แม้ว่าปัญหาหนี้จะเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญของใครหลายคน แต่นอกจากจำนวนใบแจ้งหนี้ที่แต่ละคนมีอยู่แล้ว เราแทบไม่รู้เลยว่าประชากรคนอื่นๆ ของประเทศเขามีหนี้กันเท่าไร ใครบ้างที่มีหนี้ หนี้ประเภทไหนที่คนไทยมีมากที่สุด และที่สำคัญ หนี้เสียที่เกิดจากการค้างชำระมีจำนวนมากแค่ไหน ที่พอจะเห็นก็มีเพียงตัวเลขหนี้ที่นำไปเทียบกับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ Debt to GDP ซึ่งไม่ได้บอกรายละเอียดเหล่านี้เลย
ล่าสุด สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เปิดเผยรายงานเรื่อง ‘มุมมองใหม่หนี้ครัวเรือนไทยผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร’ โดยใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด จนได้เป็นตัวเลขน่าสนใจมากมายที่สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการเป็นหนี้ของคนไทยในภาพรวมและในเชิงลึกได้เป็นอย่างดี
เครดิตบูโร เหมืองความรู้แห่งใหม่ของหนี้ครัวเรือนไทย
สำหรับที่มาของรายงานเรื่อง ‘มุมมองใหม่หนี้ครัวเรือนไทยผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร’ โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในผู้จัดทำรายงานดังกล่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้มักจะมีการรายงานหนี้ครัวเรือนในภาพใหญ่ (macro) โดยนำไปเปรียบเทียบกับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ซึ่งแม้จะเป็นประโยชน์ในการมองเห็นทิศทางการเติบโตของภาระหนี้คนไทย แต่ตัวเลขเหล่านั้นไม่ได้สะท้อนลึกไปถึงกลุ่มคนที่ถือครองหนี้ในระดับจุลภาค
ขณะที่รายงานชิ้นนี้ใช้ข้อมูลเชิงสถิติขนาดใหญ่ของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ NCB ที่ครอบคลุมหนี้ในระบบทั่วประเทศ โดยข้อมูลถูกส่งมาจากสถาบันการเงิน 90 แห่ง ทั้งจากธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง และสถาบันทางการเงินอื่นๆ เกือบทั้งหมด ซึ่งมีข้อมูลสินเชื่อถึง 60.5 ล้านบัญชี ของผู้กู้ 19.3 ล้านรายทั่วประเทศ และมียอดหนี้รวมถึง 9.8 ล้านล้านบาท แต่ไม่ได้รวมหนี้สหกรณ์ สินเชื่อกู้ยืมเพื่อการศึกษา และหนี้นอกระบบ ซึ่งคิดเป็น 87 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณหนี้ในระบบทั้งหมด โดยใช้ข้อมูลตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 จนถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2559
ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้จึงกลายเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงสถานการณ์หนี้และหนี้เสียของคนไทยทั่วประเทศ
“ข้อดีของข้อมูลเหล่านี้คือมันมีความละเอียดมาก เพราะบอกได้หมดว่าแต่ละคนเป็นหนี้ประเภทไหน มาจากสถาบันการเงินไหน บอกถึงอายุของผู้กู้ รวมถึงรหัสไปรษณีย์ที่ทำให้เรารู้ว่าคนที่มีหนี้อาศัยอยู่ที่ไหนบ้าง ปริมาณหนี้ที่มีอยู่ในแต่ละสัญญา และคุณภาพการค้างชำระหนี้ ข้อมูลเหล่านี้คือสิ่งที่เรานำมาวิเคราะห์และจัดทำเป็นรายงานฉบับนี้”
หนี้กระจุก! คนไทย 10 เปอร์เซ็นต์ มีหนี้สูงถึง 62.4 เปอร์เซ็นต์ของหนี้ในระบบ
สำหรับภาพรวมภาระหนี้ครัวเรือนของคนไทย รายงานฉบับนี้พบว่า 1 ใน 3 ของประชากรไทยมีหนี้ในระบบ และมีค่ากลางของปริมาณหนี้ต่อผู้กู้อยู่ที่ 147,068 บาท นอกจากนี้ 1 ใน 5 ของคนที่เป็นหนี้จะมีหนี้เสียที่ค้างชำระเกิน 90 วัน และมีค่ากลางของปริมาณหนี้เสียรายคนอยู่ที่ 56,529 บาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ
Photo: สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
หนึ่งในข้อสังเกตหลักของรายงานฉบับนี้คือภาพการกระจายตัวของหนี้ครัวเรือนไทยทั้งประเทศ ซึ่งน่าตกใจว่าหนี้ครัวเรือนไทยมีการกระจุกตัวในกลุ่มผู้กู้รายใหญ่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีหนี้รวมกันสูงถึง 62.4 เปอร์เซ็นต์ของหนี้ในระบบทั้งหมด นอกจากนี้จากข้อมูลยังพบว่า ผู้กู้รายใหญ่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ยังกระจุกตัวอยู่ในชุมชนเมืองจังหวัดใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต และสงขลา ซึ่งผู้จัดทำรายงานแสดงความกังวลว่า หากคน 10 เปอร์เซ็นต์ที่ว่านี้มีความเปราะบางทางการเงิน ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินทั้งระบบได้
“จริงๆ แล้วการเข้าถึงสินเชื่อของคนไทย 1 ใน 3 ถือเป็นปริมาณที่ไม่เยอะเลยเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ ดังนั้นอาจต้องมีนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงหนี้ที่จำเป็น เช่น หนี้เพื่อที่อยู่อาศัย ให้มากกว่านี้ แต่การส่งเสริมการเข้าถึงจะต้องมีการพุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนที่มีศักยภาพที่ดีด้วย”
คนรุ่นใหม่เป็นหนี้เร็ว และเป็นหนี้นาน
ในรายงานยังเปิดเผยถึงภาระหนี้ของกลุ่มคนวัยเริ่มทำงาน โดยพบว่า 1 ใน 2 ของคนอายุตั้งแต่ 25-35 ปีจะมีหนี้ และเป็นช่วงอายุที่มีสัดส่วนคนเป็นหนี้มากที่สุด สะท้อนภาพการเข้าสู่ภาระหนี้ของคนไทยตั้งแต่อายุยังน้อย แถมคนในกลุ่มนี้ยังมีสัดส่วนหนี้เสียสูงเกิน 1 ใน 5 อีกด้วย
มิหนำซ้ำเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในระยะยาวยังพบว่าคนไทยเป็นหนี้นาน จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของประชากรที่เป็นหนี้และปริมาณหนี้ต่อผู้กู้ไม่ได้ลดลงมากนักตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงตอนเกษียณ โดย 20 เปอร์เซ็นต์ของคนวัยชรา (60-80 ปี) ยังคงมีหนี้อยู่ และมีปริมาณหนี้ต่อผู้กู้ที่ค่อนข้างสูง ซึ่งผู้ทำวิจัยมองว่าอาจสะท้อนถึงความต้องการใช้เงินที่ไม่ได้ลดลง แม้จะเข้าสู่วัยสูงอายุแล้วก็ตาม
ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ประเภทหนี้ที่กลุ่มคนวัยเริ่มทำงานถือครองอยู่มากที่สุดกลับกลายเป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ส่วนใหญ่อาจนำไปใช้เพื่อการจับจ่ายใช้สอย บริโภคส่วนตัว และอาจไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยคิดเป็นสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ของคนรุ่นใหม่ที่มีหนี้ประเภทนี้อยู่ นอกจากนี้กลุ่มคนวัยเริ่มทำงานที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลยังมีหนี้เสียสูงที่สุดถึง 20 เปอร์เซ็นต์ด้วย
ทั้งนี้สินเชื่อส่วนบุคคลมีมูลค่ารวมเท่ากับ 28 เปอร์เซ็นต์ของสินเชื่อทั้งระบบ และมียอดหนี้เสียรวมมากถึง 32 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณหนี้เสียทั้งระบบ
“ทั้งหมดทั้งมวลแปลว่าสินเชื่อส่วนบุคคลมีความน่าเป็นห่วง คือถ้าคนกลุ่มนี้จ่ายหนี้ไม่ได้ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินทั้งระบบได้ เพราะถือเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุด แล้วด้วยความที่มันไปกระจุกอยู่ที่กลุ่มคนวัยเริ่มทำงานเยอะ ก็เท่ากับว่าคนที่ถือสินเชื่อส่วนบุคคลส่วนใหญ่กำลังมีความเปราะบาง สะท้อนให้เห็นว่าสินเชื่อชนิดนี้เป็นสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย และไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน นับเป็นกลุ่มที่ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป
“ส่วนในมิติที่คนเป็นหนี้และมีหนี้เสียตั้งแต่เด็ก ทางออกคืออาจจะต้องมีการปลูกฝังความรู้ทางการเงินตั้งแต่เด็ก ก่อนที่คนเหล่านั้นจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตด้วย”
Photo: สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
หนี้บ้านน้อย สะท้อนการเข้าถึงที่มีปัญหา
หนี้อีกประเภทที่น่าจับตามองก็คือสินเชื่อเพื่อที่พักอาศัย ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีคนถือครองหนี้ชนิดนี้อยู่น้อยจนน่าใจหาย โดยมีสัดส่วนประชากรที่มีสินเชื่อบ้านเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มคนช่วงอายุ 40 ต้นๆ ถือครองหนี้ชนิดนี้มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับคนอเมริกันอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่มีสินเชื่อบ้านมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลจาก Fulford and Schuh 2015)
ขณะที่สินเชื่อบ้านมีสัดส่วนมากที่สุดในปริมาณสินเชื่อทั้งหมดในระบบ คิดเป็น 33.2 เปอร์เซ็นต์ เพราะนับเป็นหนี้ก้อนใหญ่ โดยโสมรัศมิ์วิเคราะห์ว่าตัวเลขนี้อาจเป็นการสะท้อนการเข้าถึงสินเชื่อบ้านในประเทศไทยว่าเป็นเรื่องยาก เพราะต้องอาศัยเอกสารทางการเงินและเครดิตที่ดีมาก จำเป็นต้องมีการเพิ่มความสามารถในการเข้าถึง แต่ควรมุ่งไปที่กลุ่มคนที่มีศักยภาพดี เช่น แคมเปญสินเชื่อบ้านกตัญญูเลี้ยงดูบุพการีของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่สนับสนุนให้คนรายได้น้อยสามารถกู้เงินซื้อบ้านได้
ส่วนหนี้บัตรเครดิตที่หลายฝ่ายให้ความกังวล ตัวเลขในรายงานนี้กลับสะท้อนว่ามีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่มีสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบตัวเลข 63 เปอร์เซ็นต์ของคนอเมริกันที่มีบัตรเครดิต (ข้อมูลจาก Consumer Finance Protection Bureau, 2015) และคิดเป็นหนี้เสียในสัดส่วนเพียง 8.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นับเป็นตัวเลขที่น้อยเมื่อเทียบกับสินเชื่อชนิดอื่นๆ โดยรวมหนี้บัตรเครดิตคิดเป็นสัดส่วนแค่ 3.8 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสินเชื่อทั้งหมด
แต่กลุ่มคนที่ถือบัตรเครดิตมากที่สุด สัดส่วนกลับอยู่ที่กลุ่มคนวัยเริ่มทำงานที่มีสัดส่วนถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และมีสัดส่วนของคนมีหนี้เสียสูงสุดด้วย ดังนั้นผู้จัดทำรายงานจึงสรุปว่า สินเชื่อบัตรเครดิตอาจไม่ได้มีนัยสำคัญมากนักต่อระบบสินเชื่อโดยรวม แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อคนเฉพาะกลุ่ม
“หลายฝ่ายมักจะกังวลถึงหนี้บัตรเครดิต แต่งานของเรากำลังจะบอกว่าบัตรเครดิตไม่ใช่สินเชื่อที่น่ากังวลเท่าไร เพราะเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับหนี้ทั้งระบบ และหนี้เสียก็ไม่ได้เยอะ แต่สิ่งที่ต้องกังวลคือคนวัยเริ่มทำงานถือบัตรเครดิตกันค่อนข้างเยอะ และถ้าไปดูแพตเทิร์นของหนี้เสียก็อาจจะตกอยู่กับคนกลุ่มนี้เยอะเหมือนกัน”
โสมรัศมิ์ยังสรุปในภาพรวมด้วยว่า จากข้อมูลที่ได้มาอาจยังไม่สามารถสะท้อนได้ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดแพตเทิร์นเรื่องหนี้เหล่านี้ พร้อมเสนอให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้กับข้อมูลรายได้ ซึ่งจะช่วยสะท้อนศักยภาพของผู้กู้แต่ละรายได้อย่างชัดเจน และน่าจะนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
นี่คือตัวอย่างของการใช้ข้อมูลแบบ Big Data ที่ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงเรื่องภาระหนี้ของคนไทยได้เป็นอย่างดี ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐ หรือทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปต่อยอดจนกลายเป็นนโยบายอย่างไรเท่านั้นเอง
ติดตามอ่านรายงานภาพรวมทั้งหมดได้ทาง www.pier.or.th
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
Infographic: AeA oranun
อ้างอิง: