×

ข่าวลือ SoundCloud ปิดตัว! ก้าวพลาดอย่างไรและสาเหตุของวิกฤตที่แท้จริงคืออะไร

19.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • SoundCloud กำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งสำคัญ หลัง Alex Ljung ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดประกาศเลย์ออฟพนักงานกว่า 173 คนจากทั้งหมด 420 ตำแหน่ง รวมถึงสั่งปิดสำนักงานในลอนดอนและซานฟรานซิสโก โดยเหลือไว้เพียงแค่สำนักงานหลัก 2 แห่งเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา
  • ให้หลัง 1 อาทิตย์หลังข่าวลือต่างๆ สงบลง อเล็กซ์ก็ออกมาแถลงการณ์ผ่านบล็อกของ SoundCloud เพื่อตอกย้ำถึงความมั่นใจให้กับบรรดาผู้ใช้งานว่าแพลตฟอร์มของพวกเขาจะยังคงเปิดให้บริการต่อไป และไม่ได้ปิดตัวลงเร็วๆ นี้แน่นอน
  • แม้จะเปิดให้บริการมานานเกือบ 10 ปี (2008-ปัจจุบัน) มียอดผู้ใช้บริการแบบ Active User กว่า 175 ล้านคนต่อเดือน แต่ตลอดระยะเวลาช่วง 5 ปีหลังสุด (2011-2015) SoundCloud ก็ประสบกับสภาวะขาดทุนสูงต่อเนื่องทุกปี

     ย้อนกลับไปเมื่อประมาณเกือบ 2 อาทิตย์ที่แล้ว (7 กรกฎาคม) เเพลตฟอร์มผู้ให้บริการด้านเพลงและคลิปเสียงอย่าง SoundCloud กำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งสำคัญ หลัง Alex Ljung ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดได้ออกมาประกาศเลย์ออฟพนักงานจำนวนกว่า 173 คนจากทั้งหมด 420 ตำแหน่ง รวมถึงสั่งปิดสำนักงานในลอนดอนและซานฟรานซิสโก โดยให้เหลือไว้เพียงแค่สำนักงานหลัก 2 แห่งในเบอร์ลินและนิวยอร์กเท่านั้น

     อเล็กซ์ให้เหตุผลของการตัดสินใจปลดพนักงานจำนวนกว่า 40% ไว้ว่า เป็นไปเพื่อการลดภาระค่าใช้จ่ายของบริษัท ตลอดจนช่วยให้ธุรกิจของพวกเขายังพัฒนาได้ในระยะยาว

     แน่นอนว่าการเลือกสละอวัยวะบางส่วนของ SoundCloud ในครั้งนี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์และกระแสข่าวลือในวงกว้างว่าบางทีพวกเขาอาจจะใกล้ถึงจุดอวสานแล้ว สร้างความหวาดหวั่นให้กับผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกับคนเบื้องหลังวงการเพลง

 

‘SoundCloud ยังอยู่นี่และจะไม่ไปไหน’

     1 อาทิตย์ให้หลัง ข่าวลือต่างๆ เริ่มซาลง อเล็กซ์ก็ออกมาแถลงการณ์ผ่านบล็อกของ SoundCloud อีกครั้งเพื่อตอกย้ำถึงความมั่นใจให้กับบรรดาผู้ใช้งานว่า แพลตฟอร์มของพวกเขาจะยังคงเปิดให้บริการต่อไป และไม่ได้มีความคิดจะปิดตัวลงอย่างที่ใครหลายคนทึกทักกันไป

     ใจความของแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวระบุว่า “มีข่าวลือบ้าๆ ที่พูดถึง SoundCloud เป็นจำนวนมากในตอนนี้ แต่ก็นั่นแหละมันก็แค่ข่าวลือ SoundCloud จะยังไม่ไปไหนทั้งนั้น ไม่ใช่ภายใน 50 หรือ 80 วัน หรือแม้แต่อนาคตอันใกล้นี้ เพลงของพวกคุณจะยังคงปลอดภัยอยู่ เราได้ก่อตั้งชุมชนสร้างสรรค์ที่น่ามหัศจรรย์ของศิลปิน, นักจัดพอดแคสต์, ดีเจ, โปรดิวเซอร์ และผู้ขับเคลื่อนวัฒนธรรมโลก ซึ่งสิ่งนั้นจะยังคงไม่เปลี่ยนเเปลง

     “สัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้ผ่านการตัดสินใจที่ยากสุดๆ ครั้งหนึ่งกับการต้องปลดพนักงานบางส่วนออก แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราควรต้องทำเพื่อให้บริษัทเเข็งแรงและยังคงแนวทางความเป็นบริษัทอิสระเช่นเคย”

     นอกจากนี้พวกเขายังได้รับกำลังใจที่ดีจากแรปเปอร์ผิวสีชื่อดัง ‘Chance the Rapper’ ซึ่งมองว่าเป็นช่องทางยอดเยี่ยมในการช่วยเหลือและโปรโมตให้กับศิลปินหน้าใหม่ โดยวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา เจ้าตัวยังได้เลือกปล่อยเพลงใหม่ ‘Big B’s’ ผ่านแพลตฟอร์มของพวกเขาอีกด้วย

     ที่สุดแล้ว แม้อเล็กซ์จะยังคงยืนกรานหนักแน่นคำเดิมว่า SoundCloud จะยังคงให้บริการอยู่ต่อไป รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากแรปเปอร์เจ้าของรางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมเวที Grammy Awards ปีล่าสุด แต่การตัดสินใจปลดพนักงานจำนวนกว่าร้อยชีวิต พร้อมปิดสำนักงานใหญ่จำนวน 2 สาขาก็คงไม่ใช่สัญญาณที่ดีของบริษัทแน่นอน ทั้งยังนำไปสู่การตั้งคำถามที่ว่า SoundCloud ก้าวพลาดอย่างไร? และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์เช่นนี้?

 

ก้อนเมฆเลือนรางกับโมเดลธุรกิจที่ไม่ตอบโจทย์การทำเงิน
     จริงอยู่ที่ SoundCloud ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและทำเงินได้ตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว ด้วยโมเดลการสร้างรายได้จากบริการแบบพรีเมียมสำหรับศิลปินและผู้ผลิตคอนเทนต์ในราคา 90 ยูโร กับบริการฟรีเมียม (Freemium) ที่เปิดให้คนใช้ฟรีในช่วงเริ่มต้น ก่อนขยายบริการพิเศษให้จ่ายเงินอัพเกรดการใช้งานภายหลัง ทำให้ธุรกิจเติบโตและขยายไปสู่ตลาดโลกได้ดี ไหนจะระดมเงินทุนได้เยอะ
แต่เมื่อเปิดให้บริการมานานเกือบ 10 ปี (2008-ปัจจุบัน) มียอดผู้ใช้บริการประจำหรือ Active User กว่า 175 ล้านคนต่อเดือน การพึ่งพาโมเดลธุรกิจแบบเดิมอาจไม่ได้เวิร์กในระยะยาว เพราะกลายเป็นว่ากลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่ของ SoundCloud ยังคงคุ้นเคยและเลือกที่จะใช้บริการแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายมากกว่า

     จากการเปิดเผยรายรับเฉพาะช่วง 5 ปีหลัง (2011-2015) ของ SoundCloud โดย Music Business Worldwide พบว่าบริษัทตกอยู่ในภาวะขาดทุนสูงต่อเนื่องทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2011 ที่ขาดทุนสุทธิ 4.4 ล้านยูโร, ปี 2012 ขาดทุน 12.4 ล้านยูโร, ปี 2013 ขาดทุน 23.1 ล้านยูโร, ปี 2014 ขาดทุน 39.1 ล้านยูโร และปี 2015 ที่ขาดทุนมากถึง 51 ล้านยูโร

 

     สาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องประสบสภาวะขาดทุนต่อเนื่อง และนำไปสู่การปรับโครงสร้างองค์กรขนานใหญ่น่าจะมาจากปัจจัยสำคัญเหล่านี้

  • ทำได้ดีกับการเป็นเครื่องมือช่วยผลิต แต่สอบตกเรื่องการช่วยขาย

     เป็นที่ทราบกันว่า SoundCloud คือแพลตฟอร์มอิสระที่เปิดให้ผู้ใช้งาน และคนสร้างคอนเทนต์ใช้เป็นพื้นที่เผยแพร่งานเพลงหรือพอดเเคสต์ในรูปแบบ UGC (User-generated content) มาตั้งแต่ปี 2008 ทั้งยังเป็นพื้นที่ช่วยแจ้งเกิดให้กับศิลปินหน้าใหม่

