‘Breaking News บาร์เซโลนา ยอมปล่อยเนย์มาร์ด้วยค่าตัวสถิติโลก 196 ล้านปอนด์’ เป็นหัวข้อที่แฟนๆ หลายคนรอติดตามโดยเฉพาะแฟนคลับของทั้ง 2 ทีม แต่ระหว่างที่เราเพิ่งเริ่มต้นบทความนี้ ก็มี ‘Breaking News เรอัล มาดริด ยอมจ่าย 187 ล้านปอนด์เพื่อคว้าตัว คีเลียน เอ็มบัปเป จากโมนาโก’ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเตรียมทำลายสถิติโลกด้วยเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 150 ล้านปอนด์กันอย่างบ้าคลั่งในตลาดซื้อขายนักเตะของทวีปยุโรป ซึ่งยังเหลือเวลาถึงวันที่ 31 สิงหาคมก่อนตลาดจะปิดลง
โชเซ มูรินโญ ผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งฤดูกาลนี้ใช้เงินไปอย่างมหาศาลด้วยการเซ็นศูนย์หน้าชาวเบลเยียมมาด้วยค่าตัว 75 ล้านปอนด์ ก็ยอมรับว่า ตลาดซื้อ-ขายครั้งนี้ดำเนินไปด้วยความบ้าคลั่ง โดยสโมสรต่างๆ ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อตัวนักเตะเกรดเอ ซึ่งผลกระทบนี้ทำให้เขาต้องพิจารณาอย่างหนักในการลดเป้าหมายนักเตะจาก 4 คน เหลือเพียง 3 คน เนื่องจากราคาของนักเตะที่พุ่งไปตามอัตราเงินเฟ้อของตลาดซื้อ-ขาย
โดยปัญหาที่เกิดขึ้น มูรินโญ มองว่า เกิดขึ้นจากมุมมองของแต่ละสโมสรเกี่ยวกับตลาดซื้อ-ขายนักเตะที่มีไม่เหมือนกัน โดย Telegraph สันนิษฐานว่า มูรินโญกำลังกล่าวถึงคู่แข่งร่วมเมืองอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่เพิ่งปิดดีลกับ ไคล์ วอลเกอร์ กองหลังทีมชาติอังกฤษในราคาสูงถึง 50 ล้านปอนด์ รวมถึงมีข่าวกับ คีเลียน เอ็มบัปเป ซึ่งเชื่อว่าแมนเชสเตอร์ ซิตี้ อาจต้องทุ่มเงินจำนวนสูงกว่าสถิติโลกเพื่อคว้าตัวมาให้ได้
เช่นเดียวกับ ดาเนียล เลวี ประธานสโมสรท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ซึ่งเป็นกังวลต่อสถานการณ์ของตลาดซื้อขายนักเตะในขณะนี้
“พวกเรามีหน้าที่บริหารทีมให้เหมาะสม แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เช่น การทุ่มเงินเกือบ 200 ล้านปอนด์ ซึ่งอาจจะมากกว่ารายได้ของทีม ดูเป็นไปไม่ได้ที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว และอาจจะเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับระบบการเงินของทีมในอนาคต”
สโมสรเริ่มใช้เงินมากขึ้นจากรายได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่มากขึ้น
ตัวอย่างของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นชัดเจนที่สุดคือ พรีเมียร์ลีกอังกฤษ โดยตลาดซื้อ-ขายนักเตะครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการเจรจาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขัน ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 5,136 ล้านปอนด์ สูงขึ้นกว่า 71% จากปี 2013 ส่งผลให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดซื้อ-ขายนักเตะผ่านทางค่าลิขสิทธิ์ที่มอบให้แต่ละสโมสรอย่างมหาศาล โดยสัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทั้ง 3 ปี เริ่มต้นฤดูกาลแรกในปี 2016-2017 ส่งผลให้จำนวนเงินที่สโมสรในพรีเมียร์ลีกจะได้รับทั้งหมดสูงขึ้นจาก 1,640 ล้านปอนด์ เป็น 2,400 ล้านปอนด์
ในตลาดซื้อขายนักเตะปี 2014 โรเมลู ลูกากู ในวัย 21 ปี ถูกเชลซีขายให้กับเอฟเวอร์ตันในราคา 28 ล้านปอนด์ และล่าสุด ศูนย์หน้าชาวเบลเยียมก็ถูกขายให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในราคา 75 ล้านปอนด์ เท่ากับว่ามูลค่าของลูกากูสูงขึ้นถึง 168% ภายในเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น
“รายได้ของสโมสรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยสาเหตุหลักมาจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ทุกสโมสรในพรีเมียร์ลีกในเวลานี้มีเงินมากขึ้น และพวกเขาพร้อมที่จะใช้จ่ายไปกับการซื้อตัวนักเตะ” คริส สเตนสัน ที่ปรึกษาอาวุโสของ Deloitte บริษัทวิเคราะห์การเงินได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ Hyperinflation ในตลาดซื้อ-ขายนักเตะของพรีเมียร์ลีก หรือมูลค่านักเตะที่สูงขึ้นกว่าเดิมถึง 40-50%
“พรีเมียร์ลีกเป็นลีกที่มีรายได้มากที่สุดในโลก และสามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถดึงดูดนักลงทุนและผู้สนับสนุนเข้ามาร่วมลงทุน ในเวลานี้สโมสรพรีเมียร์ลีกอังกฤษใช้เงินไปแล้ว 500 ล้านปอนด์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ในเวลานี้ทั้งลีกใช้เงินรวมกันทั้งหมดเพียง 340 ล้านปอนด์”
30 ล้านปอนด์คือฐานใหม่ของราคานักเตะ?
ราคานักเตะที่ 30 ล้านปอนด์อาจจะกลายเป็นฐานใหม่สำหรับการซื้อตัวนักเตะใหม่เข้าสโมสร เนื่องจากดีลที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่นั้นมีฐานอยู่ที่ 30 ล้านปอนด์ จอร์แดน ลี พิคฟอร์ด กลายเป็นผู้รักษาประตูชาวอังกฤษที่มีราคาแพงที่สุด หลังจากเอฟเวอร์ตันยอมจ่ายเงินจำนวน 25 ล้านปอนด์ ซึ่งรวมข้อตกลงต่างๆ แล้วจะมีราคาสูงถึง 30 ล้านปอนด์ เช่นเดียวกับการซื้อตัว ไมเคิล คีน กองหลังชาวอังกฤษวัย 23 ปี เอฟเวอร์ตันต้องจ่ายเงินถึง 30 ล้านปอนด์ในการดึงตัว คีน จาก เบิร์นลีย์
แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมในการรับชมการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งผู้ถือลิขสิทธิ์เจ้าใหญ่อย่าง SKY และ BT Sport ในประเทศอังกฤษไม่ได้ยอดผู้ชมตามเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้คาดว่าราคานักเตะจะไม่สูงขึ้นในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า และน่าสนใจว่าในยุคที่ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมีรายได้ลดลง ราคานักเตะจะลดลงตามรายได้ของการแข่งขันหรือไม่
อัตราเงินเฟ้อกับความคาดหวังของแฟนบอล
ด้วยมูลค่าของนักเตะที่เพิ่มขึ้นทุกวัน อาจจะทำให้แฟนบอลคาดหวังกับตัวนักเตะตามราคาที่สูงขึ้น ไม่ต่างกับชีวิตประจำวันซึ่งเรามีความคาดหวังสูงกับของซึ่งมีราคาแพง แต่แท้จริงแล้วราคาของนักเตะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่มีเงินลงทุนทั้งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดและผู้สนับสนุนไหลเข้ามาอย่างมหาศาล ส่งผลให้ฐานต่ำสุดของนักเตะในอังกฤษตอนนี้อาจจะสูงถึง 30 ล้านปอนด์แล้ว
แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้พรีเมียร์ลีกเป็นลีกที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ การที่ผลการแข่งขันคาดเดาได้ยากกว่าลีกอื่นๆ ด้วยการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นทุกปี แต่หากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สโมสรซึ่งมีเงินทุนหรือแผนการตลาดที่น้อยกว่าสโมสรใหญ่ อาจถูกตัดโอกาสการคว้าตัวนักเตะที่มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายการแข่งขันในลีกจะมีเพียงแค่สโมสรที่มีเงินทุนมหาศาลมาขับเคี่ยวแย่งแชมป์และพื้นที่ฟุตบอลยุโรปกันเท่านั้น
อ้างอิง:
- www.telegraph.co.uk/football/2017/07/25/jose-mourinho-dangerous-fees-pose-major-threat-game
- www.telegraph.co.uk/football/2017/07/20/jose-mourinho-insists-man-utd-will-not-held-ransom-transfer
- www.telegraph.co.uk/football/0/premier-leagues-done-deals-confirmed-summer-transfers-club/manchester-united
- www.bbc.com/sport/football/40571881
- www.independent.co.uk/sport/football/transfers/premier-league-summer-transfer-window-record-spending-net-spend-romelu-lukaku-paul-pogba-a7853226.html
- www.bbc.com/sport/football/40722879
- foreignpolicyblogs.com/2016/09/01/soccer-inflation-transfer-market