×

ก้าวข้ามขีดจำกัด! ทำไมมนุษย์ถึงต้องการทำลายสถิติ ‘2 ชั่วโมง’ ในการวิ่งมาราธอน

06.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • Nike สร้าง ‘Breaking2 Project’ ทำลายกำแพงวิ่งมาราธอนภายใน 2 ชั่วโมง
  • เอเลียด คิปโชเก นักวิ่งมาราธอนชาวเคนยา เกือบทำลายสถิติได้ด้วยเวลา 2:00:26 ชั่วโมง
  • Breaking2 Project เป็นหนึ่งในสามโปรเจกต์ที่นักวิทยาศาสตร์และ Adidas กำลังเตรียมทำลายกำแพง 2 ชั่วโมงเช่นกัน
  • หากทำสำเร็จ มนุษย์จะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการวิ่งมาราธอน และก้าวสู่เป้าหมายใหม่ของขีดความสามารถ
  • โปรเจกต์ทั้งหมดที่จัดขึ้น นอกจากจะเป็นแผนการตลาดแล้ว ยังสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลกกล้าที่จะก้าวข้ามขีดความสามารถของตนเอง

     เช้าวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม เวลาย่ำรุ่ง 05.45 นาฬิกา ในสนามแข่งรถมอนซา ประเทศอิตาลี เอเลียด คิปโชเก (Eliud Kipchoge) นักวิ่งมาราธอนชาวเคนยา เจ้าของเหรียญทองมาราธอนโอลิมปิก ปี 2016 ที่ประเทศบราซิล พร้อมด้วยเลลิซา เดซิซา และเซอร์เซเนย์ ทาเดเซ ได้พยายามทำสิ่งที่ท้าทายขีดความสามารถของมนุษย์ด้วยการวิ่งมาราธอนระยะมาตรฐาน 42.195 กิโลเมตร ภายในเวลา 2 ชั่วโมง เพื่อทำลายสถิติโลก ซึ่งเดนนิส คิเมตโต นักวิ่งมาราธอนชาวเคนยา เจ้าของสถิติโลกทำไว้เมื่อปี 2014 ที่ 2 ชั่วโมง 2 นาที 57 วินาที

     ถึงแม้ว่าสถิติที่ออกมา เอเลียด คิปโชเก จะสามารถทำได้ 2:00:25 ชั่วโมง พลาดเป้าที่ตั้งไว้ไปเพียง 26 วินาทีเท่านั้น แต่ความท้าทายครั้งนี้ได้สร้างความตื่นตัวครั้งใหญ่ให้กับวงการมาราธอน และวงการวิทยาศาสตร์การกีฬาทั่วโลก

     การพยายามทำลายสถิติครั้งนี้เกิดขึ้นจากโปรเจกต์ Sub-two-hour โดย Nike บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาจากสหรัฐฯ วางแผนเป็นระยะเวลา 2 ปีเต็มเพื่อระดมทุนทั้งทรัพยากรทางวิทยาศาสตร์การกีฬา โภชนาการอาหาร และทีมผู้ออกแบบรองเท้า เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ในการวิ่งมาราธอนให้ได้ภายใน 2 ชั่วโมง

     ซึ่งยังไม่เคยมีมนุษย์คนไหนก้าวข้ามกำแพงขีดความสามารถนี้ไปได้

 

 

วิ่งมาราธอน 2 ชั่วโมง ต้องวิ่งด้วยความเร็วเท่าไร

     การวิ่งมาราธอนภายในเวลา 1:59​:59 ชั่วโมง หรือภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงได้นั้น นักวิ่งต้องรักษาความเร็วไว้ที่ 4.35 นาทีต่อ 1.609 กิโลเมตร ให้ได้ตลอดระยะทาง 42.195 กิโลเมตร

     ซึ่งสถิติของเดนนิส คิเมตโต นักวิ่งมาราธอนชาวเคนยา เจ้าของสถิติโลก ทำไว้ที่ 4.41 นาทีต่อ 1.609 กิโลเมตร

 

https://www.youtube.com/watch?v=RARWIHW0jac

 

2 ชั่วโมง ‘กำแพง’ ที่ Nike และศาสตราจารย์ชาวกรีกพยายามข้าม

     เมื่อปี 2014 ศาสตราจารย์ยานิส พิตซิลาดิส (Yannis Pitsiladis) ชาวกรีก จากมหาวิทยาลัยไบรท์ตัน ประเทศอังกฤษ ได้เปิด ‘Sub2hr Project’ เพื่อตั้งเป้าหมายทำลายกำแพง 2 ชั่วโมงให้ได้ภายใน 5 ปี แต่พิตซิลาดิสก็ประสบปัญหาการเงิน เนื่องจากไม่สามารถระดมทุน 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในเวลาที่เขาต้องการได้

     โปรเจกต์ของพิตซิลาดิสหวังพึ่งวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งสนามที่เขาเตรียมใช้ในการทำลายกำแพงนั้นต้องอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เพื่อให้มีออกซิเจนในอากาศมากขึ้น และหวังเปลี่ยนรูปแบบการฝึกซ้อม เนื่องจากปัจจุบันนักวิ่งระดับโลกยังคงเลือกที่จะใช้การซ้อมรูปแบบเดิมมากกว่าศาสตร์ของการออกกำลังกาย

     ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม ปี 2016 Nike ได้ประกาศ ‘Breaking2 Project’ โดยตั้งเป้าพาหนึ่งในสามนักวิ่งมาราธอนชั้นนำของโลกวิ่งมาราธอนให้ได้ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2017

     Nike ใช้ศาสตร์ทุกอย่างที่มีอยู่เพื่อทำลายกำแพงครั้งนี้ ตั้งแต่วิธีการวิ่งมาราธอน สภาพอากาศ สนามแข่งขัน การทำความเร็ว โภชนาการอาหาร และที่สำคัญคือรองเท้าที่ Nike ออกแบบมาโดยเฉพาะ

 

Adidas อีกขั้นของการทำลายกำแพง 2 ชั่วโมง

     นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกว่า ทางฝั่ง Adidas ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬายักษ์ใหญ่จากเยอรมนี ก็เตรียมแผนงานทำโปรเจกต์นี้อยู่เช่นกัน โดยคาดว่าจะดึงนักวิ่งอย่างเดนนิส คิเมตโต นักวิ่งมาราธอนชาวเคนยาที่ทำสถิติโลกไว้ที่ 2:02:57 นาที, วิลสัน คิปแซง, แพทริก มาเกา จากเคนยา และเกอร์เมย์ เกเบรสลาสซี นักวิ่งปอดเหล็กชาวเอริเทรีย มาร่วมอยู่ในทีมวิ่ง โดย Adidas ตั้งใจทำลายสถิติภายใต้กฎกติกาของมาราธอนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการลงแข่งในสนามจริงอย่างที่บอสตัน เบอร์ลิน หรือโตเกียวมาราธอน รวมถึงใช้อุปกรณ์ตามกฎของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ และไม่ใช้นักวิ่ง pacer วิ่งเข้าออกเพื่อช่วยทำความเร็วให้กับนักวิ่งของเขา เพื่อสร้างสถิติโลกใหม่อย่างเป็นทางการ

     Adidas ยังถือโอกาสเปิดตัวรองเท้า Adizero Sub2 ซึ่งเอาเทคโนโลยี  Energy Capsule ใน Boost มายกระดับให้มีแรงตอบสนองที่ดีขึ้น นุ่มขึ้น และเบาขึ้น เพื่อช่วยส่งนักวิ่งของพวกเขาเข้าเส้นชัยภายใน 2 ชั่วโมงให้ได้

     ซึ่งวิลสัน คิปแซง นักวิ่งชาวเคนยาจะใส่ลงแข่งขันโตเกียวมาราธอนในปีนี้อีกด้วย

 

ทำไมต้องวิ่งมาราธอนให้เร็วขึ้น

     แน่นอนว่าความท้าทายครั้งนี้แม้จะมีหลายคนมองว่าเป็นเพียง Publicity Stunt หรือแคมเปญการตลาดของผู้ผลิตอุปกรณ์การวิ่งให้เป็นที่พูดถึง แต่หากพวกเขาสามารถทำได้จริง ผลกระทบที่จะมีต่อชีวิตประจำวันของทุกคนนั้นอาจจะมากกว่าที่คุณคิด

     เดวิด เอปสไตน์ (David Epstein) ผู้สื่อข่าวกีฬา วิทยาศาสตร์ รวมถึงศาสตร์ด้านการแพทย์ ได้ขึ้นพูดบนเวที TED Talks ในหัวข้อ ‘Are athletes really getting faster, better, stronger?’ ได้วิเคราะห์ว่า วิทยาศาสตร์สามารถเพิ่มขีดจำกัดของมนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง

     ปี 1954 เซอร์โรเจอร์ แบนนิสเตอร์ กลายเป็นคนแรกที่ทำสถิติวิ่ง 1 ไมล์ (หรือ 1.609 กิโลเมตร) ภายใน 4 นาที แต่ทุกวันนี้นักศึกษามหาวิทยาลัยสามารถทำได้เป็นเรื่องปกติ และมีบางครั้งที่เด็กมัธยมก็ทำได้เช่นกัน โดยสถิติเมื่อปี 2013 ชี้ว่ามีคนจำนวน 1,314 คนสามารถวิ่งระยะทาง 1 ไมล์ได้ต่ำกว่า 4 นาที

     จุดนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดว่า เซอร์โรเจอร์ แบนนิสเตอร์ ได้จุดประกายให้กับวงการวิ่งเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ การพัฒนาสนามแข่ง พัฒนาการฝึกซ้อม พัฒนาอุปกรณ์การวิ่ง พัฒนาโภชนาการอาหาร และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลกเห็นว่า ศักยภาพของมนุษย์ยังสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

     ซึ่งวันใดวันหนึ่งหาก Breaking2, Sub2 Hour หรือโปรเจกต์ใหม่ๆ ของ Nike และ Adidas สามารถทำได้สำเร็จ ผลกระทบที่ตามมาจะไม่ใช่แค่ยอดขายของรองเท้าวิ่ง แต่กลับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้คนทั่วโลกได้เห็นว่า มนุษย์เรายังสามารถไปต่อได้อีก

     เหมือนกับเท้าของนักวิ่งมาราธอนที่ถึงแม้ว่าร่างกายจะเหนื่อยเพียงไหน แต่หัวใจกับสมองยังคงสั่งให้สองเท้าก้าวต่อไป เพราะกีฬาชนิดนี้ไม่ใช่กีฬาสำหรับคนที่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ

 

Photo: Nike.com

 

     สิ่งที่เอเลียด คิปโชเก นักวิ่งมาราธอนสลักไว้บนรองเท้า Nike ของเขาในการวิ่ง Breaking2 ครั้งนี้ ด้านในเป็นชื่อครอบครัว ส่วนด้านนอกนั้นเป็นคำว่า ‘Beyond The Limits’ หรือก้าวข้ามขีดจำกัด ไม่ว่าจะเป็นขีดจำกัดที่คนอื่นวาดให้กับเรา หรือขีดจำกัดที่เราวาดให้กับตัวเอง

     วันนี้เขาอยู่ห่างขีดจำกัดของมนุษย์เพียง 26 วินาทีเท่านั้น

     แล้วคุณล่ะ ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองหรือยัง?

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X