แม้จะปรากฏเป็นเพียงข่าวเล็กๆ ไม่กี่ชิ้น แต่การเคลื่อนไหวล่าสุดของ 176 นักวิชาการไทย-ต่างประเทศ ที่รวมตัวกันในนาม ‘ชุมชนนักวิชาการนานาชาติ’ ในการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 เพื่อออกแถลงการณ์เรื่อง ‘ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย’ โดยมีเนื้อหาเรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการ ขอคืนอิสรภาพแก่นักโทษทางความคิด และขอคืนอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชน แต่สุดท้ายความเคลื่อนไหวเล็กๆ ครั้งนี้กลับสร้างแรงกระเพื่อมออกไปได้ไม่น้อย
โดยเฉพาะเมื่อวัดจากปฏิกิริยาตอบรับของฝ่ายรัฐที่มีข่าวหลุดรอดออกมาว่า มีการรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการดังกล่าวกลับไปยังหน่วยงานส่วนกลาง ถึงกิจกรรมการชูป้ายที่ระบุข้อความ ‘เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร’ หลังการออกแถลงการณ์ สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่แม้แต่หน่วยงานรัฐยังต้องสั่นคลอน
เสรีภาพทางวิชาการมีความสำคัญอย่างไร ทำไมถึงต้องทวงคืน นี่คือคำถามสำคัญที่เราพยายามจะหาคำตอบในรายงานพิเศษนี้
สังคมไม่มีพื้นที่ให้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ด้วยเหตุด้วยผล หรือทฤษฎีที่จะทำให้เราเห็นปัญหาไปไกลกว่าสิ่งที่คุ้นเคยกันในสังคม สังคมนั้นจะไม่มีอนาคต
3 ปีกับพื้นที่เสรีทางวิชาการที่หดแคบลง
จากข้อมูลของ iLaw หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ระบุว่า 3 ปีหลังมีการรัฐประหาร มีไม่น้อยกว่า 157 ครั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาปิดกั้นหรือแทรกแซงกิจกรรมต่างๆ ทั้งในรูปแบบการโทรศัพท์เข้ามาที่สถานที่จัดงานเพื่อกดดันให้เจ้าของสถานที่งดจัดกิจกรรม หรืออนุญาตให้จัดแต่ตั้งเงื่อนไขต่างๆ เช่น การเปลี่ยนตัววิทยากร กำหนดไม่ให้ใช้ถ้อยคำที่อ่อนไหว เช่น ‘เผด็จการ’ หรือ ‘กบฏ’ ไม่เว้นแม้แต่ในพื้นที่ทางวิชาการอย่างในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่การประชุมสัมมนาทางวิชาการหลายงานต้องถูกงดไปโดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน
ตัวอย่างวงเสวนาที่ต้องถูกงดที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ มีทั้งงานเสวนา ‘the fake Thailand ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนถ้าไม่มีเลือกตั้ง 2560’ ที่จัดโดยคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ที่จู่ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบกว่า 10 นาย เดินทางมาขอความร่วมมือไม่ให้จัดงานเสวนา โดยอ้างว่ามีความสุ่มเสี่ยง รวมถึงมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
หรืองานเสวนา ‘ความทรงจำแห่งอภิวัฒน์ 2475 – ปริศนาหมุดคณะราษฎรหาย’ ที่จัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ก็มีอันต้องถูกยกเลิกไป เพราะได้รับจดหมายด่วนที่สุดจากสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ในการขอความร่วมมือในการพิจารณางดกิจกรรมดังกล่าว
แม้แต่งานเสวนาวิชาการ Gender & LGBTIQs in Modern Society ที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ยังมีทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาตรวจสอบภายในงานอย่างเข้มข้น แม้จะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองเลยก็ตาม
สภาพการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ถกเถียงในเชิงวิชาการ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีเสรีภาพและเปิดกว้าง กำลังถูกจำกัดวงให้หดแคบลงเรื่อยๆ จนนำมาสู่ข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ของชุมชนนักวิชาการนานาชาติล่าสุดนี้
ฐานที่มั่นทางเสรีภาพที่จำเป็นต้องรักษา
ผศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะแกนนำเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการออกแถลงการณ์ครั้งนี้เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า
3 ปีหลังการรัฐประหาร พื้นที่ทางวิชาการหดแคบลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดเสวนาทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง แม้กระทั่งในงานไทยศึกษาครั้งที่ 13 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการนานาชาติที่จัดขึ้นทุกๆ 3 ปี ก็ยังมีทหาร หรือหน่วยงานที่ดูแลด้านความมั่นคงพยายามเข้ามาควบคุมเนื้อหา หัวข้อเสวนา และรายงานที่จะนำเสนอในแต่ละเวที โดยการจัดงานตั้งแต่วันที่ 15-18 กรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายนายเข้ามาสังเกตการณ์ ถ่ายภาพ และบันทึกการพูดคุยเอาไว้อย่างต่อเนื่อง
“นี่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะเมื่อคุณไม่สามารถพูดคุยถกเถียงกันได้อย่างถึงที่สุด หรือไม่สามารถนำข้อมูลมาร่วมพิจารณาอย่างรอบด้านได้ จะทำให้การเติบโต หรือการงอกเงยทางวิชาการถูกจำกัดไปโดยปริยาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นผลดีกับใครเลย
“ตราบใดก็ตามแต่ที่สังคมไม่มีพื้นที่ให้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ด้วยเหตุด้วยผล หรือทฤษฎีที่จะทำให้เราเห็นปัญหาไปไกลกว่าสิ่งที่คุ้นเคยกันในสังคม สังคมนั้นจะไม่มีอนาคต เพราะฉะนั้นนี่เป็นสิ่งที่เราต้องยืนหยัดเอาไว้ให้ได้”
ด้าน ดร. เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวระบุว่า ตั้งแต่มีรัฐประหารในปี 2557 ทางสถาบันฯ ได้จัดกิจกรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและสถานการณ์ทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเกือบทุกครั้งจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบมานั่งฟังด้วย หรือบางครั้งมีการเข้ามาคุยกับผู้จัดกิจกรรมก่อนว่าวิทยากรเป็นใคร บางครั้งมีการติดต่อกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเพื่อกดดันให้มีการห้ามปรามไม่ให้จัดกิจกรรม หรือบางครั้งก็มีการต่อรองหัวข้อการเสวนาไม่ให้พาดพิงเรื่องบางเรื่อง และทุกๆ ครั้งจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาสังเกตการณ์ ถ่ายภาพ และจดบันทึกเนื้อหา
“ถ้าคุณลองนึกภาพว่าคุณกำลังบรรยายอยู่บนเวที แล้วมีทหารในเครื่องแบบมานั่งฟังคุณพูด ในทางสภาพจิตใจมันก็ทำให้ผู้พูดเขารู้สึกต้องระวังตัวมากขึ้น แม้จะรู้ว่าสิ่งที่พูดไม่ใช่เรื่องผิดก็ตาม หรือบางครั้งเราจำเป็นต้องยอมปรับหัวข้อในการพูดเพื่อให้งานสามารถดำเนินไปได้
“โดยส่วนตัวไม่ชอบคำว่าเสรีภาพทางวิชาการเท่าไร เพราะถ้ามีเสรีภาพภายในมหาวิทยาลัย หรือการพูดคุยกันทางวิชาการ แต่ไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสังคมแบบอื่นเลย สุดท้ายก็ไร้ประโยชน์ เพราะเราจะไม่สามารถพูดคุยถกเถียงกันทางความคิดหรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้อย่างเสรี ซึ่งถ้าไม่มีเสรีภาพในการถกเถียง สุดท้ายสังคมไทยจะมีแค่ข้อเท็จจริงเพียงชุดเดียวที่ผู้มีอำนาจเป็นคนบอกว่าเราควรคิดและเชื่ออย่างไร ถ้ามองให้กว้างกว่านั้น การไม่มีเสรีภาพทางความคิด เราจะไม่มีวันสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ได้ ซึ่งพื้นที่แลกเปลี่ยนถกเถียงตรงนี้กำลังลดลงเรื่อยๆ ในสังคมไทย”
นักวิชาการไม่มีอาวุธปืน
เมื่อถามว่าเสรีภาพทางวิชาการจำเป็นต้องมีการจำกัดขอบเขตหรือไม่ ผศ.ดร. อนุสรณ์ ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาในแวดวงวิชาการมีกลไกในการดูแลกันเองอยู่แล้ว สมมติมีใครสักคนเสนอข้อถกเถียง หรือทฤษฎีบนพื้นฐานของข้อมูลที่ไม่หนักแน่นพอ แนวคิดนั้นก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์กันในหมู่วิชาการอยู่แล้ว
“ไม่ต้องกังวลหรอกว่าถ้าคุณเปิดเสรีภาพทางวิชาการแล้วจะทำให้ฟ้าถล่ม ดินทลาย หรือโลกจะแตก เพราะในโลกวิชาการมันมีกลไกการดูแลกันเอง ไม่มีใครผูกขาดความคิดอะไรได้ อีกอย่างคือนักวิชาการไม่มีปืน ไม่มีอำนาจจะไปบีบคอหรือบังคับให้ใครทำตาม คือต่อให้คุณเสนอข้อคิดเห็นทางวิชาการที่โดดเด่นขึ้นมา ก็ไม่ได้แปลว่าข้อเสนอนั้นจะต้องถูกบังคับใช้กับผู้คน หรือวันรุ่งขึ้นทุกคนในประเทศต้องทำตามหมด เพราะฉะนั้นก็ปล่อยให้การถกเถียงดำเนินไปสิ แล้วผู้คนก็มีสิทธิที่จะหยิบเลือกไปใช้ วิชาการมันเป็นเพียงพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนถกเถียงกันเท่านั้นเอง”
ในสภาวการณ์ที่สังคมไม่ปกติ เราไม่สามารถขังตัวเองอยู่บนหอคอยงาช้าง หรืออิ่มเอมเปรมปรีดิ์กับการค้นพบสัจธรรมอันยิ่งใหญ่แต่เพียงลำพัง เพราะปัญหาที่สังคมกำลังประสบมันยิ่งใหญ่มาก
ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับหน้าที่
สำหรับนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าว ประกอบไปด้วยนักวิชาการชาวต่างชาติ 31 คน และที่เหลือเป็นรายชื่อนักวิชาการไทยที่เป็นที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้วในแวดวงวิชาการ
เมื่อถามว่าการมีชื่อแนบอยู่ในท้ายแถลงการณ์ครั้งนี้จะมีความเสี่ยงหรือไม่ ผศ.ดร. อนุสรณ์ ตอบอย่างชัดเจนว่า “คงไม่มากไปกว่าที่เป็นอยู่” เพราะก่อนหน้านี้เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองมีความเคลื่อนไหวเพื่อยืนยันหลักการว่าไม่ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารมาโดยตลอด แถลงการณ์นี้เป็นเพียง 1 ในแถลงการณ์กว่า 20 ฉบับที่ออกมา เพียงแต่ครั้งนี้พิเศษตรงที่มีการประสานความร่วมมือกับนักวิชาการจากนานาชาติในงานไทยศึกษาครั้งที่ 13 เท่านั้น แต่ถึงแม้จะต้องตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ผศ.ดร. อนุสรณ์กลับมองว่าเป็นหน้าที่ที่นักวิชาการคนหนึ่งพึงจะทำ
“การที่คุณอยู่เฉยๆ ก็แปลว่าความรู้ที่คุณผลิตขึ้นจะถูกจำกัดวงในกลุ่มคนที่ไม่มากสักเท่าไร แต่การออกมาเรียกร้องอย่างน้อยมันก็จะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม เป็นการแปรเปลี่ยนความรู้ของเราให้กลายเป็นแรงสั่นสะเทือนให้กับสังคม
“เพราะอีกบทบาทหนึ่งของนักวิชาการ โดยเฉพาะในสภาวการณ์ที่สังคมไม่ปกติ เราไม่สามารถขังตัวเองอยู่บนหอคอยงาช้าง หรืออิ่มเอมเปรมปรีดิ์กับการค้นพบสัจธรรมอันยิ่งใหญ่แต่เพียงลำพัง เพราะปัญหาที่สังคมกำลังประสบมันยิ่งใหญ่มาก ถ้าเราไม่พยายามเอาความรู้ ข้อเท็จจริง สุ้มเสียงในเชิงวิชาการ หรือความสามารถในการชี้แนะให้สังคมเห็นปัญหาที่กำลังประสบ หรือเสนอทางออกให้กับสังคมไทย มันก็จะทำให้สังคมตกต่ำไปเรื่อยๆ ในแง่หนึ่งเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม มันจึงเป็นสำนึกความรับผิดชอบที่เราต้องมีต่อสังคมด้วย”
เช่นเดียวกับ ดร. เบญจรัตน์ ที่ไม่ได้มองว่านักวิชาการจำเป็นต้องมีสถานะสูงเหนือภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม แต่ต้องยอมรับว่าสังคมไทยยังคงให้ค่ากับนักวิชาการมากกว่า ดังนั้น หลายๆ เรื่องจึงมีความคาดหวังจากสังคมว่านักวิชาการจะต้องแสดงบทบาทเป็นผู้นำของสังคม
“อาจมีจุดได้เปรียบของนักวิชาการตรงที่หลายๆ ประเด็นที่ออกมาพูด นักวิชาการจะมีการศึกษาข้อมูล มีหลักการทางทฤษฎี ข้อมูลความรู้ต่างๆ มาประกอบการพูด จึงทำให้เป็นที่น่าเชื่อถือมากกว่า แต่จริงๆ แล้วเสรีภาพทางวิชาการเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะทำได้โดยไม่มีใครมาแทรกแซง”
ท่ามกลางการเงียบเสียงไปของฝ่ายต่างๆ ในการใช้อำนาจดิบหยาบของคสช. ยังมีกลุ่มอย่างพวกเราที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง และพร้อมจะเสนอทางเลือกให้กับสังคม
ไม่หวังการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องการสร้างแรงกระเพื่อม
ในการพูดคุยกันเกือบชั่วโมง ผศ.ดร. อนุสรณ์ ในฐานะผู้ขับเคลื่อนให้เกิดแถลงการณ์ฉบับนี้ยอมรับว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้คงไม่อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันสั้นได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นการแสดงออกให้เห็นว่ายังมีคนอีกกลุ่มที่มีความเห็นที่แตกต่าง และพร้อมที่จะเสนอทางเลือกอื่นๆ ให้กับสังคม
“เราไม่คิดหรอกว่าข้อเรียกร้องของเราจะได้รับการรับฟัง หรือนำไปสู่อะไร แต่สิ่งที่พยายามจะทำคืออยากจะให้ทั้งคสช. และสังคมได้ยินว่า อย่างน้อยที่สุดท่ามกลางการเงียบเสียงไปของฝ่ายต่างๆ ในการใช้อำนาจดิบหยาบของคสช. ยังมีกลุ่มอย่างพวกเราที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง และพร้อมจะเสนอทางเลือกให้กับสังคม ไม่ยอมถูกปิดหูปิดตาปิดปากให้จำกัดทางเลือกเอาไว้เฉพาะสิ่งที่ผู้มีอำนาจเสนอมา ในแง่นี้ เรายืนยันที่จะนำเสนอข้อเรียกร้องออกไป”
ส่วนกระแสข่าวที่สำนักข่าวมติชนรายงานว่า มีการส่งรูปภาพทางโซเชียลมีเดียโดยอ้างอิงถึงหนังสือที่หน่วยงานในจังหวัดเชียงใหม่ส่งไปถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมการปกครอง โดยระบุชื่อนักเคลื่อนไหว 3 คน ที่ชูป้ายข้อความ ‘เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร’ ล่าสุดทางเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ‘เสรีภาพทางวิชาการและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน’ โดยชี้แจงว่าการเคลื่อนไหวทางสัญลักษณ์ดังกล่าวไม่มีข้อห้ามใดๆ และการกล่าวหาว่า ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ มีส่วนในกิจกรรมการชูป้ายนั้นเป็นเรื่องเท็จ เพราะ ผศ.ดร. ประจักษ์ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์การชูป้ายดังกล่าวแต่อย่างใด
ซึ่งในประเด็นนี้ ผศ.ดร. อนุสรณ์ ตั้งข้อสังเกตในประเด็นดังกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานต่างๆ จะมีการทำรายงานความเคลื่อนไหวการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่จากเอกสารที่หลุดรอดออกมาหากมีการดำเนินการส่งรายงานจริง ขั้นตอนต่อไปคงมีการเรียกตัวคนที่มีรายชื่ออยู่ในรายงานไปพบ
“ถ้าการเคลื่อนไหวลักษณะนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ มันจะเป็นเรื่องที่เบาบางมาก แทบจะไม่มีหน่วยงานไหนสนใจเลย แต่ผมไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุผลอะไร พอเกิดขึ้นที่ต่างจังหวัดถึงมีหน่วยงานที่คอยมาเพ่งเล็ง คอยรายงาน และเรียกตัวให้เข้าพบ มันอาจสะท้อนให้เห็นว่ารัฐเองก็ไม่มีความสม่ำเสมอ หรือไม่มีมาตรฐานใดๆ สำหรับการทำกิจกรรมเคลื่อนไหว อีกอย่างแค่การถือป้ายแล้วแชร์ก็ไม่ได้มีความผิดอะไรเลย การรายงานแบบนี้ถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่มากจนเกินไป
“ที่สำคัญที่สุดยังมีการระบุชื่อผิดคนอีกต่างหาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการข่าวที่แย่มากๆ ของหน่วยงานรัฐ ก็ไม่น่าประหลาดใจถ้าที่ผ่านมาเขาจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย เรื่องนี้มันง่ายมากๆ ที่จะระบุตัวตน แต่ก็ยังพลาดและมั่ว ยังไม่นับจุดยืนและทัศนะทางการเมืองที่พยายามปิดกั้นโอกาสไม่ได้คนได้เคลื่อนไหวอะไรเลย ซึ่งผิดหนักเข้าไปอีก”
ทั้งนี้ในฐานะตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ผศ.ดร. อนุสรณ์ยืนยันว่า หากมีการเรียกตัวบุคคลที่ปรากฏในรายงานเข้าพบจริงๆ ทางเครือข่ายจะขอไปด้วยแน่นอน เพราะแม้จะเป็นการกล่าวหาที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน แต่ทางเครือข่ายจำเป็นต้องออกมารับผิดชอบเช่นเดียวกับการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั่วๆ ไป ซึ่งถือเป็นพันธกิจของเครือข่ายอยู่แล้ว
3 ปีที่ผ่านมาดูเหมือนเสรีภาพในพื้นที่ต่างๆ จะถูกจำกัดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่พื้นที่สื่อสารมวลชน โซเชียลมีเดีย การจัดกิจกรรมต่างๆ และล่าสุดคือพื้นที่เสรีทางวิชาการ นอกจากความต้องการรักษาความสงบเรียบร้อยที่รัฐบาลพยายามกล่าวอ้างมาโดยตลอดแล้ว ในอีกมุมท่าทีที่เข้มข้นเหล่านี้อาจกำลังสะท้อนความหวาดกลัว และความหวั่นไหวที่ซุกซ่อนอยู่ลึกๆ ของรัฐบาลก็เป็นได้
“มันสะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของพวกเขา และความพยายามที่จะควบคุมข้อมูลในประเทศนี้ให้ไปในทิศทางเดียวกันหมด เพราะกลัวว่าจะมีการพูดคุยหรือนำเสนอข้อมูลแบบที่เขาไม่ต้องการ ซึ่งถ้าผู้มีอำนาจคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ดีแล้ว ก็ควรต้องเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยหรือถกเถียงกัน ไม่ควรจะปิดกั้นแบบนี้” ดร. เบญจรัตน์กล่าวทิ้งท้าย
Photo: เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง – คนส./Facebook
อ้างอิง: