×

ช้างไทยครองแชมป์ถูกทรมานเพื่อการท่องเที่ยวมากที่สุดในเอเชีย

06.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • การสำรวจขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกพบว่าช้างจำนวน 2,242 เชือก หรือประมาณ 3 ใน 4 ที่ถูกใช้ในการท่องเที่ยวอยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่ ‘แย่’ หรือ ‘ไม่สามารถยอมรับได้’ แถมยังพบว่าช้างจำนวน 1,839 เชือกถูกล่ามไว้ด้วยโซ่สั้นๆ ไม่เกิน 3 เมตร หลังถูกใช้ในกิจกรรมการ ‘ขี่ช้าง’
  • ไทยมีช้างที่ถูกนำมาใช้เพื่อการท่องเที่ยวมากที่สุดถึง 2,198 เชือก และได้คะแนน 4.6 เต็ม 10 จากการสำรวจเรื่องสวัสดิภาพช้าง ซึ่งเป็นคะแนนที่ต่ำที่สุดรองจากอินเดีย

     ขณะที่ภาพนักท่องเที่ยวใบหน้าเปื้อนยิ้มกำลังนั่งอยู่บนหลังช้างในคลิปวิดีโอโปรโมตการท่องเที่ยวของไทยถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ภาพอีกมุมที่แทบไม่มีใครเคยเห็นคือสภาพความเป็นอยู่ที่แสนทุกข์ทรมานของช้างไทยที่ถูกใช้งานอย่างหนักในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และกำลังสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้กับประเทศ

 

Photo: Roberto SCHMIDT/AFP

 

   ล่าสุด World Animal Protection หรือองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เพิ่งเปิดเผยรายงานการสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของช้างที่ถูกใช้ในสถานที่ท่องเที่ยวทั่วเอเชีย ซึ่งฉายภาพให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าขณะที่พวกมันกำลังสร้างรอยยิ้มให้กับนักท่องเที่ยว แต่พวกมันเองกลับได้รับการปฏิบัติที่ย่ำแย่แค่ไหน

 

Photo: Roberto SCHMIDT/AFP

 

ช้าง 3 ใน 4 มีสภาพความเป็นอยู่ที่ ‘แย่’ และ ‘ยอมรับไม่ได้’

     จากการสำรวจช้างจำนวน 2,923 เชือก ใน 6 ประเทศแถบเอเชีย ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เนปาล ศรีลังกา และบางส่วนของอินเดีย พบว่าประเทศไทยมีช้างที่ถูกใช้ในการท่องเที่ยวมากที่สุดถึง 2,198 เชือก รองลงมาคืออินเดีย 617 เชือก ตามด้วยศรีลังกา 166 เชือก เนปาล 147 เชือก ลาว 59 เชือก และกัมพูชา 36 เชือก

     ซึ่งการสำรวจพบว่า ช้างจำนวน 2,242 เชือก หรือประมาณ 3 ใน 4 อยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่ ‘แย่’ หรือ ‘ไม่สามารถยอมรับได้’ แถมยังพบว่าช้างจำนวน 1,839 เชือกถูกล่ามไว้ด้วยโซ่สั้นๆ ไม่เกิน 3 เมตร หลังถูกใช้ในกิจกรรมการ ‘ขี่ช้าง’ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

     ขณะที่มีช้างเพียง 194 เชือกในปางช้าง หรือสวนสัตว์ 13 แห่งเท่านั้นที่มีสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสม และสถานที่เหล่านั้นก็ไม่มีกิจกรรมการขี่ช้างแต่อย่างใด ซึ่งสถานที่ที่ได้คะแนนมากที่สุดคือสถานที่ที่ปล่อยให้ช้างเดินเล่นตามธรรมชาติโดยไม่มีการล่ามโซ่ และปล่อยให้พวกมันมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

 

Photo: Handout/AFP 

 

ช้างไทยรองแชมป์สวัสดิภาพต่ำสุด

     สำหรับการให้คะแนนสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของช้าง พบว่าช้างในอินเดียได้คะแนนต่ำสุดที่ 4.4 ตามด้วยประเทศไทย 4.6 เนปาล 4.8 ศรีลังกา 4.9 และลาว 5.0 ส่วนประเทศที่ได้คะแนนมากที่สุดในเรื่องสวัสดิภาพช้างท่องเที่ยวคือกัมพูชาที่ได้ 6.5 คะแนน จากช้างที่มีอยู่ 36 เชือก ในปางช้าง 4 แห่ง

