“หลายพันปีมานี้ ประชาชนทุกชาติได้ร่วมกันสร้างสรรค์ความเรียงแห่งมิตรภาพที่เล่าสืบต่อกันมานับพันปี บนเส้นทางสายไหมโบราณนี้ ประวัติศาสตร์การคบค้าสมาคมกันในสองพันกว่าปีก่อนได้พิสูจน์แล้วว่า ขอเพียงยืนหยัดความสามัคคีและ เชื่อมั่นกันและกัน มีผลประโยชน์เสมอภาคกัน เปิดใจยอมรับ และเรียนรู้กันและกัน ร่วมมือกันเพื่อประสบผลสำเร็จร่วมกัน ประเทศที่มีภูมิหลังวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างกันล้วนสามารถมีสันติภาพเช่นเดียวกันและพัฒนาไปด้วยกันได้ นี่คือแสงสว่างอันมีค่าที่ เส้นทางสายไหมโบราณได้เหลือฝากไว้ให้กับพวกเรา”
นี่คือปาฐกถาส่วนหนึ่งของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ณ มหาวิทยาลัยนาซาร์บาเยฟ ประเทศคาซัคสถาน เมื่อ 7 กันยายน ค.ศ. 2013 ซึ่งปรากฏอยู่ในหัวข้อ ‘ร่วมสร้าง เขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม’ ในหนังสือ สีจิ้นผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ ที่ตีพิมพ์ในหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทย
ปาฐกถานี้อาจนับว่าเป็นปฐมบทเริ่มต้นของ ‘จีน’ ที่ประกาศต่อโลกให้รับทราบทั่วกันว่า ‘จีน’ กำลังเดินหน้าที่จะฟื้นฟู ‘เส้นทางสายไหม’ ขึ้นอีกครั้ง
ปัญหาความแตกแยกและขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ทางทะเลและอำนาจอธิปไตยของจีนกับบางประเทศในอาเซียน ทั้งสองฝ่ายต่างต้องยึดมั่นแนวทางสันติภาพ จัดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วยการเจรจาหารือที่เสมอภาคและเป็นมิตร เพื่อรักษาความสัมพันธ์และภาพรวมของเสถียรภาพในภูมิภาคของเราทั้งสองฝ่ายเอาไว้
ปฐมบทคืนชีพ ‘เส้นทางสายไหม’
เมื่อ 2,000 กว่าปีที่ผ่านมาในสมัยราชวงศ์ฮั่นของจีนได้มีการส่งทูตสันถวไมตรีเดินทางไปเอเชียกลางถึง 2 ครั้ง และได้เริ่มต้นเปิดประตูแห่งมิตรภาพระหว่างประเทศจีนกับประเทศต่างๆ ในเอเชียกลาง บุกเบิกเส้นทางสายไหมจากตะวันออกไปยังตะวันตกเพื่อเชื่อมระหว่างยุโรปกับเอเชีย อันประกอบไปด้วยประเทศที่เชื่อมโยงจีนกับดินแดนในปัจจุบัน ได้แก่ คาซัคสถาน, ทาจิกิสถาน, อุซเบกิสถาน, คีร์กีซสถาน, เติร์กเมนิสถาน, อัฟกานิสถาน และปากีสถาน
มาวันนี้ในศตวรษที่ 21 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ประกาศเดินเครื่องเส้นทางสายไหม One Belt, One Road (OBOR) แสวงหาความร่วมมือจากหลายประเทศ เพื่อตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ให้กระชับแน่นแฟ้น โดยมีสองเส้นเลือดใหญ่ เมื่อกางแผนที่ออกจะเห็นแขนของเส้นทางแผ่สาขาแตกแขนงออกไปทั้งทางบกและทางทะเล อันเป็นทางหลักในการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จของจีน ได้แก่ เส้นทางสายไหมทางบก และเส้นทางสายไหมทางทะเล
ผศ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการด้านจีนศึกษา ได้อธิบายถึงปรากฏการณ์นี้ว่า การที่จีนชูเรื่อง ‘เส้นทางสายไหม’ ขึ้นมาไม่ได้ถือว่าเป็นการรื้อฟื้นอะไรมากนัก และเราต้องเข้าใจว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีแผนแม่บทซึ่งเป็นแผนระยะยาวว่าแต่ละช่วงจะทำอะไร ซึ่งหากมองย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วก็จะพบว่าจีนเปิดประตูความร่วมมือในระดับภูมิภาคก่อน เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง และประสบความสำเร็จในระดับภูมิภาค
ในส่วนของ ‘เส้นทางสายไหม’ เป็นสิ่งที่จีนขยับไปมากกว่าในระดับภูมิภาค คือระดับโลก และปรากฏอยู่ในแผนแม่บทอีกจังหวะหนึ่งของจีน
“ส่วนตัวผมเองก็ไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร เพราะว่าโครงการแบบนี้ต่อให้จีนไม่ทำ มหาอำนาจประเทศอื่นๆ ก็ทำเป็นปกติอยู่แล้ว One Belt, One Road จีนก็มีสิทธิอ้าง เพราะว่าเส้นทางสายไหมในอดีตมีจุดเริ่มต้นที่จีน มีต้นทุนทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวอ้างได้ เพราะหากสหภาพยุโรป (EU) หรือสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันไม่ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศตัวเอง เขาก็คงทำไปแล้ว เพราะความจริงแผนนี้เป็นแผนของสหประชาชาติ (UN) ที่มีมานานแล้ว เพียงแต่จีนได้เปรียบตรงที่เขากำลังรวย ก็เลยมีเวลามาทำสิ่งนี้ได้ชัดเจนขึ้น” ผศ. วรศักดิ์ อธิบาย
หวังแทรกซึมอิทธิพลทั่วโลกเขย่า ‘อเมริกา’
การที่จีนพยายามดำเนินนโยบายเกี่ยวกับเส้นทางสายไหม ซึ่งตามแผนแล้วจะมีการสร้างเครือข่ายที่เชื่อมถนน ทางรถไฟ และท่าเรือ ขยายเครือข่ายการขนส่งเชื้อเพลิงโดยการสร้างท่อส่งแก๊ส ระบบการไฟฟ้า และการวางสายเคเบิลเส้นใยแก้วนำแสง (fiber optics) จากจีนผ่านเอเชียกลางไปจนถึงยุโรป ทำให้การเดินหน้าของจีน ถูกจับตาจากประเทศมหาอำนาจและประเทศอื่นๆ ในโลกว่า ความพยายามและความท้าทายต่อการเกิดขึ้นของความร่วมมือที่ใหญ่ขนาดนี้มีเงื่อนปมอื่นใดแทรกอยู่ด้วยหรือไม่
ผศ. วรศักดิ์ยอมรับว่าเป็นการดำเนินการที่ใหญ่มากของจีน หากมองความใหญ่ให้เป็นรูปธรรมจะเห็นว่ามีอยู่ 2 เรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไปก็คือ การขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีการใช้ต้นทุนมหาศาล ด้วยเหตุนี้จีนเองก็คงไม่พร้อมหากจะให้ควักกระเป๋าเพียงชาติเดียว จึงมีการตั้งธนาคาร AIIB (ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย) เพื่อสนับสนุนนโยบายของจีนในเรื่องเส้นทางสายไหมเป็นการตั้งต้น และปล่อยกู้เพื่อโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งก็คือการขนส่งและการคมนาคม ซึ่งมีหลายสิบชาติเข้าร่วม โดยในความเป็นจริง AIIB ก็คือธนาคารที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นต้น
“ถ้าจีนทำสำเร็จแล้วจะเป็นการขยายอิทธิพลหรือไม่ ก็ต้องมาดูว่าขยายอิทธิพลในแง่ไหน ถ้าในแง่เศรษฐกิจมันแน่นอนอยู่แล้ว แต่นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้วจะมีเรื่องความมั่นคงและการเมืองหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณากันต่อไป แต่เรื่องหนึ่งที่เขาชูแน่ๆ ก็คือเขาอยากแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม”
นักวิชาการด้านจีนศึกษามองประเทศมหาอำนาจอย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ที่พยายามจะหาวิธีปิดล้อมจีนเพื่อไม่ให้แผ่ขยายอำนาจของตนไปมากกว่านี้ ด้วยเกรงว่าจะทำให้เสียความเป็นเบอร์หนึ่งของโลก และคิดว่าเป็นนโยบายและวิธีคิดของสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย สหรัฐอเมริกาก็กลายเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว มีความคิดที่ไม่อยากให้ใครมาแข่งกับตน ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เป็นการทอนกำลังตนเองโดยใช่เหตุ เวลานี้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาถดถอย ทำอะไรก็ติดขัดไปหมด แล้ววิธีการแก้ปัญหาก็สุดโต่ง เพราะเมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ สหรัฐอเมริกาก็ยังมีความพยายามที่จะดำเนินการไม่ให้จีนผงาดขึ้น แต่ถามกลับไปว่าทำแล้วได้อะไร ก็ไม่เห็นว่าสหรัฐอเมริกาจะได้อะไรในการที่จะเป็นเจ้าโลกแต่เพียงผู้เดียวในยุคนี้
“สหรัฐอเมริกาไม่เคยเรียนรู้บทเรียนว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่ดีกับตัวเองเลย สิ่งที่จีนทำก็คือพยายามทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ มาโดยตลอด ยิ่งตอนนี้จีนรวยกว่าสหรัฐฯ ใครจะคิดว่าวันหนึ่งจีนจะเป็นเจ้าหนี้สหรัฐฯ ได้ และเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ด้วย”
นิสัยของคนจีนในปัจจุบันไม่ใช่นิสัยของคนจีนดั้งเดิมแท้ๆ แบบที่เห็นจากคนจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย นิสัยของคนจีนแผ่นดินใหญ่เป็นนิสัยที่เกิดขึ้นมาบนวัฒนธรรมใหม่ หรือวัฒนธรรมที่เรียกว่า ‘คอมมิวนิสต์’
โปร่งใส-สิ่งแวดล้อม ปมคาใจของหลายประเทศ
ความพยายามล่าสุดในการดำเนินนโยบายเส้นทางสายไหมของจีนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เชิญผู้นำชาติต่างๆ มาร่วมประชุมที่กรุงปักกิ่ง และสีจิ้นผิงได้กล่าวคำสำคัญในการประชุมครั้งนี้คือ การต่อต้านการกีดกันทางการค้า และโลกาภิวัตน์ รวมถึงถ้อยแถลงที่ให้ประเทศต่างๆ ได้ลงนามรับรอง ซึ่งก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเมื่อหลายประเทศไม่ยอมลงนามรับรอง
ผศ. วรศักดิ์มองว่า จีนได้พยายามปรับตัวเข้ากับยุคโลกาภิวัตน์ และเน้นย้ำถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยประกาศต่อผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ว่า จีนเป็นประเทศที่รักสันติภาพ แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา เพราะใครก็สามารถพูดได้
“เมื่อเราฟังคำพูดที่สวยหรู มันเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครก็พูดได้ แต่คนฟังต้องระลึกอยู่เสมอว่าสิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำไปด้วยกันไหม การที่มหาอำนาจในยุโรปหลายประเทศไม่ยอมลงนามในถ้อยแถลงของการประชุม ซึ่งเป็นการลงนามเพื่อรับรอง ไม่ได้มีผลในแง่ปฏิบัติ เพราะไม่มีการบังคับอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นการให้การรับรองว่า ที่คุณพูดมามันดี แต่ที่ไม่มีการลงนามของหลายประเทศก็มีเหตุผลน่าคิด เพราะในถ้อยแถลงของจีนไม่ได้พูดถึงเลยว่าเมื่อเกิดเส้นทางสายไหมขึ้นมาแล้ว มีการขนส่ง มีโครงสร้างพื้นฐาน แล้วอะไรคือความโปร่งใสระหว่างการดำเนินการเหล่านั้น
“ประการต่อมาประเทศที่ไม่ลงนามยังพูดต่ออีกว่า ในถ้อยแถลงไม่ได้พูดถึงหัวใจสำคัญของการร่วมมือทางสิ่งแวดล้อม เมื่อไม่มีการพูดถึง ประเทศในยุโรปก็ไม่ลงนาม
“อย่างที่ผมได้เรียนไปแล้ว ขอย้ำว่าลงนามหรือไม่ลงนามก็ไม่ได้มีผลอะไรเลยในทางปฏิบัติ เพียงแต่จีนอาจจะนำไปอ้างได้ว่ามีหลายประเทศที่ลงนามในสิ่งที่อั๊วพูด ซึ่งก็เป็นการสร้างภาพมากกว่า ฉะนั้นในทางปฏิบัติต่างหากที่จะพิสูจน์ว่าเส้นทางสายไหมที่จีนสร้างขึ้นมาเมื่อทำแล้วมันสร้างสรรค์จริงไหม เพราะหัวใจสำคัญในการขนส่งนี้ไม่ว่าจะมองในมุมไหน สิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าหากภายในประเทศจีนเองยังไม่ให้ความสำคัญ ต่อให้โครงสร้างพื้นฐานจะสร้างเรียบร้อย การขนส่งคล่องตัว แต่สิ่งแวดล้อมก็อาจต้องพังทลาย”
เส้นทางสายไหมยังถูกตั้งข้อสังเกตอีกเช่นกันว่า เป็นความพยายามของจีนในการแก้ไขปัญหาการลงทุนในประเทศ ด้วยการนำเงินไปลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนาน่าจะได้ผลมากขึ้น เพราะเป็นการออกไปสร้างตลาดใหม่ของจีน แต่ก็ได้สร้างภาระและความน่ากังวลให้กับประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นด้วย
ซึ่งผศ. วรศักดิ์มองว่าประเทศอื่นก็ทำเช่นเดียวกัน เพียงแต่จีนทำได้ดีกว่า กล่าวคือ เป็นกฎกติกาการค้าเสรี จะเห็นได้ว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมา หลังจากที่จีนได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ก็กล้าตัดสินใจลุยเรื่องการค้าทันที โดยเดินสายไปพบหลายประเทศ ทำตามกติกาการค้าเสรี สิ่งที่เราได้เห็นจากจีนแม้ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ล้วนเกิดขึ้นจากการค้าเสรี เช่น แรงงานจีนในลาวมีจำนวนหลายแสนคน วันหนึ่งอาจจะมาเบียดบังแรงงานพื้นเมืองก็ได้ เมื่อมองแบบนี้ก็อาจมีผู้ไม่ชอบใจนัก แต่รัฐบาลลาวไปตกลงกับรัฐบาลจีนในเรื่องนี้เอง
“อย่างกรณีประเทศไทยเรื่องสวนกล้วย เจ้าของที่ให้เขาเช่าเองผิดไหม ไม่ผิด แต่การที่เขาใช้ปุ๋ยนั่นแหละที่ผิด วิธีคิดของเขาก็เป็นแบบนี้ ผมไม่แปลกใจหรอกว่าทำไมเขาไม่สนใจสิ่งแวดล้อมมากกว่ากำไร เพราะเมื่อ 50-60 ปีก่อน ตอนที่ประเทศเราใช้แผนพัฒนาฯ เราก็ไม่คิดถึงสิ่งแวดล้อมนะ พอไปถมคลองก็บอกว่านี่คือการพัฒนา หลังๆ ฝนตกหน่อยเดียวกรุงเทพฯ ก็ไม่มีที่ระบายน้ำแล้ว หรืออย่างเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 มันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเราสนใจสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อเรามีบทเรียนแล้ว วันหนึ่งก็มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมขึ้นมาคอยจัดการ แต่จีนอยู่ในสภาพที่น่าเสียดาย คือเขาน่าจะเห็นบทเรียนปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายๆ ประเทศ แต่เขากลับไม่เอาบทเรียนนั้นมาใช้”
ผศ. วรศักดิ์อธิบายอีกว่า มีเหตุผลเดียวที่จีนจัดการประชุมครั้งนี้ขึ้นมาก็เพื่อแสดงในเชิง ‘สัญลักษณ์’ ว่ามีคนมาร่วมกับจีนเยอะ และเพื่อกระตุ้นให้เส้นทางสายไหมสำเร็จเร็วๆ เพราะยิ่งสำเร็จเร็ว จีนก็จะยิ่งได้เปรียบที่จะได้ระบายสินค้าจำนวนมากไปภายนอก ซึ่งนั่นเป็นวิธีปกติของจีน คือเวลาที่จะติดต่อประเทศเพื่อนบ้านหรือรอบโลกแล้วยังไม่ได้ดังใจก็ต้องใช้วิธีนี้
“จีนจำเป็นต้องทำ ยิ่งทำสำเร็จแค่ไหนก็ยิ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรืออะไรก็ตาม ยิ่งในช่วงหลังจีนมีความก้าวหน้าในหลายๆ เรื่อง เช่น การทำรถไฟความเร็วสูง ซึ่งพอทำได้แล้วไม่ไปขายให้ต่างประเทศมันก็สูญเปล่า จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงได้รับฉายาว่าเป็น ‘เซลล์แมนขายรถไฟฟ้า’ มีหลายอย่างที่เขาสร้างได้แล้วนำไปขายต่อ เขาทำอะไรได้เยอะเลย และยังได้เปรียบในเรื่องราคาที่รถไฟฟ้าความเร็วสูงของจีนถูกกว่าญี่ปุ่น และเยอรมนี แต่คุณภาพนั้นก็เป็นอีกเรื่อง”
เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 วิกฤติทะเลจีนใต้ที่รอวันปะทุ
เส้นทางสายไหมทางทะเลถูกประกาศโดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมาตั้งแต่ปี 2013 โดยจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์กับอาเซียนแบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ โดยหวังจะใช้เส้นทางสายไหมทางทะเลสร้างความร่วมมือและเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์หน้าใหม่ (แม้ว่าการลากเส้นบนแผนที่ทางทะเลจะไม่ผ่านไทยโดยตรงก็ตาม)
ขณะที่ในศตวรรษที่ 21 เกิดปัญหาพิพาทในแนวเขตแดนทางทะเลระหว่างจีนและบางประเทศในอาเซียน ซึ่งหลายครั้งก็ปะทุขึ้นมาในระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค ทำให้เกิดข้อกังขาและคำถามไปพร้อมๆ กันว่าจีนจะเดินไปสู่ความร่วมมือที่ปราศจากความขัดแย้งในเรื่องนี้อย่างไร
โดยก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้กล่าวปาฐกถาถึงความกังวลต่อกรณีความขัดแย้งในเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2013 เมื่อครั้งเดินทางไปเยือนรัฐสภาของสาธารณรัฐอินโดนีเซียว่า “ปัญหาความแตกแยกและขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ทางทะเลและอำนาจอธิปไตยของจีนกับบางประเทศในอาเซียน ทั้งสองฝ่ายต่างต้องยึดมั่นแนวทางสันติภาพ จัดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วยการเจรจาหารือที่เสมอภาคและเป็นมิตร เพื่อรักษาความสัมพันธ์และภาพรวมของเสถียรภาพในภูมิภาคของเราทั้งสองฝ่ายเอาไว้” ซึ่งตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบันการเผชิญหน้าในเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้บรรเทาเบาบางลงแต่อย่างใด
ขณะที่ผศ. วรศักดิ์ได้วิเคราะห์ถึงปัญหานี้ว่า สิ่งที่จีนพยายามย้ำกับอาเซียนคือ เส้นทางสายไหมทางทะเลเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ปัญหาการเมืองและข้อพิพาทในทะเลจีนใต้เป็นอีกเรื่องที่ต้องแก้ไข การที่จีนเข้ามากระตุ้นถึงความต้องการเส้นทางสายไหมทางทะเลที่ผ่านเขตน่านน้ำของหลายประเทศในอาเซียน จึงขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะคิดเห็นกันอย่างไร เพราะเส้นทางที่สำคัญที่สุดอยู่ในทะเลจีนใต้ หากจีนถือว่าทะเลจีนใต้เป็นของจีน เมื่อมีการเดินเรือผ่านจะทำอย่างไร ตรงนี้ต่างหากที่จะทำให้ประเทศในอาเซียนต้องมาดูท่าทีกัน และถ้อยแถลงในการประชุมที่ปักกิ่งของสีจิ้นผิงไม่ได้ระบุเกี่ยวกับปัญหานี้เลย
ผศ. วรศักดิ์ย้ำอีกว่า ปัญหาพิพาทเขตแดนในทะเลจีนใต้ไม่สามารถแยกออกจากเรื่องเศรษฐกิจได้ การที่จีนคิดว่าเป็นการแก้ไขปัญหาคนละส่วน ในทางปฏิบัติ ทำได้จริงหรือไม่ก็มีให้เห็นอยู่ และต้องติดตามว่าจะปะทุขึ้นมาอีกเมื่อใด
“จีนเข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภคในหลายประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์เป็นหลัก แต่จีนก็มองว่าต่างก็ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เพราะมันมีตัวบ่งชี้อย่างเช่น หากจีนอยากได้อะไรที่ต้องการก็จะใช้อำนาจอ่อน โดยให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า ให้กู้แบบปลอดดอกเบี้ย ให้กู้ในรูปแบบของดอกเบี้ยต่ำ จนสามารถมัดใจผู้นำของประเทศนั้นได้ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านก็คล้ายๆ กับมีวัตถุประสงค์แฝง ทำให้หลายประเทศและอาเซียนมองจีนด้วยสายตาที่ไม่เข้าใจและค่อนข้างระแวดระวัง เหมือนมาตักตวงมากกว่าที่จะมาช่วยเหลือ โดยเฉพาะในแอฟริกานั้นค่อนข้างจะชัดเจน” ผศ.วรศักดิ์อธิบายเพิ่มเติม
ผมไม่อยากใช้คำว่าอำนาจต่อรอง เพราะเขาใหญ่กว่าเราเยอะ มันจะเป็นบทพิสูจน์ของจีนที่บอกว่าตนเองไม่เอาเปรียบใคร รักสันติภาพ อนาคตการกระทำจะชี้เองว่าจีนไม่เอาเปรียบคนอื่นจริงหรือ รักสันติภาพจริงหรือ คุณมีวัตถุประสงค์แฝงอะไรที่ปกปิดเราอยู่
เส้นทางไทยเส้นทางไหนบนทางสายไหมของจีน
ผศ. วรศักดิ์อธิบายว่า ประเทศไทยมีภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ตรงกลาง ด้านซ้ายติดเมียนมา ด้านขวาติดลาว รวมเป็น 3 ประเทศอินโดจีน สิ่งที่จีนทำมาก่อนคือ การสร้างเส้นทางคมนาคมทางบกผ่านจากจีนเข้ามาเมียนมา ลาว แล้วเข้ามาไทย ซึ่งต้องตัดถนนเข้ามา โดยลาวจะมีปัญหามากที่สุด เนื่องจากลาวเป็นประเทศที่ไม่มีรถไฟ และทางภาคเหนือของลาวเป็นภูเขาจึงต้องใช้งบประมาณสูง ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นฮับ และเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เศรษฐกิจที่จีนเกี่ยวข้องคือ แนวเขตอีสต์-เวสต์ คอร์ริดอร์ ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมอาเซียนเข้ากับจีน
“ในทศวรรษ 1990 ผมเดินทางไปสำรวจทั้งลาว เมียนมา และกัมพูชาทั้งสองฝั่งซ้ายขวา มีไทยเพียงประเทศเดียวที่ไม่เจอสงคราม แล้วจะได้ยินคำคำหนึ่งที่เรียกว่า ‘เส้นทางสายเอเชีย’ ซึ่งเป็นเส้นทางที่สร้างเสร็จในประเทศไทยมาเกือบ 30 ปีแล้ว ซึ่งจีนแทบไม่ต้องกระตุ้นประเทศไทยเลย แต่จะทำยังไงที่จะได้ใช้ถนนอันดีเลิศของประเทศไทย ในเมื่อของเมียนมากับลาวยังไม่เสร็จ ที่บอกว่าไทยเป็นฮับก็อาจจะเพราะแบบนี้
“นอกจากนี้ไทยยังมีรถไฟจากเหนือจรดใต้สุดที่สุไหงโก-ลก ไปถึงปาดังเบซาร์ จีนจึงไม่ต้องมากระตุ้นไทยมาก แต่ต้องไปหาวิธีกระตุ้นประเทศเพื่อนบ้านของไทยเพิ่ม ซึ่งทุกวันนี้จีนไปพัฒนาให้ประเทศเหล่านั้นอีกก้าวหนึ่งแล้ว ทำถนนเรียบร้อย เหลือเพียงทำรถไฟ แต่ไทยยังคงมีปัญหาเรื่องทางคู่ เวลาคุยเรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถ้าไทยไม่มีเทคโนโลยีก็จำเป็นต้องซื้อและต้องกู้ ซึ่งประเทศไทยคุยง่าย เพราะอยู่กับเศรษฐกิจแบบเสรีมานาน”
จากคำอธิบายของผศ. วรศักดิ์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยมีบทบาทสำคัญต่อประเทศเพื่อนบ้านในฐานะเป็นผู้เชื่อมโยงโครงข่ายของโครงสร้างพื้นฐานเข้าด้วยกัน แล้วเหตุใดในการประชุมครั้งล่าสุด นายกรัฐมนตรีของไทยจึงไม่ถูกเชิญให้เข้าร่วมเวทีนี้
ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ตอบคำถามนี้ต่อสื่อมวลชนว่า มีนายกรัฐมนตรีหลายประเทศที่ไม่ได้ไป และที่ไม่เชิญนายกรัฐมนตรีไทยในครั้งนี้ เพราะจีนทราบว่าไทยสนับสนุนเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ได้เชิญนายกรัฐมนตรีของไทยเข้าร่วมประชุม BRICS Summit ครั้งที่ 9 ที่เซียะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ในเดือนกันยายนนี้ไว้แล้ว และได้ขอบคุณที่ไทยสนับสนุน และอยากให้ไทยช่วยประชาสัมพันธ์เส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21
“ดังนั้นการตั้งข้อสังเกตว่าจีนไม่ให้ความสำคัญกับไทยนั้นไม่ใช่เรื่องจริง ไทยไม่ได้ถูกมองข้าม เวลาที่มีการวิเคราะห์การนอกลู่นอกทาง บางทีอาจสร้างความเข้าใจผิดได้”
เช่นเดียวกับผศ. วรศักดิ์ ที่มองกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตในการไม่เชิญนายกฯไทยเข้าร่วมประชุมว่า เป็นข้อสังเกตที่สิ้นคิด และหากมองย้อนไปเมื่อครั้งที่ไทยเกิดเหตุการรัฐประหารโดยคณะคสช. ผู้นำจีนระดับสูงก็มาเยือนไทยหลายคน และมีข้อเสนอให้ความช่วยเหลือและความร่วมมือตามมา ทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่าไทยสนิทกับจีน ไม่เอาสหรัฐอเมริกา ซึ่งจริงๆ ลักษณะดังกล่าวถือเป็นนโยบายปกติของจีนที่ดำเนินใช้กิจกรรมกับทุกประเทศ
“เมื่อมหาอำนาจคว่ำบาตรประเทศเหล่านั้นจีนก็จะมาหา อย่างเมื่อจีนมาไทยแล้วจะไม่ต้อนรับได้ไหม คุณจะเอาน้ำร้อนมาสาดไล่เขาหรือ ก็ต้องต้อนรับเขา พอต้อนรับแล้ว ฝ่ายวิจารณ์ก็ออกมาบอกว่าไปคล้อยตามจีน ไปยอมจีนแล้ว สนิทกับจีนแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นการที่เขาไม่เชิญพลเอกประยุทธ์ไป ก็เลยออกมาบอกว่าจีนไม่เอาแล้ว ตกลงว่าเวลาจีนจะมาหาก็ออกมาบอกว่าเป็นขี้ข้าจีน พอจีนไม่เอาก็สมน้ำหน้า ผมจึงบอกว่าเป็นคำวิจารณ์ที่สิ้นคิด คือขัดแย้งในตัวเอง ตกลงจะให้ดีหรือไม่ให้ดีกับจีน”
ผศ. วรศักดิ์มองว่า ก่อนที่จีนจะมีเรื่องเส้นทางสายไหม จีนได้กำหนดเลยว่า ประเทศไหนต้องมีอะไรบ้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการขนส่ง ถ้ามองในภาพรวมมันเกิดขึ้นได้ก็จะเป็นผลดี ทุกประเทศอาจจะได้ประโยชน์ แต่มีข้อแม้อยู่ว่าแต่ละประเทศที่จะต้อนรับเส้นทางสายไหมของจีนนั้นมีขีดจำกัด เพราะแต่ละประเทศรวยจนไม่เท่ากัน มีผลประโยชน์ภายในประเทศไม่เหมือนกัน และมีปัญหาการเมืองภายในไม่เหมือนกัน แม้ว่าเส้นทางสายไหมของจีนจะดีอย่างไรก็ต้องอาศัยความร่วมมือแต่ละประเทศ ซึ่งจะติดเงื่อนไข 3 ข้อนี้
อ่านนิสัยและวิธีทำการค้าของจีน
