“เฮาแค่ผู้สาวขาเลาะ บ่แม่นผู้สาวขาเรียน
บ่ได้ขยันหมั่นเพียร ปากกาสิเขียนยังได้ยืมหมู่”
นี่คือเนื้อร้องของเพลง ผู้สาวขาเลาะ ในท่อนเริ่ม ผลงานของลูกทุ่งสาว ลำไย ไหทองคำ ที่ในเวลานี้ดังเป็นพลุแตก ด้วยท่วงทำนองเพลงที่ปลุกเร้าอารมณ์ผู้ฟังให้สนุก ครึกครื้น ผนวกรวมกับท่าเต้นของลูกทุ่งสาวที่แรงสยิวในแบบฉบับของเธอ แรงจนกระทั่งผ่านหูผ่านตาไปถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมือง
ช่วงหนึ่งในวงประชุมหน่วยราชการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาตำหนิติติงถึงความแรง จนต้องขอให้ลดระดับลงบ้าง เพราะคลิปที่ได้ดูลำไยเต้นเกือบจะโชว์ของสงวน
ขณะที่ลำไยให้สัมภาษณ์ในรายการ โหนกระเเส ต่อเหตุการณ์นี้ว่า “ตอนแรกก็แอบหวั่นๆ อยู่ เพราะท่านนายกฯ ออกมาพูด แต่ก็ยินดีปรับให้เบาลงได้”
ปฏิกิริยาของผู้คนทั่วไปในโลกโซเชียล มีทั้งเห็นด้วยกับหัวหน้ารัฐบาล ขณะเดียวกันก็มองว่าเป็นการทำมาหากินของนักร้องลูกทุ่งสาว เมื่อมีผู้ชมเสพก็แสดงว่ามีคนชอบใจ ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย หากแต่เป็นเรื่องรสนิยม จึงเกิดข้อถกเถียงมากมายจากปรากฏการณ์นี้ และชวนให้ตั้งคำถามต่อว่าแบบไหนถึงจะพอดีในสายตาของผู้มีอำนาจ หรือว่าแท้จริงแล้วมันควรต้องมีข้อถกเถียงอย่างไรกันแน่
กรอบวัฒนธรรมและเพศเข้ารุกพื้นที่คุณลำไย
ส่วนหนึ่งที่ผู้มีอำนาจมองว่าการแสดงของนักร้องลูกทุ่งสาวดูแรง มีท่าเต้นชวนสยิว เป็นวัฒนธรรมที่เกินขอบเขตความเป็นไทย ที่มักสอนให้เพศหญิงต้องรักนวลสงวนตัว ไม่แสดงออกจนเกินเลย ผศ. ดร. จเร สิงหโกวินท์ นักวิชาการด้านเพศวิถีศึกษา และอาจารย์คณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ แสดงความเห็นว่า
“เขาก็ทำมาหากินของเขา แต่ที่เป็นข่าวดังก็เพราะนายกฯ ออกมาพูด สำหรับผู้ใหญ่หรือคนที่มีความคิดแบบอนุรักษนิยมคงมองว่า มีผู้หญิงมาแต่งตัวหรือทำกิริยาที่ขัดกับความเข้าใจแบบเดิมๆ ที่ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ซึ่งเวลาเราพูดเรื่อง วัฒนธรรมไทย เราจะนึกถึงแต่วัฒนธรรมภาคกลาง ไม่มองภาคอื่นๆ เอาแค่ว่า ขอบเขตวัฒนธรรมไทยอยู่ไหน ใครเป็นเจ้าของ ก็ตอบยากแล้วและกว้างมาก คุณลำไยก็เป็นคนไทยเหมือนกัน วัฒนธรรมคือสิ่งที่เราทำขึ้นทุกวัน และคนทุกคนเป็นเจ้าของวัฒนธรรม ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ ใครคนหนึ่งมาบอกว่าเราละเมิดวัฒนธรรมก็แสดงว่าเขาไม่ได้มองว่าเราเป็นเจ้าของวัฒนธรรมด้วย”
นอกจากมุมมองด้านวัฒนธรรมที่ว่าด้วยการรักนวลสงวนตัวแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่สังคมชายเป็นใหญ่มักตีกรอบผู้หญิงให้ต้องทำแบบนั้นแบบนี้
“ด้านสตรีนิยมมองว่าผู้หญิงและผู้ชายต่างก็มีสิทธิเหนือร่างกายตัวเอง การที่ผู้หญิงจะทำอะไรกับร่างกายของตัวเอง โดยที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน มันก็ไม่ควรมีใครมาจัดการกับร่างกายของใคร แต่สังคมของเราเป็นปิตาธิปไตย ทำให้เกิดการจัดระเบียบร่างกายของผู้หญิง ตีกรอบถึงความดีงามของผู้หญิงขึ้นมา
“ตอนนี้คุณลำไยเป็นเป้าสนใจจากความดัง จึงถูกเลือกขึ้นมาเพื่อนำเสนอเป็นตัวอย่าง และในความเป็นจริงนักร้องนักแสดงอีกหลายคนก็ทำแบบนี้ บางคนบอกว่าเราเลียนแบบฝรั่ง ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่หรอก ผมมองว่าทำไมเขาจะไม่มีสิทธิในร่างกายของตัวเอง แต่ต้องไปดูว่าพื้นที่ในการแสดงเป็นพื้นที่สาธารณะหรือไม่ หากเป็นมันก็คงมีกติกาสังคมที่มองว่าการนำเสนอแบบไหนถึงพอดี ถ้าหากเป็นงานปิด เสียสตางค์ไปดู ก็อีกแบบหนึ่ง” อาจารย์จเรกล่าว
สื่อไม่ได้มีหน้าที่สอนศีลธรรม
อีกปฏิกิริยาหนึ่งของเรื่องนี้คือนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขอให้สื่อช่วยแนะนำและตักเตือนด้วย
แล้วสื่อควรจะทำหน้าที่ต่อเรื่องนี้อย่างไร ต้องนำเสนอภาพของลำไยในแบบไหนจึงจะถือว่าพอดี นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ที่คร่ำหวอดในวงการสื่อมาหลายสิบปี และเฝ้ามองความเคลื่อนไหวของสังคม ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า
“เมื่อดิฉันได้ยินว่าสื่อไปตั้งคำถามกับนายกฯ ว่าควรให้กระทรวงวัฒนธรรมลงมาดูเรื่องนี้ไหม สื่อขอวิจารณ์สื่อด้วยกันว่าคำถามนี้เกิดขึ้นทุกที แล้วเราในฐานะสื่อด้วยกันเองเข้าใจหรือไม่ว่าวัฒนธรรมคืออะไร แล้วอะไรที่เรียกว่าวัฒนธรรมไทย หากย้อนไปอ่านวรรณคดีไทย ก็จะพบเรื่องการรักนวลสงวนตัว ที่ตัวพระนางได้เสียกันมาตั้งแต่อายุยังน้อย การตั้งคำถามแบบนี้วนเวียนซ้ำซากตลอด”
แล้วอะไรคือการนำเสนอที่เรียกว่าความพอดี หรือทำให้สาธารณชนเข้าใจถึงการทำงานของสื่อ ในเมื่อผู้มีอำนาจเองยังคงคาดหวังให้สื่อต้องเป็นกระบอกเสียง แนะนำตักเตือนถึงค่านิยมรักนวลสงวนตัวนี้ ซึ่งนิธินันท์ตอบแบบฟันธงว่า สื่อไม่มีหน้าที่มาสอนศีลธรรมแต่อย่างใด
“หลักจริยธรรมสื่อแบบกว้างไม่ได้บอกว่าสื่อต้องมีหน้าที่ไปสอนจริยธรรมใคร แต่สื่อมีหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมน้อยที่สุด ความเสียหายที่ว่าไม่ได้เป็นเรื่องนุ่งสั้น เต้นรำ แต่งตัวล่อแหลม ซึ่งมันเป็นเรื่องทัศนะของแต่ละคน แถมไม่ใช่เป็นเรื่องดำ ขาว สิ่งที่สื่อต้องทำคือระมัดระวังไม่ให้สังคมเกิดความเสียหาย เช่น ไม่ยุให้คนไปฆ่ากัน ไม่ยุให้ใครไปทำความเดือดร้อนให้คนอื่น สื่อไม่ได้มีหน้าที่ไปสอนศีลธรรมว่าอะไรถูกอะไรผิด”
คำถามต่อมาก็คือ สื่อมีส่วนเร้าหรือทำให้เกิดภาพเหล่านี้สู่สาธารณชนด้วยหรือไม่ นิธินันท์ตอบว่า “ความพอดีของการนำเสนอข่าวของสื่อมันอยู่ที่แต่ละคน เช่น นุ่งผ้าเตี่ยวไม่ดี ขณะที่บางคนบอกดี มันก็เป็นความคิดของแต่ละคน อะไรคือวัฒธรรมที่เรามานั่งหวงแหนว่ามันจะเสื่อมเสีย ทั้งที่มันมีเรื่องใหญ่โตกว่านี้มาก เช่น เรายอมรับที่จะนำเสนอความคิดของคนที่นำไปสู่การฆ่าคนที่เห็นต่างให้ตายได้ ไม่เห็นมีใครเดือดร้อน ซึ่งมันแย่กว่าการแต่งกายไม่เหมาะสมเสียอีก การลงรูปเรือนร่างผ่านสื่อมันก็ไม่ใช่เรื่องผิด มันเป็นเรื่ององค์ประกอบหนึ่งของข่าวที่จะเลือกมานำเสนอ ซึ่งมันมีเรื่องเซ็กซ์อยู่ด้วย และมีคนสนใจที่จะเสพ ร่างกายมนุษย์มันไม่น่าดูตรงไหน สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยบอกว่าเซ็กซ์ไม่ใช่สิ่งที่สกปรก แต่จารีตแบบไทยๆ มันทำให้เซ็กซ์กลายเป็นเรื่องโสโครก”
สิทธิที่จะมีความสุขตามแบบวัฒนธรรมของเขา
ดูประหนึ่งว่ารัฐจะเข้ามายุ่งวุ่นวายในพื้นที่ความสุขของประชาชนที่มีมุมมองวัฒนธรรมในแต่ละถิ่นแตกต่างกันออกไป แล้วความสุขที่ว่าจะได้คืนมาแบบไหน อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
“ถ้าใจกว้างยอมรับว่ามันมีวัฒนธรรมหลายชุดหลายกลุ่ม (ซึ่งความจริงก็เป็นอย่างนั้น) เมื่ออยู่ในพื้นที่ของเขา เขาย่อมมีสิทธิที่จะมีความสุขตามแบบวัฒนธรรมของเขาครับ
“เรื่องกระแส ‘ตื่นไหทองคำ’ นั้น รัฐต่างหากที่ไปละเมิดสิทธิของเขา เขาจะมีไหหรือเขาจะมีหีบก็เป็นเรื่องของชาวบ้านไม่ใช่เรื่องที่รัฐจะไปวุ่นวาย”
อาจารย์สมฤทธิ์ยังได้ยกวรรณคดีไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนพลายแก้วขึ้นเรือนแม่พิม แล้วทั้งคู่ก็ได้เสียกัน มาอธิบายภาพเกี่ยวกับวาทกรรมรักนวลสงวนตัวด้วยว่า
“พอพลายแก้วได้แม่พิมแล้ว ก่อนกลับเจ้าพลายแก้วก็เข้าหาสายทอง พี่เลี้ยงของแม่พิม เพื่อให้โบนัสแก่สายทองที่ช่วยเป็นแม่สื่อให้ สรุปคืนเปิดบริสุทธิ์ พลายแก้วมีคนช่วยเปิดให้ตั้ง 2 คนแน่ะ ตอนนั้นพลายแก้ว 15 แม่พิม 14 สายทอง 17 ยังไม่ได้ทำบัตรทั้ง 3 คน ถ้าเอาวาทกรรมรักนวลสงวนตัวมาบังคับใช้ ขุนช้างขุนแผน ก็ต้องถูกตัดออกจากการเป็นวรรณคดีของไทย
“แต่ทำไมยังคงเป็นวรรณคดีไทยอยู่ ไม่เห็นกระทรวงวัฒนธรรมหรือคุณประยุทธ์ และบรรดาผู้ดีทั้งหลายออกมาโวยวาย นี่คือความย้อนแย้งที่ไม่เคยลงตัวของวัฒนธรรมไทย เพราะเหตุว่ารัฐไทยต้องการสร้าง ‘เอกลักษณ์’ ทางวัฒนธรรม จึงนำวัฒนธรรม ‘เมือง’ มาเป็นตัวกำหนดหรือแบบอย่าง แต่ลืมไปว่ามันมีวัฒนธรรม ‘ชนบท’ ที่ดำรงอยู่อย่างหนาแน่นและเข้มแข็ง เพียงแต่ถูกลดค่าด้วยข้อหาที่ว่า สกปรก หยาบคาย ลามก ฯลฯ”
เพื่อนร่วมวงการมองปรากฏการณ์ ลำไย ไหทองคำ อย่างไร
ขณะที่นักร้องลูกทุ่งสาวรุ่นพี่ร่วมวงการอย่าง จ๊ะ อาร์สยาม เปิดเผยถึงเรื่องนี้ต่อหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ว่า “ถ้าเป็นเพลงช้ายืนเฉยๆ มันจะไม่เป็นข่าว แต่ถ้าเป็นท่าเต้นแปลกๆ ยกขาเด้งจะเป็นข่าวทันที เวลาตนเห็นน้องก็เป็นกันเองดี เขาใส่กางเกงยีนส์ขาสั้นธรรมดาที่ใส่กัน เสื้อสายเดี่ยวสีดำ มีเสื้อยีนส์คลุม อันนี้เท่าที่เราเห็นน้องแต่งตัว ตนมองว่าน้องเป็นหมอลำซิ่ง มองว่าปกติสำหรับหมอลำซิ่งส่วนมากจะเต้นกันแบบนี้ ภาคอีสานหมอลำซิ่งจะเต้นและแต่งตัวแบบนี้”
สอดรับกับ แคนดี้ รากแก่น นักร้องหมอลำและดีเจ ซึ่งได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “มองย้อนกลับไป สมัยที่เราแสดงแบบอ่อนหวาน ร่ายรำ วัฒนธรรม… บอกตรงๆ ว่าแทบไม่มีงานจ้างเลย อยู่ได้เพราะทำธุรกิจอย่างอื่น…จนหันมาเริ่มแสดงแนวสนุกๆ เป็นเจ้าแม่เอ็นเตอร์เทนเนอร์ เต้นสาดสุดๆ ก็โอเคนะ งานจ้างมีต่อเนื่อง ถึงไม่ดังเปรี้ยงปร้างมาก แต่คิวแน่น… มาดังมากขึ้น มีชื่อเสียงมากขึ้น คนจำได้มากขึ้นตอนเป็นข่าวภาพหลุด!! มันทำให้รู้สึกนิดๆ เลยนะว่าคนสนใจและเสพข่าวอะไรแบบนี้จริงๆ… แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่การปรับตัววางตัวเราอย่างไรให้อยู่ได้นานๆ…”
และที่ดูจะร้อนแรงไม่แพ้กันสำหรับคอมเมนต์ของ ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช อดีตสมาชิกวุฒิสภาขอนแก่น ที่ตั้งคำถามต่อชื่อของ ลำไย ไหทองคำ ว่าทำไมตั้งชื่อแบบนี้ แม้จะเป็นเรื่องธุรกิจแต่ก็ดูไม่เหมาะสมควรจะเป็น ‘ลำไย ใจงาม’…
ล่าสุดวันนี้เอง ข่าวสด รายงานว่า ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. มีเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปขอความร่วมมือทีมงานของลำไย ไหทองคำ ให้ช่วยดูแลเรื่องการแสดง หลังมีข่าวนายกฯ ติงการแสดงของลำไยที่หมิ่นเหม่เกินไป โดยงานคอนเสิร์ตดังกล่าวจัดที่ตลาดนัดจ่าหมาย หมู่ที่ 3 ต.สองแพรก อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี
และนี่คือการจัดการเรื่องนี้ของรัฐที่อำนาจแผ่ขยายเข้าไปกำกับทุกเรื่อง มีความสุขกันแบบไหน ประชาชนคงต้องตอบคำถามนี้เอง
อ้างอิง: