×

Right to Play เมื่อกีฬา ‘เชื่อมความสัมพันธ์’ ผู้ลี้ภัยกับผู้คนในต่างแดน

20.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • Right to Play เป็นมูลนิธิจากแคนาดาที่ร่วมมือกับองค์กรทั่วโลก เพื่อช่วยเปิดโอกาสให้เด็กมีโอกาสได้เล่นสนุกเพื่อการศึกษา และช่วยส่งเสริมสิทธิให้เด็กที่พบกับอุปสรรคในชีวิต
  • Right to Play ได้นำผู้ลี้ภัยจากซีเรียและปาเลสไตน์ตั้งแต่อายุ 6-18 ปีมา ลงเล่นฟุตบอลใกล้ค่ายผู้ลี้ภัยบัคคาในจอร์แดน โดยมีรัฐบาลของกาตาร์ เจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 สนับสนุนค่าก่อสร้างสนาม
  • งานวิจัยโดย William B.D. Abur ในออสเตรเลีย ปี 2016 เปิดเผยว่า การใช้กีฬามีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างชุมชนที่มีความสามัคคี และเป็นการช่วยให้เด็กเข้าสังคมได้ง่ายขึ้น
  • กีฬาช่วยให้ผู้ลี้ภัยสามารถเข้ากับผู้คนในชุมชนใหม่ได้ดีขึ้น เนื่องจากกีฬาไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ และทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎกติกาเดียวกัน มีเพียงความสามารถเท่านั้นที่จะสร้างให้คุณโดดเด่นขึ้นมาได้

     ข่าวกีฬาในสายตาของชาวโลก หรือแม้กระทั่งสื่อมวลชนอย่างเราอาจเป็นเรื่องการซื้อ-ขายนักเตะกันราคาหลายล้านบาท การทำลายสถิติอันยิ่งใหญ่ด้วยการยิงประตู หรือแม้กระทั่งข้อกล่าวหาการหลีกเลี่ยงภาษี แน่นอนว่าวงการกีฬานั้นเต็มไปด้วยสถิติและแรงบันดาลใจ รวมถึงเม็ดเงินซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกอุตสาหกรรมก้าวเดินต่อไปข้างหน้า

     แต่ความสำคัญอีกอย่างของกีฬาคือการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน และช่วยส่งเสริมสุขภาพ เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลกเราจะพาไปรู้จักกับโครงการ Right to Play ซึ่งเป็นมูลนิธิจากแคนาดาที่ร่วมมือกับองค์กรทั่วโลกเพื่อสร้างสันติภาพผ่านการเล่นกีฬา

 

Right To Play กับชาบี เอร์นานเดซ อดีตนักเตะบาร์เซโลนาและทีมชาติสเปน (Photo: Khalil MAZRAAWI, AFP)

 

     Right to Play ได้ร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั่วโลกกว่า 20 แห่ง โดยหนึ่งในนั้นคือ Right to Play ในจอร์แดน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับค่ายผู้ลี้ภัยบัคคาในจอร์แดน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2014 โดยมีรัฐบาลของกาตาร์ เจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 สนับสนุนค่าก่อสร้างสนามฟุตบอลเพื่อให้เยาวชนในพื้นที่ได้เล่นกีฬาที่พวกเขาชื่นชอบ  

     สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมของผู้ลี้ภัยจากซีเรียและปาเลสไตน์ โดยโครงการนี้ได้นำเยาวชนตั้งแต่อายุ 6-18 ปี มาลงสนามเล่นฟุตบอล ซึ่งมีเป้าหมายในการนำกีฬามาประยุกต์ใช้แบบบูรณาการร่วมกับเครื่องมือและหลักสูตรอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสันติภาพในชุมชน ซึ่งเมื่อปี 2016 ชาบี เอร์นานเดซ อดีตนักเตะบาร์เซโลนาและทีมชาติสเปน ได้เดินทางมาที่แห่งนี้เพื่อช่วยสนับสนุนโครงการนี้ด้วยการลงเล่นฟุตบอลกับเยาวชนในพื้นที่

 

Right To Play กับชาบี เอร์นานเดซ อดีตนักเตะบาร์เซโลนาและทีมชาติสเปน (Photo: Khalil MAZRAAWI, AFP)

 

     ทำไมกีฬาถึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชุมชนของผู้ลี้ภัย?

     งานวิจัยโดย William B.D. Abur ในออสเตรเลียเมื่อปี 2016 เปิดเผยว่ากีฬามีส่วนสำคัญในการนำผู้คนที่มีเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกันมาสร้างความสัมพันธ์ผ่านการแข่งขันกีฬา นอกจากนี้การส่งเสริมกีฬาในชุมชนยังช่วยให้ผู้คนในพื้นที่นั้นๆ มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้เชื่อว่ากีฬาจะช่วยให้เยาวชนที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้เข้าสังคมกับผู้คนหลายหลากเชื้อชาติ มีโอกาสได้ทำความรู้จักผ่านการเล่นกีฬาร่วมกัน

     โดยที่ผ่านมาปัญหาสำคัญของชุมชนผู้ลี้ภัยคือ การที่ไม่มีโอกาสได้สื่อสาร หรือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในพื้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน แต่กีฬาสามารถเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญได้ รวมถึงเป็นการสร้างความมีส่วนร่วมให้กับผู้ลี้ภัยในชุมชนนั้นๆ

     ตัวอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการกีฬาไทยอย่างชัดเจนอาจจะไม่ได้เกิดจากผู้ลี้ภัยโดยตรง แต่เราสามารถเห็นได้จากการที่ ดิยุฟ บิรัม นักฟุตบอลพลัดถิ่นชาวโกตดิวัวร์ ซึ่งอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี และสามารถพูดภาษาไทยได้อย่างชัดเจน จนสุดท้ายกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนต่างๆ ที่เขาเดินทางไปค้าแข้ง เนื่องจากฝีมือที่เก่งกาจและการมีส่วนร่วมกับสโมสรฟุตบอลซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

 

ยุสรา มาร์ดินี ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ลงแข่งขันว่ายน้ำในกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่บราซิล (Photo: Martin BUREAU, AFP)

 

จากผู้ลี้ภัยสู่นักกีฬาโอลิมปิก

     อีกหนึ่งตัวอย่างเห็นได้ชัดจากการส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัยมีส่วนร่วมกับคนทั่วโลกผ่านสื่อกีฬาคือ ในการแข่งขันโอลิมปิก 2016 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งทีมนักกีฬาโอลิมปิกจากผู้ลี้ภัย โดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ได้เสนอให้มีการจัดตั้งทีมนี้ขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ลี้ภัย ซึ่งในขณะนั้นมีมากถึง 20 ล้านคนทั่วโลกได้เกิดการมีส่วนร่วมกับชาวโลกมากขึ้น

     โดยทีมของผู้ลี้ภัยมีทั้งหมด 10 คน หนึ่งในนั้นคือ ยุสรา มาร์ดินี นักกีฬาว่ายน้ำชาวซีเรีย ซึ่งเธอเคยเป็นนักกีฬาว่ายน้ำดาวรุ่งหนึ่งในตัวแทนประเทศซีเรีย ก่อนที่เมษายนปี 2015 ท่ามกลางการสู้รบในประเทศ เธอและครอบครัวต้องตัดสินใจเดินทางเข้ายุโรป แต่ระหว่างทางเรือยางลำที่เธอใช้เดินทางกลับเสีย เธอและพี่สาวซึ่งเป็นนักกีฬาว่ายน้ำเหมือนกันจึงได้ตัดสินใจกระโดดลงน้ำ เพื่อว่ายจูงเรือให้ไปถึงฝั่งของเกาะเลสบอส ของกรีซ และในโอลิมปิกปี 2016 ที่ประเทศบราซิล ทั้งยุสรา และพี่สาว ซาราห์ ก็ได้ลงแข่งขันกีฬาว่ายน้ำในฐานะทีมผู้ลี้ภัยนั่นเอง  

 

ยุสรา มาร์ดินี ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ลงแข่งขันว่ายน้ำในกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่บราซิล (Photo: ODD ANDESON, AFP)

 

     ปัจจุบันมีองค์กรต่างๆ หันมาใช้กีฬาเป็นสื่อสำคัญในการสร้างสรรสังคมหรือเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชุมชนให้ดีขึ้น โดยปัจจุบันมีองค์กรอย่าง Nike, Microsoft, สหประชาชาติ หรือยูเอ็น, คณะกรรมการโอลิมปิกสากล Right to Play และอีกหลากหลายองค์กร ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัยได้เป็นส่วนหนึ่งของชุนชนนั้นๆ ถึงแม้ว่ากีฬาอาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะสามารถทำให้เกิดผลสำเร็จได้

     หากถามว่ากีฬานั้นมีส่วนในการสร้างความสัมพันธ์ขนาดไหน เราอาจลองย้อนไปทุกครั้งที่เราลงเล่นฟุตบอล เราจะไม่ให้ความสำคัญกับความแตกต่างหรือความแตกแยกของคนที่ลงสนามร่วมกับเรา เราจะไม่นึกย้อนถึงประสบการณ์ที่ไม่ดีต่างๆ ในชีวิตของเรา แต่เราจะเห็นเพียงแค่ลูกฟุตบอล การแข่งขัน และคนในทีมของเราเอง ซึ่งจะเป็น 5 คน 7 คน หรือ 11 คนที่ร่วมกับเรานั้น เราก็พร้อมที่จะทำเต็มที่เพื่อชัยชนะร่วมกัน

     และนั่นก็เป็นเพียงการเริ่มต้นนับหนึ่ง ของการมีส่วนร่วมในชุมชนเล็กๆ ที่กีฬาได้มอบให้กับทุกคน

 

 

อ้างอิง:

FYI
  • สำหรับผู้ที่ต้องการร่วมสนับสนุนโครงการ Right to Play สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ righttoplay.or.th/th และ www.righttoplay.com/Pages/default.aspx
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X