×

คู่อริ หรือ Rivalry สำคัญต่อวงการกีฬาอย่างไร

10.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • กีฬาในปัจจุบันเราอยู่กับการเชียร์การแข่งขันที่มี Rivalry หรือทีมที่มีคู่แข่ง Barcelona – Real Madrid, Cristiano Ronaldo – Messi, Inter Milan – AC Milan หรือแม้กระทั่ง โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ กับ ราฟาเอล นาดาล ที่กำลังขับเคี่ยวกับเพื่อแย่งชิงเทนนิสแกรนด์สแลมอยู่บนสนามหญ้า ที่วิมเบิลดัน
  • จากบันทึกของ โคดี้ ที ฮาร์วาร์ด ซึ่งทำงานวิจัยหาคำตอบเกี่ยวกับ พัฒนาการและการตรวจสอบมุมมองของแฟนกีฬาในการติดตามคู่อริในการแข่งขันกีฬา เขาเผยว่าการมี Rivalry หรือคู่อริในวงการกีฬา เป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดให้แฟนกีฬาติดตามเชียร์อย่างต่อเนื่อง โดยลุ้นให้ทีมของตัวเองชนะ และให้ทีมคู่อริล้มเหลว
  • The Guardian สื่ออังกฤษรายงานว่า MLS หรือฟุตบอลลีกสูงสุดของสหรัฐฯ ยืนยันว่าการ สร้าง ‘Rivalry’ ระหว่างทีมในลีก เป็นหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของ Major League Soccer

     เมื่อเรานั่งดูฟุตบอล หรือเริ่มต้นพูดคุยเรื่องฟุตบอล คำถามเปิดที่คุ้นเคยที่สุดก็คือ คุณเชียร์ทีมอะไร? ซึ่งหากทีมของคุณอยู่ฝั่งตรงข้ามกับคนถาม หรือเป็นคู่อริกัน เราจะเกิดความรู้สึกอยากข่มกันขึ้นมาทันที หรือแม้กระทั่งหลังจบฤดูกาล บางครั้งแม้ทีมที่คุณเชียร์จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าทีมคู่อริตกต่ำกว่า คุณจะมีความสุขจนแทบลืมผลงานของทีมไปเลย

     นี่คือสิ่งที่วงการกีฬาเรียกกันว่า Rivalry

     ปัจจุบันทีมที่หลายๆ คนคุ้นเคยในความเป็นคู่อริหรือ Rivalry ประกอบไปด้วย แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด – ลิเวอร์พูล คู่อริเก่าแก่ ซึ่งต้องการแย่งชิงความเป็นหนึ่งในเกาะอังกฤษด้วยการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้ใกล้เคียงกัน ที่อาจจะสื่อได้ตรงสุดกับสถานการณ์จำลองที่เราได้กล่าวมาเบื้องต้น หรือแม้กระทั่งทีมอย่าง บาร์เซโลนา – เรอัล มาดริด ซึ่งผลการแข่งขันทุกเกมระหว่างสองทีมนี้มีมากกว่าแค่ศักดิ์ศรี และ เกียรติยศของนักเตะ เนื่องจากปัญหาระหว่างสองทีมนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

     การย้ายทีมของ กอนซาโล อิกวาอิน ที่ย้ายจาก นาโปลี เมืองทางตอนใต้ของอิตาลี ไปร่วมกับทีมอย่าง ยูเวนตุส ซึ่งทำให้ อิกวาอิน โดนตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ เนื่องจากเบื้องหลังทางภูมิศาสตร์ที่เป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นของอิตาลี เพราะภาคใต้มีประชากรคนจนมากกว่าภาคเหนือ โดยที่ผ่านมามีการใช้ฟุตบอลเป็นตัวปลดปล่อยความขัดแย้งกันในสนาม

     หากจะดึงนิยามของคู่อริในแวดวงกีฬามาให้ใกล้ตัวเรามากที่สุด ก็คงไม่พ้น การย้ายทีมของ ธีราทร บุญมาทัน จากบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทีมยักษ์ใหญ่แดนอีสานมาสู่ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ซึ่งสื่อกีฬาจำนวนมากพยายามติดตามวันที่ทั้งสองทีมลงแข่งขันกันเป็นพิเศษเพียงแค่จะรอดูท่าทีของธีราทรที่มีต่อทีมเก่าของเขา ซึ่งเป็นคู่อริหลักในการแย่งแชมป์ไทยลีกในปัจจุบัน

     และหากจะพูดถึง Rivalry ที่กำลังสร้างความตื่นเต้นมากที่สุดกรณีหนึ่งตอนนี้ ก็คงหนีไม่พ้นการชกข้ามกีฬาระหว่าง ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ นักชกไร้พ่ายจอมโว ซึ่งกำลังจะขึ้นชกมวยสากลกับ คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ ยอดนักชกศิลปะการต่อสู้แบบผสมหรือ MMA ที่มีฝีปากไม่แพ้กัน ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้

     แต่สิ่งเดียวที่คู่อริหรือ Rivalry ทั้งหมดที่พูดถึงมีเหมือนกันคือ จำนวนแฟนกีฬามหาศาลที่คอยติดตามอย่างใกล้ชิดทั้งในและนอกสนาม เนื่องจากผลการแข่งขันมีส่วนเกี่ยวข้องกับศักด์ศรีของแฟนกีฬา ซึ่งมีทั้งสงครามการเมือง สงครามชนชั้น และ สงครามความเป็นหนึ่งอยู่ด้วยทั้งหมด

 

Cover Photo: FREDERIC J.BROWN/AFP

 

ทำไมการมี Rivalry จึงเป็นส่วนสำคัญกับการแข่งขันกีฬา

     การมีคู่อริในการแข่งขันกีฬาไม่ใช่สิ่งใหม่ โดยก่อนหน้านี้คู่อริอย่าง มูฮัมหมัด อาลี ยอดนักชกชาวสหรัฐฯ กับ โจ ฟราเซียร์ ก็เคยถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในคู่อริที่โด่งดังมากที่สุดตลอดกาลคู่หนึ่ง ซึ่งเรื่องราวของคู่อริทั้ง 2 เกิดจากบุคลิกของอาลีที่ปากดี และ มีสไตล์การชกที่น่าจดจำ ต้องโคจรมาพบกับ โจ ฟราเซียร์ ที่พูดน้อยแต่ต่อยหนัก

     โดยรายงานของ Forbes เปิดเผยว่าการขึ้นชกกันระหว่างสองคนนี้ในไฟต์ที่ 3 ปี 1975 อาลี ได้รับค่าตัวประมาน 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ​ และฟราเซียร์ได้รับ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งคู่ยังสร้างรายได้มหาศาลจาการชกทั้งหมด 3 ครั้ง แถมไฟต์สุดท้ายของพวกเขายังถูกยกให้เป็น ไฟต์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์จากนิตยสาร The Ring ในปี 1996 ขณะที่ EPSN ยกให้ไฟต์นี้เป็นเหตุการณ์กีฬาที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลอีกด้วย

     คล้ายๆ กับตอนที่ ‘เสี่ยโป้ เพชรเกษม’ กับ ‘กงก๋ง เมืองมิน’ ขึ้นชกกันที่เวทีมวยลุมพินี และสร้างปรากฏการณ์ให้แฟนมวยหลายร้อยคน ซึ่งปกติไม่เคยเข้าสนามได้นัดมาเจอกันจนสร้างปรากฏการณ์ที่เวทีมวยไทยไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่าผู้คนติดตามกระแส Rivalry นอกสนามมากขนาดไหน จนสุดท้ายถึงขั้นยอมเดินเข้าเวทีมวยเพื่อรอลุ้นผลการชก ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่การชกตามกติกามวยไทยด้วยซ้ำ

     โดย โคดี้ ที ฮาร์วาร์ด ซึ่งทำงานวิจัยหาคำตอบเกี่ยวกับ พัฒนาการและการตรวจสอบมุมมองของแฟนกีฬา ในการติดตามคู่อริในการแข่งขันกีฬา (Development and Validation of the Sport Rivalry Fan Perception Scale) เผยว่าการมี Rivalry หรือ คู่อริในวงการกีฬาเป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดให้แฟนกีฬาติดตามเชียร์อย่างต่อเนื่อง

     โดยการมีอยู่ของ Rivalry ช่วยดึงดูดและสร้างความตื่นเต้นในการติดตามการแข่งขันของทีมโปรด อีกทั้งงานวิจัยของ Zillmann and Cantor ในปี 1976 ยังเผยว่าผู้คนจะรู้สึกมีความสุขเมื่อคนที่พวกเขาชื่นชมประสบความสำเร็จ และเมื่อคนที่พวกเขาเกลียดไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ต่างจากบทละคร และ ภาพยนตร์ที่มีทั้งพระเอกและตัวร้าย ซึ่งเมื่อประกอบเข้ากับการเชียร์ทีมกีฬาแล้ว คุณจะมีความสุขต่อเมื่อทีมของคุณประสบความสำเร็จ และคู่แข่งของคุณล้มเหลวในการแข่งขันขัน

 

Cover Photo: CURTO DE LA TORRE/AFP

 

MLS กับการพยายามสร้าง Rivalry ให้กับลีกฟุตบอลที่เกิดขึ้นมาเพียง 24 ปี

     จากการรายงานของ The Guardian สื่อประเทศอังกฤษได้เผยว่า MLS หรือ เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ ได้พยายามสร้าง Rivalry ระหว่างทีมขึ้นมา โดยดอน การ์เบอร์ (Don Garber) ประธานจัดการแข่งขัน MLS ได้เผยว่า ในการเลือกเมืองที่เราจะขยายลีกการแข่งขันไปนั้น การสร้าง Rivalry  ถือเป็นแผนใหญ่ของลีก เพราะการแข่งขันที่มีเรตติ้งสูงสุดในโทรทัศน์ คือ การแข่งขันระหว่างคู่อริ หรือ Rivalry

     โดย  MLS ได้สร้างช่วงพิเศษขึ้นมาที่มีชื่อว่า Heineken Rivalry Week เพื่อถ่ายทอดสดการแข่งขันแมตช์ที่ทางฝ่ายผู้จัดเชื่อว่าเป็นคู่อริมาพบกัน แต่สุดท้ายผลของการพยายามสร้างคู่อริแบบไม่มีเบื้องหลัง เช่นการจับคู่ระหว่าง San Jose  พบกับ Columbus Crew ให้เป็นคู่อริกัน กลับทำให้แฟนบอลของทั้งสองทีมสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก

     แต่ล่าสุดมีรายงานว่า แฟนกีฬาของทีมน้องใหม่อย่าง Los Angeles FC ทีมที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2014 จะลงแข่งขันใน MLS ปี 2018 และทีมร่วมเมืองชื่อดังอย่าง LA Galaxy กำลังเริ่มปลุกกระแสสร้างความเป็นอริร่วมเมืองกัน

     โดย The Guardian เผยว่าสโมสร LAFC ได้จ้างศิลปินให้พ่นสีบนกำแพงในบริเวณ ดาวน์ทาวน์ แอลเอ เพื่อช่วยสร้างทีมให้เป็นที่รู้จัก แต่ไม่กี่วันต่อมาแฟนบอลของ LA Galaxy ก็ได้พ่นสเปรย์ทับป้ายนั้น โดยเปลี่ยนจากคำว่า LAFC เป็น LA ที่อยู่ใจกลางอวกาศ​ (Galaxy) จนเกิดเป็นสงครามกราฟฟิตี้บนกำแพงทั่วทั้งเมืองแอลเอ โดยแฟนบอลของทั้งสองทีมต่างก็สลับกันพ่นสีสเปรย์ทับป้ายของคู่แข่งทั้งที่ทีม LAFC ยังไม่ได้ลงสนามเลยด้วยซ้ำ

     รวมถึงยังมีรายงานว่าในการแข่งขันฟุตบอลอายุไม่เกิน 12 ปีระหว่าง LA Galaxy และ LAFC แฟนบอลได้นำกลองและพลุเข้ามาเชียร์ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดุดันให้ทั้ง 2 ทีมเริ่มเข้าสู่ความเป็นอริร่วมเมืองกันอย่างแท้จริง

     แม้ว่าก่อนหน้านี้ LA Galaxy จะเคยมีคู่อริอย่างทีม San Jose ที่ทั้งคู่เป็นอริกันตั้งแต่ปี 1996 แล้วก็ตาม

     จากความพยายามสร้าง Rivalry ให้เป็นสัญลักษณ์ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีทีมคู่อริในลีก เพื่อมีเป้าหมายคือการสร้างผู้ติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดไม่ต่างกับ WWE หรือมวยปล้ำที่นำกีฬาไปผสมกับบทบาทในละคร เพื่อช่วยให้เป็น Sport Entertainment เต็มรูปแบบ แต่ในการสร้างคู่อริขึ้นมาใหม่นั้น ต้องคำนึงถึงขอบเขตการสร้างคู่อริอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าในบางลีกที่มีการเมืองหรือเรื่องของชนชั้นและเชื้อชาติเกี่ยวข้อง อาจนำไปสู่การทะเลาะวิวาทอย่างรุนแรงทั้งในและนอกสนาม

     ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนของการสร้างกีฬาในปัจจุบัน จำเป็นต้องคำนึงถึงขอบเขตความรู้สึกของแฟนกีฬาที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ผู้ติดตามกีฬาเองก็ต้องคำนึงถึงจุดสำคัญ ว่าหากเราทะเลาะกับผู้อื่นเพื่อทีมของเรา สุดท้ายแล้วอาจจะไม่มีใครได้ประโยชน์จากการทะเลาะกันเลยก็ได้

     และสิ่งที่เราควรทำคือเข้าใจในพื้นฐานของกีฬาอย่างแท้จริงคือ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย อะไรเกิดขึ้นในสนามก็ทิ้งมันไว้ในสนาม เพราะสิ่งสวยงามของการแข่งขันกีฬา คือยังมีวันพรุ่งนี้ให้พิสูจน์ความยิ่งใหญ่ของทีมคุณเสมอ

     ส่วนสิ่งที่น่าเรียนรู้จากคู่อริที่เกิดขึ้นในวงการกีฬาโลกต่างๆ คือเทคนิคการโปรโมตเรื่องราวความเป็นมาของคู่อริที่เกิดขึ้น รวมถึงการสร้างบุคลิก หรือ character ที่น่าติดตาม เช่น ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ ยอดนักชกที่ดูบางครั้งจะพูดเก่งกว่าชกด้วยซ้ำ มาสร้างตัวตนให้กับนักกีฬาไทย  ซึ่งวงการกีฬาไทยสามารถนำมาปรับใช้เพื่อช่วยเพิ่มยอดผู้เข้าชมการแข่งขัน และอาจช่วยเพิ่มอรรถรสให้กับการแข่งขันกีฬาในประเทศเราบ้างก็ได้

 

Cover Photo: FREDERIC J.BROWN/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X