×

สู้ปกป้องสิทธิ… แต่ได้คดีติดตัว!? ตีแผ่กลยุทธ์ใหม่ ใช้กฎหมายฟ้องปิดปากชาวบ้าน

07.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 mins read
  • สถานการณ์สิทธิในภาคอีสานดูจะหดแคบลง เมื่อชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองและชุมชนต้องเผชิญชะตากรรมถูกฟ้องร้องเพื่อปิดปาก หรือยุติการต่อสู้มากขึ้น หลายคนถูกดำเนินคดีในหลายข้อหา
  • ทนายความอาวุโสชี้ว่า การแกล้งฟ้องชาวบ้านเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต และทำให้กฎหมายกลับด้าน กลายเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิต้องตกเป็นจำเลย
  • นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชี้ว่า เรื่องนี้จะต้องยุติ และกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้ได้แนวทางข้อยุติ

     การใช้กลไกทางกฎหมายในการดําเนินคดีด้วยการฟ้องร้องเพื่อยับยั้งการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี หรือเพื่อกดไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลแสดงบทบาทในการต่อต้านโครงการต่างๆ ที่เป็นเรื่องสาธารณะ คือสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในแวดวงสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน(อาจ)ต้องเผชิญในปัจจุบัน และนับวันความถี่ของการใช้กลยุทธ์เหล่านี้จะมากขึ้น นอกเหนือจากการคุกคามด้วยวิธีการข่มขู่ อุ้มหาย หรือฆ่าให้ตาย ซึ่งเป็นวิธีการยอดนิยมในอดีต

     เป้าหมายก็เพื่อให้บุคคลหรือกลุ่มที่ต่อต้านตกอยู่ในภาวะความหวาดกลัว นับว่าเป็นพัฒนาการอีกขั้นของวิธีการข่มขู่ ซึ่งกระทำโดยผ่านขั้นตอนกฎหมายเพื่อหวัง ‘ปิดปาก’ หรือให้หยุดเคลื่อนไหว และประชาชนหรือชาวบ้านต้องตกอยู่ในหลุมดำของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในชีวิตอย่างมหาศาลเพื่อการต่อสู้คดี

     THE STANDARD จะพาไปพบกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากนักวิชาการผู้คลุกคลีอยู่กับประเด็นนี้ รวมทั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีบทบาทสำคัญต่อสถานการณ์สิทธิของประเทศไทย และที่ขาดไม่ได้คือเสียงจากชาวบ้านผู้เผชิญชะตากรรมจากพื้นที่จริง

 

 

การใช้กฎหมายฟ้องเพื่อปิดปาก หรือ SLAPP Law คืออะไร

     รศ. ดร. ปกป้อง ศรีสนิท หัวหน้าภาควิชากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายเกี่ยวกับกรณีการดําเนินคดีเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ หรือ Strategic Lawsuits Against Public Participation (SLAPP) ผ่านเอกสารโครงการ Thai Law Watch ไว้ว่า SLAPP Law หมายถึง การดําเนินคดีเพื่อยับยั้งการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี หรือการโต้เถียงโดยมีจุดหมายเพื่อต่อสู้กับบุคคลที่พูดหรือแสดงความเห็นต่อรัฐบาลในเรื่องประโยชน์สาธารณะ

     SLAPP ถูกนํามาใช้เพื่อปิดปากและข่มขู่การวิพากษ์วิจารณ์ โดยการบังคับให้คนที่พูดหรือแสดงความเห็นในเรื่องสาธารณะจะต้องใช้เงินมหาศาลในการต่อสู้กับข้อกล่าวหา โดยผู้ที่ดําเนินคดีไม่ได้มีเจตนาที่จะร้องขอความยุติธรรม แต่ดําเนินคดีเพียงเพื่อข่มขู่บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับตน หรือกิจการที่ตนได้กระทํา ทําให้ผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ถูกดําเนินคดีจะต้องสูญเสียเงินในการต่อสู้คดี คนที่ใช้เทคนิคการดําเนินคดีเพื่อปิดปากจากการถูกตรวจสอบ เช่น บริษัทใหญ่ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐท่ีถูกตรวจสอบร้องเรียน SLAPP มักจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผล เพราะเหตุว่าการต่อสู้คดี SLAPP ต้องใช้เวลานานและสูญเสียเงินจํานวนมาก ทําให้คนที่ถูกดําเนินคดี SLAPP ที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องสาธารณะหรือตรวจสอบการดําเนินกิจการสาธารณะมักจะล้มเลิกการแสดงความคิดเห็นและติดตามตรวจสอบ

 

 

มันน่ากลัวแบบที่คุณนึกไม่ถึง เป็นกลยุทธ์การฟ้องร้องเพื่อกีดกัน

     นายวิเชียร อันประเสริฐ นักวิจัยและอาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวอย่างของการใช้กลไกการดำเนินคดีแบบนี้ต่อชาวบ้านในจังหวัดเลยจากกรณีเหมืองทองคำ ซึ่งรวมตัวกันเป็น ‘กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด’ ประกอบด้วยชุมชน 6 หมู่บ้าน 1,300 หลังคาเรือน ประชากรกว่า 3,670 คน เมื่อลุกขึ้นมาต่อสู้ปรากฏว่ามีชาวบ้านถูกฟ้องร้องกว่า 20 คดี โดยถูกฟ้องร้องด้วยกฎหมาย 6 ฉบับ ใน 7 ข้อหา จำนวน 38 คน คดีแพ่งรวมค่าเสียหายที่ถูกฟ้องเป็นจำนวนเงิน 320 ล้านบาท กฎหมายที่ชาวบ้านถูกฟ้อง ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550, พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553

     เป็นการฟ้องร้องไปตามเงื่อนไขกิจกรรมของชาวบ้าน เช่น การเดินรอบเหมืองเพื่อดูว่าจะได้รับผลกระทบอะไรบ้างก็ถูกแจ้งข้อหาบุกรุก เมื่อชาวบ้านลุกขึ้นมาปกป้องชุมชนโดยการสร้างกำแพงกันทางเพื่อไม่ให้มีการขนสารเคมีเข้าไปในเหมืองแร่ จึงสร้างกฎกติกาขึ้นมาในชุมชนเป็นสัญลักษณ์ว่าไม่สามารถพึ่งพารัฐได้แล้ว จึงต้องพึ่งพาชุมชน โดยเกิดขึ้นจากประชาคมทุกหมู่บ้าน

     “มันน่ากลัวแบบที่คุณนึกไม่ถึง เป็นกลยุทธ์การฟ้องร้องเพื่อกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน กีดกันการมีส่วนร่วมในทางสาธารณะของประชาชน ทำให้ไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นที่ตัวเองเคยต่อสู้”

     SLAPP Law มีลักษณะ 5 ประการ คือ 1. เป็นคดีแพ่ง เช่น ฟ้องร้องค่าเสียหาย ห้ามไปร่วมชุมนุม 2. เป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่รัฐ 3. เป็นกลุ่มที่กำลังทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการพูดคุยกับรัฐ 4. เป็นประเด็นต่อสู้สาธารณะหรือผลประโยชน์สาธารณะ การฟ้องร้องคดีไม่มีสาระอะไรเลย มีวัตถุประสงค์ด้านเศรษฐกิจและการเมือง 5. ใช้คดีไปเพื่อให้เราเสียเวลา เสียเงินทองเพื่อให้มาจัดการคดี เพื่อไม่ให้มาคัดค้านเรา ทุกคดีที่ไม่มีการไกล่เกลี่ยกัน ส่วนใหญ่ก็ยกฟ้องหมด

     ภาพรวมคือมีหน่วยงานของรัฐฟ้องนักวิชาการ เพื่อไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ เช่น กสทช. ฟ้องอาจารย์เดือนเด่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการพัฒนาประเทศไทย เอกชนฟ้องนักพัฒนาเอกชน ชินคอร์ปฟ้องสุภิญญา กลางณรงค์ เรียกค่าเสียหาย 400 กว่าล้านบาท มีการฟ้องร้องนักข่าว เช่น ไทยพีบีเอส เนชั่นชาแนล ส่วนประเด็นที่ฟ้องร้องเกี่ยวกับประเด็นผู้บริโภคและประเด็นสิ่งแวดล้อมในไทยมีเยอะมาก ในมาตรา 112 และมาตรา 116 ถือว่าเข้ากรณี SLAPP

 

 

ถึงถูกฟ้องก็ไม่ท้อ เพราะเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง

     แม่สมัย มังคละ ตัวแทนชาวบ้านที่ถูกฟ้องคดีในนาม ‘กลุ่มรักษ์น้ำอูน’ ซึ่งเป็นจุดที่โรงงานน้ำตาลจะมาตั้งใกล้ชุมชนได้สะท้อนภาพให้เห็นว่า ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาสำรวจทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เพื่อต้องการดูว่าเราจะได้รับผลกระทบอะไร ตั้งแต่ปี 2554 ที่นายทุนมากว้านซื้อที่ดินใกล้หมู่บ้านเรา ทางที่จะไปแม่น้ำก็ถูกสร้างรั้วกั้น ว่าเป็นที่ส่วนบุคคล ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นทางสาธารณะที่ใช้กันอยู่ประจำ เราทำหนังสือร้องไปทาง อบต. ให้มาตรวจสอบ เราเห็นด้วยตาว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างกับพื้นที่ พอเรายื่นเรื่องไป อีกสองเดือนต่อมาเราได้รับหมายศาลว่าชาวบ้านถูกฟ้องร้อง

     “ทางบริษัทขอให้ชาวบ้านมาไกล่เกลี่ย คือชาวบ้านก็ยืนยันว่าถ้าไกล่เกลี่ยแล้วเป็นแบบเดิมก็ไม่อยากได้ เมื่อมีการฟ้องร้อง สมาชิกในกลุ่มก็ลดหายไป มีสมาชิกในกลุ่มถูกข่มขู่ ผู้นำในกลุ่มถูกร้องเรียน ตรวจสอบ มีการปล่อยข่าวว่าหากสามารถกำจัดผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำกลุ่มได้จะให้คนละล้าน ขณะดำเนินคดีในศาลก็มีการข่มขู่ในศาล ในห้องไกล่เกลี่ย มีการข่มขู่เรื่อยๆ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

     “ถูกคุกคาม กีดกั้นสิทธิ เมื่อลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตัวเองก็ถูกฟ้องร้อง น้อยใจ แต่ไม่ท้อ เพราะเรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง” แม่สมัยกล่าว

 

 

ช้กฎหมายกลับด้าน คนปกป้องสิทธิถูกแกล้งฟ้องจนกลายเป็นจำเลย

     นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความอาวุโส ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้มีส่วนร่วมในการทำคดีลักษณะนี้ที่ผ่านมาว่า ป็นเรื่องของการแกล้งฟ้องคดีเพื่อแสวงหาประโยชน์ ภาษากฎหมายคือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต การฟ้องคดีเป็นสิทธิของผู้คน ใครก็ตามที่ถูกละเมิดสิทธิก็มีกระบวนการในการปกป้องสิทธิของตนเอง เป็นสิทธิของประชาชนที่จะปกป้องตัวเอง

     แต่การฟ้องชาวบ้านเพื่อปิดปากเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต มีลักษณะกลับด้าน กลับเป็นตรงกันข้าม ผู้ที่เดือดร้อนเสียหายกลับกลายเป็นจำเลย เป็นคนที่ต้องรับภาระในการพิสูจน์ตัวเอง เช่น เมื่อมีการก่อสร้างขึ้นมาแล้ว นายทุนก็กลับกลายเป็นโจทก์แล้วไปกล่าวหาชาวบ้าน คนที่ต่อสู้เพื่อรักษาชีวิต รักษาทรัพยากร ตรวจสอบหน่วยงานรัฐ นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่าการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต เห็นกันได้ไม่ยาก ไม่ใช่แต่เฉพาะโครงการพัฒนา

     ยุคความวุ่นวายทางการเมืองในรอบสิบปี การเมืองสาธารณะก็มีการดำเนินคดีแบบนี้เช่นกัน อย่างการไปชูป้ายประท้วงของนักศึกษา แล้วมีความพยายามเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มก้อนทางการเมือง

     “โดยเนื้อแท้ไม่ได้สนใจว่าผลของคดีจะออกมาอย่างที่ต้องการไหม ฟ้องเพื่อให้เขาต้องมาเสียเวลาวุ่นวายทางคดี ความหวาดกลัวที่จะแสดงออกก็เกิดขึ้น กลายเป็นการทำให้ผู้คนจำกัดการต่อสู้ ไม่กล้ารักษาสิทธิของตนเอง จงใจฟ้องคดีเพื่อให้เขากลัว จำกัดสิทธิของชุมชน ใช้คดีเพื่อจำกัดการตรวจสอบหน่วยงานรัฐของประชาชน”

 

 

     ทนายความอาวุโสกล่าวอีกว่า เรื่องนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาโดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้ฐานทรัพยากรเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิต กับการขัดแย้งระหว่างการช่วงชิงทรัพยากรกับวิถีชีวิตของชุมชน วัฒนธรรม อุตสาหกรรมที่อาศัยฐานทรัพยากรพวกนี้ สะท้อนให้เห็นว่ามันยังไม่ไปไหน มันคือการขยายฐานการผลิตเท่านั้น

     “กระบวนการเหล่านี้ ในทางกลับกันก็เป็นเครื่องยืนยันว่าชาวบ้านได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะมันทำให้การต่อสู้ของพวกเขามีพลังมากขึ้น การดำเนินคดีที่ผ่านมาก็ช่วยเปลี่ยนทัศนะของผู้ที่อยู่ในกระบวนการเช่นกัน ตั้งแต่ทนายความฝ่ายตรงข้ามมาจนถึงผู้พิพากษาตุลาการ สู้จนทำให้เขาเห็นว่าเราสุจริตในการต่อสู้เรื่องเหล่านี้ โดยการต่อสู้ของกลุ่มประชาชนพี่น้องเรา ไม่ต้องไปฝากความหวังไว้ที่ใคร เชื่อมั่นในพลังของพี่น้องเราที่แสดงความเป็นชุมชนให้ชัด มันเป็นความจริงที่ต้องพูดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชุมชนเรา”

 

 

การฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้งจะต้องยุติ

     นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเปิดเผยว่า กำลังรวบรวมข้อมูลและปัญหาเหล่านี้เพื่อเสนอต่อ ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ที่ผ่านมาเรายังสับสนและไม่เข้าใจว่าอะไรคือสิทธิมนุษยชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีความเข้าใจที่แตกต่างกัน

     มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่ากัน ต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน สิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่กว้างกว่ากฎหมาย เช่น การซ้อม การทรมาน คุณค่าของการเป็นมนุษย์เป็นพลวัตร สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา เมื่อก่อนไม่มีผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย แต่สิทธิมนุษยชนก็ต้องตามไปคุ้มครอง มันจึงมีความเป็นพลวัตร ไม่หยุดนิ่ง

     ไทยยังเถียงกันไม่ตกผลึกว่าใครเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เรามีปฏิญญานักปกป้องฯ ของสหประชาชาติ กล่าวคือบุคคลมีสิทธิปัจเจกที่จะสมาคมกับผู้อื่นเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน จะเป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคล สนับสนุนในหลักการสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจต่างๆ มีหน้าที่บันทึกรวบรวมรายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และต้องยุติวัฒนธรรมการงดเว้นโทษ ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษ ต้องสนับสนุนผู้เสียหาย ทำงานกับรัฐว่ามันเกิดอะไรขึ้นเพื่อการพัฒนา การให้ความรู้กับชาวบ้าน ชุมชน ผู้เสียหาย หรือเหยื่อ

     “ใครก็ได้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนักปกป้องฯ แต่ที่เห็นในวันนี้ ส่วนใหญ่จะมีที่มาจาก เหยื่อหรือผู้เสียหายแล้วพัฒนามาเป็นนักสิทธิ คนเหล่านี้ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิที่มากกว่าสิทธิของตัวเอง มีความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชน ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิ คนที่ทำงานตรงนี้ได้ต้องเชื่อมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนสากล ยืนยันการทำงานสิทธิมนุษยชนที่ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่สนับสนุนความรุนแรงเป็นทางออกในการแก้ปัญหา”

     นางอังคณากล่าวว่า หากย้อนไปสิบปี มีนักสิทธิฯ ที่ถูกสังหารไม่ต่ำกว่า 40 กรณี ปัจจุบันรูปแบบการคุกคามเปลี่ยนจากการฆ่า การอุ้มหาย มาเป็นการฟ้องร้อง การดำเนินคดี จากการตรวจสอบโดยหน่วยงาน มีกรณีร้องเรียนและตรวจสอบ 17 กรณี บังคับสูญหาย 2 กรณี ที่เหลือก็ถูกฟ้องร้องและคุกคามในรูปแบบต่างๆ ถ้ารวมจำนวนคนน่าจะมีมากกว่า 100 คนขึ้นไป

     เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ชาวบ้านจะมีสถานะที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ถูกกล่าวหาไว้ก่อนว่าทำผิด และเมื่ออำนาจต่อรองไม่เท่ากันก็มีปัญหาในเรื่องความเท่าเทียม

 

 

     “กรณีง่ายๆ อย่างการใส่เสื้อของกลุ่มชาวบ้านที่มีการสกรีนเสื้อต่อต้านจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องประชุม ขณะที่กลุ่มที่ใส่เสื้อสนับสนุนได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องประชุมได้ หลายครั้งเจ้าหน้าที่ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับราษฎร

     “การฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้งนั้นจะต้องยุติ และอัยการเองก็ต้องใช้ดุลพินิจว่าควรจะสั่งฟ้องหรือดำเนินคดีหรือไม่ หลายคนต้องสูญเสียอะไรหลายอย่างที่กระทบต่อวิถีชีวิตของคนที่ถูกดำเนินคดี หลักการสำคัญคือส่งเสริม คุ้มครอง เคารพ เยียวยา มันต้องส่งเสริมให้รู้ว่าเขามีสิทธิอะไร การพัฒนาการเปลี่ยนแปลงจะเกิดอะไรขึ้น

     “ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบ ภายหลังรัฐประหาร 2557 ประชาชนถูกคุกคามมากขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านถูกจับกุมง่ายขึ้น สิ่งซึ่งอยากจะเห็นคือรัฐต้องยอมรับว่านักสิทธิฯ คือการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของชุมชน และต้องเปิดโอกาสให้เขาเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น และต้องไม่เป็นการถูกฟ้องร้องเพื่อการกลั่นแกล้ง หาแนวทางที่จะมาพูดคุยกัน มีเวทีที่จะมานั่งคุยกันเพื่อบอกเล่าปัญหาต่างๆ

     “ต้องยืนยันหลักการที่ว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิของทุกคน ไม่ปล่อยให้เหยื่อหรือผู้เสียหายต้องโดดเดี่ยว เมื่อไรที่เสียงของเขาได้ถูกบอกไปเป็นวงกว้างและส่งถึงผู้มีอำนาจก็จะเป็นประโยชน์ต่อการต่อสู้ของพวกเขา”

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X