ท่ามกลางบรรยากาศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยที่เต็มไปด้วยนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อความเป็นเลิศในแต่ละสาขาวิชาชีพ แต่ด้านหลังตึกคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา หากคุณก้าวผ่านประตูกระจกบานหนาทึบเข้าไป คุณจะพบกับนวัตกรรมทันสมัยที่มีชื่อว่า Swimming Flume หรือ อุโมงค์น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งเก็บตัวสำหรับนักว่ายน้ำทีมชาติไทย และเป็นหนึ่งในผู้ช่วยคนสำคัญในการผลักดันนักกีฬาไทยไปสู่ความเป็นเลิศในกีฬาว่ายน้ำ
โดย Swimming Flume เป็นอุโมงค์น้ำที่มีความลึก 1.5 เมตร และสร้างคลื่นน้ำที่ความเร็ว 7 ระดับ โดยความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 2 เมตรต่อวินาที นักว่ายน้ำสามารถลงได้ทีละหนึ่งคนในการฟิตซ้อมว่ายน้ำโต้คลื่นระยะสั้น เพื่อเสริมสร้างความฟิตและความเร็ว
เงือกหมอนอิง-เพียงขวัญ ปะวะโพตะโก หนึ่งในนักว่ายน้ำทีมชาติไทยที่ลงแข่งขันซีเกมส์มายาวนานถึง 5 ครั้ง ได้มีโอกาสลงฝึกซ้อมกับอุโมงค์น้ำเป็นครั้งแรกตั้งแต่ต้นปี 2560 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันรายการต่างๆ รวมถึงซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่ประเทศมาเลเซียในเดือนสิงหาคมนี้ โดยหมอนอิงเปิดเผยว่า Swimming Flume ได้ช่วยเสริมสร้างความฟิตและความแข็งแกร่งได้เป็นอย่างมาก
“เพิ่งได้เริ่มซ้อมกับเครื่องนี้ในช่วงต้นปี โดยที่ผ่านมาก็รู้สึกว่าช่วยฝึกความอดทนและความแข็งแกร่ง ซึ่งหลังจากลงซ้อมที่อุโมงค์และไปลงซ้อมในสระว่ายน้ำปกติก็จะทำให้รู้สึกแข็งแรงขึ้นมาก อุโมงค์น้ำเปรียบเสมือนการเล่นฟิตเนสในน้ำเลย”
โดยขั้นตอนการฝึกซ้อมทั่วไปของนักกีฬาทีมชาติไทยกับอุโมงค์น้ำคือการเดินทางมาลงว่ายน้ำระยะสั้นกับเครื่องนี้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเพิ่มความเร็วและความฟิต ก่อนจะเดินทางไปซ้อมในสระใหญ่ต่อที่สปอร์ตคอมเพล็กซ์ จุฬาฯ เป็นประจำทุกวันอังคารและศุกร์
ซึ่งนอกจากการสร้างความแข็งแรงให้กับนักกีฬาแล้ว ไซมอน โจนส์ โค้ชว่ายน้ำทีมชาติไทยชาวอังกฤษยังเชื่อว่าอุโมงค์น้ำช่วยให้นักกีฬามีความมั่นใจมากขึ้น เห็นได้ชัดจากการฝึกซ้อมที่หากวันไหนนักกีฬาได้ลงฝึกซ้อมในอุโมงค์น้ำ พวกเขาจะว่ายน้ำได้ดีขึ้นในการฝึกซ้อมในสระใหญ่ ซึ่งเขาเชื่อว่าความมั่นใจนี้เป็นส่วนสำคัญในการลงแข่งขันจริงที่ประเทศมาเลเซีย
โดย Swimming Flume ได้เริ่มใช้งานจริงในปี 2558 ซึ่ง ผศ.ดร. ชนินทร์ชัย อินทิราภรณ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาฯ ได้เปิดเผยว่าผ่านทางเว็บไซต์จุฬาฯ เมื่อปีนั้นว่า เครื่องนี้ จะช่วยให้นักกีฬาไทยสามารถเพิ่มความเร็วได้ถึง 0.6 วินาที ซึ่งในการแข่งขันว่ายน้ำระดับนานาชาตินั้นนับเป็นความแตกต่างกันอย่างยิ่งในด้านความเร็ว และอาจจะเป็นช่วงวินาทีที่ชี้ขาดระหว่างที่หนึ่งหรืออันดับสุดท้ายเลยทีเดียว
โดยจากการเริ่มใช้งานในปีนั้น ผศ.ดร. ชนินทร์ชัยยังได้เปิดเผยอีกว่า ถึงแม้นักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทยจะคว้าเหรียญทองมาได้แค่เหรียญเดียว แต่นักกีฬาไทยถึง 9 คนสามารถทำลายสถิติตัวเองได้ในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งการนำอุโมงค์น้ำมาช่วยในการฝึกซ้อมถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาไทยอย่างเห็นได้ชัด
นวัตกรรมกีฬาในปัจจุบันถือว่าเข้ามามีส่วนสำคัญในการฝึกซ้อมอย่างมาก โดยเฉพาะกีฬาว่ายน้ำที่ตัดสินชัยชนะกันเพียงช่วงนิ้ว หรือเสี้ยววินาที การนำอุโมงค์น้ำมาใช้กับกีฬาว่ายน้ำไทยถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีอย่างหนึ่ง และเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันนักกีฬาไทยขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดบนโพเดียมที่สนามกีฬาทางน้ำบูกิต จาลิล ประเทศมาเลเซีย สถานที่แข่งขันกีฬาทางน้ำในซีเกมส์ ครั้งที่ 29 เดือนสิงหาคมนี้อย่างแน่นอน