     สมศักดิ์ สุนทรนวภัทร ผู้จัดการโครงการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่าในรายงานดังกล่าวจะใช้เกณฑ์การให้คะแนนหลากหลายด้าน เช่น เรื่องสุขอนามัย สภาพแวดล้อม การพักผ่อน การปฏิสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยว คุณภาพของอาหาร ความถี่ในการถูกใช้เพื่อการแสดง ระยะเวลาทำงาน สัตวบาล การล่ามโซ่ ซึ่งโดยรวมประเทศไทยได้คะแนนค่อนข้างต่ำ เนื่องจากไม่มีกฎหมายบังคับว่าปางช้างแต่ละแห่งต้องมีมาตรฐานการดูแลช้างอย่างไร 

     ไต่เชือก ว่ายน้ำ เตะฟุตบอล วาดรูป และให้คนขี่ กิจกรรมเหล่านี้อาจสร้างรอยยิ้มให้กับนักท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่สำหรับช้าง เพราะเบื้องหลังคือความทุกข์ทรมานจากการฝึก และสภาพความเป็นนอยู่ที่ย่ำแย่

     “เรากำลังรณรงค์เรื่อง Elephants are wildlife. not entertainers โดยมีเป้าหมายให้สาธารณชนได้รับรู้ว่าช้างเป็นสัตว์ป่า และการนำช้างมาใช้เพื่อการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น การแสดง หรือกิจกรรมขี่ช้าง ถือเป็นการทรมานสัตว์ เพราะพวกมันต้องถูกแยกจากแม่ตั้งแต่ยังเล็ก ถูกให้อาหารที่มีความหลากหลายน้อย ได้รับการดูแลที่ไม่ทั่วถึง และส่วนใหญ่จะถูกล่ามไว้ในที่แคบๆ ซึ่งมีโซ่ยาวไม่เกิน 3 เมตร ต่างจากช้างป่าทั่วไปที่จะเดินวันละ 80-90 กิโลเมตร”

 

Photo: Handout/AFP 

 

     ขณะที่ จอน ชมิดต์-เบอร์แบช (Jan Schmidt-Burbach) นักวิจัยขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หนึ่งในทีมงานที่ทำการสำรวจดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับ AFP ว่า

     “ตามกฎเกณฑ์ด้านสวัสดิภาพสัตว์ ถ้าคุณสามารถขี่ กอด หรือถ่ายรูปคู่กับสัตว์ป่าต่างๆ ได้ นั่นคือการทารุณกรรมสัตว์ และคุณก็ไม่ควรทำ”

 

Photo: PHILIPPPE HUGUEN/AFP

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

 

     ในรายงานยังระบุด้วยว่าปางช้างในประเทศไทยมีการนำช้างมาใช้เพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 1,688 เชือกในปี 2010 มาเป็น 2,198 เชือกในปี 2016 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ภายในช่วงเวลา 5 ปี นอกจากนี้ช้างกว่า 160 เชือกที่ทำการสำรวจพบยังมีอายุต่ำกว่า 5 ปีอีกด้วย และโดยเฉลี่ยแล้วช้างในประเทศไทยจะมีราคาเชือกละประมาณ 1,000,000-2,000,000 บาท ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ และลักษณะงาของพวกมัน

     สำหรับรายงานฉบับดังกล่าวได้ทำการสำรวจปางช้างหรือสวนสัตว์ที่มีการใช้ช้างเพื่อการท่องเที่ยว 220 แห่ง ในช่วงปลายปี 2014 ถึงกลางปี 2016 โดย 189 แห่งมีการใช้ช้างในกิจกรรมขี่ช้าง ซึ่งคิดเป็น 80% ของช้างทั้งหมดที่ทำการสำรวจ นอกจากนั้นเป็นช้างที่ใช้ในการแสดง กิจกรรมอาบน้ำช้าง และปล่อยช้างเป็นธรรมชาติ

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising