่ง ที่ต้องอาศัยทั้งสติปัญญาและความรู้ความสามารถอย่างพร้อมมูล

     “ข้าพเจ้าจะต้องเพียรพยายาม ศึกษาและปฏิบัติฝึกฝนตนเองต่อไปอีก อย่างมาก เพื่อให้สามารถเหมาะสม กับหน้าที่ ตามที่ทุกคนมุ่งหวัง…

     “ในโอกาสอันพิเศษนี้ จึงใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายได้เป็นกำลังใจสนับสนุนข้าพเจ้า และได้ตั้งความปรารถนาร่วมกันกับข้าพเจ้าที่จะมุ่งมั่นประกอบกรณียกิจ ด้วยความสามัคคีพร้อมเพรียง และด้วยความสุจริตยุติธรรม เพื่อยังความเจริญมั่นคงและความร่มเย็นเป็นผาสุกให้บังเกิดแก่ชาติ ประเทศ และประชาชนยั่งยืน สืบไป…”

 

 

ข้าพเจ้าไม่ใช่คนพูดเก่งนัก

     “ให้เขาคุยกับท่านทั้งหลายบ้างนะคะ”

     สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงตรัสกับชาวไทยที่มาเข้าเฝ้าฯ ณ โรงแรมวิลลาร์ด (Willard) ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ในหลวงทรงฝากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ตามเสด็จดูแลพระองค์ ก่อนจะลุกสลับที่ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มานั่งฝั่งที่มีไมโครโฟนเพื่อตรัสกับประชาชนที่มาเข้าเฝ้า

     เสียงปรบมือจากประชาชนที่เข้าเฝ้าดังกึกก้องต้อนรับ หลังนั่งลงและจัดแจงพระวรกายเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ตรัสประโยคแรกว่า

     “ก่อนอื่นก็ขอออกตัวว่า เป็นคนที่คุยไม่ค่อยจะเก่ง”

     หลังจากนั้นพระองค์มีพระราชดำรัสที่มีเนื้อความโดยสรุปว่า รู้สึกปลื้มปีติและยินดีอย่างมากที่ได้ใกล้ชิดคนไทยในที่นี้

     เมื่อมีพระราชดำรัสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนจะทรงลุกให้พระบรมราชินีนาถตรัสต่อ พระองค์ได้ตรัสประโยคสุดท้ายว่า

     “ข้าพเจ้าไม่ใช่คนพูดเก่งนัก แต่ขอขอบใจที่ทุกคนมีไมตรีจิตในครั้งนี้ ขอบคุณ”

     นี่คือภาพเหตุการณ์สั้นๆ ที่เกิดขึ้นในคลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์ แม้จะเป็นช่วงเวลาแค่ ๓.๔๒ นาที แต่ก็เป็น ๓ นาทีสั้นๆ ที่สะท้อนให้เห็นอีกมุมหนึ่งของเจ้าชายที่คนไทยหลายคนอาจไม่เคยเห็น โดยเฉพาะท่าทีที่แสดงออกถึงความถ่อมตนและไมตรีจิตอันหาที่สุดมิได้

 

 

“เราเองก็ไม่มีอะไรพิเศษ” ความในใจจากว่าที่กษัตริย์ ผู้ปฏิญาณตนเพื่อชาติจนกว่าชีวิตจะหาไม่

     ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เคยพระราชทานสัมภาษณ์ในสารคดี Soul of a Nation – the Royal Family of Thailand ที่ออกอากาศเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ ซึ่งปัจจุบันมีเผยแพร่ในเฟซบุ๊กบีบีซีไทย ตอนหนึ่งว่า

     “ในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีแรงกดดันอย่างไรบ้างครับ” เดวิด โลแมกซ์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีถาม

     สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารทรงนิ่งคิดชั่วครู่แล้วตรัสตอบว่า

     “ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร เพราะตั้งแต่เกิดมาในวินาทีแรกของชีวิต เราก็อยู่ในฐานะเจ้าชายแล้ว

     “มันไม่ง่ายเลยที่จะบอกว่า การเป็นปลาตัวหนึ่งนั้นเป็นอย่างไร ในขณะที่คุณเป็นปลาอยู่แล้ว หรือการเป็นนกตัวหนึ่งนั้นเป็นอย่างไร ในเมื่อคุณเป็นนกอยู่แล้ว ถ้าคุณลองถามมัน คุณรู้ไหม มันไม่ง่ายเลย พวกมันก็ไม่รู้ว่าชีวิตที่ไม่ใช่ปลาหรือนกนั้นเป็นอย่างไร

     “เราเชื่อว่าในชีวิตของทุกๆ คน ย่อมมีแรงกดดัน ความเครียด และปัญหา และนี่ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ซึ่งทุกคนต้องเผชิญ มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย มีทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบ หลายสิ่งหลายอย่าง

     “เราเองก็ไม่มีอะไรพิเศษ”

 

 

     พระดำรัสในประโยคสุดท้ายชวนให้คิดถึงพระราชภาระและหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงปฏิญาณเมื่อครั้งทำพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ที่มีขึ้นหลังพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธยจาก ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ’ ให้ดำรงพระอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’Ž ว่า

 

     “…ข้าพระพุทธเจ้า ผู้เป็นมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอิสริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานไว้เสมอด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่างโดยเต็มกำลัง สติปัญญา ความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญ ความสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศชาติไทย จนตราบเท่าชีวิตและร่างกายจะหาไม่”

 

 

เดินตามรอยเท้า ‘พ่อ’

     ในหนังสือ ‘ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ (His Majesty’s Photographic Portfolio) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ ในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา

     ที่หน้า ๓๒ มีรูป ‘เจ้าชายผู้ไม่มีชื่อเล่น’ กำลังยืนมองหนทางเบื้องหน้าซึ่งเป็นผืนดินชุ่มแฉะในป่าด้วยท่าทางมุ่งมั่น

 

 

     อาจารย์พูน เกษจำรัส ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปะภาพถ่าย) พ.ศ. ๒๕๓๑ ผู้มีโอกาสได้ตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไปตามสถานที่ต่างๆ ได้เล่าเรื่องราวเบื้องหลังภาพนี้ไว้ว่า

     “…คราวหนึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ตามเสด็จสมเด็จพระชนกนาถ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารด้วย วันนั้นฝนตกพรำทำให้นำ้ป่าบ่าไหล หนทางเปียกแฉะ เป็นเหตุให้ทรงพระดำเนินด้วยความลำบาก ตลอดทางจึงทรงลื่นล้มไปหลายครั้ง แต่ด้วยพระราชอุตสาหะวิริยะ จึงมิทรงย่อท้อแต่ประการใด…

     “ทั้งนี้เป็นผลของพระเมตตาบารมีแห่งองค์สมเด็จพระบรมชนกชนนี ผู้ทรงอบรมสั่งสอนพระราชโอรสและพระราชธิดาให้มีพระอุปนิสัยหนักแน่น อดทนต่อความทุกข์ยากและอุปสรรคทั้งมวล เพื่อจะได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของปวงพสกนิกร

     “เป็นการเจริญรอยตามพระยุคลบาทสืบไปทุกๆ ประการ”

 

     ยามที่ทินกรลับเหลี่ยมเมฆา โลกทั้งใบอาจอยู่ในความมืดมิด แต่ใดใดในโลกล้วนวนเวียนเป็นวัฏจักร และไม่มีราตรีกาลใดดำรงอยู่นานตราบจนสิ้นอวสาน

     เช่นเดียวกับการสิ้นสุดรัชสมัยที่ไม่ได้มาพร้อมกับความจบสิ้น แต่คือการเริ่มต้นอีกรัชสมัย

     ตอนนี้ทินกรและแสงทองของเช้าวันใหม่กลับคืนผืนฟ้าเมืองไทยแล้ว

     “ขอพระองค์ทรงพระเจริญ”

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X