ผศ. วรศักดิ์มองว่า ปัจจุบันจีนได้พัฒนาตนเองในหลายเรื่องๆ ให้ดีขึ้น ที่ผ่านมารัฐบาลจีนก็ถูกวิจารณ์เยอะเกี่ยวกับคุณภาพสินค้า แต่สิ่งหนึ่งที่จีนทำได้คือการพัฒนาสินค้า แม้จะเทียบคุณภาพได้ไม่เท่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นหรือยุโรป เช่น เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง แต่ก็ไม่ถึงกับด้อยคุณภาพขนาดนั้น
หากมองในมิติประวัติศาสตร์จะพบว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเองก็เคยเป็นแบบจีนอย่างการผลิตรถออกจำหน่าย ซึ่งเป็นยี่ห้อที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ และมีราคาถูกกว่ารถยุโรปค่อนข้างมาก ก็มีผู้วิจารณ์ว่าเป็นรถกระป๋อง แต่ปัจจุบันก็พัฒนาจนติดตลาดและมีคุณภาพเทียบเคียงกับรถยุโรปแล้ว จีนในปัจจุบันจึงไม่ต่างจากญี่ปุ่นเมื่อทศวรรษ 1960
นักวิชาการจีนศึกษายังมองว่า สินค้าไม่ได้มาตรฐานของจีนที่มักจะมีการเลียนแบบหรือด้อยคุณภาพมักทำให้มองเลยไปถึง ‘นิสัยของคนจีน’ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เกี่ยวกัน เพราะนิสัยของคนจีนในปัจจุบันไม่ใช่นิสัยของคนจีนดั้งเดิมแท้ๆ แบบที่เห็นจากคนจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย นิสัยของคนจีนแผ่นดินใหญ่เป็นนิสัยที่เกิดขึ้นมาบนวัฒนธรรมใหม่ หรือวัฒนธรรมที่เรียกว่า ‘คอมมิวนิสต์’ โดยก่อนหน้าที่จีนจะปกครองแบบคอมมิวนิสต์ อารยธรรมจีนที่เข้ามาในประเทศไทยหรือในประเทศอื่นๆ ทุกคนล้วนเป็นศาสนิกชนที่นับถือ ‘พุทธ’ เป็นส่วนใหญ่ หรือนับถือ ‘ขงจื๊อ’ ซึ่งมีแง่มุมที่คล้ายกันคือสอนให้คนทำดี มีคุณธรรมและจริยธรรม เมื่อคนจีนเข้ามาเมืองไทย อยากจะไหว้พระก็มีวัด เมื่อเวลาพูดคุยกับคนไทยก็เป็นหลักคำสอนเดียวกัน แต่คนจีนที่เกิดในยุคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีการทำลายศาสนา ใครนับถือศาสนาจะมีความผิด คนจีนก็กลัว ไม่นับถือศาสนา และมองว่าเป็นเรื่องงมงาย
“ทุกวันนี้เมื่อไปดูสำมะโนครัวประชากรของจีน 1,350 ล้านคน มี 1,100-1,200 ล้านคนที่ไม่ระบุว่านับถือศาสนาใด เพราะฉะนั้นหากจีนยังอยู่ภายใต้การปกครองคอมมิวนิสต์แบบเข้มงวดก็อาจมองไม่เห็นผลกระทบ แต่ตอนนี้เมื่อจีนเปิดประเทศแล้ว สิ่งที่เรารับไม่ได้ก็คือพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวหรือทัวร์จีน หลายคนพูดว่าไม่ชอบ เราต้องตั้งคำถามว่าทำไมคนจีนที่เยาวราชไม่มีพฤติกรรมแบบนี้ แต่ทำไมคนจีนแผ่นดินใหญ่จึงเป็นแบบทัวร์จีน เมื่อไปถามลูกจีนในไทย ทุกคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าตอนเราเกิดมา คนจีนจะถูกสอนเรื่องมารยาทจีนที่ไม่เหมือนไทย เช่น คนไทยยกมือไหว้ แต่คนจีนใช้คำนับ แต่คนจีนใหม่ก็ไม่ได้ยึดถือมารยาทหรือวัฒนธรรมแบบนี้ เพราะถือว่ามารยาทงามเป็นของขงจื๊อ มีความเป็นศักดินา จึงไม่แปลกที่คุณจะเห็นนักท่องเที่ยวจีนยกขาขึ้นมาบนโต๊ะแล้วเอาทิชชู่เช็ด หรือล้างเท้าในอ่างล้างหน้า ซึ่งอันนี้กลายเป็นนิสัยแล้ว พอนิสัยแบบนี้จูนเข้ากับระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่พรรคคอมมิวนิสต์ใช้อยู่ทุกวันนี้มันก็เลยไปกันใหญ่ พอไปทำการค้า ก็คิดอยู่อย่างเดียวว่าจะทำยังไงให้มีกำไร เช่น การปลูกกล้วยในเมืองไทยก็อัดสารเคมีเยอะๆ เพื่อจะได้ขายกล้วยงามๆ ได้ ส่วนดินจะพังยังไง ฉันไม่สนใจ”
เมื่อจีนขยับ โลกก็เขยื้อน
‘จีนขยับ โลกเขยื้อน’ ดูเหมือนจะเป็นคำกล่าวที่ไม่ไกลตัวเราอีกต่อไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าศตวรรษที่ 21 มังกรจีนมีอิทธิพลต่อโลกทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก
ผศ. วรศักดิ์มีความเห็นต่อคำกล่าวนี้ว่า พอจะเข้าใจคำนี้ได้ แต่คำพูดที่ดีที่สุดก็คือต้องดูว่าจีนมีจุดเด่นเรื่องใด และศึกษาจากจีนไปพร้อมๆ กัน ต้องรู้ให้เท่าทันเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ อะไรที่เป็นข้อด้อยของจีนก็ต้องอดทนด้วยความหวังว่าคนเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงกันได้ พฤติกรรมใดที่เห็นแล้วเราไม่ชอบใจก็ไม่ใช่เราเพียงประเทศเดียว แต่เกือบทุกประเทศทั่วโลก รัฐบาลจีนเองก็เห็นว่าไม่ใช่วิถีแบบอารยชน จึงต้องไปสั่งสอนตักเตือนคนในประเทศ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาและค่อยเป็นค่อยไป
“จากประสบการณ์ของผมที่ศึกษาเรื่องจีนมา ผมพบว่าถ้าจีนเขาจะทำจริง เขาสามารถทำได้ อย่างตอนเปิดประเทศใหม่ๆ เขาพยายามให้สินค้าเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ อย่าว่าแต่คุณภาพ เอาแค่ดีไซน์และแพ็กเกจจิ้งยังแย่เลย ผมดูแล้วบอกเลยว่าสงสาร คือเราอยากให้เขาได้ดี และเมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึง 10 ปี ดีไซน์ของเขาก็ทำออกมาสุดยอดแบบคลาสสิก อย่างที่บอกว่าคนเรามันเปลี่ยนได้ ฉะนั้นผมก็หวังว่าสิ่งที่เป็นข้อด้อยของเขาก็น่าจะเปลี่ยนได้เช่นกัน”
มองผู้นำจีนที่ชื่อ ‘สีจิ้นผิง’
หากมองผู้นำจีนหลังยุคเติ้งเสี่ยวผิง ผศ. วรศักดิ์บอกว่า ครึ่งหนึ่งกินบุญเก่าของเติ้งเสี่ยวผิง อีกครึ่งคือไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่รักษาและต่อยอดสิ่งที่เติ้งเสี่ยวผิงทำไว้ให้ดี
ส่วนวิสัยทัศน์ของสีจิ้นผิงที่มีการยกเอาคำพูดและคำพังเพยเมื่อหลายพันปีมาแทรกอยู่ระหว่างคำปราศรัยเหมือนกับเป็นปัญญาชนในลัทธิขงจื๊อ ผศ. วรศักดิ์มองว่า
“เมื่ออ่านแล้วคิดได้อย่างนี้ก็ดี ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของตนเองตั้งแต่โบร่ำโบราณ แต่ผมก็มีคำถามว่าแล้วทำไมไม่เอาสิ่งดีๆ ที่ตนเองพูดให้กับคนจีน คนจีนทุกวันนี้เขาเคารพขงจื๊อจริง แต่ไม่ได้รับขงจื้อมาปฏิบัติเลย
“มีอยู่วันหนึ่งผมเข้าไปในร้านหนังสือที่อยู่ในประเทศจีน เห็นมีหนังสือขงจื๊อ ผมก็ดีใจ แต่ที่ไหนได้ ไปเจอหนังสือ ‘ใช้แนวลัทธิขงจื๊อให้รวย’ มันผิดหลัก เพราะขงจื๊อเป็นเรื่องของปรัชญา การครองชีวิตแบบมีมโนธรรมสำนึก คือถ้าคิดอยู่อย่างเดียวว่าอะไรที่จะทำให้ตนเองรวย มันเป็นคำที่ทำไมผู้นำเขาสามารถอ้างได้ แต่ประชาชนของเขาจึงไม่เป็นแบบนี้ ผมก็เลยสงสัยว่าที่สีจิ้นผิงยกตัวอย่างมาเยอะๆ ในการปราศรัย เพื่อให้ดูเท่ หรือทางปฏิบัติเขาจะทำอย่างนั้นจริงๆ ผมไม่กล้าคิดเลย ในสมัยของเหมาเจ๋อตุง ถ้าใครพูดอย่างสีจิ้นผิงจะต้องถูกลงโทษ เพราะไปอ้างขงจื๊อ ซึ่งเป็นอะไรที่ต้องทำลาย แล้วไม่ได้ยกแค่ขงจื๊อ แต่ยกตั้งแต่สมัยศักดินาเยอะแยะไปหมด ก็เป็นภูมิปัญญาที่ดีนะ แต่ทำไมคนจีนจึงไม่มีภูมิปัญญาแบบนี้ที่เอามาปฏิบัติใช้กันในฐานะพลเมือง”
อนาคต ‘ไทย’ บนเส้นทางสายไหม
ผศ. วรศักดิ์มองภาพรวมท่าทีของไทยต่อมหาอำนาจจีนว่า ภาพรวมรัฐบาลปัจจุบัน และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ถือว่าไทยวางตัวได้ดี แต่จะขอไม่กล่าวถึงรายละเอียดที่เป็นปัจเจก หรือนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงที่บางยุคบางสมัยจะมีปรากฏการณ์แบบ ‘อะไรก็จีนดีหมด’ ไทยรักษาสถานภาพการวางตัวแบบนี้ดีแล้ว คืออย่ายอมตกเป็นเบี้ยล่างของจีน
“ผมไม่อยากใช้คำว่าอำนาจต่อรอง เพราะเขาใหญ่กว่าเราเยอะ มันจะเป็นบทพิสูจน์ของจีนที่บอกว่าตนเองไม่เอาเปรียบใคร รักสันติภาพ อนาคตการกระทำจะชี้เองว่าจีนไม่เอาเปรียบคนอื่นจริงหรือ รักสันติภาพจริงหรือ คุณมีวัตถุประสงค์แฝงอะไรที่ปกปิดเราอยู่”
สีจิ้นผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ คือชื่อหนังสือที่เป็นที่มาปาฐกถาสีจิ้นผิง ที่อ้างในรายงานพิเศษนี้ จัดพิมพ์ฉบับลิขสิทธิ์ภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์มติชน