พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดขึ้นเพื่อถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560
โดยหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560
รัฐบาล โดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เริ่มการเตรียมงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 เรื่อยมา มีการสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระราชพิธี รวมถึงการเตรียมงานมหรสพในงานออกพระเมรุ
ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าที่อยู่ใต้ร่มพระบารมีจะได้ร้อยรวมดวงใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อน้อมเกล้าฯ ส่งเสด็จพระองค์ท่านสู่สวรรคาลัย
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความเป็นหนึ่งเดียวในโลก
3 สิงหาคม 2560 ที่หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ ได้มีการจัดงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง ‘การใช้คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร’ เพื่อให้สื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เผยแพร่ข้อมูลอย่างถูกต้องตามโบราณราชประเพณี
“ประเทศไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งประเทศ ดังนั้นในการพระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์นี้ รัฐบาลและทุกภาคส่วนจึงพร้อมใจกันปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณให้นานาประเทศได้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวในโลก”
พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในโอกาสเป็นประธานการเปิดโครงการเสวนานี้และชี้ให้เห็นว่า
“การใช้คำราชาศัพท์และคำศัพท์มีความสำคัญ เนื่องจากสื่อมวลชนจะได้เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในพระราชพิธีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักโบราณราชประเพณี”
ซึ่งกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จะเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้างพระเมรุมาศ ตลอดจนศิลปกรรมประกอบตามหลักโบราณราชประเพณี พร้อมรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีทั้งหมดให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
ขณะที่ ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการประจำสำนักพระราชวังพิเศษ สำนักพระราชวัง กล่าวในการบรรยายพิเศษว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 เปรียบเสมือนองค์สมมติเทพ จึงต้องมีการใช้คำราชาศัพท์ซึ่งเป็นคำสุภาพ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีวัฒนธรรมและจารีตประเพณี เมื่อจะส่งเสด็จสู่สรวงสวรรค์จึงมีการก่อสร้างพระเมรุมาศเหมือนดั่งเขาพระสุเมรุเพื่อถวายพระเกียรติยศ
พระเมรุมาศเปรียบดั่งเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาล
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการจัดสร้างพระเมรุมาศ ได้บรรยายถึงการออกแบบครั้งนี้ว่า ได้กำหนดกรอบแนวคิดตามอย่างโบราณราชประเพณีไว้ 3 ประการคือ
- ต้องสมพระเกียรติ เพราะครั้งนี้เป็นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งครั้งล่าสุดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เมื่อเดือนมีนาคม 2493 และตลอดรัชสมัยที่ผ่านมาก็มีเพียงงานพระเมรุของสมเด็จพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่
- ออกแบบตามหลักราชประเพณีโบราณ โดยยึดแบบสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะสมัยอยุธยานั้นไม่มีรูปแบบที่เป็นหลักฐาน จึงดูแบบพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
- การออกแบบยึดหลักไตรภูมิตามคัมภีร์พระพุทธศาสนา และความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์คือสมมติเทพตามระบบเทวนิยม
ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงได้บรรยายไว้ว่า จักรวาลมีลักษณะเป็นวงกลม มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล บนเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีไพชยนต์ปราสาทอยู่กลางเมือง เขาพระสุเมรุล้อมรอบด้วยทะเล 7 ชั้น เรียกว่า ‘ทะเลสีทันดร’ สลับด้วยภูเขา 7 ลูก เรียกว่า ‘สัตตบริภัณฑ์’ ส่วนเชิงเขาพระสุเมรุนั้นเป็นที่ตั้งของป่าหิมพานต์และสระอโนดาต ถัดออกมาเป็นทวีปทั้ง 4 และมหาสมุทรทั้ง 4 ซึ่งมนุษย์เราอาศัยอยู่ในชมพูทวีปนั่นเอง
คติความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาลนี้เป็นที่มาของการสร้างพระเมรุมาศในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ไทยองค์ก่อนๆ โดยพระเมรุมาศเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และมีอาคารรายล้อมเสมือนสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมจักรวาล อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะระบุความหมายอย่างแน่ชัดในแบบแผนของพระเมรุมาศทั้งหมด เนื่องจากสิ่งก่อสร้างบางอย่างก็สร้างขึ้นตามประโยชน์ใช้สอย เช่น พระที่นั่งทรงธรรม ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์เมื่อเสด็จฯ งานถวายพระเพลิง
การสร้างพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพคือการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
วันเดียวกันนี้ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปติดตามความคืบหน้าการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน การก่อสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบยังท้องสนามหลวง
พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประกอบด้วยอาคารทรงบุษบกจำนวน 9 องค์ ตั้งอยู่บนฐานชาลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ทิศ ทิศตะวันตกหันหน้าเข้าพระที่นั่งทรงธรรม ทิศตะวันออกติดตั้งลิฟต์ และทิศเหนือติดตั้งสะพานเกรินสำหรับอัญเชิญพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนพระเมรุมาศ โดยโครงสร้างพระเมรุมาศประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
ลานอุตราวรรต หรือพื้นรอบฐานพระเมรุมาศ มีสระอโนดาตทั้งสี่ทิศและเขามอจำลอง ภายในสระประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ได้แก่ ช้าง โค สิงห์ ม้า และสัตว์หิมพานต์ตระกูลต่างๆ
ฐานชาลาชั้นที่ 1 เป็นชั้นล่างสุด มีฐานสิงห์เป็นรั้วราชวัตร ฉัตร แสดงอาณาเขตพระเมรุมาศ และมีเทวดานั่งคุกเข่าถือบังแทรก ส่วนที่มุมทั้งสี่ของฐานมีประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลประทับยืนหันหน้าเข้าสู่บุษบกองค์ประธาน
ฐานชาลาชั้นที่ 2 มีหอเปลื้องทรงบุษบกรูปแบบเดียวกันตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่และพระโกศไม้จันทน์ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับงานพระราชพิธี
ฐานชาลาชั้นที่ 3 ฐานบุษบกประธานประดับประติมากรรมเทพชุมนุมจำนวน 108 องค์โดยรอบ รองรับด้วยฐานสิงห์ ซึ่งประดับประติมากรรมครุฑยุดนาคโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง มุมทั้งสี่ของฐานชั้นที่ 3 นี้เป็นที่ตั้งของซ่างทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ใช้สำหรับพระพิธีธรรม 4 สำรับ นั่งสวดอภิธรรมสลับกันไปตลอดนับตั้งแต่พระบรมศพประดิษฐานบนพระจิตกาธานจนกระทั่งถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จ
พระพิธีธรรม คือชื่อตำแหน่งของพระสงฆ์ โดยพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแก่วัด ไม่ได้พระราชทานแก่พระสงฆ์ ปัจจุบันมี 10 วัดคือ วัดราชสิทธาราม, วัดอนงคาราม, วัดประยุรวงศาวาส, วัดจักรวรรดิราชาวาส, วัดระฆังโฆสิตาราม, วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์, วัดสระเกศ, วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดสุทัศน์เทพวราราม
จุดกึ่งกลางชั้นบนสุด มีบุษบกองค์ประธานตั้งอยู่ เป็นอาคารทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ภายในมีพระจิตกาธานเป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ ผนังโดยรอบเปิดโล่ง ติดตั้งพระวิสูตร (ม่าน) และฉากบังเพลิงเขียนภาพพระนารายณ์อวตารตอนบน และภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตอนล่าง ที่ยอดบนสุดประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น)
พระจิตกาธาน คือเชิงตะกอนหรือฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพ เป็นคำที่ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบด้วยแท่นฐานสำหรับเผาทรงสี่เหลี่ยม ภายในใส่ดินเสมอปากฐานสำหรับวางฟืน ไม้จันทน์ พระจิตกาธานมักประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีและเครื่องสด เช่น ดอกไม้ ใบไม้ ใบตอง หยวกกล้วย และผลไม้บางชนิด เป็นต้น สำหรับเป็นเครื่องกันไฟ
ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระจิตกาธานตั้งอยู่บนฐานชาลาชั้นบนสุดภายในบุษบกองค์ประธาน
อาคารประกอบพระราชพิธี
พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูง ขนาดกว้าง 44.50 เมตร ยาว 155 เมตร ซึ่งเป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธี ตลอดจนเป็นที่ประทับสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชวงศ์ต่างประเทศ พระราชอาคันตุกะ รวมทั้งจัดเป็นที่ประทับและที่นั่งสำหรับบุคคลสำคัญที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี รองรับได้ประมาณ 2,800 ที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีห้องทรงพระสำราญสำหรับเป็นที่ประทับพักของพระบรมวงศานุวงศ์ ห้องพักรับรองสำหรับพระสงฆ์และบุคคลสำคัญที่เข้าเฝ้าฯ บนพระที่นั่งทรงธรรม ห้องสุขา ห้องส่งสัญญาณในการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธี ห้องพักสำหรับทหารมหาดเล็ก เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่
ศาลาลูกขุน แบบที่ 1 ใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการสำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ และผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี
ศาลาลูกขุน แบบที่ 2 ใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการและผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี
ศาลาลูกขุน แบบที่ 3 ใช้เป็นที่พักสำหรับทหารมหาดเล็ก เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ และใช้เป็นห้องสุขา ตลอดจนใช้เป็นห้องสำหรับส่งสัญญาณในการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธี
ทับเกษตร ใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคม วงปี่พาทย์ ตลอดจนเป็นที่พักสำหรับทหารมหาดเล็ก เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่ รวมทั้งใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ ผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี และทำเป็นห้องสุขา
ทิม สำหรับทหารมหาดเล็ก เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ พระสงฆ์ และแพทย์หลวงพัก ใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ ผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี และทำเป็นห้องสุขา
พลับพลายกท้องสนามหลวง อยู่ด้านนอกเขตรั้วราชวัติด้านทิศเหนือ ใช้เป็นที่ประทับสำหรับเสด็จรับพระบรมศพลงจากพระมหาพิชัยราชรถสู่ราชรถปืนใหญ่
พลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ใช้เป็นที่ประทับสำหรับเสด็จรับพระบรมศพจากพระยานมาศสามลำคานสู่พระมหาพิชัยราชรถ
พลับพลายกพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท อยู่ด้านหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท หน้าพระบรมมหาราชวัง สำหรับเจ้านายฝ่ายในประทับ ทอดพระเนตรกระบวน และถวายบังคมพระบรมศพ
เกยลา ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง สำหรับอัญเชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน
ความงดงามที่ถูกซ่อนไว้ใต้การวางผังพระเมรุมาศ
ดร. พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ดูแลการวางผังพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้กล่าวถึงสิ่งนี้ไว้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า การวางผังพระเมรุมาศมีความเชื่อมโยงกับศาสนสถานโบราณสำคัญที่อยู่บริเวณรอบมณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยกำหนดที่ประดิษฐานของบุษบกองค์ประธาน ที่ตั้งของพระจิตกาธานสำหรับถวายพระเพลิง พระบรมศพจากจุดตัดของเส้นทิศเหนือ-ใต้ ซึ่งลากจากยอดพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับเส้นทิศตะวันออก-ตะวันตก ที่ลากจากเขตพุทธาวาส วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
ซึ่งหากมองพระเมรุมาศจากกึ่งกลางของทางเข้าด้านทิศเหนือ (หันหน้าเข้าพระบรมราชวัง) จะสามารถมองเห็นยอดพระศรีรัตนเจดีย์ของวัดพระแก้วซ้อนอยู่ในบุษบกองค์ประธาน เป็นความงดงามทางภูมิสถาปัตย์ที่น่าประทับใจยิ่ง
นับเป็นความตั้งใจของกรมศิลปากร หน่วยงานรับผิดชอบการจัดสร้างเพื่อให้พระเมรุมาศมีความงดงามยิ่งใหญ่สมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
อ้างอิง:
- www.kingrama9.th/Crematory
- goo.gl/UZJcUj
- ข้อมูลจาก กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
- หนังสือธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดงานพระบรมศพ, หนังสือคำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
- กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี
- 28 พฤศจิกายน 2559 มีการประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างเป็นครั้งแรก โดยมีพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เป็นประธาน มีการเปิดเผยร่างแบบพระเมรุมาศ พร้อมด้วยพระโกศจันทน์
- ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ มีการส่งมอบพื้นที่ให้กรมศิลปากรจัดสร้างพระเมรุมาศในวันที่ 10 มกราคม 2560 โดยการจัดสร้างในทุกๆ ด้าน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560 และจะมีการจัดแสดงนิทรรศการที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 2 เดือน ก่อนมีการรื้อถอน