     ในทางกลับกัน แม้พวกเขาจะเปิดโอกาสให้คนทำงานด้านเสียงเพลงหรือพอดเเคสต์กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง แต่เมื่อมองในระยะยาว SoundCloud ก็ไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้สร้างคอนเทนต์สามารถหารายได้จากช่องทางของตนเองแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกับแพลตฟอร์มผลิตคอนเทนต์จำพวกพอดแคสต์อย่าง Libsyn หรือ Podbean ซึ่งผู้ผลิตรายการพอดแคสต์รายหนึ่งในไทยเปรียบเทียบให้เราฟังว่า สองแพลตฟอร์มนี้ช่วยให้เขามีรายได้จากช่องทางโฆษณามากกว่า เช่นเดียวกับ Youtube

     จึงไม่แปลกที่บริการระดับพรีเมียมอย่างเช่น แพ็กเกจ SoundCloud Pro และ SoundCloud Pro Unlimited ซึ่งเป็นช่องทางการทำเงินหลักของ SoundCloud จะพลอยได้รับผลกระทบ ทำให้จำนวนผู้ใช้งานลดลงตามไปด้วย

  • ช่องทางฟังเพลงที่เฉพาะกลุ่ม (จนเกินไป)

     ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 2008 สองผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Alex Ljung และ Eric Wahlforss ก็ตั้งใจให้ช่องทางของพวกเขากลายเป็นพื้นที่ในการปล่อยของและรังสรรค์ผลงานทางเสียงอย่างอิสระ แต่ด้วยโมเดลทางธุรกิจที่ไม่ได้เอื้อให้ผู้สร้างคอนเทนต์หาเงินได้เพิ่มขึ้น ค่ายเพลงและศิลปิน (ที่เป็นที่รู้จัก) จำนวนไม่น้อยจึงเลือกไปใช้แพลตฟอร์มอื่นๆ ในการเผยเเพร่ผลงานของตัวเอง

     นานวันเข้า SoundCloud จึงกลายเป็นแพลตฟอร์มนิทช์ที่มีจำนวนเพลงนอกกระแสแซงเพลงกระเเสหลักไปโดยปริยาย และทำให้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่อาจจะหันไปใช้บริการฟังเพลงอย่างสตรีมมิงมิวสิกหรือ Youtube เเทน ถึงจะตอบโจทย์รสนิยมคนฟังเฉพาะกลุ่ม แต่ตัวเลขทางรายได้และกำไรของ SoundCloud กลับไม่ได้โตตามอายุของธุรกิจและจำนวนพนักงานที่เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย (ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่สตาร์ทอัพหลายรายประสบหลังขยายสู่ตลาดโลกได้สำเร็จ)

  • ความยอดนิยมของบริการสตรีมมิงมิวสิก

     บริการสตรีมมิงมิวสิกกำลังได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานและผู้ผลิตคอนเทนต์อย่างมหาศาลในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Apple Music, Tidal, Spotify หรือ Joox เพราะนอกจากจะใช้งานง่าย ก็ยังขยันอัพเดตเพลงใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา รวมถึงจุดเด่นด้านค่าบริการที่ไม่ได้แพงเกินจริง

     ฝั่งศิลปินเองก็มีส่วนแบ่งรายได้จากยอดการกดฟังเพลงของผู้ใช้งาน และได้รับประโยชน์จากการจัดอันดับชาร์ตเพลง ซึ่งชาร์ตเพลงที่น่าเชื่อถืออย่าง Billboard Chart ก็เริ่มนำเกณฑ์การจัดอันดับชาร์ตเพลงยอดนิยมด้วยอันดับจากบริการสตรีมมิงมิวสิกมาสักระยะเเล้ว

 

     นี่เป็นเพียงสาเหตุบางส่วนเท่านั้นที่ส่งผลกระทบให้ SoundCloud ได้รับความนิยมลดน้อยลง ทั้งนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าอเล็กซ์และอีริกจะมีแผนการพาบริษัทของพวกเขาให้หลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ได้ด้วยวิธีใด

     เพราะท้ายที่สุดแล้ว หากบริการของพวกเขาต้องปิดตัวลงจริงๆ ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อยสำหรับคนในวงการเพลงและหมู่นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ด้านเสียง

 

ภาพประกอบ: Narissara_k.

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X